ข้อเสนอเพื่อร่วมปฏิรูปการศึกษา(สังคม)กับ คสช.


       ผมได้เขียนข้อเสนอแนะเพื่อร่วมปฏิรูปการศึกษา 3 เรื่องสำคัญๆส่งไปให้ คสช. คือ การปฏิรูปการผลิตครู  การปฏิรูปการผลิตนักศึกษาอาชีวศึกษา และการปฏิรูปการศึกษาระดับปฐมวัย  พร้อมทั้งส่งไปให้หนังสือพิมพ์เดลินิวส์เผยแพร่อีกทาง ซึ่งตีพิมพ์ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ 
                               
       เหตุที่ผมไม่คิดเสนอเรื่องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพราะไม่อยากให้เกิดการฝันร้ายเหมือนเมื่อปี 2546 เพราะเรื่องโครงสร้างเป็นเรื่องเกี่ยวกับกิเลสของคน จึงต้องตามแก้เหมือนลิงแก้แหมาอย่างไม่หยุดหย่อนมาจนถึงทุกวันนี้ จึงเห็นว่าเรื่องคุณภาพของครู จิตวิญญาณของครูเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะถ้าครูเก่งครูดี ศิษย์ก็จะเก่งและดีด้วย ดังที่สมเด็จพระเทพฯเคยตรัสไว้ว่า แม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าเพียงใดก็ไม่อาจแทนครูได้ เพราะการสอนคนไม่ใช่สอนเพียงความรู้เป็นเป็นการสอนไปถึงจิตวิญญาณด้วย  สาระที่ผมนำเสนอไปมีดังนี้

        ผมได้ติดตามผลงานการปฏิรูปประเทศของ คสช. ด้วยความชื่นชม ที่สามารถวางแผนการทำงานได้อย่างรวดเร็ว ตรงจุดที่เป็นปัญหาความต้องการจำเป็นอย่างแท้จริง ผมเป็นข้าราชการบำนาญของกระทรวงศึกษาธิการ ก็อยากเห็นการปฏิรูปการศึกษาปรากฏผลอย่างแท้จริง จึงมีข้อเสนอเพื่อร่วมปฏิรูปการศึกษา(สังคม) ฝากไปยัง คสช. สัก 3 เรื่อง คือ
1. การปฏิรูปการผลิตครู ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะถ้าได้ครูเก่งครูดี การขับเคลื่อนการปฏิรูปการเรียนรู้ที่จะส่งเสริมกระบวนการคิดวิเคราะห์ของเด็ก ก็จะเป็นไปได้อย่างดี รวมทั้งเด็กจะได้ซึมซับแบบอย่างที่ดีจากครูด้วย โดยขอให้เขตพื้นที่การศึกษาสำรวจข้อมูลจำนวนครูขาดในแต่ละโรงเรียน และแต่ละสาขาที่เป็นจริง แล้วรัฐ(กระทรวงศึกษาธิการ)ประกาศรับสมัครนักเรียนที่กำลังเรียน ม.ปลายที่เรียนเก่ง(สมัยก่อนคัดเลือกผู้สอบได้ที่ 1 ที่ 2 ของจังหวัด) และมีความตั้งใจอยากเป็นครูกลับมาสอนในท้องถิ่น ตามจำนวนครูขาดในแต่ละพื้นที่ โดยรัฐจะให้ทุนการศึกษาตลอดหลักสูตร และมีเงื่อนไขว่า เมื่อเรียนจบต้องกลับมาเป็นครูในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการทุจริตสอบบรรจุครูผู้ช่วยและแก้ปัญหาการโยกย้ายครูได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันต้องแก้ปัญหาสถาบันผลิตครู โดยต้องเพิ่มจำนวนอาจารย์ที่เก่ง ดี มีจิตวิญญาณครูและมีระบบการสอนที่มีคุณภาพให้มากขึ้น ไม่เป็นสถาบันธุรกิจทางการศึกษาเหมือนหลายๆแห่งในปัจจุบัน โดยจะเปิดรับสมัครนักเรียนที่มาเรียนครูตามจำนวนข้อมูลการขาดแคลนของแต่ละพื้นที่เท่านั้น ห้ามผลิตเกิน และสถาบันฝึกหัดครูต้องเน้นผลิตครูไม่ใช่ไปผลิตสาขาอื่นจนเปรอะไปหมด นักศึกษาครูต้องอยู่หอพัก จะได้ฝึกระเบียบวินัยและจิตวิญญาณครูตลอดหลักสูตร เราก็จะได้ครูเก่งครูดี และมีจิตวิญญาณครูอย่างแท้จริง รัฐลงทุนเรื่องนี้ถือว่าคุ้มค่าที่สุด
2.การปฏิรูปการผลิตนักศึกษาอาชีวศึกษา เพื่อเป็นฐานการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง จุดที่เป็นปัญหาและควรพัฒนามากที่สุดคือ การปฏิรูปสถาบันอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะสถาบันอาชีวศึกษาเอกชน ควรกำหนดมาตรฐานให้ใกล้เคียงสถาบันฯพระจอมเกล้าฯ(หรือน้องๆ) แรกทีเดียวคงต้องคัดเลือกและให้ทุนเด็กที่เรียนเก่ง เรียนดีมาเข้าเรียน โดยสำรวจจำนวนผู้เรียนคล้ายๆกับข้อแรก แล้วผลิตอย่างมีคุณภาพ ระยะแรกอาจได้จำนวนไม่มากนักก็ไม่เป็นไร ไม่ใช่รับเด็กเรียนอ่อน เกเร มาเรียน แล้วสร้างปัญหาให้ผู้ปกครองไม่อยากส่งลูกหลานมาเรียนอาชีวะ โดยต้องประกันคุณภาพและยกระดับเงินเดือน ค่าตอบแทนของคนเรียนจบอาชีวะให้สูงขึ้น จูงใจสักปีสองปี คนก็จะสนใจมาเรียนอาชีวะมากขึ้นเอง แต่ก็ต้องไม่ละเลยเด็กกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งเด็กด้อยโอกาสด้วย ซึ่งจะต้องส่งเสริมสนับสนุนเขาตามพหุปัญญาที่เขามีอย่างเต็มกำลังความสามารถไปพร้อมๆกัน  แต่ระยะแรกต้องให้ความสำคัญด้วยการเอาจริงเอาจังกับมาตรฐานของสถาบันผลิตและนักศึกษาระดับครีมก่อน 
3. การปฏิรูปการศึกษาระดับปฐมวัย เพราะถ้าติดกระดุมเม็ดแรกผิด เม็ดต่อไปก็ผิดหมด อยากให้ดูตัวอย่าง “ยะลาโมเดล” ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด อบจ. เขตพื้นที่ สาธารณสุข ทุกหน่วยราชการและภาคประชาสังคม ปักธงกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันและขับเคลื่อนกันทั้งจังหวัดอย่างจริงจัง โดยใช้ท้องถิ่นเป็นฐาน
     ลงทุนเถอะครับรับรองคุณภาพการศึกษาดีขึ้นอย่างแน่นอน ดีกว่าไปซื้อแท็ปเล็ตแจกหรือใช้งบประมาณแบบเบี้ยหัวแตกเหมือนที่ผ่านมาครับ

หมายเลขบันทึก: 572255เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2014 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กรกฎาคม 2014 12:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เห็นด้วยอย่างครับอ. ดีมาก จะให้ดีอีก อย่าลืมปราชญ์ชาวบ้าน ผู้มีประสบการณ์ในท้องถิ่นร่วมสอนลูกหลานด้วย และเอาศาสนามาเป็นฐานก็ยิ่งดี เก่งแต่ไม่ดี ประเทศก็จะไดแต่พวกฉลาดแกมโกงครับ

ขอบคุณครับ  ถ้าครูเราเป็นแบบอย่างของความเก่ง ความดี มีจิตวิญญาณความเป็นครู รักและเมตตาศิษย์อย่างจริงจัง การอบรมสั่งสอนใดๆก็ไม่ยาก เพราะเด็กกับครูจะสร้างปัญญาและเรียนรู้ด้วยหัวใจ ด้วยการปฏิบัติจริงไม่ใช่เพียงการบอกความรู้ โดยไม่ต้องห่วงเรื่องความเป็นสากล เพราะเราจะยิ่งเห็นความเป็นไทยในความเป็นสากลที่สร้างสรรค์มากขึ้น 

เห็นด้วยมากๆกับข้อแรกครับท่านศน

สมัยก่อนเราคัดคนที่อยากเป็นครู

เรียนเก่ง

อยู่หอพักที่เป็นครูทุกระเบียบนิ้ว

ขอบคุณมากๆครับ

ผมกำลังทำโครงการนี้อยู่ไงครับ ท่านอาจารย์ขจิต ;)...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท