ข้าราชการบำนาญต้องเป็นผู้ประกันตนหรือไม่


มีประเด็นข้อหารือ ถามมาว่า นาง ก. ข้าราชการบำนาญที่มีอายุไม่ถึง ๖๐ ปี (๕๕ ปี) ที่มหาวิทยาลัยจ้างมาปฏิบัติงานในฐานลูกจ้าง
ชั่วคราวรายเดือนต้องเป็นผุ้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมหรือไม่

 

หลังจากที่ได้ตรวจสอบข้อกฎหมายแล้วเห็นว่า ก็ตอบกลับไปว่า

ตามมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ บัญญัติไว้ว่า ให้ลูกจ้างซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์และไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์เป็นผู้ประกันตน

และตามาตรา ๔แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ที่ บัญญัติว่า

มาตรา ๔ พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่

(๑) ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวรายวัน และลูกจ้างชั่วคราวรายชั่วโมง ของส่วนราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น ยกเว้นลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน

(๒) ....

กรณีจึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า นาง ก.  ซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวรายเดือนและเป็นผู้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ จะได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ หรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า นาง ก. มีอายุไม่ถึง ๖๐ ปี ( ๕๕ ปี ) ได้รับการว่าจ้างตามสัญญาการจ้างกับมหาวิทยาลัย โดยรับค่าจ้างเป็นรายเดือน จึงเป็นลูกจ้างประเภทลูกจ้างชั่วคราวรายเดือนของมหาวิทยาลัย ไม่ได้มีสถานะเป็นข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวรายวันหรือรายชั่วโมงของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นราชการส่วนกลาง จึงมิใช่ผู้ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓

ส่วนที่มีการอ้างว่า นาง ก. เป็นผู้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ และมีสิทธิเบิกตรงจากกรมบัญชีกลาง จึงไม่ควรต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้รับบำนาญหรือข้าราชการบำนาญ เป็นผู้ที่พ้นจากการเป็นข้าราชการไปแล้ว และมิได้มีสถานะเป็นข้าราชการ แม้จะมีสิทธิในสวัสดิการของผู้รับบำนาญตามที่รัฐจัดให้ตามกฎหมาย แต่ก็มิได้มีกฎหมายบัญญัติยกเว้นให้ผู้รับบำนาญหรือข้าราชการบำนาญไม่ต้องเป็นผู้ประกันตน ประกอบกับ
 นาง ก. มีสถานะเป็นลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน ซึ่งเป็นข้อยกเว้น ตามมาตรา ๔ (๑) ให้ต้องอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ แม้ว่าจะมีนายจ้างเป็นราชการส่วนกลางก็ตาม นาง ก. จึงต้องเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม  

หมายเลขบันทึก: 569847เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2014 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2014 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ทำให้ได้รู้และเข้าใจมากขึ้น ขอบคุณค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท