สัมมนาสภาห้าเทา : แหวกขนบจากห้องประชุมออกสู่ชุมชน


สภานิสิตไม่ค่อยได้ออกค่าย (เป็นคนค่าย) เพราะติดยึดกับภารกิจประจำของสภานิสิตที่ไม่นิยมสร้างกิจกรรมเชิงรุกออกสู่ชุมชน ยิ่งทำให้สมาชิกสภานิสิตขาดโอกาสในการสัมผัสกับสถานการณ์จริงอันเป็น “ชะตากรรมของคนค่าย” หรือ “คนกิจกรรม” ว่าต้องสู้รบปรบมือกับอุปสรรคนานาประการเช่นใด ดังนั้นการได้มาออกค่ายเช่นนี้ ผมจึงเชื่อว่าจะช่วยให้สมาชิกสภานิสิตได้ “เห็นใจและเข้าใจหัวอกคนค่าย-คนทำกิจกรรม" ภาคสนามอย่างถ่องแท้

โครงการสัมมนาสภาห้าเทาสัมพันธ์ ครั้งที่ ๘ ถือเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

ความน่าสนใจในที่นี้หมายถึง เป็นกิจกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงระบบการทำงานแบบ “บูรณาการ" (สหกิจกรรม) ใช้ชุมชนเป็นห้องเรียนแห่งการเรียนรู้ โดยมีกิจกรรมเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ระหว่างนิสิตกับนิสิต และนิสิตกับชุมชน
รวมถึงความน่าสนใจในฐานะของการ“คิดนอกกรอบ" (แหวกขนบ) ไปจากการจัดกิจกรรมในครั้งที่ผ่านมาทั้ง ๗ ครั้งอย่างสิ้นเชิง
เช่นเดียวกับหากพิจารณาเฉพาะความเป็นมหาวิทยาลัยมหาสารคามนั้น ย่อมพบว่ากิจกรรมดังกล่าวนี้ สอดรับกับกระบวนการบ่มเพาะอัตลักษณ์การเป็นนิสิต (ผู้ช่วยเหลือสังคมและชุนชน) และค่านิยมของนิสิต (MSU FOR ALL : พึ่งได้) ที่หมายถึงการ "พึ่งพาตนเองได้" และ "เป็นที่พึ่งพาของคนอื่น"




นอกกรอบ : แหวกขนบจากห้องประชุมสู่ชุมชน

การคิดนอกกรอบ (แหวกขนบ) ในที่นี้หมายถึง โดยปกติการจัดกิจกรรม ๗ ครั้งที่ผ่านมา สมาชิกสานิสิตทั้ง ๕ สถาบัน (ม.มหาสารคาม ม.บูรพา ม.ทักษิณ ม.นเรศวร ม.ศรีนครินทรวิโรฒ) มักมุ่งเน้นการจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการทำงานของสภานิสิตเป็นหัวใจหลัก ด้วยการตั้งวงโสเหล่เสวนาเรื่องกิจกรรม หรือการทำงานของสภานิสิตในแต่ละมหาวิทยาลัยว่าทำอะไรมาบ้าง พบปัญหาอุปสรรคอะไร อะไรคือความสำเร็จ อะไรคือความล้มเหลว อะไรคือกิจกรรมเด่นๆ ของแต่ละองค์กร
นอกจากนั้นก็มีกิจกรรมอื่นๆ ประกอบเข้ามาบ้างประปราย เช่น การทัศนศึกษา -

กรณีการโสเหล่เสวนานั้น ข้อมูลที่นำมาแบ่งปันกันในแต่ละปีปฏิเสธไม่ได้ว่าเหมือนเอา “หนังม้วนเก่ามาฉายซ้ำ" อยู่บ่อยๆ
มีเพียงไม่กี่ปีเท่านั้นที่ดูเหมือนจะมีเวทีเชิงรุกบรรยายและเสวนาในประเด็นอันเป็น "พลังทางความคิด" ที่ข้ามพ้นไปจากรั้วมหาวิทยาลัย เช่นการพูดถึงบทบาทและสถานะของสภานิสิต (นิสิตนักศึกษา) ที่มีต่อการ “รับใช้สังคม"
ซึ่งทั้งหลายทั้งปวง ส่วนใหญ่มักจัดกิจกรรมอยู่ในห้องประชุมที่มีแอร์อันเย็นฉ่ำ มีอาหารและอาหารว่างสำเร็จรูปรองรับบริการ
และนั่นก็สอดรับกับวิถีกิจกรรมอันเป็นขนบนิยม หรือกิจกรรมแบบฉบับของสภานิสิตที่ต้อง “ประชุม" อยู่อย่างเนืองนิตย์ โดยเฉพาะการประชุมเพื่อการพิจารณากลั่นกรองโครงการขององค์การนิสิต สโมสรนิสิต ชมรมและกลุ่มนิสิตในแต่ละปีการศึกษา





ด้วยเหตุนี้จึงนับได้ว่าสภานิสิตในเครือข่าย “สภาห้าเทา" ไม่ค่อยได้มี “กิจกรรมเชิงรุก" ออกสู่ "การเรียนรู้" และ “การรับใช้สังคม" นอกรั้วมหาวิทยาลัยเท่าที่ควรนัก จนเป็นที่มาของการทิ้งปมความคิดไว้ในเวทีครั้งที่ ๗ ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นเจ้าภาพในทำนองว่า “อยากให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบจากการสัมมนาในห้องประชุมไปสู่การปฏิบัติการค่ายในชุมชน" โดยฝากหวังให้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เจ้าภาพครั้งที่ ๘) เป็นแกนหลักในการ “ริเริ่มขับเคลื่อน"

ก็ด้วยการฝากหวังข้างต้นนั่นแหละ สภานิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับแต่งการสัมมนาสภาห้าเทาในมิติใหม่ในรูปของ “ค่ายอาสาพัฒนา" ด้วยการหลบเร้นออกจากห้องแอร์ไปสู่การทำงานกลางสายลมและแสงแดด หรือแม้แต่สายฝน แต่กระนั้นก็ยังไม่ทิ้ง “อัตลักษณ์" กิจกรรมของตนเองอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือยังคงไว้ซึ่งเวทีการสัมมนาเหมือนเช่นทุกครั้ง หากแต่ครั้งนี้มุ่งหันกลับมาชำระประวัติศาสตร์ตนเองในหัวข้อ “รากเหง้าความเป็นมาของการสัมมนาสภาห้าเทา" ซึ่งนำพาศิษย์เก่า หรืออดีตประธานสภานิสิตมาร่วมเสวนากับประธานสภานิสิตในรุ่นปัจจุบัน





สู่ชุมชน : เรียนรู้คู่บริการสู่การสัมผัสจริงชะตากรรมคนค่าย

สัมมนาสภาห้าเทา ครั้งที่ ๘ ไม่ได้จ่อมจ่มด้วยรูปแบบการประชุมเสวนาในห้องประชุมเหมือนเช่นทุกครั้ง หากแต่ครั้งนี้มุ่งสู่การ “ทำค่าย" โดยใช้ “ชุมชน" อันหลากหลายเป็นฐานการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่หลักการเรียนรู้ที่สำคัญๆ คือ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช และโรงเรียนบ้านนาฝาย
ซึ่งทั้งสองพื้นที่อยู่ในเขตตำบลพระธาตุและตำบลดงดวน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ห่างจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือตัวเมืองมหาสารคามในราวๆ เกือบ ๑๐๐ กิโลเมตร
ส่วนกิจกรรมที่จัดขึ้นนั้นหลากหลายรูปแบบ (บูรณาการ/สหกิจกรรม) หากไม่นับกิจกรรมประเพณีนิยมด้วยการเลี้ยงรับรอง (พาแลงในแบบอีสานๆ) ผูกข้อต่อแขน บายศรีสู่ขวัญ ชมดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสาน (โปงลาง) พบว่ามีการออกแบบกิจกรรมอื่นๆ ไว้เป็นโจทย์การเรียนรู้อย่างหลากรสชาติ เป็นต้นว่า


  • เรียนรู้ประวัติศาสตร์อารยธรรม “นครจำปาศรี" เช่น พระธาตุนาดูน กู่สันตรัตน์ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
  • ปรับปรุงห้องสมุด จัดหาหนังสือเข้าห้องสมุด นิทรรศการความรู้ในห้องสมุด
  • ปรับปรุงห้องพยาบาล จัดนิทรรศการความรู้ในห้องพยาบาล
  • ปรับปรุงซ่อมแซมห้องสุขา
  • ทำความสะอาดโรงอาหารและแท็งก์เก็บน้ำ
  • ปรับปรุงภูมิทัศน์ สวนหย่อมในโรงเรียน
  • กิจกรรมกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตกับนิสิตและนิสิตกับชุมชน
  • มอบอุปกรณ์การเรียนการสอน อุปกรณ์กีฬา




อย่างไรก็ดีกิจกรรมอันหลากหลายข้างต้น อาจไม่ใช่กิจกรรมเชิงลึกอะไรอย่างมากมายนัก มีกลิ่นอายของงานค่ายอาสาพัฒนาในยุคเก่าก่อนอย่างเลี่ยงไม่ได้
ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่ามีมิติของการเรียนรู้บริบทชุมชนอยู่อย่างเด่นชัด มีการพยายามเชื่อมโยงการเรียนรู้ร่วมกัน หรือสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (เรียนรู้คู่บริการ) ระหว่างมหาวิทยาลัยสู่โรงเรียนและชุมชนเป็นระยะๆ ทั้งอย่างเป็นทางการและแทรกซ่อนไว้ตามวิถีกิจกรรมที่กำหนดขึ้นในแต่ละวัน




โดยส่วนตัวแล้วผมมองเห็นความพยายามที่จะเรียนรู้ของนิสิตที่เป็นเจ้าภาพอย่างน่าชื่นใจ เพราะมวลสมาชิกสภานิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคามล้วนแล้วแต่ขาดประสบการณ์ของการเป็น “คนค่าย" แทบทั้งสิ้น
แต่ละคนที่เป็นสมาชิกสภานิสิต หรือกระทั่งอนุกรรมการสภานิสิต ล้วนแทบไม่เคย “ทำงานค่าย" กันมาก่อนเลยก็ว่าได้ แต่กลับกล้าหาญที่จะแบกรับภารกิจแห่งการเรียนรู้ในครั้งนี้ไว้อย่างไม่งอแง ด้วยหมายใจว่าการสัมมนาสภาห้าเทาในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ฉีกออกจากขนบเดิมๆ แห่งการ “สัมมนา" ที่มักจ่อมจมอยู่แต่ในห้องประชุม จนไม่อาจมองทะลุถึงมิติของ “ชุมชน-ท้องถิ่น"

เช่นเดียวกับการที่สมาชิกสภานิสิตไม่ค่อยได้ออกค่าย (เป็นคนค่าย) เพราะติดยึดกับภารกิจประจำของสภานิสิตที่ไม่นิยมสร้างกิจกรรมเชิงรุกออกสู่ชุมชน ยิ่งทำให้สมาชิกสภานิสิตขาดโอกาสในการสัมผัสกับสถานการณ์จริงอันเป็น “ชะตากรรมของคนค่าย" หรือ “คนกิจกรรม" ว่าต้องสู้รบปรบมือกับอุปสรรคนานาประการเช่นใด




ดังนั้นการได้มาออกค่ายเช่นนี้ ผมจึงเชื่อว่าจะช่วยให้สมาชิกสภานิสิตได้ “เห็นใจและเข้าใจหัวอกคนค่าย-คนทำกิจกรรม" ภาคสนามอย่างถ่องแท้
เมื่อถึงคราวต้องนั่งประชุมพิจารณากลั่นกรองให้ความเห็นชอบโครงการขององค์กรต่างๆ จะได้สามารถผ่อนปรน หนุนเสริม เติมเต็มกันและกันได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล
หรือเรียกง่ายๆ คือ “พิจารณาบนฐานของความรู้" ไม่ใช่ติดยึดอยู่แต่หลักการและทฤษฎีอย่างแน่นเหนียว จนทำให้คนทำงานพลอยอึดอัด เหนื่อยล้าไปอย่างไม่รู้ตัว...




สัมมนาสภาห้าเทา : สัมมนาในทุกจังหวะของการทำค่าย


ถึงแม้รูปแบบโครงการสัมมนาสภาห้าเทา ครั้งที่ ๘ จะปรับเปลี่ยนจากการสัมมนาในห้องประชุมไปสู่ “ค่ายอาสาพัฒนา" บนฐานคิดของการ “เรียนรู้คู่บริการ" โดยใช้ชุมชนเป็นฐานหรือห้องเรียน ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนจากมวลสมาชิก “สภานิสิต มมส" (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) ที่เป็นเจ้าภาพซึ่งยังขาดประสบการณ์ค่ายอย่างเห็นได้ชัด
ซึ่งผมก็มองว่านี่คือความท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่นิสิตต้องเรียนรู้และข้ามพ้นให้จงได้...
ยิ่งต้องมาดูแลและหลอมรวมเพื่อนๆ จำนวนมากๆ จาก ๔ สถาบันให้เป็นหนึ่งเดียวให้ได้มากที่สุด ยิ่งเป็นความท้าทายอันใหญ่หลวงของเหล่าบรรดานิสิตเจ้าภาพที่จะต้องทุ่มเทเก็บเกี่ยวประสบการณ์สู่การพัฒนาตน-พัฒนางาน-พัฒนาองค์กรอย่างไม่หวาดหวั่น
เป็นการเรียนรู้และพัฒนาตนบนฐานของปรัชญา (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน) คุณธรรม-อัตลักษณ์การเป็นนิสิต (ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) ตามครรลองวิถี "จิตสาธารณะ"

กรณีเหล่านี้ผมได้หนุนเสริมกำลังใจต่อเจ้าหน้าที่และแกนนำในช่วงก่อนลงพื้นที่ในทำนองว่า

“...ค่ายสภาห้าเทาในครั้งนี้ ยังคงเป็นงานสัมมนาเหมือนเก่าก่อน ไม่ได้รื้อถอนหลุดลอยไปจากอดีต หรือขนบเดิมๆ หากแต่วิธีการของการสัมมนาเปลี่ยนไปเท่านั้นเอง การสัมมนาในครั้งนี้ผสมกลมกลืนไปอยู่ในทุกๆ จังหวะของการทำงานและการใช้ชีวิตร่วมกัน การสัมมนาไม่จำเป็นต้องมีเวทีอย่างเป็นทางการ เพียงเปิดใจที่จะพูดคุย โสเหล่ ถามทักและแบ่งปันประสบการณ์ผ่านกิจกรรม (หน้างาน) ก็ถือเป็นการสัมมนาในอีกมิติหนึ่งด้วยเหมือนกัน..."

....



.....

โครงการสัมมนาสภาห้าเทาสัมพันธ์ ครั้งที่ ๘
วันที่ ๑๘-๒๓ เมษายน ๒๕๕๗
ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช (พื้นที่ปฏิบัติการนาดูน) ต.พระธาตุ อ.นาดูน จ.มหาสาคาม
โรงเรียนบ้านนาฝาย ต.ลำดวน อ.นาดูน จ.มหาสาคาม

....

ภาพโดย นิสิตจิตอาสาและงานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ กองกิจการนิสิต มมส.

หมายเลขบันทึก: 571532เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2014 22:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2014 10:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

...เป็นงานที่ท้าทายนะคะอาจารย์

"แหวกขนบ ได้พบเห็นสิ่งเป็นอยู่

 ได้เรียนรู้ ได้ปฏิบัติ ฝึกหัดทำ

รู้ปัญหา รู้สาเหต รู้แก้ไขในกิจกรรม

ลงมือทำ เรียนรู้ สู่ชุมชน "

"การศึกษา" คือ การเรียนรู้เพื่อให้เกิดความรู้ใหม่ ซึ่งมักจะได้จากการลงมือทำกิจกรรมจริง 

เป็นโครงการที่ดีมากค่ะ

.... เกิดความสัมพัธ์กัน .. บ้าน...  วัด  .... โรงเรียน....ชุมชน...นะคะ.....เกิดการเรียนรู้ ร่วมกัน นะคะ



เอาต้นเต่าร้างมาฝากค่ะ



กิจกรรมที่ได้ร่วมกันทำ

ทำให้เราได้เรียนรู้ได้ดีมากขึ้นนะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท