สถานการณ์ตลาดข้าวไทยในสถานการณ์ที่ชาวนาต้องปรับตัว


ถ้าจะพูดถึงเรื่องการปลูกข้าวหรือการบริโภคข้าวที่มากที่สุดในโลกนั้น ต้องยกให้จีนกับอินเดียนะครับ ไม่ใช่ประเทศไทย ดังที่ใครหลายๆคนอาจจะเข้าใจผิดจากข้อมูลที่เราได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆเกี่ยวกับเรื่องแชมป์การส่งออกข้าวที่เป็นมาในอดีต ประเทศไทยเราเพียงแต่มีความสามารถในการบริหารจัดการประชากรให้อยู่ในสัดส่วนที่พอเหมาะพอดี ประมาณ 62-65 ล้านคน จึงทำปริมาณผลผลิตข้าวที่ออกมานั้น นอกเหนือจากการบริโภคกันเองภายในประเทศแล้ว ก็ยังมีเหลือส่งออกไปยังประเทศต่างๆอีกมาก เป็นสิบล้านตันต่อปีโดยเฉลี่ย


แตกต่างจากจีนและอินเดียที่มีประชากรเป็นพันล้านคนและสามารถผลิตข้าวออกมาปีหนึ่งๆ เป็นร้อยล้านตัน ตัวเลขล่าสุดในปี 2556ที่ได้มา จีนมีผลผลิตจ้าวมากถึง 140 ล้านตัน แต่ผลผลิตส่วนใหญ่ยังคงใช้บริโภคกันเองภายในประเทศ มิได้ส่งออกมาเหมือนอินเดีย ไทย เวียดนาม กัมพูชา พม่าและลาว เพราะฉะนั้นถ้ามองกันให้ดี มองกันแบบยาวถ้าจีนสามารถควบคุมประชากรให้อยู่ในสัดส่วนที่สัมพันธุ์กับผลผลิตข้าวได้ ประเทศไทยเราที่มุ่งแต่ปริมาณการส่งออกที่เป็นอันดับหนึ่ง โดยไม่เน้นคุณภาพและประสิทธิภาพโดยเฉพาะเรื่องต้นทุน เมื่อยักษ์ตื่นขึ้นมาเราก็จะลำบาก เพราะจีนและไทยนั้นมีวัฒนธรรมการกินการอยู่ที่คล้ายๆกัน


นี่ขนาดจีนที่ถือเป็นยักษ์หลับทางด้านเศรษฐกิจ พอลืมตาตื่นขึ้นมาก็แทรงอเมริกาไปเสียเฉยเลย ดังนั้นถ้าเขาสามารถบริหารจัดการข้าวได้รวดเร็ว วันนั้นพี่ไทยจะมีอะไรไปแข่งกับเขาหรือไม่ ในเมื่อทุกวันนี้ต้นทุนการปลูกข้าวของไทยยังสูงกว่าเวียดนาม และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนโดยเฉลี่ยไทยมีต้นทุนอยู่ที่ไร่ละ 5,000-6,000 บาททำให้เมื่อมีปัญหาด้านราคาข้าวโลกที่ตกต่ำก็จะทำให้ชาวนาเดือดร้อนจากการจำหน่ายข้าวที่มีส่วนต่างของกำไรน้อยมากไม่เพียงพอต่อการใช้ในการดำรงชีพจึงทำให้ชาวนาชาวไร่ส่วนใหญ่ยังยากจนอยู่


การให้ความสำคัญเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตนั้นจึงน่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วน ทั้งเรื่องการลดต้นทุน การลดการใช้สารเคมี การลดเมล็ดพันธุ์ หรือการเพิ่มผลผลิต เพิ่มกำไร และเพิ่มรายได้ที่ทางประเทศเวียดนามเขาใช้เป็นนโยบายในการช่วยเหลือชาวนาของเขา ไทยเราก็น่าจะนำมาปรับใช้ในบ้านเราเพื่อช่วยเหลือเกษตรด้วยเช่นกัน แทนที่จะมุ่งในเรื่องของประชานิยมหรือเชิงปริมาณการส่งออกเพียงอย่างเดียว ควรหันมาให้ความสนใจในการให้ความช่วยเหลือแบบยั่งยืนโดยเฉพาะการใช้วัสดุจากธรรมชาติทดแทนปุ๋ย การทำให้ปุ๋ยกลายเป็นปุ๋ยละลายช้า การเสริมสร้างความแข็งแรงเพื่อลดการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืช การปลูกข้าวในรูปแบบเกษตรปลอดสารพิษ เกษตรอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่า หรือการให้ความรู้ความเข้าใจชาวไร่ชาวนาในสาขาอาชีพเกษตรด้านอื่นเพื่อให้มีความพร้อมต่อการผลิตสินค้าเกษตรที่อาจจะมีการขึ้นลงได้อย่างสอดคล้องสัมพันธ์กับสถานการณ์โลกที่อาจหมุนเวียนเปลี่ยนผันอยู่ตลอดเวลา


มนตรี บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 570460เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2014 12:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2014 12:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท