​Lesson Study


          ในหนังสือ คู่คิด...ครูเพลิน หน้า ๕๙ - ๖๖ เป็นเรื่อง Lesson Study ที่เขียนจากประสบการณ์ตรงจากกิจกรรมของโรงเรียนเพลินพัฒนา เช่นเดียวกันกับเรื่อง Open Approach ที่ลงบันทึกไปแล้วเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ผมจึงขออนุญาตครูใหม่นำมาลงไว้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ PLC ในรูปแบบ Lesson Study

Lesson Studyแบบเพลินพัฒนา

          คู่ขนานกันไปกับการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Open Approach ในชั้นเรียน โรงเรียนเพลินพัฒนาก็ได้จัดให้มีกระบวนการพัฒนาครูโดยให้กลุ่มครูช่วยแนะนำซึ่งกันและกัน สาธิตซึ่งกันและกัน ประเมิน(การจัดการเรียนการสอน) ซึ่งกันและกัน และช่วยปรับปรุงซึ่งกันและกัน ภายใต้การจัดการเรียนการสอนที่มีความชัดเจนในเป้าหมายและแนวทางเดียวกัน โดยมีครูพี่เลี้ยง โค้ช หรือผู้เชี่ยวชาญ เวียนเข้าร่วมอย่างสม่ำเสมอในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคิดแผนการสอน การสังเกตการสอน และการสะท้อนหลังสอน

          กระบวนการทั้งหมดนี้ต้องอาศัยข้อมูลความรู้ที่เกิดจากการร่วมคิด ร่วมเตรียมการ ร่วมสังเกต ร่วมสะท้อน ร่วมประเมินการจัดการเรียนการสอน ร่วมถอดบทเรียน และร่วมพัฒนาวิธีการจัดการเรียน การสอนและพัฒนาคุณสมบัติที่สำคัญของครู โดยกระบวนการดังกล่าวนี้ได้สนธิเข้าไปในหน้างาน การจัดการเรียนการสอนที่กลุ่มครูเหล่านี้ต้องทำเป็นงานประจำให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้


Why : ทำไมต้อง Lesson Study ?

          Lesson Study เป็นระบบและกระบวนการพัฒนาครูที่สร้างและพัฒนาขึ้นในวงการศึกษา ของประเทศ ญี่ปุ่นมากว่า ๑ ศตวรรษ เป็นระบบที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหา มุ่งไปที่การทำชั้นเรียนที่เน้นแนวคิดของผู้เรียน เป็นประการสำคัญ ชั้นเรียนที่เกิดขึ้นจึงเป็นชั้นเรียนที่มี “เด็กเป็นศูนย์กลาง” อย่างแท้จริง

          Lesson Study มีลักษณะเป็นชุมชนการเรียนรู้ที่เติบโตไปบนหน้างานการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครู ที่เริ่มจากการวางแผนการสอน การนำแผนการสอนไปใช้ การสังเกตการณ์สอน และการสะท้อนหลังสอน การที่ได้สังเกตการสอนจริงในชั้นเรียน ทำให้ครูได้เข้าใจและเห็นภาพว่าการสอนที่ดีนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนเข้าใจในสิ่งที่ตนกำลังเรียนได้ดียิ่งขึ้น เป็นการพัฒนาแผน การพัฒนาครู และการพัฒนา ผู้เรียนไปในขณะเดียวกัน


How : ขั้นตอนของ Lesson Study มีอะไรบ้าง ?

          ก่อนสอน (Pre Teaching)

          เตรียมแผนการเรียนรู้ ให้กิจกรรมการเรียนรู้เป็นไปตามสถานการณ์โจทย์ของ Open Approach ที่สอดคล้องกันกับหลักปฎิบัติของ “ก้าวพอดี” ที่เป็นวิถีปฏิบัติในการจัดกระบวนการเรียนรู้ของโรงเรียน


ระหว่างสอน (While Teaching)

          ระหว่างดำเนินการสอน ครูเจ้าของชั้นเรียนมองห้องเรียนของตัวเองว่าสามารถจัดให้กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นมีขั้นตอนครบครัน ตั้งแต่ขั้นแนะนำ / ขั้นเปิดประเด็นโจทย์ / ขั้นการแก้ปัญหา และ/หรือสร้างสรรค์ / ขั้นนำเสนอความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ / ขั้นสรุป หรือไม่

          การเข้าสังเกตการณ์ระหว่างสอน (While Observing) ผู้เข้าสังเกตการณ์พบว่าผู้สอนสามารถจัดให้กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นมีขั้นตอนครบครันหรือไม่ อย่างไร


หลังสอน (Post Teaching)

          การสะท้อนและใคร่ครวญตนเอง เพื่อประเมินการจัดการเรียนการสอนของตนเอง เรียนรู้และพัฒนาตนเอง และพัฒนาการจัดการเรียนการสอนผ่านเครื่องมือที่เป็นแบบสะท้อนตนเอง เทียบประกอบกับแผนการเรียนการสอนของคาบนั้นๆ

          การสะท้อนจากมุมของผู้นิเทศ และเพื่อนที่เข้าสังเกตการณ์ที่เป็นไปเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ทั้งของครูผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ ของครูคู่วิชา และของกลุ่มที่เข้ามาร่วมเรียนรู้

          ด้วยเหตุนี้ครูจึงต้องมีตารางเวลาในการทำงานที่เอื้อให้เกิดช่วงเวลาของการ Pre - While - Post อย่างน้อยที่สุดครูแต่ละคนจะต้องมีเวลาทำงานในขั้นเตรียมแผนการเรียนรู้ร่วมกับครูคู่วิชาที่สอนในระดับชั้นเดียวกัน มีเวลาเข้าไปสังเกตการณ์การสอน และร่วมสะท้อนหลังสอน เพื่อการปรับพัฒนางานไปด้วยกัน

          ขั้นตอนในการทำงานร่วมกันที่สำคัญก็คือการนำข้อมูลในแบบบันทึกก่อนสอน ระหว่างสอน และบันทึกหลังสอนมาใคร่ครวญ และสะท้อนคิดร่วมกับครูคู่วิชา เพื่อนครูที่เข้ามาร่วมสังเกตการสอนเพื่อให้เกิดการพัฒนางานไปเรื่อยๆ ไม่มีหยุด เป็นการทำไป พัฒนาไป และก่อการเรียนรู้ให้กับทุกๆ คนไป ดังเช่นเรื่องเล่าต่อไปนี้...


เพลินกับเรื่องเล่าของเพื่อนครู : อยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร?

          ในวันพุธที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๗ เป็นวันที่คุณครูชั้น ๕ ทุกคนมาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในวง “KM[1]ระดับชั้น” เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ซาบซึ้งใจ และเป็นแรงบันดาลใจที่ดีให้กันและกัน ที่สำคัญคือได้เผยให้เห็นภาพห้องเรียนที่งดงามของหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย

          ฉันเริ่มต้นวงด้วยการสร้างสติ และสมาธิ ให้ทุกคนได้ทำการภาวนาสั้นๆ ต่อจากนั้นฉันให้คุณครูทุกๆ คนได้ เลือกไพ่ความรู้สึกเพื่อเป็นการ Check In ก่อนเริ่มวง KM คุณครูบางคนก็สามารถเลือกได้ง่ายและรวดเร็ว ส่วนคุณครูบางคนก็ใช้เวลาอยู่สักครู่กว่าจะเลือกได้ เมื่อทุกคนเลือกไพ่ความรู้สึกครบแล้ว ฉันก็ขอให้คนแรกที่หยิบไพ่ได้ Check In เป็นคนแรก ซึ่งก็คือ คุณครูเจนที่เลือกหยิบไพ่ “ซาบซึ้ง” คุณครูเจนบอกว่าตอนที่หลับตานั่งสมาธิ เห็นภาพงานของเด็กทำให้เกิดความซาบซึ้ง อยากรู้ไหมว่า ทำไมงานของเด็กจึงทำให้คุณครูเจนซาบซึ้งใจ

          เมื่อคุณครูทุกคนได้พูดสะท้อนความรู้สึกของตนเองจนครบแล้ว ก็มาถึงช่วงเวลาของการเล่าเรื่องดีๆ ของครูต้นเรื่องครูเจน ญาณิสา คำแสนได้บอกเล่าเรื่องราวที่ทำให้เด็กๆ เกิดแรงบันดาลใจในการทำชิ้นงาน “อยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร?”


[1] Knowledge Management จัดการความรู้

          คุณครูเจน เล่าถึงการเรียนรู้ในครั้งนี้ของนักเรียนชั้น ๕ ว่าเป็นการเรียนเรื่อง “การตีความผ่านสัญลักษณ์” ครูเจนบอกว่าตนเองรู้สึกชอบและซาบซึ้งใจกับเนื้อหาตอนนี้มาก ซึ่งเป็นการเรียนรู้ผ่านบทเพลง บทเพลงแรกที่ใช้ในการสร้างแรงบันดาลใจและฝึกทักษะในการตีความผ่านสัญลักษณ์ คือ เพลงก้อนหินก้อนนั้น เป็นเพลงที่มีสัญลักษณ์เพียงสัญลักษณ์เดียวที่ใช้แทนความหมาย เพลงนี้จึงเหมาะสำหรับการเริ่มต้นฝึกในเรื่องการตีความ เมื่อเด็กๆ เข้าใจและรู้จักการตีความผ่านสัญลักษณ์แล้ว ครูเจนก็เริ่มเปิดบทเพลงที่ ๒ คือ ขวานไทยใจหนึ่งเดียวให้กับเด็กๆ ได้ฟัง ซึ่งในเพลงนี้ จะมีสัญลักษณ์ที่ใช้มากขึ้น อีกทั้งยังมีเนื้อหาที่สอดคล้องและสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศไทยด้วย

          สิ่งที่ครูเจนสังเกตเห็น คือ เด็กๆ ให้ความสนใจและตั้งใจในการทำกิจกรรมดี อีกทั้งยังสะท้อนความคิดเห็นได้ตามประสบการณ์จริงที่ตนเองประสบอยู่ ณ ขณะนี้ด้วย เมื่อเด็กๆ ทุกคนได้ตีความหมายของเพลงนี้ และร่วมกันสรุปแล้ว ครูเจนก็เล่าเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ของสามจังหวัดชายแดนภาพใต้ ผ่านบทเพลงที่ชื่อว่า “ราตรีสวัสดิ์” ที่มีเนื้อหาสะท้อนความเป็นจริงที่ว่า ในขณะที่คนทั้งประเทศนอนหลับอยู่ ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่สามารถนอนหลับได้ในยามค่ำคืน เพราะต้องคอยดูแลรักษาความปลอดภัยของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

          แม้กระทั่งตอนที่ครูเจนเล่าเรื่องนี้ให้ฟังก็มีน้ำตาคลอๆ อยู่ เป็นภาพที่สะท้อนว่า ครูเจนเองก็มีความรู้สึกต่อเรื่องนี้เช่นกัน ครูเจนบอกว่าตอนที่เล่าให้เด็กฟังก็เกิดความรู้สึกนี้เช่นกัน ทำให้เด็กๆ ที่ฟังเรื่องราวอยู่รับรู้ความรู้สึกได้ หลังจากนั้น ครูเจนชวนให้เด็กๆ ได้เชื่อมโยงเนื้อหาในเรื่องนี้ไปสู่เพลง “ธงชาติไทย” ที่เด็กๆ ได้ร้องในตอนเช้าว่า ธงชาติสามสีแทนสัญลักษณ์อะไรบ้าง เมื่อมาถึงตอนนี้ ครูเจนสังเกตเห็นว่าเด็กๆ ทุกคนมีความรู้สึกร่วมร่วมกับเรื่องนี้อย่างมาก ครูเจนจึงเปิดโจทย์ให้กับเด็กๆ ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันแลกเปลี่ยน

          โจทย์ก็คือ “เด็กๆ อยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร ?”

          คุณครูเจน ให้เด็กๆ ได้ตอบโจทย์นี้ผ่านชิ้นงานตามความถนัดของตนเอง โดยให้กระดาษ A5 แบบถนอมสายตาไปคนละแผ่น ครูเจนสร้างแรงบันดาลใจในการทำชิ้นงานนี้ด้วยการบอกกับเด็กๆ ว่าคุณครูจะนำชิ้นงานนี้ไปติดแสดงเป็นนิทรรศการ และหลังจากจบนิทรรศการก็จะส่งไปรษณีย์ไปถึงทหารที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้



          อยู่กับงาน สร้างสรรค์อย่างมีความหมาย

          คุณครูเจนก็เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ทำตามความถนัดและความชอบของตนเอง เด็กๆ ทุกคนตั้งใจทำงานอย่างมาก เมื่อหมดเวลาแล้ว บางคนที่ยังทำไม่เสร็จก็ยังขอนำกลับไปทำต่อที่บ้านอีก

          เมื่อคุณครูเจนได้เห็นชิ้นงานของเด็กๆ ก็รู้สึกซาบซึ้งใจอย่างมาก และไม่คิดมาก่อนว่าเด็กๆ จะคิดได้ถึงขนาดนี้ กระบวนการเรียนรู้ในครั้งนี้ ทำให้คุณครูเจนรู้ว่า เด็กๆ สามารถจะทำอะไรๆ ให้กับสังคมได้มากกว่าที่เราคิด เพียงแต่ว่าเราไม่ค่อยได้เปิดโอกาสให้เขาได้ทำ

          คุณครูปุ๊ก-จินตนา ซึ่งเป็นครูคู่วิชาของคุณครูเจน เล่าเสริมว่าในห้องของตนเองก็พบว่า เด็กๆ มีความตั้งใจและกระตือรือร้นที่จะทำงานชิ้นนี้มากๆ โจทย์งานชิ้นนี้เกิดขึ้นหลังจากที่คุณครูปุ๊กสอนห้อง ๕/๑ จบแล้วทั้งคุณครูเจนและคุณครูปุ๊กได้มาสะท้อนผลหลังสอนกัน จากนั้นจึงได้มีการบทลำดับเพลง และโจทย์ รวมถึงชิ้นงานให้เหมาะสมขึ้น ห้องเรียนอีกสามห้อง คือห้อง ๕/๒ ห้อง ๕/๓ และ ห้อง ๕/๔ ได้ปรับใช้แผนการสอนและกิจกรรมตามที่คุณครูเจนเล่ามา ส่วนห้อง ๕/๑ ครูปุ๊กได้เข้าไปเปิดโจทย์ “อยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร?” และให้เด็กๆ ได้สร้างสรรค์ชิ้นงาน ก็พบว่าเด็กๆ ห้อง ๕/๑ ก็มีความตั้งใจและกระตือรือร้นในการทำชิ้นงานนี้มากเช่นกัน

          หลังจากที่คุณครูเจนเล่าเรื่องจบแล้ว คุณครูเล็ก –ณัฐทิพย์ ก็ชวนคุณครูทุกๆ คนร่วมกันหาปัจจัยความสำเร็จในเรื่องนี้ ประเด็นที่คุณครูทุกๆ คนช่วยกันสรุปมามีดังนี้

          การสะท้อนผลหลังการสอนของครูทั้ง ๒ คน ก่อให้เกิดการนำมาจัดปรับให้ดีขึ้นในครั้งถัดไป

          คุณครูผู้สอนเองมีแรงบันดาลใจในการสอน

          สื่อที่ใช้มีความร้อยเรียง จากง่ายไปสู่ยาก

          บทเพลงที่ครูเลือกมาใช้ตีความเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นเรื่องที่ทันกับเหตุการณ์ปัจจุบัน

          การทำชิ้นงาน “อยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร?” ในครั้งนี้ จึงเป็นภาพสะท้อนความความสำเร็จของคุณครูในการนำเรื่องจริงที่เป็นวาระของสังคมมาเป็นโจทย์ในการเรียนรู้ และทำความเข้าใจ


          “เรื่องจริงเหล่านี้สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ อยากทำงานได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญคืองานชิ้นนี้ได้สร้างให้เด็กๆ รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังมีคุณค่าและความหมายต่อผู้รับด้วย

ครูเล็ก - ณัฐทิพย์ วิทยาภรณ์ เรียบเรียง

          ขอขอบคุณครูใหม่ - วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ที่อนุญาตให้คัดลอกข้อความนี้มาลงบันทึก เป็นตัวอย่างกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติหน้าที่ครู ในลักษณะชุมชนเรียนรู้ของครู

วิจารณ์ พานิช

๑๖ เม.ย. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 569248เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2014 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2014 10:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบพระคุณที่อาจารย์กรุณานำมาเผยแพร่ค่ะ

ด้วยความเคารพ

ครูใหม่

note taker:_ช่วยจำ

  " Pre - While - Post "  Teaching

       เพิ่มเติม Inspiration ครูสร้างบรรยากาศ สิ่งแวดล้อม กระบวนการขับเคลื่อนให้เกิดแรงบันดาลใจ

           จากง่าย ไปสู่ยาก , จากใกล้ไปสู่ไกล ,  จากภายใน สู่ภายนอก

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท