เก็บตกวิทยากร (13) : ภาพรวมแผนพัฒนานิสิตเชิงรุกสู่ TQF และ MSU FOR ALL


นอกจากเชื่อมร้อยกับกรอบ TQF แล้วสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างเลี่ยงไม่ได้คงหลีกไม่พ้นเรื่องของการเชื่อมโยงแผนงานให้หนักแน่นกับคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของคณะ หรือที่เรียกว่า “อัตลักษณ์นิสิตของแต่ละคณะ” ซึ่งมีทั้งที่บัญญัติขึ้นใหม่ และใช้วาทกรรมเดียวกับมหาวิทยาลัยฯ คือ “เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน”

การพัฒนานิสิตผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตรในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ไม่ได้อาศัยแต่เฉพาะการขับเคลื่อนจาก “องค์กรนิสิต” หรือ “นิสิต” เพียงฝ่ายเดียว แต่ “ฝ่ายพัฒนานิสิต” ในระดับคณะทั้ง ๒๐ คณะล้วนมี “แผนงาน” หนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้ของนิสิตอย่างต่อเนื่อง

มีทั้งที่หนุนเสริมผ่านกิจกรรมหรือแผนงานขององค์กรนิสิต และหนุนเสริมผ่านกระบวนการขับเคลื่อนของคณะ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเจาะจงเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นองค์กรนิสิต (คนทำกิจกรรม) เท่านั้น หากแต่ครอบคลุมถึงนิสิตทั่วไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นการจัดทำแผนภายใต้หลักคิดสำคัญๆ คือ กรอบมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษา (TQF) รวมถึงนโยบายอันเป็นกรอบแนวคิดหลักของการผลิตบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยฯ โดยมี “แผนงานเชิงรุก” ที่ยึดโยงไปยังด้านคุณธรรมจริยธรรมและวิชาการที่สำคัญๆ ในปีการศึกษา ๒๕๕๖ ดังนี้



ด้านคุณธรรม จริยธรรม

แผนงานด้านคุณธรรมจริยธรรมเป็นหนึ่งในประเด็น (Thai Qualifications Framework for Higher Education,TQF:HEd) ที่สัมพันธ์กับ “ค่านิยม” ของการเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (MSU FOR ALL) โดยประเด็นคุณธรรมจริยธรรม (M: morality) ประกอบด้วยเรื่อง ประพฤติดี มีวินัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งในปีการศึกษา ๒๕๕๖ แต่ละคณะได้บรรจุเป็นแผนพัฒนานิสิตโดยร่วมขับเคลื่อนกับสโมสรนิสิตในสังกัดคณะนั้นๆ เช่น

  • ค่ายพุทธธรรมนำชีวิตห่างไกลยาเสพติด (คณะมนุษยศาสตร์ฯ)
  • กิจกรรมส่งคุณธรรมจริยธรรมในเรื่อง “สูตรสำเร็จแห่งความรักและการให้, อย่าคว้าดาวด้วยสายตา (วิทยาลัยการเมืองการปกครอง)
  • กิจกรรมที่เชื่อมโยงกับหลักวิชาชีพในงานพระราชทานเพลิงศพอาจารย์ใหญ่’56 (คณะแพทยศาสตร์)


นอกจากนั้นแล้วส่วนใหญ่เป็นการจัดขึ้นโดยฝ่ายพัฒนานิสิตคณะ เพื่อตอบสนองต่อนิสิตทั้งที่เป็นกลุ่มผู้นำนิสิต (คนทำกิจกรรม) และกลุ่มนิสิตทั่วไป เช่น

  • อิ่มบุญ อิ่มอุ่น อิ่มใจ,แสงธรรมนำทาง (คณะวิศวกรรมศาสตร์)
  • คุณธรรมนำชีวิตสู่ลักษณะที่พึงประสงค์ (คณะวิทยาศาสตร์)
  • ปฏิบัติธรรมค้ำชูชีวิตและเสริมสร้างชีวิตให้มีคุณธรรม (คณะเทคโนโลยี)
  • เพื่อนช่วยเพื่อนชาวชบา (บริจาคโลหิต),บำเพ็ญธรรมสัญจร (คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม)



ทั้งนี้ยังรวมถึงการจัดกิจกรรมผ่านเวทีอบรม สัมมนา หรือการปัจฉิมนิเทศที่สำคัญๆ เช่น ประชุมวิชาการเรื่องการดูแลหัวใจด้วยความเป็นมนุษย์ฯ,สรรค์สร้างคนดีมีคุณธรรมนำชีวิต (คณะพยาบาลศาสตร์) ฝึกอบรมผู้นำนิสิต : หลักการเสริมสร้างคุณธรรม,ปัจฉิมนิเทศเสริมสร้างคุณธรรม (วิทยาลัยดุริยางคศิลป์) หรือกิจกรรมที่มุ่งเน้นผ่านการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อบ่มเพาะจิตอาสาในโครงการบำเพ็ญประโยชน์และเยี่ยมสถานสงเคราะห์ (คณะแพทยศาสตร์) ตลอดจนกิจกรรมทำบุญคณะ,สืบสานตำนานจำปาศรี (คณะเภสัชศาสตร์) ซึ่งสื่อให้เห็นถึงกิจกรรมการบูรณาการระหว่างการเรียนและการบริการสังคมในเรื่องระบบการส่งเสริมสุขภาพกับภูมิปัญญาท้องถิ่น





ด้านวิชาการ ความรู้และทักษะการเรียนรู้


แผนงานโดยส่วนใหญ่ของฝ่ายพัฒนานิสิตของแต่ละคณะในปีการศึกษา ๒๕๕๖ มุ่งเน้นไปในด้านวิชาการ (ความรู้) และทักษะวิชาชีพเป็นที่ตั้ง เพื่อรองรับเกณฑ์หรือกรอบแนวคิดหลักจาก TQF หรือการเตรียมบัณฑิตออกสู่การใช้ชีวิตจริงในสังคม ทั้งในแง่ของการสำเร็จการศึกษาและในแง่มุมของการออกฝึกประสบการณ์วิชาชีพ อาทิ การปัจฉิมนิเทศเพื่อเสริมสร้างความรู้ในเรื่องการก้าวออกสู่ ”โลกแห่งตลาดงาน” เป็นต้นว่าเรื่องการสมัครงาน การกรอกใบสมัครงาน การสัมภาษณ์งาน การแต่งกาย ซึ่งมีทั้งที่จัดขึ้นเองเป็นการภายในคณะ ด้วยการเชิญศิษย์เก่ามาพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต รวมถึงการเชิญผู้เชี่ยวชาญที่เป็นนักวิชาการอิสระ หรือกระทั่งผู้ประกอบการ (นายจ้าง) มาเป็นวิทยากร

ขณะเดียวกันในบางคณะก็มีแผนงานอื่นๆ หนุนเสริมอย่างน่าสนใจ เช่น

  • การอบรมเขียนหนังสือราชการแก่นิสิตฝึกงาน,การอบรมภาษาอังกฤษ (วิทยาลัยการเมืองการปกครอง)
  • เรียนรู้ประสบการณ์เชิงวิชาชีพเพื่อการพัฒนาชุมชน (คณะมนุษยศาสตร์ฯ)
  • อบรมคอมพิวเตอร์,อบรมการเขียนแผนธุรกิจ (คณะวิศวกรรมศาสตร์)
  • เตรียมความพร้อมเพื่อสอบความรู้ขอขึ้นทะเบียนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์ (คณะพยาบาลศาสตร์)


ในทำนองเดียวกันนี้ยังรวมถึงแผนงานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้นำกิจกรรมโดยตรง เช่น

  • วิทยาศาสตร์สัญจร (คณะวิทยาศาสตร์)
  • สัปดาห์เภสัช (คณะเภสัชศาสตร์)
  • ให้ความรู้ด้านประกันคุณภาพและการจัดทำโครงการอย่างถูกต้องสำหรับนักกิจกรรม (คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม)
  • รวมถึงการเชื่อมโยงสู่กระแสหลักเพื่อเปิดโลกทัศน์และชีวทัศน์ของนิสิตสู่สากล เช่นโครงการวิศวะสู่ประชาคมอาเซียน (คณะวิศวกรรมศาสตร์) ทัศนศึกษาวัฒนธรรมอาเซียน “ผูกเสี่ยวไทย-ลาว-เวียดนาม” (คณะวัฒนธรรมศาสตร์)



บทสรุป

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นเห็นได้ชัดว่าแผนงานพัฒนานิสิตที่จัดขึ้นโดย “ฝ่ายพัฒนานิสิต” ของแต่ละคณะ มีรูปแบบการขับเคลื่อน ๒ รูปแบบหลัก คือ ๑) จัดเองโดยบุคลากรและอาจารย์ ๒) จัดร่วมกับนิสิตหรือองค์กรนิสิต (สโมสรนิสิตคณะ) เช่นเดียวกับกลุ่มเป้าหมายหลักก็ประกอบด้วยกลุ่มที่เป็นผู้นำนิสิตและนิสิตทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มนิสิตทั่วไปเห็นได้ชัดว่าเกี่ยวโยงกับสภาวะสำคัญๆ คือการเตรียมความพร้อมให้กับนิสิตที่กำลังออกไปสู่กระบวนการฝึกงาน (ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ) และกลุ่มที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาไปสู่กระบวนการของการทำงานและใช้ชีวิต


อย่างไรก็ดีภายใต้แนวคิดทั้งหลายทั้งปวงนั้น นอกจากเชื่อมร้อยกับกรอบ TQF แล้วสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างเลี่ยงไม่ได้คงหลีกไม่พ้นเรื่องของการเชื่อมโยงแผนงานให้หนักแน่นกับคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของคณะ หรือที่เรียกว่า “อัตลักษณ์นิสิตของแต่ละคณะ” ซึ่งมีทั้งที่บัญญัติขึ้นใหม่ และใช้วาทกรรมเดียวกับมหาวิทยาลัยฯ คือ “เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน” โดยมีปลายทางเป็นหนึ่งเดียวตามปรัชญามหาวิทยาลัยฯ (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน)

เช่นเดียวกับประเด็นของการประเมินแผนงานนั้น คงไม่ใช่แค่การพุ่งเป้าการประเมินเชิงสถิติร้อยละจำนวนของผู้เข้าร่วมในแต่ละกิจกรรมสถานเดียว จนลืมให้ค่าความสำคัญในประเด็นที่เกี่ยวกับกระบวนการจัดการโครงการ หรือการจัดกระบวนการเรียนรู้ในแต่ละโครงการ ควบคู่ไปกับการประเมินเชิงคุณภาพถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ของนิสิตที่เข้าร่วมกิจกรรม/โครงการ

ซึ่งอย่างน้อยอาจประเมินผ่านสถานการณ์จริง หรือผ่านเวทีนั้นๆ ได้ทันที โดยไม่ต้องรอ หรือทิ้งช่วงเพื่อประเมินผลในระยะยาวเสมอไป เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่นิสิตได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ ซึ่งบางทีอาจหมายถึงเรื่องแรงบันดาลใจ ทัศนคติใหม่ๆ หรือแนวคิดที่คิดว่าจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวนิสิตและสังคมด้วยก็เป็นได้

หมายเลขบันทึก: 572251เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2014 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2014 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แต่ละคณะมีกิจกรรมดีๆทั้งนั้นเลย

ถ้ามีการติดตามผล

การช่วยเหลือกันน่าจะไปได้ด้วยดี

สุดยอดมากๆครับ

ขอบคุณมากๆครับ

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง


ขอบพระคุณที่แวะมาหนุนเสริมครับปีนี้ ผมกลับมาดูเรื่องแผนพัฒนานิสิตอีกครั้งเลยต้องเริ่มจากการทบทวนแผนงานที่ผ่านมาอย่างเป็นรูปธรรมค้นหาจุดเด่นของแต่ละคณะ รวมถึงเชื่อมร้อยแผนแต่ละคณะทะลุถึงกัน ยึดโยงเป้าหมายหลักร่วมกันตามทิศทาง-ยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย และ สกอ..
ไม่ใช่ทำงานตามตัวชี้วัดหรอกนะครับ แต่จริงๆ คือการกระตุ้นให้แต่ละภาคส่วนจริงจังกับกระบวนการที่จะขับเคลื่อน ...
เป็นเวทีเล็กๆ ที่ชวนแต่ละองค์กรได้ทบทวนตนเอง ตอนนี้รอเวลาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทั้งระบบ ครับ โดยหมุดหมายสำคัญคือนำแผนแปลงสู่การเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนานิสิตเหมือนที่เกิดทำได้เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว

สวัสดีครับ อ.อร วรรณดา

งานนี้ทำกันทั้งทีมครับ
หมุดหมายระยะสั้นปีต่อปีคือแผนพัฒนานิสิต
หมุดหมายระยะยาวคือการทำให้เกิดยุทธศาสตร์การพัฒนานิสิตอย่างเป็นทางการ
รวมถึงผนึกกิจกรรมนอกหลักสูตรเข้าสู่การเรียนรู้ในชั้นเรียนอย่างเป็นรูปธรรม

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท