สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว


      การติดต่อค้าขายกับต่างประเทศนั้น นอกจากจะมีการขนส่งสินค้าออกไปขายต่างประเทศและนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายแล้ว ยังมีคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาเพื่อประกอบอาชีพในประเทศไทยเป็นจำนวนมากอีกด้วยนับตั้งแต่อดีต อันมีผลให้เกิดการแย่งอาชีพของคนไทย รัฐบาลในสมัยต่อ ๆ มาจึงเริ่มมีมาตรการป้องกันไม่ให้คนต่างด้าวเข้ามาแย่งอาชีพ โดยใช้มาตรการทางกฎหมายมากำหนดคุณสมบัติหรือมีเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อสงวนอาชีพไว้ให้กับคนไทย ซึ่งในอดีตได้แก่ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 โดยต่อมาได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 ซึ่งยังคงมีผลใช้บังคับมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีการสงวนอาชีพไว้ให้กับคนไทยจำนวน 39 อาชีพ (บัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.2522 และพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2536) อีกทั้งพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดเงื่อนไขให้คนต่างด้าวที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย จะต้องมีการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย (มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521)

   จากกรณีศึกษานายสาธิต เซกัล เป็นบุคคลสัญชาติอินเดีย จึงเป็นคนต่างด้าว โดยนายสาธิต เซกัลได้ขึ้นแสดงความคิดเห็นบนเวทีปราศรัยเพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรต่อมาศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) แจ้งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการเนรเทศนายสาธิตออกจากประเทศไทย[3]

     ซึ่งจะเห็นได้ว่าการที่นายสาธิต ขึ้นแสดงความคิดเห็นเป็นการใช้เสรีภาพของตนเอง แต่อย่างไรก็ตามได้มีความเห็นว่า การใช้เสรีภาพดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ หมวดที่ 3 ซึ่งแบ่งลักษณะของการกำเนิดสิทธิได้เป็น 2 ประเภท คือ สิทธิมนุษยชน และ สิทธิพลเมืองหรือสิทธิทางการเมือง โดยทั่วไปผู้ที่จะทรงสิทธิทางการเมืองได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติของรัฐเท่านั้น และไม่มีรัฐใดในโลกที่ยินยอมให้คนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรของตน ไม่ว่าจะสิทธิอาศัยอยู่ถาวร หรือ ชั่วคราวก็ตามสามารถมีสิทธิในการเข้าร่วมทางการเมืองได้ ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ได้กล่าวว่ารัฐธรรมนูญทั่วไปต้องถือว่ารัฐธรรมนูญ ย่อมกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคนสัญชาติของรัฐนั้นเอง หากรัฐธรรมนูญประสงค์จะให้สิทธิเสรีภาพแก่คนต่างด้าว กฎหมายพึงจะต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้คนต่างด้าวจะมีสิทธิเพียงใด กรณีนี้ย่อมเป็นไปตามสนธิสัญญา และกฎหมายอื่นซึ่งไม่ใช่เรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงมิสามารถบังคับใช้กับคนต่างด้าวได้

     แต่ในกฎหมายระหว่างประเทศ จากกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ 19 ได้มีการรับรองว่า

1. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะถือเอาความเห็นใดก็ได้โดยปราศจากการแทรกแซง

2. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและกระจายข่าวและความคิดเห็นทุกรูปแบบโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษร หรือการตีพิมพ์ ในรูปของศิลปะหรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ประสงค์

3. การใช้สิทธิตามที่บัญญัติในวรรค 2 ของข้อนี้ ต้องเป็นไปโดยมีหน้าที่และความรับผิดชอบเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงอาจตกอยู่ใต้ข้อจำกัดตัดทอนบางเรื่องแต่ทั้งนี้ต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายและเป็นเรื่องจำเป็นแก่

(ก) การเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น

(ข) การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุขหรือศีลธรรม[4]

ดังนั้นนายสาธิต เซกัล จึงสามารถแสดงความคิดเห็นดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะต้องเป็นคนสัญชาติไทย

อ้างอิง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550.”[ระบบออนไลน์] เข้าถึงได้จากhttp://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliamen... สืบค้น 15 พฤษภาคม 2557

สาธิต เซกัล ประวัติประธานหอการค้าไทย-อินเดีย ที่ถูก ศรส. เนรเทศ, http://hilight.kapook.com/view/97452, สืบค้นวันที่ 15 พฤษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 568254เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 09:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 09:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท