การประกอบการสังคม ธุรกิจทิศทางใหม่ของสังคมและการเรียนรู้


          ระพีเสวนา ครั้งที่ ๗ เรื่อง การประกอบการสังคม ธุรกิจทิศทางใหม่ของสังคมและการเรียนรู้ สื่อสารนวัตกรรมทางสังคมที่ผมเชื่อว่า จะเป็นกลไกสำคัญในการฉุดรั้งการศึกษาไทยขึ้นจากหุบเหวแห่งความด้อยคุณภาพ ผลิตคนที่มีคุณสมบัติตกยุค

          ชมพิธีเปิดและการบรรยายพิเศษ โดยคุณมีชัย วีระไวทยะ ที่นี่ และการเสวนาของผู้ประกอบการสังคม ที่นี่ และ ที่นี่ เสวนาการบ่มเพาะตนเองของเยาวชนเป็นผู้ประกอบการสังคม ที่นี่

          หลักการที่แปลกประหลาดคือ นักเรียนต้องฝึกทำงานจริง หารายได้จริง หรือกล่าวแรง ๆ เรียนไปประกอบธุรกิจไป เพื่อต่อไปจะได้ทำมาหากินเป็น

          นี่คือสภาพของ Authentic Learning และตรงกันกับสาระที่สื่อในหนังสือ Who Owns the Learning ที่ผู้เรียนต้องเรียนโดยการทำงานที่เป็นประโยชน์จริงๆ

          ในเรื่องการศึกษากับการฝึกเป็นผู้ประกอบการสังคมนั้น ผมได้ไปดูงานที่อังกฤษ และเขียนบันทึกไว้ ที่นี่ โดยบันทึกที่ตรงกับเรื่องนี้ที่สุดอยู่ ที่นี่ ในยุคนี้ เราต้องฝึกเด็กให้มีวิญญาณของผู้ผลิต ไม่ใช่ให้มีวิญญาณ ของผู้บริโภคอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

          เราต้องฝึกเด็กให้มีวิญญาณของผู้ประกอบการที่เห็นแก่สังคม

          ลองฟังการเสวนาโดยผู้ประกอบการสังคมที่หลากหลายดูนะครับ จะเห็นมิติของการเรียนรู้ ในชีวิตจริง หรือการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ที่แตกต่างจากการศึกษาในระบบมากมาย

          ตอนจบ ทีมสังเคราะห์ความรู้ ให้นิยามของ การประกอบการสังคม ว่าหมายถึง การดำเนินธุรกิจ ที่เกื้อกูลต่อชุมชน สังคม และโลก ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผู้ประกอบการ สังคมมักเริ่มจากเป็นผู้ตระหนักถึงปัญหาของชุมชนและสังคม และริเริ่มการแก้ปัญหาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น จากความร่วมมือของกัลยาณมิตร และพัฒนาทักษะความสามารถบนประสบการณ์ของตนเอง

          ผมไม่ได้ไปร่วมเพราะติดงานอื่น ได้ฟังรายงานในการประชุมสภาอาศรมศิลป์ และกลับมาชม เรื่องราวในการประชุมนี้ใน YouTube ที่บ้าน ได้เห็นนักประกอบการสังคมหลายคน กำลังเรียนหลักสูตร ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาผู้ประกอบการสังคม ของสถาบันอาศรมศิลป์ ผมจึงเสนอแนะต่อผู้บริหาร ของสถาบันอาศรมศิลป์ ให้ทำคู่มือการเรียนรู้ภาคทฤษฎี (ที่เรียนจากการปฏิบัติและค้นคว้าเพิ่มเติม) กำหนดว่า ต้องอธิบายทฤษฎีหรือความรู้อะไรบ้าง สำหรับให้นักศึกษาทำ reflection จากการปฏิบัติ ว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง โดยในแต่ละขั้นตอนการปฏิบัติ ทางสถาบันฯ มีบอกไว้ในคู่มือ ว่าการปฏิบัตินั้น มีเป้าหมายเพื่อการเรียนรู้ อะไรบ้าง เป็นอย่างน้อย โดยต้องระบุทั้งส่วนที่เป็นความรู้ ทักษะ และเจตคติ รวมทั้งเตรียมวิธีประเมินว่า นศ. บรรลุเป้าหมายนั้นจริง

          กิจกรรมในย่อหน้าบน เป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก ในการยกระดับการปฏิบัติสู่การเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้ได้ทั้งความรู้ปฏิบัติและความรู้ทฤษฎี แต่สถาบันอาศรมศิลป์ต้องมีวิธีดำเนินการจัดการ “สอนแบบไม่สอน” เพื่อให้ผู้เรียนได้ความรู้และทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด ผมเสนอต่อสภาสถาบันอาศรมศิลป์ ให้สถาบันพัฒนาวิธีจัดการเรียนรู้แบบ Competency-Based บนฐานของการปฏิบัติ

          ในยุคนี้สถาบันอาศรมศิลป์ต้องใช้พลังของ ไอซีที เป็นเครื่องมือให้เกิดการเรียนรู้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ให้ได้

วิจารณ์ พานิช

๑๒ เม.ย. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 567927เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2014 07:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2014 07:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมได้เข้าร่วมการเสวนาครั้งนี้ด้วยครับ  และได้ตัดต่อคลิปให้ดูง่ายขึ้น ที่ http://www.gotoknow.org/posts/565969 และ AAR ว่าได้เรียนรู้อะไรบ้างไว้ที่นั่นด้วยครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท