เสวนาผู้นำเครือข่ายชุมชนลูกหลานฟันดี อำเภอสระใคร หนองคาย


สรุปการเสวนาแกนนำชุมชนและอาสาสมัครสาธารณสุข เรื่อง เครือข่ายชุมชนลูกหลานฟันดี

โครงการพัฒนาเครือข่ายฟันดีด้วยภาคีเข้มแข็ง อำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย ปี ๒๕๕๗

วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอสระใคร

**********************

ผู้เข้าร่วมเสวนา

ผู้นำชุมชน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ประธานอาสาสมัครสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ๓๘ หมู่บ้าน ในอำเภอสระใคร

[ตำบลคอกช้าง ขาดบ้านสมสะอาด (หมู่ ๗) ตำบลบ้านฝาง ขาดบ้านโนนแดง (หมู่ ๗) และบ้านฝางน้อย (หมู่ ๑๐)] รวม ๗๖ คน

พิธีเปิดการประชุม ประธานในพิธี นายวรรณพล ต่อพล นายอำเภอสระใคร

กล่าวรายงานโดย ทพญ.ธิรัมภา ลุพรหมมา ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระใคร

ทีมวิทยากรกระบวนการ ทันตแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข ผู้ช่วยทันตแพทย์ เจ้าพนักงานธุรการ ประจำศูนย์สุขภาพชุมชน กลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลสระใคร โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสระใคร โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคอกช้าง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านฝาง

กิจกรรมเสวนา

กิจกรรม ๑. เรื่องเล่าเร้าพลัง

ทีมวิทยากรกระบวนการ ทพญ.ธิรัมภา ลุพรหมมา หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม และคุณวัชราภรณ์ ผิวเหลือง หัวหน้ากลุ่มการพยาบาล เริ่มต้นกิจกรรมด้วยให้ผู้เข้าร่วมเสวนาทำกิจกรรมฟังเรื่องเล่าดี ๆ จับคู่กัน คนหนึ่งเลือกเป็นนกเขา อีกคนเป็นนกกระปูด ผลัดกันเป็นผู้เล่าและผู้ฟัง

กติกาการฟัง คือ ฟังโดยไม่สอบถาม ไม่โต้แย้ง ไม่ตัดสิน ปล่อยใจไปกับเรื่องราวที่รับฟัง และทบทวนความรู้สึกตนเองขณะที่รับฟัง เมื่อถึงช่วงเวลาที่ให้ถามค่อยถามได้

หัวข้อเรื่องเล่า คือ กิจกรรมที่ทำให้ลูกหลานฟันดี ที่เราเคยทำในชุมชน ในครอบครัว หรือตัวเราเองที่ทำให้เราฟันดี

เมื่อฟังแล้วคนที่เป็นผู้ฟังเล่ากลับให้เจ้าของเรื่องฟัง หากเรื่องราวเพี้ยนไป เจ้าของเรื่องแก้ไข เล่าเพิ่มเติมอีก ๑ นาที

หลังจากนั้น ให้นกเขาบินไปหากลุ่มนกเขากลุ่มละ ๘ คน นกกระปูดกลุ่มละ ๘ คน นำเรื่องราวของเพื่อนมาเล่าให้เพื่อนในวงฟังจนครบทุกคน สมาชิกกลุ่มเลือกเรื่องที่ประทับใจมากที่สุด ๑ เรื่อง เล่าให้ที่ประชุมทั้งหมดฟัง ดังนี้

กลุ่มนกเขา ๒ พ่อประยูร บ้านดงหลี่ หมู่ ๓ ตำบลคอกช้าง เล่าเรื่องของพ่อจรูญ บ้านสระใครใต้ หมู่ ๑๐ ตำบลสระใคร ดังนี้

การดูแลฟันสมัยก่อนเช้า – เย็น พอมีลูกหลานก็คอยดูแลเวลาลูกกินนมเสร็จ เอาสำลีหรือผ้าขาวเช็ดหลังกินนม แปรงฟันเช้า – เย็น แต่ก่อนช่วง ๒๐ – ๓๐ ปี ไม่ได้ใช้ไหมขัดฟัน ฟันแมง ใช้ไม้จิ้มฟัน พอมาเป็น อสม.เข้าใจการแปรงฟันถูกวิธีมากขึ้น

กลุ่มนกกะปูด ๑ แม่ละมุลเป็นผู้เล่าเรื่องของแม่สิงหา สอนลูกหลานแปรงฟันยังไม่ใช้ยาสีฟัน สอนไม่ให้กินลูกอม เพราะว่าฟันจะผุ ได้เข้าประกวดที่โรงเรียนสระใครไชยานุเคราะห์ ได้ที่ ๒ ต่อกัน ๒ ปี ประทับใจว่าลูกหลานฟันไม่ผุ เป็นแบบอย่างให้กับคนในชุมชนที่ตำบลบ้านฝาง

กลุ่มพี่แหม่ม ชูศรี เล่าเรื่องของคุณภัทรพร หมู่ ๖ บ้านนากอ ต.คอกช้าง มีปัญหาในการทำงานของ อสม.ในแบบจิตอาสาบ้าง เข้ากับคนยาก ชาวบ้านไม่ค่อยให้ความร่วมมือ เวลาจัดประชุม บอกให้พาลูกมาอบรม จะไม่ค่อยมา (“บ่ สูไปโลด") เอาเด็กน้อยมาแปรงฟัน แปรงแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น อยู่กับตายาย แต่พอลูกหลานปวดฟัน พามาหาหมอ บ่นว่าหมอไม่ถอนให้ กลับไปบอก อสม.ว่า “เป็นเพราะเจ้าแหละ" อสม.รับเต็ม ๆ ทุกอย่าง ไปบอกได้ บอกแล้วก็ไม่ทำเหมือนเดิม เวลามีของแจกฟรีจะมากันเยอะ(“บอกกะบ่เฮ็ดคือเก่า มีของฟรี อย่าแลนตำกันหลาย")

ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านพิบูรณ์ บ้านดงหลี่ หมู่ ๓ ตำบลคอกช้าง เล่าเรื่องของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านยางคำ หมู่ ๙ ต.สระใคร เล่าเรื่องการเลี้ยงหลาน ๒ คน อายุไล่เลี่ยกัน หลานคนหนึ่งกินขนมเยอะ กินหลายชนิด บอกกินขนมที่ ๑ เอาของเล่นก็ที่ ๑ เวลาแปรงฟัน จะวิ่งหนี อีกคนว่านอนสอนง่าย ขยันแปรงฟัน ทำตามที่บอกทุกอย่าง หลานคนที่หนึ่ง ฟันผุเหลือแต่เหงือก หลานคนที่สองฟันครบทุกเล่ม (ซี่) ฟันสวย

พ่อบุญชู เขียวศรี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านสมสนุก ต.บ้านฝาง เล่าว่า คนจะงามงามที่ใจใช่ใบหน้า คนจะสวยสวยที่ตา ... คนจะแก่ แก่ความรู้ใช่อยู่นาน... สมัยก่อนไม่มียาสีฟัน ใช้เกลือแปรงฟัน อมเกลือดับกลิ่นปาก สมัยนี้มียาสีฟันใช้แปรงฟันแล้ว พ่อตู้พ่อตาแนะนำลูกหลานแปรงฟันเช้า หลังกินข้าว และก่อนนอน กินข้าวแล้ว ลูกหลาน ๒ ขวบ ๓, ๔ ขวบ พ่อแม่เอาแปรงค่อย ๆ ฮุ (ถูเบา ๆ) บ้วนปากด้วยน้ำสะอาด ๒ เทือ ๓ เทือ (ครั้ง) บีบยาสีฟันให้แล้ว ยังบ่เอามาแปรง เอามือแปรงให้ก่อน พยายามฝึกเกี่ยวกับการแปรง เด็กบางคนบีบแล้วกะนั่งเล่น ควรทำให้ลูกก่อน จนกว่าจะทำเป็น พูดดี ๆ “ลูกหล้าแปรงแนเด้อ" แนะนำอย่าให้กินยาสีฟัน มันไม่ใช่ขนม ก่อนอาบน้ำแต่งตัว ให้แปรงฟันก่อนทำความสะอาดตัว อาบน้ำ ล้างสบู่ จึงจะสุขภาพดี

พ่อบุญชูร้องเพลงปิดท้าย พร้อมเสียงปรบมือเข้าจังหวะของผู้ร่วมเสวนาอย่างสนุกสนาน “หนูเล็กเด็กทั้งหลาย อย่านอนตื่นสายเป็นเด็กเกียจคร้าน ... ตื่นเช้าจะได้รีบไปโรงเรียน"

ตัวแทนเล่าเรื่องของบ้านโนนสง่า ตำบลสระใคร ผู้ใหญ่ฟันล่างปัดขึ้นบน ฟันบนปัดลงล่าง เวลาเด็กแปรงฟันจะเม้มปากไว้ เราต้องแปรงฟันให้

แม่ประมวล บ้านสระใครเหนือ หมู่ ๓ ต.สระใคร เลี้ยงหลาน ๒ คน แปรงฟันแข่งกัน ฟันสวย หลานไม่มีปัญหาเรื่องฟัน เพราะเวลาแปรงฟันจะแข่งกัน คณะ อสม.ทำตารางงานว่า ทำอะไรบ้าง ทำงานร่วมกัน สอนชาวบ้านแปรงฟัน ไปด้วยกันตลอด



กิจกรรม ๒. วาดฝัน วาดอนาคต

จากนั้น แบ่งผู้ร่วมเสวนาเป็น ๔ กลุ่ม ตามเขตบริการสุขภาพปฐมภูมิ คุณวัชราภรณ์เป็นวิทยากรกลาง แต่ละกลุ่มมีบุคลากรสาธารณสุขเป็นวิทยากรประจำกลุ่ม ดังนี้

คุณทัศวรรณ สมศรีสุข พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ คุณสุพรรษา พิมพ์บึง นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ ประจำกลุ่ม รพ.สต.สระใคร

คุณกมลมาลย์ บุญเปีย เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขชำนาญงาน ประจำกลุ่ม รพ.สต.คอกช้าง

คุณรวงทอง ทบบุญ นักวิชาการสาธารณสุข และ ทพญ.ธิรัมภา ประจำกลุ่ม รพ.สต.บ้านฝาง

คุณคู่ทรัพย์ มาตรณาคุณ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ประจำกลุ่มศูนย์สุขภาพชุมชนโรงพยาบาลสระใคร

โดยมีคุณศริณทรา เขียวศรี เจ้าพนักงานธุรการ และคุณศุภิสรา สีกล่ำ ผู้ช่วยทันตแพทย์ อำนวยความสะดวกทั่วไปและเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เช่น กระดาษเขียนแบบ สีเมจิก บัตรคำ กระดาษกาว เป็นต้น

สมาชิกกลุ่มระดมความคิดและนำเสนอผลการประชุมกลุ่ม

แล้วช่วยกันรวมภาพความฝันอีก ๓ ปีข้างหน้า ในปี ๒๕๖๐

จะเห็นลูกหลานของเราในชุมชนเป็นอย่างไร ดังนี้

  • ๑.ฟันดี แข็งแรง รากฟันแข็งแรง
  • ๒.เหงือกสวย ฟันสวยงาม ขาวสะอาด ยิ้มสวยใส ปิ๊ง ๆ แวววาว
  • ๓.ฟันไม่ผุ ฟันครบทุกซี่
  • ๔.ไม่มีปัญหาเรื่องฟัน ไม่มีกลิ่นปาก
  • ๕.สุขภาพดี แข็งแรง ทุกคน

กิจกรรม ๓. ขั้นบันไดไต่ฝัน

ต่อจากนั้น สมาชิกกลุ่มระดมความคิด เรื่อง วิธีการที่จะทำให้ลูกหลานเป็นดังภาพในฝัน ช่วยกัน

จัดลำดับเป็นขั้นบันได เริ่มทำจากบันไดขั้นที่ ๑ – ๔ แล้วจึงจะสามารถบรรลุภาพฝันหรือบันไดเป้าหมาย

ขั้นที่ ๕ ขั้นสุดท้ายได้ ภายในปี ๒๕๖๐ รายละเอียดบันไดขั้นที่ ๑ – ๔ ดังนี้

บันไดขั้นที่ ๑

กลุ่มผู้ปกครอง การที่จะฟันดี ฟันสวย ต้องเริ่มต้นจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง

พ่อ แม่ เอาใจใส่ในเรื่องของลูกเยอะ ๆ

คอยแนะนำ สอนให้ลูกหลานแปรงฟันทุกวัน

หัดแปรงฟันให้ก่อน พอเด็กเริ่มชินแล้วค่อยให้แปรงเอง

เราต้องหัดให้ลูกหลานเด็ก ๆ แปรงฟันก่อนนอนทุกวัน เช้า – เย็น หรือ ก่อนนอน

ไม่ทานลูกอมหรือขนมหวาน .ให้กินผลไม้แทนขนมหวาน

ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้านออกหอกระจายข่าวให้ผู้ปกครองและอสม.ทราบ เช่น การนัดหมาย

เราต้องปลูกฝังผู้ปกครอง ต้องดูแลการแปรงฟันของเด็ก หลังรับประทานอาหารทุกมื้อ

อสม. ติดตามเยี่ยม ดูแลเด็กในหมู่บ้าน เชิญเข้าร่วมโครงการ

แนะนำผู้ปกครอง แม่ต้องคอยดูแลรักษาฟัน

ให้มีกิจกรรมสอนผู้ปกครองแปรงฟันให้เด็ก

แนะนำให้กินผัก ผลไม้ เยอะ ๆ

อบต. มอบรางวัล เพื่อเป็นกำลังใจให้เด็ก

ทีมหมอ ให้ความรู้ผู้ปกครอง รวมกลุ่มสอนแปรงฟัน เคลือบฟลูออไรด์

บันไดขั้นที่ ๒

กลุ่มผู้ปกครอง สอน แนะนำให้ลูกหลานแปรงฟัน หลังอาหารทุกมื้อ และดูแลการแปรงฟันก่อนนอนทุกวัน ทำให้เป็นนิสัย

เตรียมแปรงสีฟัน ยาสีฟันให้พร้อม

แนะนำให้ลูกหลานกินนมจืด

หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล การกินทอฟฟี่ น้ำอัดลม นมเปรี้ยว

เอาใจใส่ เรื่อง การแปรงฟันของลูกหลานให้ถูกวิธี ไม่ให้กินขนมหรืออาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อฟัน

ผู้นำชุมชน กระตุ้นผู้ปกครองให้เช็ด ดูแลฟันลูก ตั้งแต่ฟันเกิดซี่แรก

แม่ยังต้องดูแลลูก แปรงฟันให้ลูกอย่างน้อยเช้าและก่อนนอน

อสม. กระตุ้นผู้ปกครองให้เช็ด ดูแลฟันลูก ตั้งแต่ฟันเกิดซี่แรก

เยี่ยม แนะนำหญิงหลังคลอด

แนะนำพ่อแม่ให้ลูกกินนมจืด

อบต. -

ทีมหมอ กระตุ้นผู้ปกครองให้เช็ด ดูแลฟันลูก ตั้งแต่ฟันเกิดซี่แรก

ทาฟลูออไรด์ในชุมชน

บันไดขั้นที่ ๓

กลุ่มผู้ปกครอง ฝึกให้เด็กรักการแปรงฟัน

แนะนำให้กินผัก ผลไม้มาก ๆ

เด็กดื่มนมจากแก้ว ดื่มนมจืด

ไม่ให้ดูดจุกนมปลอม

คอยดูแลไม่ให้ลูกกินลูกอม น้ำอัดลม ไม่ให้เด็กเลือกกินขนมหรือหลีกเลี่ยง เพื่อป้องกันฟันผุและอ้วน

ผู้นำชุมชน และ อสม.. บอกแม่แปรงฟันให้ลูก แนะนำแปรงฟันถูกวิธี เช้า – เที่ยง -ก่อนนอน

อบต. -

ทีมหมอ -

บันไดขั้นที่ ๔

กลุ่มผู้ปกครอง เข้าร่วมประกวดฟันให้ดี

ผู้นำชุมชน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับ อสม. ประชาสัมพันธ์หอกระจายข่าวให้ผู้ปกครองดูแลไม่ให้เด็กกินขนมหวาน

ประกวดสุขภาพฟันดี ทุก ๒ เดือน ฟันเด็ก ฟันผู้ใหญ่

ติดตามผล ๑ ปี

อสม. แนะนำ ติดตามดูแลฟันเด็ก จนถึง ศพด.

แนะนำพ่อแม่แปรงฟันให้เด็กหลังรับประทานอาหารทุกมื้อ

อบต. มีการมอบรางวัล

อยากให้มีโครงการรักษ์ฟัน

ทีมหมอ ร่วมจัดประกวดฟันดี

เมื่อแต่ละกลุ่มนำเสนอแล้ว ได้อภิปรายร่วมกับทีมหมอ กิจกรรมที่ซ้ำ ให้พิจารณาร่วมกันว่า ควรจะเป็นกิจกรรมย่อยของขั้นบันไดใด หรือปรับเปลี่ยนกิจกรรมไปบันไดขั้นอื่นที่เหมาะสมกว่า ร่วมกันสรุปได้ดังตารางที่ ๑ ที่นี่ นะคะ

(ขอขอบพระคุณอาจารย์ ดร.พจนา แย้มนัยนา กัลยาณมิตรจากแคนาดา เป็นอย่างสูง ที่กรุณาทำให้เป็นขั้นบันไดสวยงาม อ่านง่ายขึ้นนะคะ)

กิจกรรม ๔ ประเมินหมู่บ้านตนเอง

จากนั้น ผู้ร่วมเสวนาประเมินหมู่บ้านตนเองว่า การดำเนินกิจกรรมเพื่อให้ลูกหลานฟันดีของหมู่บ้านตนเอง อยู่ระดับขั้นบันไดที่เท่าไหร่แล้ว บันไดขั้นที่ ๑ ทำได้แล้ว จึงจะขึ้นบันไดขั้นต่อไปได้ ผลการประเมินขั้นสูงสุดที่ตัวแทนหมู่บ้านประเมินตนเอง คือ

ขั้นที่ ๔ จำนวน ๖ หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลคอกช้าง บ้านดงหลี่ (หมู่ ๓) บ้านพลายงาม (หมู่ ๑๑) บ้านโพธิ์กลาง (หมู่ ๑๒) ตำบลสระใคร บ้านสระใครเหนือ (หมู่ ๓) บ้านไชยา (หมู่ ๔) บ้านสระใครใต้ (หมู่ ๑๐)

ขั้นที่ ๓ จำนวน ๑๐ หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลคอกช้าง บ้านคอกช้าง (หมู่ ๑) บ้านนาทราย (หมู่ ๔) บ้านนากอ (หมู่ ๖) บ้านดงมุข (หมู่ ๘) บ้านโนนเชียงคูณ (หมู่ ๑๐) ตำบลสระใคร บ้านหนองบัวเงิน (หมู่ ๒) บ้านนาไหม (หมู่ ๑๒) บ้านโพนสวรรค์ (หมู่ ๕) บ้านโพนสวรรค์เหนือ (หมู่ ๑๕) บ้านโนนธงชัย (หมู่ ๑๓)

ขั้นที่ ๒ จำนวน ๖ หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลคอกช้าง บ้านใหม่เอราวัณ (หมู่ ๙) บ้านโนนธาตุ (หมู่ ๑๓) ตำบลสระใคร บ้านน้ำสวย (หมู่ ๑) บ้านโนนสง่า (หมู่ ๖) บ้านยางคำ (หมู่ ๙) บ้านโนนอุดม (หมู่ ๑๔)

ขั้นที่ ๑ จำนวน ๗ หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลบ้านฝาง บ้านฝาง (หมู่ ๑) บ้านเดื่อ (หมู่ ๒) บ้านขี้เหล็ก (หมู่ ๔) บ้านสมสนุก (หมู่ ๕) บ้านหมากหุ่ง (หมู่ ๙) บ้านห้วยทราย (หมู่ ๑๑) บ้านทุ่งสวรรค์ (หมู่ ๑๒)

และได้ร่วมกำหนดเดือนสิงหาคม จะจัดตลาดนัดเครือข่ายชุมชนลูกหลานฟันดี อำเภอสระใคร ปีที่ ๗ ที่โรงเรียนสระใครไชยานุเคราะห์ นัดหมายการเตรียมประกวดชุมชนลูกหลานฟันดี คะแนนรวมมาจากประกวดผู้ปกครองแปรงฟันให้ลูกหลาน ประกวดผู้ปกครองแปรงฟัน ประกวดผู้นำชุมชนหรือ อสม.แปรงฟัน ประกวดผู้ปกครองเล่านิทานให้ลูกหลานฟัง

สรุปการเสวนา

เตรียมการจัดตลาดนัดเครือข่ายชุมชนลูกหลานฟันดี อำเภอสระใคร ปีที่ ๗

เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนมีการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมให้ลูกหลานมีฟันดี โดยคนในชุมชนเอง

เพื่อประเมินผลด้านการมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชนและ อสม. ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงการแปรงฟันให้แก่ลูกหลานโดยผู้ปกครอง ตั้งแต่ฟันลูกหลานขึ้นซี่แรก จนกว่าลูกหลานจะแปรงเองได้สะอาด ของเขตอำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย

……………………………………….

คืนนี้ หลับฝัน และฟันดี

อย่าลืมแปรงฟันก่อนนอนนะคะ มีลูกหลานแปรงให้สะอาดด้วยนะค้า

ฝันดีแน่นอนค่ะ

^_,^



ความเห็น (17)

เป็นกำลังใจในการทำงานนะครับคุณหมอธิ

สุดยอดมากๆๆ

พ่อจรูญน่าสนใจมาก

รออ่านอีกครับ

ต่อไปเดือนสิงหาคมก็จัดตลาดนัด  "เครือข่ายชุมชนลูกหลานฟันดี"   นำผลงานของแต่ละหมู่บ้านในอำเภอสระใคร  มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันค่ะอาจารย์ขจิต ฝอยทอง  ^_,^

ชอบ ชอบ ชอบตั้งแต่กิจกรรมแรกแล้วละ  นกเขา นกกระปูด ผลัดกันเล่า - ฟัง  

อ่านบันทึกแล้วพี่ร้องเพลง "พวกหนูเล็กเด็กทั้งหลาย อย่านอนตื่นสายเป็นเด็กเกียจคร้าน ตื่นเช้าจะได้เบิกบาน สดชื่นสำราญสมองผ่องใส  อาบน้ำล้างหน้าถูฟัน...เสร็จแล้วจะได้รีบไปโรงเรียน" ตามพ่อบุญชูไปด้วยละ 

เป็นการจัดกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าเสวนาคิดเองทั้งหมด  น่าสนุก และไม่ต้องยัดเยียดด้วย

พี่สงสัยข้อหนึ่งว่า  สมัยโน้น (ที่เด็กๆ มีขนมกินน้อย) กับ สมัยนี้ (ที่เด็กๆ มีขนมหวาน น้ำอัดลม กินเยอะ กินผลไม้น้อยลง)  เป็นปัจจัยสำคัญให้ฟันผุมากน้อยกว่ากันมั๊ยคะ

ชื่นชมความตั้งใจของคุณหมอค่ะ

เป็นกิจกรรมที่ดีมากๆค่ะ

น่าสนใจเดือนสิงหาคมครับ

อยากไปดูๆๆ

มาร่วมสนับสนุนเครือข่ายคนฟันดีค่ะ...

ขอบคุณ  ขอบคุณ  ขอบคุณค่ะพี่ nui   ทีมวิทยากรกระบวนการผู้จัดก็สนุกมากค่ะ  

เป็นการพบกันครึ่งทาง  ปัญญาปฏิบัติของชาวบ้านและทีมหมอค่ะ   เคารพซึ่งกันและกัน   ความเชื่อที่สอดคล้องกัน  จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นค่ะ

การกินขนมหวาน  น้ำตาลค้างไว้ในปากบ่อยขึ้น  เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฟันผุค่ะ  มีผลวิจัยที่กินมากกว่าวันละ  ๒  ครั้งต่อวัน  จะมีโอกาสผุสูงกว่า    สภาพแวดล้อมของเด็กทุกวันนี้หากินขนมหวาน  ลูกอม  น้ำอัดลมได้ง่ายมาก ๆ ค่ะ

แต่เด็ก ๆ เขตเมืองฟันผุน้อยกว่าเด็กเขตชนบทนะคะ  ปัจจัยการแปรงฟันก็ยังสำคัญ   โดยเฉพาะการแปรงฟันก่อนนอน

อำเภอสระใครเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพจากการสัมภาษณ์เชิงลึกและสนทนากลุ่มนะคะ  พฤติกรรมการเลี้ยงดูของผู้ปกครองด้านการกินขนมหวาน  และการทำความสะอาดช่องปาก

แล้วค่อยนำมาเป็นข้อมูลนำเข้า  ในการจัดวงเสวนาที่ชุมชน  หาแนวทางปฏิบัติการกิจกรรมสร้างเสริมช่องปากด้วยกัน  ส่วนใหญ่ผู้ปกครอง  อสม.  ผู้นำชุมชน  จะเลือกกิจกรรมแปรงฟันให้ลูกหลานนะคะ  ยังไม่มีชุมชนที่กล้าพอจะทำเรื่องขนมหวาน  น้ำตาล  น้ำอัดลม   ไม่อยากขัดใจลูกหลานเทวดาค่ะ  (ชาวบ้านพูดเอง)   

ได้แต่ดูแลระดับปัจเจกและในแต่ละครอบครัวกันไป

ทิศทางกิจกรรมลด  ละ  เลิกขนมไม่เป็นมิตรกับฟันและร่างกาย   หาทางเลือกอาหารว่างที่เป็นมิตร  จะเป็นไปได้ไหม   ลุ้นต่ออีกสักสองสามปีค่ะ

ยาวเลยค่ะพี่ Nui   อิ อิ  ^_,^

ขอบคุณมากค่ะคุณครูอร วรรณดา  ตั้งใจเปลี่ยนให้ถึงระดับความคิดของผู้นำชุมชน   อสม.   และผู้ปกครองค่ะ  (System thinking)  ความคิดเปลี่ยน  พฤติกรรมจึงจะเปลี่ยนตาม  ซึ่งต้องใช้เวลาค่ะ   

นอกจาก ตั้งใจ  มุ่งมั่นแล้ว  ยังต้องอดทนด้วยค่ะ  ค่อย ๆ ทำมา  ๗  ปี  เริ่มเห็นผลบ้างแล้ว   ช่วงนี้สบายใจขึ้นเยอะค่ะ  ^_,^

ดูแง่ไหนละคะ  อ.ขจิต    คิวแน่นอย่าง อ.  จะว่างรื้อ  อิ  อิ  ^_,^

ขอบพระคุณคุณพี่ใหญ่มากค่ะ   กำลังใจสนับสนุนเสมอมาและเสมอไป ... มีคุณค่ามากค่ะ 

 หลายกิจกรรมเพื่อฟันดี ชื่นชมผู้ใหญ่ใจดี  เป็นกำลังใจค่ะ

มาช่วยเป็นกำลังใจให้คุณหมออีกคนนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท