ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๙๒. สิทธิที่จะถูกลืม


          นิตยสาร ไทม์ ฉบับวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ลงเรื่อง You Have the Right to Be Forgotten ที่ศาลสูงสุดของสหภาพยุโรป ตัดสินให้ Google ลบเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการขายทอดตลาดบ้านของ ทนายความชื่อ Mario Costeja Gonzalez เมื่อ ๑๖ ปีที่แล้ว โดยให้เหตุผลว่า เป็นสิทธิมนุษยชน ที่มีสิทธิ ที่จะได้รับการลืมเรื่องราวในอดีตหลังจากเรื่องราวนั้นได้ผ่านไประยะหนึ่ง

          ศาลได้ตัดสินให้เพิ่มประเภทของสิทธิมนุษยชนอีกข้อหนึ่ง คือ “สิทธิที่จะได้รับการลืม”

        บทความวิจารณ์ว่า นี่เป็นฉากใหม่ของอารยะธรรมมนุษย์ ที่ในอดีตมนุษย์เราต่างก็อยากให้คนรุ่นหลัง จดจำตนได้ แต่ตอนนี้ จะมีบางคนต้องการให้ผู้คนลืมเรื่องราวในอดีตบางเรื่องของตน ที่คนควรจะลืมหากไม่มี สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาต่อความจำไม่รู้จบ คือระบบ ไอซีที และเครื่องค้นข้อมูลคือ กูเกิ้ล

          ข่าวนี้ดังมาก ผมลองค้นด้วยคำว่า You have the right to be forgotten ได้ข่าวในแหล่งต่างๆ มากมาย

          ที่จริงที่บ้านเราก็มีคนที่ต้องการปกปิดประวัติที่ไม่ดีของตน และทำไม่ยาก โดยเปลี่ยนชื่อเปลี่ยน นามสกุล ก็ปกปิดไปได้ไม่น้อย

          บทความอธิบายว่า คำตัดสินนี้ไม่ใช่มีผลเฉพาะ กูเกิ้ล แต่มีผลต่อทุก search engine และตัวข่าวยังอยู่ ไม่หายไปไหน แต่ search engine ต้องไม่เชื่อมต่อ

          คำตัดสินของศาล ชี้ให้เห็นว่า คำว่า สารสนเทศสาธารณะ (public information) เปลี่ยนไป เดิมสารสนเทศแพร่ไปช้าๆ ขยายเรื่องราวในบางพื้นที่ และจางหายไปในบางพื้นที่ แต่ด้วยพลังของเทคโนโลยี สารสนเทศ ในปัจจุบันสารสนเทศแพร่กระจายไปทั่ว และทันที สำหรับมนุษย์ อดีตเป็นสิ่งที่ค่อยๆ เลือนรางไป แต่เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้ธรรมชาตินั้นถูกขัดขวาง

          คำตัดสินของศาล บอกเราว่า เทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งที่เป็นใหญ่ กำหนดให้มนุษย์ต้องปรับตัวตาม เทคโนโลยีฝ่ายเดียว แต่เทคโนโลยีมีหน้าที่ต้องปรับตัวตามความประสงค์ของมนุษย์ด้วย มนุษย์มีสิทธิ เรียกร้องให้ ผู้ดูแลเทคโนโลยีที่มีผลต่อสาธารณชน จัดการเทคโนโลยีให้เคารพต่อสิทธิของมนุษย์

วิจารณ์ พานิช

๒๔ พ.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 571475เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2014 08:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กรกฎาคม 2014 08:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท