Spinal Block : การปฏิบัติตนของผู้ป่วยหลังรับหัตถการ


คำว่า "block" เป็นที่รู้จักของคนทั่วๆไป จนผู้ป่วยหลายคนเข้ามาในห้องผ่าตัดยังสามารถบอกเราได้ว่า "ไม่เอาblockนะคะ เพื่อนบ้านบอกว่ามันจะปวดหลัง"...จริงไหม

เมื่อวันก่อนมีการทำหัตถการ Spinal Block  หลังเสร็จผ่าตัดย้ายผู้ป่วยขึ้นรถเปลขนย้ายไปนอนห้องพักฟื้น  เมื่อถึงห้องพักฟื้นวิสัญญีพยาบาลผู้รับผู้ป่วยทักว่าทำไมผู้ป่วยนอนหัวสูง... (“.อือ...พนักงานปรับเตียงหัวสูงเมื่อไหร่หนา...ไวจริงๆ เราแอบคิดในใจ)   วิสัญญีพยาบาลห้องพักฟื้นจึงปรับเตียงราบ แล้วให้นอนหมอนเตี้ยๆ

 เย็นวันเดียวกัน   ขณะเดินผ่านบริเวณส่งผู้ป่วยกลับหอผู้ป่วยพบเหตุการณ์แบบเดียวกันแต่เป็นผู้ป่วยคนละคน  ปรับเตียงสูงประมาน 45 องศาจึงถามพยาบาลรับส่ง....เขาไม่ทราบเพราะวิสัญญีไม่ได้บอก..และผู้ป่วยรายนี้ร้องขอให้ทำ......เดินไปหาผู้ป่วยแล้วให้คำแนะนำทั้งผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่......จากนั้นเดินกลับมาที่วิสัญญีพยาบาลห้องพักฟื้นคนเดิม  เล่าเหตุการณ์ให้ฟัง(ทั้งๆที่ผู้ป่วยรายนี้ไม่ใช่ของเธอ)   เธอสั่งการกับพนักงานห้องพักฟื้นทันทีว่าวันหลังจะกำชับว่ารายไหนให้นอนราบ

เมื่อจะเดินกลับ...อดคิดไม่ได้ว่า  นอนราบหรือไม่ต้องนอนราบหลังทำ Spinal Block   ที่จำได้บางคนก็ว่าต้อง...บางคนว่าไม่จำเป็น...

นั่งพักห้องอาหาร...ถามdentsหลายคนตอบตรงกันว่า   เดี๋ยวนี้เขาไม่เชื่อว่าอาการปวดศรีษะจะเพิ่มมากขึ้นถ้านอนศรีษะสูง...จึงกลับมาทบทวนแผ่นพับคำแนะนำที่ให้ผู้ป่วยหลังทำ Spinal Block   

แล้วจะยังไงดี....คำตอบว่ายังไงก็ได้...อาจไม่เหมาะสมกับกรณีนี้  เพราะทำให้ผู้ปฏิบัติสับสน   คงต้องกลับมาทบทวนกันใหม่

                  จากแผ่นพับแจกผู้ป่วย

จะปฏิบัติตัวอย่างไร หลังได้รับการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง  

      วิธีการดูแลตนเอง...หลังได้รับการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง             

การฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลังเป็นเทคนิคที่วิสัญญีแพทย์จะช่วยให้ผู้ป่วยไม่เจ็บขณะผ่าตัด  โดยผู้ป่วยจะมีอาการชาตั้งแต่บริเวณเอวลงไปถึงปลายเท้า (อาจจะสูงหรือต่ำกว่านั้น ขึ้นกับตำแหน่งที่ผ่าตัด) ในบางกรณีวิสัญญีแพทย์จะใส่ยาระงับปวดร่วมกับยาชาเข้าทางช่องไขสันหลังเพื่อลดอาการปวดหลังผ่าตัด          

      หลังได้รับการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง วิสัญญีแพทย์และวิสัญญีพยาบาล จะให้การดูแลท่านตลอดการผ่าตัด และดูแลต่อเนื่องในห้องพักฟื้น จนท่านปลอดภัยดีจึงส่งกลับหอผู้ป่วย

ในการผ่าตัดครั้งนี้

ท่านได้รับการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลังเวลา..................น. / ครบ 6 ชั่วโมงเวลา...................น. 

  หลังจากนั้นท่านควรดูแลตนเองหรือปฏิบัติตัวดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • ท่านสามารถนอนหนุนหมอนที่ไม่สูงมากได้ และไม่ลุกขึ้นนั่งจนกว่าจะครบเวลา 6 ชั่วโมง(ดูเวลาในช่องสี่เหลี่ยมข้างบน)
  • สังเกตว่าขาทั้งสองหายชาและมีกำลังเป็นปกติ ภายในเวลา 6 ชั่วโมงหรือไม่  ทดสอบด้วยการสัมผัสหรือหยิกเบาๆ   ถ้าไม่มีความรู้สึกแสดงว่ายังไม่หายชา   หรือทดสอบด้วยการ เคลื่อนไหวขาและเท้า   ถ้าสามารถยกขาโดยเข่าเหยียดตรง ขยับขาได้สะดวก และขมิบก้นได้ ถือว่าหมดฤทธิ์ของยาชาแล้ว
แต่...ถ้าครบ 6 ชั่วโมงแล้วขายังไม่กลับมามีกำลังเป็นปกติ    ต้องแจ้งให้พยาบาลทราบ เพื่อรายงานแพทย์อย่างรีบด่วน เพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท
  • สังเกตอาการ หน้ามืด วิงเวียนขณะลุกนั่ง  ถ้ายังมีอาการดังกล่าว ให้ท่านนอนพักผ่อนอย่าเพิ่งลุกนั่งหรือเดิน  แต่หากไม่มีอาการท่านควรลุกนั่งช้าๆ และมีผู้ช่วยประคองในระยะแรก เมื่อรู้สึกสบายดีจึงลุกนั่งหรือเดินได้
  • สังเกตอาการ ปวดศีรษะหลังจากเปลี่ยนท่า  ถ้าท่านมีอาการปวดศีรษะตุ้บๆบริเวณขมับหรือท้ายทอย  หลังจากลุกนั่งหรือยืน แต่นอนราบแล้วอาการดีขึ้น ต้องแจ้งให้พยาบาลทราบ เพื่อรายงานแพทย์ต่อไป  หากไม่ดีขึ้นภายใน 24-48 ชั่วโมง ต้องแจ้งพยาบาลเพื่อรายงานวิสัญญีแพทย์ให้การรักษาต่อไป
  • สังเกต อาการปัสสาวะคั่ง ถ้าปวดอยากถ่ายปัสสาวะให้ลองปัสสาวะเอง หลังจากฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลังแล้ว 6 ชั่วโมงถ้าไม่สามารถถ่ายปัสสาวะเองได้  ควรแจ้งพยาบาลเพื่อสวนปัสสาวะเป็นครั้งคราว
  • กรณีที่ท่านเริ่มปวดแผลผ่าตัด ให้ขอยาระงับปวดทันที
  • กรณีที่ท่านได้รับการใส่สายคาไว้ที่บริเวณช่องเหนือเยื่อหุ้มไขสันหลังเพื่อให้ยาระงับปวด    ท่านควรจะได้รับการเอาสายออกจากหลัง  ประมาณ 2-3 วันหลังผ่าตัด ถ้าเกินกำหนดจากนี้ต้องแจ้งพยาบาลเพื่อรายงานแพทย์ต่อไป

กรณีที่เป็นผู้ป่วยนอก  ถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหลังจากได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน หรือกลับบ้านไปแล้ว ควรรีบกลับมาพบแพทย์ทันที  หรือโทรศัพท์สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทั้งในและนอกเวลาราชการ

ภาควิชาวิสัญญีวิทยา  คณะแพทยศาสตร์  โรงพยาบาลศรีนครินทร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร. 043-348390 หรือ 043-363059-60 E-mail address : http//anaes.md.kku.ac.th/

จัดทำโดย  ผศ.พนารัตน์  รัตนสุวรรณ ยิ้มแย้ม,วินิตา  จีราระรื่นศักดิ์,สุทธินี  เฟื่องกระแสร์ และสมาชิกกลุ่มพัฒนาคุณภาพบริการห้องพักฟื้น ภาควิชาวิสัญญีวิทยา  คณะแพทยศาสตร์  โรงพยาบาลศรีนครินทร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น 40002

หมายเลขบันทึก: 57199เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2006 21:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

อ.กฤษณาคะ

       แวะมาอ่านค่ะงง-งง ไม่แน่ใจว่าตั้งใจหรือไม่..

คือ..ที่บันทึกทุกครั้งน่าจะอยู่ในบล๊อกเดียวกันค่ะ

เวลาบันทึกเรื่องราวใหม่ ๆ ให้ไปตรงที่เพิ่มบันทึกค่ะ

ไม่งั้น..เดี๋ยวอาจารย์ต้องมีหลาย blog มากไปค่ะ

                                   -น้อง-

 

ขอบคุณคุณน้องที่ให้ข้อคิดค่ะ...กำลังดำเนินการ

สวัสดีค่ะ หนูอยากทราบว่าทำไมผู้ป่วยที่ผ่าตัด Tiotal Vaginal Histerectomy ได้รับยาทาง spinal block ละค่ะ หรือเพราะเขามีโรคประจำตัวหลายโรค เช่น DM HT DBL Old CVA ค่ะและต้องให้การพยาบาลผู้ป่วยหลังผ่าตัดใน24 ชม แรกและ 24 ชม หลังยังไง

สวัสดีค่ะ คุณพัชรินทร์

  • เดี๋ยวนี้วิสัญญีแพทย์มีเทคนิคการแพทย์ทันสมัยขึ้นมากค่ะ มีการพัฒนาเทคนิคทางการระงับความรู้สึกเฉพาะบางส่วนที่สามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างปลอดภัยค่ะ
  • เทคนิคการฉีดยาชาแบบ spinal block จะกระทำได้เฉพาะวิสัญญีแพทย์เท่านั้นค่ะ  หรือหากไม่มีวิสัญญีแพทย์  แพทย์ผ่าตัดยินดีทำหัตถการนี้เองแพทย์นั้นก็ต้องแม่นในชนิดและขนาดข้อบ่งใช้ของยาชาที่ใช้ ตลอดจนวิสัญญีพยาบาลผู้เฝ้าดูแลผู้ป่วยต่อ ต้องมีความรอบคอบ  และแม่นยำในการติดตามเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด  และต้องประเมินภาวะและช่วยเหลือได้ทันทีตลอดเวลาค่ะ...
  • ...การให้ขนาดยาชาที่เหมาะสมสามารถทำให้การผ่าตัด ดังกล่าวดำเนินไปได้ค่ะ..หากแต่ภาพสมัยก่อนซึ่งไม่มีวิสัญญีแพทย์มากนักอาจจะพบว่ามีแต่ดมยาสลบโดยวิสัญญีพยาบาล เพราะวิสัญญีพยาบาลได้รับอนุญาตให้ทำได้เฉพาะการดมยาสลบค่ะทั่วไปภายใต้ความรับผิดชอบของวิสัญญีแพทย์/แพทย์ผ่าตัดเจ้าของผู้ป่วย ไม่สามารถฉีดยาชาเข้าไขสันหลังได้ค่ะ
  • กรณีผู้ป่วยมีโรคประจำตัวมาก  จัดอยู่ในความเสี่ยงหลายอย่างต้องผ่านการประเมินอย่างดีร่วมกันระหว่างวิสัญญีแพทย์  แพทย์ผ่าตัด และอาจจะต้องปรึกษาแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเช่นอายุรแพทย์เกี่ยวกับหัวใจ ซึ่งพิจารณาเป็นรายๆไปค่ะ
  • ขอบคุณนะคะที่ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง  ข้อสงสัย

หนูอยากทราบว่า.......

คนที่มีอาการหายใจเหนื่อยหอบ ทำไมต้องนอนศีรษะสูง 45 องศาด้วยคะ

แล้วมันเกี่ยวข้องกับอนาโตมีด้วยหรือเปล่าคะ

หนูอยากทราบเหตุผลค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีคะ ดีฉันคลอดลูกด้วยวิธีบล็อกหลังตอนอายุ26ปี ตอนนี้อายุ35ปี มีอาการปวดหลังบ่อย บางคนบอกว่าเป็นผลข้างเคียงระยะยาวจากการบล็อกหลัง เป็นไปได้ไหมคะ รบกวนตอบด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

ทำไมผู้ป่วย C/S under spinal block มีอาการปวดศีรษะมาก แพทย์ให้Absolute bed rest จน breast feed ลำบาก ผลตกอยู่ที่ทารกBF ได้ลำบาก น้ำหนักลดมาก จะมีทางอื่นที่ดีกว่า Absolute bed rest มั้ยคะ

คุณ kham [IP: 61.7.231.200]

จากคำถามนี้ หากตอบง่ายๆคือ การนอนศรีษะสูงทำให้กระบังลมเคลื่อนได้ง่ายขึ้นในจังหวะหายใจเข้า ทำให้หายใจง่ายขึ้นเหนื่อยน้อยลงค่ะ โดยพื้นฐานก็เกี่ยวข้องกับกายวิภาคและสรีรวิทยาค่ะ

แต่จะอย่างไรก็ตาม อาการหายใจเหนื่อยหอบเป็นได้จากหลายสาเหตุค่ะเช่นโรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับปอด หรือแม้อาการทางจิต ควรตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงแล้วรับการรักษาโดยตรงจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญค่ะ

คุณ เพชร [IP: 125.26.68.84]

จริงๆแล้ววิธีบล็อคหลังเพื่อการทำผ่าตัดคลอดอาจเลือกใช้เทคนิค Spinal anesthesia หรือ Epidural anesthesia แล้วแต่ความชำนาญของผู้บล็อค ซึ่งเป็นการให้ยาชาผ่านเข็มที่ใช้แทงข้างหลังจากผิวหนังผ่านชั้นต่างๆ โดยอาการปวดหลังอาจพบได้บ้าง อาจเกิดจากการที่ขนาดและความคมของเข็มทำให้เกิดการบอบช้ำต่อเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียง โดยทั่วๆไปจะหายไปในช่วงเวลาสั้นๆ มักไม่ปรากฏจากการทำหัตถการโดยผู้ที่ชำนาญค่ะ  หากพบก็น่าจะมีอาการดีขึ้นเรื่อยๆจนหายไปหลังจากเส้นประสาทนั้นหายบอบช้ำค่ะ แต่อาการปวดเรื้อรังพบได้น้อยมากค่ะ มีคำแนะนำให้ใช้น้ำอุ่นหรือน้ำเย็นประคบบรรเทาอาการค่ะ

หากสร้างความรำคาญและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แนะนำให้กลับไปพบแพทย์เพื่อรับทราบคำแนะนำและได้รับการรักษาเพิ่มเติมค่ะ

เรียน คุณwun [IP: 110.49.73.81]

อาการปวดศรีษะหลังทำ spinal anesthesia เบื้องต้นแนะนำให้นอนพักในท่านอนราบ ดื่มน้ำมากๆ ทานยาแก้ปวดซึ่งจะรบกวนการให้นมบุตรอย่างแน่นอนค่ะ อาการนี้ควรหายภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังทำ

หากไม่หายอาจเกิดจากการที่ยังคงมีการรั่วซึมของน้ำไขสันหลังอยู่ การทำ Epidural blood patch เป็นทางเลือกของการรักษาค่ะ เป็นการใช้เลือดของผู้ป่วยเองปริมาณเล็กน้อย ราว 15-20 ซีซี. ฉีดเข้าสู่ช่อง epidural space เพื่อให้เลือดแข็งตัวอุดรูรั่วค่ะ อาการปวดศรีษะรุนแรงจะหายภายในเวลาอันสั้น วิธีนี้ต้องกระทำโดยแพทย์ค่ะ

ขอให้หายปวดไวๆนะคะ

โชคดีค่ะ

เรียน อ.กฤษณา สำเร็จ 

ดิฉัน เป็น นศ.พยาบาลวิสัญญี ต้องการทำรายงาน interesting case เรื่องการระงับความรู้สึกแบบGA ในผู้ป่วยasthma ไม่ทราบว่ามีหนังสือหรือwebแนะนำไหมคะ (ควรใช้ยาอะไร ระวังอะไรบ้าง ป้องกันได้อย่างไร...) ขอรบกวนอาจารย์หน่อยนะค่ะ

ชว่ยได้เยอะเลย

ทำการผ่าตัดมาค่ะ เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว คุณหมอแนะนำให้บล๊อคหลัง เพราะเคยมีประวัติผ่าไซนัสมาก่อน มาคราวนี้ผ่าเนื้องอกมดลูก ขณะที่ผ่าตัด คุณหมอบอกว่าถ้าเครียดจะให้ดมยา จะได้หลับขณะผ่าตัด แต่ขอไม่หลับค่ะ คราวนี้ขณะที่ผ่าตัด หายใจไม่ออก อาเจียนขณะผ่าตัด และหวิว ๆ ได้ยินแต่หมอบอกว่าความดันตก อาการแบบนี้เกิดขึ้นกับคนที่บล๊อคหลังได้บ่อยไหมค่ะ คุณหมอบอกว่าแพ้ยาแก้ปวดที่ใส่ไปกับยาชา ทำให้มีการคันตามผิวหนังตามมา ให้ยาแก้อาเจียนมาด้วย สรุปผ่าตัดครั้งนี้ตัวเราเหมือนจะรู้สึกว่าวิกฤตกว่าที่เคยดมยา ผ่าตัดอื่น ๆ ที่เคย ถ้าหมอให้หลับขณะผ่าตัดไม่อยากคิดว่าจะเป็นไรมากกว่านี้ป่าว อะไร ๆ ก้อเกิดขึ้นได้ตลอด ขอให้ทุกท่านสุขภาพแข็งแรงค่ะ

รบกวนสอบถามว่า ภาวะแทรกซ้อนระยะยาวของการบล็อกหลังมีอะไรบ้างคะ และสามารถยกของหนักได้มั้ยคะ

สวัสดีครับอาจารย์ ผมอยากทราบว่า จริงๆแล้วหลังทำspinal block การจัดท่านอนราบหลัง6 ชม กับการให้ผู้ป่วยนอนศีรษะสูงเลย มีผลต่อการเกิด spinal headache มั้ยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท