ความเชื่อมโยงกันของความเข้าใจว่าการทำบุญกับภิกษุทุศีลแล้วจะได้บาป กับ การถวายผ้าของพระนางปชาบดีโคตมี, พระศรีอารยเมตไตรย และ การแก้กรรมทำแท้ง


การนำธรรมในพุทธศาสนามาปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตได้นั้น ผู้ปฏิบัติควรปฏิบัติให้เหมาะแก่เพศ ฐานะ ของตน และปฏิบัติเป็นขั้นๆตามกำลังอย่างสอดคล้องกับหน้าที่ ความรับผิดชอบ ของตนของตน ซึ่งหากได้นำธรรมมาปฏิบัติในชีวิต นอกจากจะอยู่เป็นสุขได้ในปัจจุบันแล้ว ยังสามารถพ้นไปจากทุกข์ในกาลข้างหน้าได้อีกด้วย โดยทางปฏิบัติเพื่อให้พ้นไปจากทุกข์หรือ “มรรค” นั้น หากแยกการปฏิบัติเป็นแนวทางใหญ่ๆจะแยกได้เป็นสามคือข้อปฏิบัติเกี่ยวกับ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งรวมเรียกว่าไตรสิกขา หรือ ข้อปฏิบัติที่ต้องศึกษาอันประกอบด้วยศีลสิกขา (ศีล), จิตตสิกขา (สมาธิ) และ ปัญญาสิกขา (ปัญญา)

ไตรสิกขาจึงถือเป็นแนวทางหลักในการปฏิบัติสำหรับบุคคลทั่วไปที่มีเป้าหมายคือการบรรลุธรรมสูงสุดในพุทธศาสนา

อย่างไรก็ดี สำหรับฆราวาสทั่วไป พระพุทธเจ้าได้ตรัสแนวทางการปฏิบัติเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบันและเพื่อเดินตามทางอันนำไปสู่การพ้นทุกข์ไปในขณะเดียวกัน ด้วยไตรสิกขาที่ผ่อนการปฏิบัติลงมาเพื่อให้เหมาะแก่วิถีชีวิต นั่นคือ จากศีล สมาธิ ปัญญา ได้ทรงผ่อนลงมาเป็น ทาน ศีล ภาวนา (๑)โดยทรงแยกทานออกมาเป็นเรื่องหนึ่งต่างหาก สำหรับศีลนั้น ตรัสด้วยศีล ๕ ศีลอุโบสถ กุศลกรรมบถ ๑๐ ส่วนการปฏิบัติเกี่ยวกับสมาธิและปัญญานั้น ได้ตรัสรวมไว้ด้วยกันใน ภาวนา (ทำให้เกิดมีขึ้น, ให้เจริญขึ้น) โดยที่

ทาน

ถือเป็นจุดเริ่มของการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาสำหรับฆราวาส เนื่องจากฆราวาสยังต้องครอบครองทรัพย์สิน ยังยึดมั่นในสิ่งต่างๆมากมายอันอาจนำไปสู่การตระหนี่ การหวงกั้น การแบ่งปันจึงเป็นจุดเริ่มของการฝึกจิตเพราะการให้โดยไม่หวังผลตอบแทนนั้น มักทำได้โดยยากอย่างยิ่ง ดังที่ได้ตรัสว่า

ทานและการรบ ท่านว่าเสมอกัน

ทาน จึงเป็นฝึกการละ คลายความตระหนี่ และในขณะเดียวกัน การทำทานก็เอื้อต่อการเกิดของกระบวนธรรม ธรรมสมาธิ ๕ (ปราโมทย์ – ปีติ – ปัสสัทธิ – สุข – สมาธิ) ที่จะทยอยเกิด-ดับ เกิด-ดับ ตามกันมาเป็นชุด คือ เมื่อทำทาน เอาชนะใจตนด้วยการให้แล้วจิตก็จะบันเทิง (ปราโมทย์) อิ่มเอมต่อการกระทำที่ดี (ปีติ) ซึ่งเมื่อจิตอิ่มด้วยปีติแล้ว หลังจากปีติสงบ (ปัสสัทธิ) สุขที่เกิดร่วมกับปีติก็จะปรากฏชัดขึ้น (สุข) เมื่อสุขดับ จิตก็จะตั้งมั่น เป็นสมาธิ (สมาธิ) และเพราะจิตเป็นสมาธิ จึงมีโอกาสที่จะใช้สมาธิที่เกิดขึ้นเองตามกระบวนการทางธรรมชาตินี้ไปพิจารณาธรรมหรือเพื่อวิปัสสนาเพื่อเป็นการพัฒนาปัญญาต่อไป

นอกจากนี้ ทาน ยังก่อให้เกิดผลดีต่อสังคมด้วย คือทำให้มีการเกื้อกูลกันในสังคมด้วยโดยทานนั้น ไม่ได้ถึงเฉพาะการแบ่งปันของตนแก่ผู้อื่นเท่านั้น แต่รวมความหมายของทานไว้ทั้งหมด นั่นคือ

อามิสทาน การให้ปันสิ่งของ

อภัยทาน การให้อภัย และ

ธรรมทาน การให้ธรรมเป็นทาน เช่น การสั่งสอนวิชาชีพ, การว่ากล่าวตักเตือนโดยปราศจากอคติ(๒), การเผยแพร่ธรรม, การปฏิบัติธรรมจนกระทั่งวิถีชีวิตคล้อยตามธรรมจนผู้ที่พบเห็นอยากปฏิบัติตาม

ศีล

ชีวิตที่ต้องดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีวิตของฆราวาส ทำให้ต้องมีความสัมพันธ์กับบุคคลในสังคม เนื่องจากเรายังละความเห็นว่าเป็นตนไม่ได้ จึงมักมีการนำตนไปเปรียบเทียบกับบุคคลอื่นแล้วเกิดการอกุศลธรรมตามมา เช่น อยากได้อย่างที่เขาได้ อยากมีอย่างที่เขามี อยากเป็นอย่างที่เขาเป็น จึงอาจเกิดความอยากลักของของเขา อยากทำลายเขาที่มาขัดความอยากของตน อยากทำร้ายเขาแม้ด้วยวาจาตามความโกรธ ความริษยา ความโลภที่มีอยู่ในใจ อยากมีความสัมพันธ์คู่ของผู้อื่นหรืออยากมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ไม่ใช่คู่ของตน หากขาดสติ บุคคลก็อาจกระทบกระทั่งกันได้ด้วยความอยากอันเป็นตัณหาเหล่านี้ จึงต้องมีสิ่งที่คอบควบคุมความประพฤติไม่ให้ก้ำเกินกัน เพื่อความเรียบร้อยของสังคม โดยข้อควรปฏิบัติในเบื้องต้นก็คือสิกขาบท ๕ หรือ ศีล ๕

การรักษาสิกขาบทหรือรักษาศีล อันเป็นข้อห้ามไม่ให้ทำในสิ่งต่างๆ เทียบได้กับ “การไม่ทำบาปทั้งปวง” ในโอวาทปาฏิโมกข์นั่นเองค่ะ

ภาวนา

ภาวนานั้น แปลว่า การทำให้เกิดมีขึ้น ให้เจริญขึ้น โดยหมายเอากุศลธรรมต่างๆ ดังนั้น ภาวนาจึงไม่ได้หมายความเฉพาะการฝึกสมาธิ วิปัสสนา แต่หมายความรวมไปถึงสิ่งดีๆทั้งหมดที่เราควรทำให้เกิดมีขึ้น หรือที่มีอยู่แล้ว ก็ให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น แม้การฝึกสมาธิและวิปัสสนาจะเป็นอีกสองแนวทางหลักในการฝึกตนด้วยไตรสิกขา แต่เนื่องจากฆราวาสมีภาระมากจนทำให้ไม่ใคร่มีเวลาฝึกสมาธิและวิปัสสนามากเหมือนภิกษุ อีกทั้งบางคนก็ยังไม่ปรารถนานิพพาน ดังนั้นจึงไม่ได้ทรงเน้นเรื่องของสมาธิและวิปัสสนาแบบเต็มรูปแบบมากนัก จึงได้ตรัสรวมเข้าไว้ด้วยกันเป็น ภาวนา

ดังเช่น ศีล ๕ นั้น เป็นการควบคุมทางกาย วาจา แต่อาจไม่คุมไม่ถึงใจได้ คนที่รักษาศีลนั้นก็ยังไม่เป็นที่รับประกันว่าจะไม่มีทุกข์หากศีลนั้นไม่เป็นศีลที่ถึงใจหรือเป็นศีลที่บริสุทธิ์ เช่น เขาอาจอยากลักของของคนอื่นแต่ไม่กล้าทำด้วยเกรงถูกตำหนิ กลัวการลงโทษ เมื่อไม่ลักขโมยเขาก็ไม่ผิดศีล แต่ความอยากได้ของของคนอื่นยังมีอยู่จึงได้แต่ร้อนรุ่มอยู่ในใจ ทั้งๆที่เขาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมเกิดความสงบแต่ตัวเขาเองกลับหาความสงบใจไม่ได้

เพราะการห้ามใจจากบาปถือเป็นกุศลกรรมแล้วแต่เพราะยังไม่ได้ “ยังกุศลให้ถึงพร้อม” ตามคำตรัสในโอวาทปาฏิโมกข์นั่นเองค่ะ เขาจึงยังทุกข์

และการที่เขายังทำศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ไม่ได้ ก็เพราะการอบรมเมตตาที่ยังไม่เต็มที่ เมตตา คือน้ำใจของมิตร คือความรักใคร่กันฉันท์มิตร เมื่อเป็นมิตร จึงปรารถนาให้มิตรมีความสุข ดังนั้นสิ่งใดๆที่จะทำให้มิตรมีทุกข์ก็จะละสิ่งนั้นๆ เมตตาจึงเป็นธรรมที่ค้ำจุนโลก เพราะทำให้กุศลธรรมของตนผู้อบรมมีขึ้น เพิ่มพูนขึ้น เนื่องจากการฝึกให้มีเมตตากับผู้อื่นก็คือเมตตาตนเอง เพราะเมื่ออบรมตนผู้ที่ได้ผลเป็นบุคคลแรกก็คือตนนั่นเอง และพลอยทำให้ผู้อื่นปลอดจากการถูกเบียดเบียนไปด้วย

ศีลจึงค่อยๆบริสุทธิ์ขึ้นเรื่อยๆ ความเป็นไปในใจของผู้อบรมตนด้วยเมตตา ด้วยศีล จึงตรงกับการแสดงออกทางกายและวาจา จึงจะเป็นศีลที่พระอริยเจ้าชอบใจ

แต่ถึงแม้จะยังกุศลให้พร้อมแล้ว หากยังยึดมั่นในกุศลกรรมต่างๆว่าเป็นตน เป็นของตน ตนทำก็ควรได้รับผลตอบแทน ก็อาจนำตนไปสู่ทุกข์ได้ เช่น เมื่อไม่ได้รับการตอบแทนก็ผิดหวัง จึงควร “ทำจิตใจให้ผ่องใส” ดังคำตรัสในโอวาทปาฏิโมกข์ด้วยการน้อมลงสู่ความว่าง ว่างจากความเห็นว่าเป็นตน เป็นของตน

ในพุทธกาลเมื่ออุบาสกชื่อว่าธรรมทินนะกับบริวาร ไปถามพระพุทธองค์ว่ามีธรรมใดที่จะเกิดประโยชน์เกื้อกูลแก่เขา ขอพระองค์โปรดตรัสเล่าธรรมนั้น

ตรัสบอกว่าให้ชนเหล่านั้น พึง "ศึกษา" ว่า

พระสูตรเหล่าใดที่ตรัสแล้ว มีความลึกซึ้ง มีเนื้อความลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยความว่าง เราจักเข้าถึงพระสูตรเหล่านั้นอยู่เป็นนิตย์”

ซึ่งคำว่าศึกษานั้น รวมไว้แล้วทั้งการเล่าเรียนปริยัติและการปฏิบัติ

เมื่อนายธรรมทินนะกราบทูลว่า พวกเขายังครองเรือน ยังนอนกกลูก ยังยินดีในเงินทอง เครื่องแต่งกาย เครื่องลูบไล้อยู่ การที่จะเข้าถึงความว่างดังที่ตรัสนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แล้วจึงกราบทูลอีกว่า

“ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมอันยิ่งแก่พวกข้าพระองค์ผู้ตั้งอยู่แล้วในศีล ๕ เถิด”

“ดูกรธรรมทินนะ เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... จักเป็นผู้ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ ดูกรธรรมทินนะ ท่านทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ”

และด้วยการปฏิบัติและรู้เห็นอยู่อย่างนี้ พระพุทธองค์ได้ตรัสบอกธรรมทินนอุบาสกและบริวารว่า ท่านเหล่านั้นได้พยากรณ์โสดาปัตติผลแล้ว

ซึ่งการเชื่อมั่นในพระพุทธ (เชื่อในศักยภาพของมนุษย์) พระธรรม (เชื่อว่าทุกสิ่งล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย มีสภาพเกิดดับ บุคคลมีการกระทำอย่างไรก็ได้ผลอย่างนั้นตามกฎแห่งกรรม จึงเพียรปฏิบัติตามธรรมด้วยตนโดยไม่พึ่งพิงหรืออ้อนวอนขอจากปัจจัยภายนอก) พระสงฆ์ (ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสามารถทำให้เป็นจริงได้ดังที่มีผู้บรรลุตามพระองค์มากมาย) อย่างไม่หวั่นไหว มีศีลที่พระอริยเจ้าใคร่ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า เขาได้พยากรณ์โสดาปัตติผลแล้ว

กลับมาที่เรื่องของทานอีกทีค่ะ ในเบื้องต้น เรามักให้ทานโดยหวังว่าผลของทานจะกลับคืนมาสู่ตน การทำทานด้วยการหวังผลนี้แม้จะเป็นสัมมาทิฏฐิ แต่ก็จัดว่าเป็นสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกิยะ(๓) และชาวพุทธไทยมักทำทานแก่พระสงฆ์มากกว่าทำทานแก่บุคคลทั่วไป และมักเรียกการทำทานแก่พระสงฆ์ว่า “ทำบุญ” มากกว่าที่จะเรียกว่า "ทำทาน"

แต่ถึงกระนั้น บางท่านกลับสงสัย ว่า หากให้ทานแก่พระสงฆ์ทุศีลแล้ว ตนจะได้รับผลของทานหรือไม่ ตนจะบาปเพราะเกื้อกูลภิกษุทุศีลหรือไม่

การพิจารณาเรื่องนี้ คงต้องพิจารณาคำตรัสที่ปรากฏทักขิณาวิภังคสูตรค่ะ ซึ่งเนื้อความในพระสูตรนั้นคือ

เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ (ปฐมสมโพธิว่าเป็นครั้งที่ ๒) พระนางปชาบดีโคตรมีนำผ้าห่มสาฎกคู่หนึ่ง ยาว ๑๔ศอก กว้าง ๗ ศอก เสมอกันมาถวายแด่พระผู้มีพระภาค ปฐมสมโพธิบรรยายความงดงามของผ้าคู่นั้นว่า

“ ฝ้ายนั้นมีสีเหลืองดังทอง โดยพระนางปลูกฝ้ายเอง ฝ้ายออกดอกมาเป็นสีเหลืองหม่น เสร็จแล้วทอเองจนสำเร็จเป็นผืน แล้วใส่ผอบทอง นำไปถวายพระพุทธเจ้า”

พร้อมกับกราบทูลว่า ผ้าคู่นี้ พระนางทรงกรอด้ายเอง ทอเอง เจาะจงทำเพื่อถวายแก่พระองค์ ขอพระองค์โปรดสงเคราะห์พระนางด้วยการทรงรับผ้าคู่นี้เถิด

แต่พระพุทธองค์กลับตรัสตอบว่า

“ดูกรโคตรมี พระนางจงถวายแก่สงฆ์เถิด เมื่อถวายแก่สงฆ์แล้ว จักเป็นอันว่าพระนางได้บูชาทั้งเราและสงฆ์”

พระนางปชาบดีแม้จะได้ฟังอย่างนี้ ก็ยังยืนยันจะถวายอยู่ค่ะ พระนางได้กราบทูลซ้ำอีกถึงสองครั้ง และพระศาสดาก็ตรัสซ้ำตามเดิมทั้งสองครั้งอีกเช่นกัน จนพระอานนท์ได้กราบทูลเป็นการขอร้องแทนพระนางว่า พระนางเป็นพระมาตุจฉาผู้บำรุงเลี้ยงพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งทรงพระเยาว์มา ประทานพระขีรรสมาตั้งแต่พระมารดาของพระองค์สวรรคต อีกทั้งพระนางก็ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ มีศีลที่พระอริยะชอบใจ หมดความสงสัยในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ขอพระองค์โปรดทรงมีพระอุปการะแก่พระนางเถิด

พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสถึงทานที่ให้เฉพาะเจาะจงแก่ผู้ใดผู้หนึ่งตั้งแต่ให้ทานแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก พระอริยบุคคลที่ต่ำกว่าพระอรหันต์ ผู้กำลังกระทำมรรคให้แจ้ง ปุถุชนผู้มีศีล ปุถุชนทุศีล กระทั่งสัตว์เดรัจฉานว่ามีอานิสงส์เป็นลำดับๆไปโดยทานที่ทำเป็นการเจาะจงแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอานิสงส์สูงสุด

ส่วนทานที่ทำหรือถวายให้แก่สงฆ์ (หมู่แห่งภิกษุ) ตั้งแต่สงฆ์สองฝ่ายที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ไปจนถึงทานที่ให้แก่ภิกษุภิกษุณีหลังจากที่พระองค์ปรินิพพานแล้วว่ามีอานิสงส์มาก

ยังได้ตรัสว่าในอนาคตแม้จะมีเหล่าภิกษุโคตรภู ผู้มีผ้ากาสาวะพันคอ เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก หากคนทั้งหลายจะถวายทานแก่สงฆ์โดยมีภิกษุทุศีลเหล่านั้นเป็นผู้รับก็ยังทำได้ ไม่ว่าอย่างไร ทักษิณา (ทานที่ถวายเพื่อผลอันเจริญ, ของทำบุญ) แก่เหล่าพระสงฆ์ทุศีลนั้นมีผล “นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้” มีอานิสงส์มากกว่าการถวายทานโดยเฉพาะเจาะจงแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียอีก

คงเพราะอย่างนี้นะคะ จึงได้ตรัสกับพระนางว่า ถ้าถวายผ้าแก่สงฆ์ ก็เป็นอันว่าได้บูชาทั้งพระองค์และทั้งพระสงฆ์ด้วย

การทำทานแก่สงฆ์นอกจากจะเป็นการฝึกจิตตนแล้ว ยังเป็นการอุปการะแก่สงฆ์ด้วย เนื่องจากปุถุชนไม่อาจคาดคะเนได้ว่าพระสงฆ์รูปใดปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ การถวายทานโดยไม่เจาะจงจึงช่วยให้พระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรงต่อนิพพานยังคงดำรงกาย ถ่ายทอดพระธรรมในพระศาสนาอยู่ได้

อย่างไรก็ดี คำตรัสนี้ต้องพิจารณาร่วมกับพระคาถาท้ายพระสูตรด้วยค่ะ เพราะอานิสงส์ที่ว่ามากจนประมาณไม่ได้นั้น ใช่ว่าผู้ถวายทานจะได้รับอย่างนั้นไปเสียทั้งหมด

เพราะได้ตรัสถึงความบริสุทธิ์ของทานในฝ่ายต่างๆ เช่น ความบริสุทธิ์ของสิ่งของที่นำมาทำทาน ความบริสุทธิ์ของฝ่ายผู้ให้ และความบริสุทธิ์ของฝ่ายผู้รับ และความบริสุทธิ์ขององค์ประกอบเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้ทานนั้นมีอานิสงส์มากดังที่ตรัส

สุดท้ายพระนางจึงถวายผ้าแก่พระสงฆ์ แต่ก็ไม่มีพระภิกษุรูปใดยอมรับผ้านั้น มีพระบวชใหม่รูปเดียวมีนามว่า “อชิต” รับผ้าคู่นั้นไว้ ปฐมสมโพธิ ว่า พระอชิตนั้นเอง คือพระศรีอารยเมตไตรยที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปหลังจากที่ศาสนาของพระโคดมสิ้นไปแล้ว อันนับเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๕ แห่งภัทรกัปนี้

มาดูที่พระคาถาท้ายพระสูตรกันค่ะ ที่แสดงถึงว่า หากผู้ที่ทำทานไม่มีศีล ของที่นำมาทำทานไม่บริสุทธิ์ ไม่เลื่อมใส(ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์) ไม่เชื่อในกฎแห่งกรรม ทานที่ทำแก่ภิกษุทุศีลก็ย่อมไม่มีผลไพบูลย์(๔)

อันหมายถึงว่าอานิสงส์มากมายตามที่ได้ตรัสไว้ว่าแม้จะทำทานแก่หมู่แห่งสงฆ์ทุศีลยังได้อานิสงส์มากกว่าเจาะจงถวายทานแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวนั้น ผู้ทำทานจะได้รับก็ต่อเมื่อผู้นั้นเป็นผู้มีศรัทธา เลื่อมใสในพระรัตนตรัยอย่างมั่นคง อบรมตนด้วยธรรมในพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เชื่อในกฎแห่งกรรม ไม่ใช่วันนี้ก่ออกุศลกรรมอย่างหนึ่ง วันต่อไปไปทำทานเพื่อหวังจะแก้ผลของกรรมหรือการกระทำผิดที่ได้ทำมาแล้ว แล้วก็กลับไปใช้ชีวิตอย่างเดิมโดยไม่มี “ปฏิกรรม” (http://www.oknation.net/blog/nadrda2/2014/04/16/entry-1) หากทำอย่างนี้อันหมายถึงการไม่มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ก็จะไม่ได้ผลอย่างที่ตนต้องการ

ดังเช่นความเชื่อผิดๆในเรื่องการ “แก้กรรมทำแท้ง” อย่างนี้เป็นต้น

แต่ก็ปรากฏว่า พระคาถาท้ายพระสูตรนี้ มักไม่ค่อยได้รับการจดจำกันเท่าใดนักหรอกค่ะ ไม่เหมือนกับการจดจำอานิสงส์ที่ได้จากการทำทาน

เมื่อปรากฏตามคำตรัสอย่างนี้ ก็แสดงว่าการทำทานแก่ภิกษุทุศีลนั้น ไม่ได้ทำให้เราบาปอย่างที่เข้าใจกัน

ไม่ต้องพูดถึงโทษของภิกษุทุศีลเลยค่ะ เพราะเขาจะได้รับผลการกระทำของตนเพราะการเป็นหนี้ก้อนข้าวชาวบ้าน ต้องรับผลของกรรมในโอกาสต่อไปนอกเหนือไปจากการถูก “คว่ำบาตร” คือรวมตัวกันไม่ใส่บาตรแก่ภิกษุนั้นอย่างที่สังคมไทยปฏิบัติต่อภิกษุทุศีลในสมัยก่อน หรือ ถูกดำเนินความตามกฎหมายตามที่ปรากฏในปัจจุบัน

มีอีกส่วนหนึ่งของคำตรัสที่น่าสนใจในพระสูตรนี้ค่ะ ก็คือที่ตรัสว่า บุคคลใดอาศัยอีกบุคคลหนึ่งแล้วเป็นผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ ฝึกตนด้วยสิกขาบทจนมีศีลที่พระอริยเจ้าชอบใจ (คือไม่ขาด ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทคือไม่เป็นทาสของตัณหา เป็นไปเพื่อสมาธิ) การบูชาบุคคลที่ตนอาศัยแล้วได้มีคุณธรรมเหล่านั้นในตนใดๆ ไม่ว่าจะด้วยการลุกขึ้นรับ การกราบไหว้ การถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ ยารักษาโรค ก็ตรัสว่าเป็นการตอบแทนที่ไม่สมควร

หากจะถามว่า แล้วการบูชาอย่างไรจึงจะสมควรกัน พบว่ามีคำตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ค่ะ ว่า

“ผู้ใดประพฤติธรรมตามธรรม เป็นผู้ดำเนินในธรรม ผู้นั้นได้ชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอย่างยิ่ง”

ดังนั้น การศึกษาธรรม คือการเรียนรู้ปริยัติ การนำธรรมมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน จึงควรพยายามปฏิบัติธรรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติ คือเพื่อละคลายกิเลสและความเห็นว่าเป็นตนไปทีละน้อย ไม่ใช่ยิ่งศึกษา ยิ่งปฏิบัติ กลับยิ่งเพิ่มความเห็นว่าเป็นตนอันเป็นการยิ่งเพิ่มสมุทัย เช่น เมื่อศึกษามาสักระยะแล้วเกิดความเห็นว่า ฉันศึกษามามากกว่าเธอ ฉันรู้ดีกว่าเธอ อันทำให้ยิ่งเพิ่มพูนมานะ เป็นต้น จึงจะได้ชื่อว่าบูชาพระองค์ด้วยการบูชาอันยิ่ง

แล้วก็ไม่ต้องกลัวค่ะ ว่าทำทานแล้วจะได้บาป เพราะการฝึกการละ คลายตระหนี่ คลายอกุศลธรรมที่มีอยู่ในใจ ไม่เคยให้โทษกับใครๆเลยค่ะ

....................................................................

(๑)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) CD ธรรมบรรยาย จิตวิทยาสู่จิตภาวนา (ขอรับฟรีได้ที่วัดญาณเวศกวัน ถ.พุทธมณฑลสาย ๔ จ.นครปฐม)

(๒)

“ธรรมทานอันเป็นการดุว่าตำหนิตักเตียนสั่งสอน ด้วยหวังให้กลับตัวกลับใจจากความไม่ถูกต้องมาสู่ความถูกต้อง จากความไม่ดีงามมาสู่ความดีงามนี้ จะเป็นธรรมทานที่บริสุทธิ์ได้จริง จะต้องเริ่มต้นด้วยมีอภัยทาน คือผู้จะให้ธรรมทานดุว่าตำหนิติเตียนสั่งสอนด้วยความหวังดี หวังให้เปลี่ยนจากร้ายกลายเป็นดี เปลี่ยนจากผิดเป็นถูก จะต้องให้อภัยในความร้ายความไม่ถูกที่ตนพบเห็นให้ได้ก่อน ธรรมทานเช่นนี้ต้องมีอภัยทานเป็นส่วนประกอบอย่างสำคัญ ผู้ให้ธรรมทานเช่นนี้ จะต้องสะอาดจากความโกรธแค้นขุ่นเคืองใจ อันเกิดจากได้รู้ๆด้เห็นการกระทำ คำพูด ที่ไม่ดีไม่งามไม่ถูกต้องเป็นที่กระทบกระเทือนใจ ทานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ จึงมีความหมายลึกซึ้งและกว้างขวางยิ่ง”

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) รสแห่งความเมตตา ชุ่มเย็นยิ่งนัก

(๓)

[๒๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฐิเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสัมมาทิฐิเป็น ๒ อย่าง คือ สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑ สัมมาทิฐิของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระเป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ

[๒๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน คือ ความเห็นดังนี้ว่า ทานที่ให้แล้ว มีผล ยัญที่บูชาแล้ว มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้ว มีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วแล้วมีอยู่ โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง

เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลก มีอยู่ นี้สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ ฯ

(๔)

[๗๑๙] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้วได้ตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ต่อไปอีกว่า

(๑) ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี

เชื่อกรรมและผลแห่งกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล

ทักษิณาของผู้นั้น ชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ฯ

(๒) ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส

ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล

ทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ฯ

(๓) ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส

ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล

เราไม่กล่าวทานของผู้นั้นว่า มีผลไพบูลย์ ฯ

(๔) ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรม

และผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล เรากล่าวทาน

ของผู้นั้นแลว่า มีผลไพบูลย์ ฯ

(๕) ผู้ใดปราศจากราคะแล้ว ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใส

ดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในผู้ปราศจาก

ราคะ ทานของผู้นั้นนั่นแล เลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย ฯ

หมายเลขบันทึก: 570935เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2014 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มิถุนายน 2014 08:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

วันนี้มีสมาธิดี อ่านทุกตัวอักษร บางประโยคทบทวนไปมาหลายรอบเนื่องจากการย่อยไม่ทันหลาย ๆ ตอน เช่น

... การบูชาบุคคลที่ตนอาศัยแล้วได้มีคุณธรรมเหล่านั้นในตนใดๆ ... จนได้ทบทวนถึงประโยค

“ผู้ใดประพฤติธรรมตามธรรม เป็นผู้ดำเนินในธรรม ผู้นั้นได้ชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอย่างยิ่ง”

ตอนนี้เช้าใจแล้วค่ะ จะพยายาม "ประพฤตธรรมตามธรรม" เป็นการตอบแทนค่ะ

อนุโมทนาสาธุในการให้ธรรมะเป็นทานด้วยนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ

อ่านบันทึกนี้แล้ว  พลอยได้คิดถึงระบบการเรียนในชั้นเรียนผ่านกิจกรรมเพลง...เช่น  เพลงมาฆบุชา  เพลงวันเข้าพรรษา...

ทุกวันนี้  เพลงเหล่านี้ไม่ปรากฏในระบบการเรียนการสอน
เพลงเหล่านี้เหมือนบันทึกช่วยจำ-ช่วยให้เราเข้าใจองค์รวมของสาระแห่งวิถีธรรมพระพุทธศาสนา
เหมือนบทคัดย่อจากงานวิจัย....สั้น  ได้ใจความ ได้สาระ  เป็นบันเทิง เริงปัญญา

ขอบพระคุณครับ

อ่านแล้ว โสมนัสเกิดกุศลจิต ครับ

ผมเกิดในตระกูลช่างหูกทอผ้า ตอนสมัยเด็กๆ มัธยม ผมเคยทอผ้าด้วยครับอาจารย์

ผมจะจำไว้ครับว่า

ผ้าห่มสาฎกคู่หนึ่ง ยาว ๑๔ศอก กว้าง ๗ ศอก เสมอกัน

เนื้อฝ้ายสีเหลืองหม่นดั่งทอง ทอทำเองด้วยมือด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ถวายท่ามกลางสงฆ์ ...........

ถ้าวัหนึ่งวันใดได้ทำผ้า พระนางปชาบดีเป็นบุคคลที่หนึ่ง บรรพบุรุษในตระกูลเป็นที่สอง อาจารย์จะเป็นบุคคลที่สาม ที่ผมจะระลึกถึงเพื่ออนุโมทนา 

วันอาทิตย์นี้ ที่บ้านพัก พวกเราข้าราชการหลายครอบครัวชวนกันพร้อมลูกๆหลานๆนิมนต์พระทำบุญเลี้ยงภัตตาหารเพล อาจารย์อนุโมทนาบุญกับพวกเรานะครับ

ขอบพระคุณทุกท่านที่มาเยี่ยมกันค่ะ

...................................................

คุณกุหลาบ มัทนา คะ

อนุโมทนากับความตั้งจิตด้วยนะคะ

..................................................

คุณแผ่นดินคะ

ตอนเด็กๆคุณครูเคยฝึกให้ร้องเพลงประกอบการเรียนเหมือนกันค่ะ ที่จำได้แม่นคือตอนเรียนอนุกาชาด เช่น เพลงความเกรงใจ เป็นต้น

น่าเสียดายนะคะหากสิ่งดีๆต้องหายไปจากการเรียน

..................................................

คุณหมอประวิทย์คะ

อ่านความเห็นคุณหมอแล้วเกิดโสมนัสเช่นกันค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

ขออนุโมทนากับสิ่งดีๆที่คุณหมอและท่านอื่นๆร่วมกันบำเพ็ญด้วยนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท