​ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๖๔. เที่ยวสองประเทศนอร์ดิก (๑) การเดินทาง และ BAR


          คณะของสถาบันอาศรมศิลป์เดินทางด้วยการบินไทย เที่ยวบินที่ TG 954 ถึงสนามบินออสโล เวลา ๗.๐๐ น. ของวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๗ การเดินทางครั้งนี้สุดแสนจะสดวกสบาย ด้วยความอนุเคราะห์ของสถานทูตไทยที่นคร ออสโล ทำให้ผมนึกถึง การเดินทาง ไปกับคณะของ วปอ. ๓๕๕ เมื่อปี ๒๕๓๖ ที่ไปไหนก็มีเจ้าหน้าที่ของสถานทูตไทยไปคอย อำนวยความสะดวก เราไม่ต้อง ช่วยเหลือตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเร็วนะครับ ตอนนั้นผมนึกในใจว่าเดินทางด้วยตนเองเร็วกว่า แต่ตอนนี้แก่ตัวลงไปกว่า ๒๐ ปี ไม่คล่องแคล่วอย่างแต่ก่อน มีคนมาช่วยเหลืออำนวยความสะดวกก็ดีกว่าช่วยตัวเอง ด้วยประการทั้งปวง

          เรานัดกันไป เช็คอิน เวลาสี่ทุ่ม เพื่อจะไปนั่งทำ BAR (Before Action Review) กันที่ห้องรับรอง ที่สถานทูตไทย ที่ออสโลขอให้ ผมไปถึงก่อนเวลาเล็กน้อย ไปดูที่ป้ายบอกว่าเช็คอินที่ไหน ได้ว่าที่แถว G กับ H เมื่อเดินไปก็พบว่าคนแน่น โกลาหล ลองเดินอ้อมไปจากบริเวณอื่นไปด้านหลัง แล้วไปที่แถว G กับ H ไปถามเจ้าหน้าที่การบินไทย ว่าทำไมผู้โดยสารแน่น อย่างนี้ เขาตอบไม่ได้ ได้แต่บอกผมว่าต้องกลับไปต่อแถวด้านหน้า

          กลับไปด้านหน้า หาแถวไม่เจอ คนแน่นแบบโกลาหล ผมนึกในใจว่า หากการบินไทยจัดการเป็น จะต้องส่งเจ้าหน้าที่ออกมารุกให้บริการจัดแถวให้คนใจชื้น ว่าได้รับความเอาใจใส่อย่างดี การบินไทยขาด resilience ที่นี่ผมพบคุณเปา มากับลูกสาว ๒ คนมาส่ง

          เรื่องผู้โดยสารแน่นในช่วงนี้ แอร์โฮสเตส บนเครื่องอธิบายว่า น่าจะเป็นคนที่มาเล่นน้ำสงกรานต์ ได้เวลากลับพอดี สภาพที่ผู้โดยสารล้นสนามบินนี้ หากการบินไทยทำ AAR เป็น ก็จะเตรียมรับมือในโอกาสหน้าได้ ไม่ปล่อยให้โกลาหล ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ทราบว่าช่วงนี้คนการบินไทยมีกำลังใจที่จะร่วมกันทำงานพัฒนาองค์กรหรือไม่ เพราะมีข่าวว่าจะปลดพนักงาน ๕,๐๐๐ คน แอร์โฮเตสคนเดิมพูดเป็นนัยๆ ถึงการเข้ามาแสวงประโยชน์โดยมิชอบ (ก็โกงกินนั่นแหละ) จนการบินไทยบอบช้ำ มากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งธุรกิจการบินมีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ การบินไทยก็ยิ่งเผชิญความยากลำบาก

          คำเฉลยเรื่องผู้โดยสารแน่นที่แท้จริงได้จากทางสถานทูต ว่าเป็นช่วงวันหยุด อีสเตอร์ คนนอร์เวย์ จึงเฮโลกันไปเที่ยว เมืองไทยและกลับมาทำงาน ท่านทูตอ้อม (ธีรกุลนิยม) บอกว่าคนนอร์เวย์ มี ๕ ล้าน ไปเที่ยวเมืองไทยปีละ ๑๔๗,๐๐๐ คน เท่ากับร้อยละ ๗ ของคนทั้งประเทศ และจำนวนมากไปแล้วไปอีก บางคนไปเป็นครั้งที่ ๓๐

          ในที่สุด อ. สุรพล ก็โทรศัพท์มาตามให้ผมไปรวมทีมที่แถว B แล้วเจ้าหน้าที่ของการท่าฯ ก็พาไปเช็คอินที่แถว A ซึ่งเป็นที่เช็คอินของชั้นธุรกิจ ผมจึงรู้ว่าผมโง่ไปถนัด จากนั้นก็มีทาง Fast Track ใกล้ๆ เข้าไปตรวจอาวุธ และตรวจลงตราหนังสือเดินทาง แล้วเจ้าหน้าที่ของการท่าฯ พาไปห้องรับรองของการท่าฯ เพื่อไปทำ BAR กัน

          ทีมเราที่เดินทางวันนี้มี ๘ คน เพราะคุณธีรพล ต้องอยู่รับพระราชทานโล่รางวัลศิลปินแห่งชาติ จากสมเด็จพระเทพรัตน์ ในวันที่ ๒๕ แล้วบินตามมาในวันที่ ๒๖ ผมได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ “คุณอำนวย” ตั้งโจทย์ให้แต่ละคนบอกความในใจ ว่าแต่ละคนมีเป้าหมายอะไรบ้างในการมาครั้งนี้ และจะเอาความรู้ที่ได้ไปทำอะไร เริ่มจากคนที่อาวุโสน้อยที่สุดก่อน คือ อ. ปุย พนิดา ฐาปนางกูร ผู้จัดการโครงการปฏิรูปการศึกษาโดยภาคเอกชน

          สรุปว่า ทีมของอาศรมศิลป์ ๖ คน เดินทางมาด้วย ๒ เป้าหมาย คือเป้าหมายไปเรียนรู้และหาความร่วมมือด้านการ จัดการศึกษาระดับปริญญาตรี สถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต ในรูปแบบที่เป็น Work-Based Learning โดยจะไปลงนามใน MOU กับ AHO ในการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ นักศึกษาของอาศรมศิลป์ เมื่อเรียนจบปี ๔ จะได้รับทุนไปเรียนปริญญาโทที่ AHO ฟรี ปีละ ๒ - ๓ คน นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะ AHO เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่และมีชื่อเสียงมากของนอร์เวย์ ทางด้าน สถาปัตยกรรมศาสตร์

          เป้าหมายที่สอง คือเรื่องโครงการปฏิรูปการศึกษาของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ในปริมณฑลของกรุงเทพ โดยทางมูลนิธิ EDP ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์สนับสนุนเงิน เป้าหมายของการปฏิรูปก็คือ ให้เกิดบรรยากาศการทำงานแบบใหม่ในโรงเรียน ที่ผู้บริหารทำหน้าที่บริหารกระบวนการเรียนการสอน และกระบวนการเรียนรู้ของครู ซึ่งมีรายละเอียดมาก และวิธีการที่เป็น รูปธรรมของฟินแลนด์ จะช่วยให้เราออกแบบโครงการของ EDP ให้เกิดผลได้อย่างแท้จริง รูปธรรมที่เราอยากไปดูคือครูใหญ่ และผู้ช่วยครูใหญ่ โค้ชการเตรียมตัวสอนของครู (BAR) อย่างไร และหลังสอนครูมารวมตัวกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (AAR) อย่างไร อยากไปดูสื่อการสอนที่คนเคยไปแล้วบอกว่าดีจริงๆ และอยากไปดูระบบประกันคุณภาพการศึกษา ที่เป็นการประกันในชั่วโมง เรียน ไม่ใช่ประกันในกระดาษอย่างของไทย

          เราคุยกันว่า ไปดูของฟินแลนด์แล้ว ต้องเอากลับไปคิดทางหนีทีไล่ หรือยุทธศาสตร์การทำงานในสภาพวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัฒนธรรมของวงการศึกษาไทย ต้องกำหนดเงื่อนไขหลายอย่างในการคัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ EDP

          ที่ผมแปลกใจก็คือ คุณ Carole ครูสอนภาษาอังกฤษที่ รร. รุ่งอรุณบอกว่า รุ่งอรุณดำเนินการมา ๑๗ ปี เริ่มแข็งตัว และตนเห็นปัญหานักเรียนขาดการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) เธอยกตัวอย่างที่สำคัญคือเมื่อครูตั้งคำถาม เด็กจะตอบจากคำตอบในตำราเท่านั้น ไม่กล้าตอบแหวกแนวออกไป ผมคิดในใจว่าเรื่องนี้แก้ไม่ยาก คือต้องให้ครูพูดกรอกหู นักเรียนอยู่ตลอดเวลาว่า “หนึ่งคำถามมีหลายคำตอบ” และเมื่อนักเรียนคนแรกตอบ ครูต้องถามว่า “ใครมีคำตอบที่ต่าง จากนี้บ้าง” โดยมีกติกาว่า นักเรียนต้องให้คำตอบพร้อมกับเหตุผล หรือหลักฐานสนับสนุน

          คุณเปา (ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร) กับผมมาในฐานะผู้สนใจการศึกษา ต้องการมาเรียนรู้ เอาไปคิดปะติดปะต่อ เพื่อเชื่อมโยงภาคีปฏิรูปการเรียนรู้ พัฒนาคุณภาพเยาวชนของเราให้สอดคล้องกับการมีชีวิตในสังคมแห่งศตวรรษที่ ๒๑

          เย็นวันที่ ๒๒ ทางสถานทูตไทยที่นอร์เวย์ อีเมล์มาบอกกำหนดการของวันที่ ๒๓ ว่า ช่วงเช้าไปเที่ยว Vigeland Park and Holmenkollen ส่วนตอนบ่ายเป็น City Tour วันที่ ๒๔ เป็น One day trip to Skien and Notodden ผมก็หาความรู้เรื่องสถานที่ ดังกล่าวทันที ก่อนออกเดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมิเพียง ๒ ชั่วโมง

          เที่ยวอย่างเดียวถึงสองวันเชียวนะครับ ผมยังไม่เคยไปทริปไหนที่ได้เที่ยวก่อนทำงานถึงสองวันเต็มๆ เลย ยกเว้นทริปไปเที่ยวจริงๆ

          เครื่องบินขาไปเป็น Boeing 777-300ER ผมได้ที่นั่ง 16J ริมหน้าต่างและริมทางเดินด้วย การจัดที่นั่งขั้นธุรกิจสมัยใหม่ ช่วยให้ผู้โดยสารมีความเป็นส่วนตัวสูงขึ้น ที่นั่งปรับราบได้ ๑๘๐ องศา แต่ก็ไม่ถึงกับนอนสบายเหมือนเตียงที่บ้าน สิ่งที่สะดุด ความสังเกตของผมก็คือ บริการอาหารในชั้นธุรกิจด้อยลงไปจากเดิม ขั้นตอนการเสิร์พ จังหวะเครื่องดื่มกับอาหาร ไม่ไปด้วยกัน และเจ้าหน้าที่ผู้หญิงเรียกไวน์ Merlot (เมอร์โลท์) ว่า เมอร์ลอท เรื่องเล็กๆ น้อยๆ นี้บอกคุณภาพ แต่อาจด้อยเฉพาะทีมนี้ หรืออาจเป็นเพราะผมไปโดนสายการบินเอมิเรตส์ทำให้ติดมาตรฐานสูง

          แต่ ออเดิฟ ของอาหารมื้อค่ำอร่อยติดใจ ได้แก่ ปลาแฮริงปรุงรสโรยดิล (Marinated Herring with Dill) ปลาแซลมอนนอร์เวย์ปรุงรส (Marinated Norwegian Salmon Rose) มะเขือเทศเชอรี่ซอสดิลมัสตาร์ด (Cherry Tomato with Mustard Dill Sauce) Marinated Herring with Dill ทำให้ผมนึกถึงตอนสี่สหายไปกินอาหารสแกนดิเนเวียน บันทึกไว้ ที่นี่

          ที่ติดใจอีกอย่างหนึ่งคือห้องน้ำทางด้านหน้าของเครื่องบิน มันใหญ่โตโอ่โถงสะดวกสบายดีจริงๆ

          พอเวลาห้าทุ่ม ผมก็แบตหมด ง่วงอย่างรุนแรง แต่ก็ดีอย่าง การทำ BAR มันปลุกความตื่นตัว แต่พอ BAR จบ เดินไปขึ้นเครื่อง อาการแบตหมดก็แสดงออกมารุนแรง บันทึกไว้ว่าความชรามาเตือนสติให้คิดถึงมรณะ

วิจารณ์ พานิช

๒๔ เม.ย. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 569247เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2014 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2014 09:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท