มหาวิทยาลัยอังกฤษ : ๔. ความเป็นผู้ประกอบการ


 

ตอนที่ ๑ 

ตอนที่ ๒

ตอนที่ ๓

 

นิยามหรือความหมาย ของความเป็นผู้ประกอบการของมหาวิทยาลัย ไม่ชัดเจน ไม่มีมาตรฐาน   ผมขอรวบรวมมาจากการฟัง ถาม สังเกต และ ลปรร. กับคณะที่ไปดูงานด้วยกัน

หลังจากไปฟังการนำเสนอในการดูงาน และกลับมาไตร่ตรองแล้ว ผมฟันธงว่า ความเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) เป็นสมรรถนะ (competency) ที่ต้องการอย่างหนึ่งของบัณฑิตทุกสาขา ในทุกประเทศ สำหรับยุคศตวรรษที่ ๒๑   โดยที่จริงๆ แล้ว ต้องมีการปลูกฝังพัฒนามาตั้งแต่ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย   และต้องยิ่งกระตุ้น ในการเรียนรู้ระดับมหาวิทยาลัย 

ผมตีความและนิยามเอาเองว่า ความเป็นผู้ประกอบการหมายถึง ความสามารถนำเอา สินทรัพย์ (assets) ที่อยู่เฉยๆ ไม่ก่อประโยชน์ใดๆ   มาจัดการหรือดำเนินการให้เกิดมูลค่า คุณค่า หรือผลกำไร

เมื่อตีความและนิยามเช่นนี้แล้ว   บทบาทของมหาวิทยาลัยกับความเป็นผู้ประกอบการจึงหมายถึง การที่มหาวิทยาลัยทำให้นักศึกษาของตน เปลี่ยนแปลงขั้นรากฐาน (transform) จากวิญญาณผู้บริโภค   มาสู่วิญญาณผู้ผลิต   หรือให้มีน้ำหนักของ วิญญาณผู้ผลิต มากกว่าวิญญาณผู้บริโภค

การตีความ และนิยามเช่นนี้ สอดคล้องกับแนวทาง 21st Century Learning   ซึ่งเน้นที่เรียนโดยปฏิบัติ (learning by doing)   เพื่อให้นักเรียน/นักศึกษา เรียนโดยการผลิตหรือสร้างความรู้   ซึ่งก็คือ เป็นการนำเอา ความสามารถ หรือศักยภาพภายในตัว นศ. ที่อยู่เฉยๆ มาทำหน้าที่ ผู้ผลิตความรู้ เผื่อแผ่แก่เพื่อน ในกระบวนการเรียนรู้เป็นทีม   หรือเรียนรู้โดยการแลกเปลี่ยนเอื้อเฟื้อกัน    ในลักษณะ collaborative learning   ซึ่งก็จะช่วยบ่มเพาะนิสัยร่วมมือ (collaboration) หรือเป็นหุ้นส่วนกัน (partnership)   ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับการเป็นมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ (21st Century Skills)

การหล่อหลอมวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ   กับการเรียนรู้ตามแนวทางแห่งศตวรรษที่ ๒๑   จึงเป็น ๒ หน้าของเหรียญเดียวกัน

ในระดับมหาวิทยาลัย / หน่วยงาน ต้องมีความสามารถในการหารายได้มาใช้ในการทำหน้าที่ สถาบันอุดมศึกษาให้แก่สังคม   มหาวิทยาลัยจึงเป็นผู้ประกอบการสังคม   หรือที่ท่าน ศ. ดร. วิจิตร ศรีสะอ้าน เรียกว่า เป็นวิสาหกิจสังคม (Social Enterprise)    คือทำธุรกิจเพื่อหารายได้มาเลี้ยงตัวเอง    โดยหวัง ผลประกอบการหรือ กำไรเป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อสังคม

ความสัมพันธ์กับรัฐ ตามอุดมคติของผู้ประกอบการ จึงไม่ใช่การ ของบประมาณ   แต่เป็นการเจรจากัน ว่ามหาวิทยาลัยนั้นๆ จะทำประโยชน์อะไรบ้าง ให้แก่สังคม   โดยรัฐ ซื้อบริการเหล่านั้น ตามอัตราที่เหมาะสม กับคุณภาพของผลงาน ของมหาวิทยาลัยนั้น ที่เคยทำผลงานไว้

วิธีคิดแบบนี้ เหมาะสมสอดคล้องกับสังคมไทยเพียงใด   ผมไม่มีคำตอบ   เพราะสังคมของเรา ยังมีลักษณะสังคมอุปถัมภ์   หรือต่างตอบแทนกัน แบบพวกใครพวกมัน    ไม่ได้เน้นที่การซื้อบริการตามคุณภาพ ของผลงาน

 

ที่เราไปศึกษาดูงาน ได้เห็นความแตกต่างอย่างยิ่ง ระหว่างความเป็นผู้ประกอบการของ University of Northampton  กับ UCL (University College London)   เพราะสองมหาวิทยาลัยนี้มี สินทรัพย์แตกต่างกัน   คือ UCL เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นเยี่ยมของโลก   มีผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในขั้นแนวหน้า    ดังนั้น กิจกรรมของ Social Enterprise ของเขาที่ชื่อ UCL Business ก็คือ TLO (Technology Licensing Office) ในชื่อเก่านั่นเอง   และกิจกรรม SE ของนักศึกษาของ UCL ก็มักอยู่บน technology platform ที่ได้จากผลงานวิจัย ของมหาวิทยาลัยนั่นเอง   ดังกรณีที่ศาสตราจารย์ Muki Haklay เล่าให้เราฟังเรื่อง  ‘Extreme Citizen Science’ Group   ที่ผนวกพลังพลเมือง (citizen) กับพลังเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน   เพื่อทำประโยชน์ให้แก่สังคม   โดยที่ในที่นี้เทคโนโลยีคือ Web-based mapping โดยใช้ GPS    กิจกรรมหนึ่งที่กลุ่มนี้ทำ คือทำแผนที่เสียงรบกวน ที่ก่อมลภาวะทางเสียง (noise pollution)  และอาจจำไปประยุกต์ใช้ดำเนินการแก้ปัญหาสังคมได้อีกมากมาย    อาจารย์ผู้นี้ได้ตั้ง SE ชื่อ Mapping for Change   โดยได้รับการสนับสนุนจาก UnLtd

แต่ SE ของ University of Northampton จุดแข็งคือนโยบายของมหาวิทยาลัย ที่ถือว่าตัวมหาวิทยาลัย ทั้งมหาวิทยาลัย เป็น SE (Social Entreprise)   และทำหน้าที่สร้างคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะผู้ประกอบการ และมีจิตสาธารณะ คือเป็น Social Entrepreneur   เท่าที่เราไปฟังนักศึกษา ๓ กลุ่มมาเล่ากิจการ SE ของเขา   ก็อยู่บนฐานของความริเริ่มสร้างสรรค์ และประสบการณ์ของนักศึกษาแต่ละกลุ่มเป็นหลัก   โดย นศ. คนที่ผมประทับใจที่สุดคือคุณ Marvin คนผิวดำผู้กลับใจ    จากเป็นเด็กเกเร ก่อปัญหาให้แก่สังคม   กลายเป็นนักธุรกิจ ตั้งบริษัทฝึกอบรมศิลปะการออกแบบ เพื่อการค้นพบตนเองของเยาวชน

อีกมิติหนึ่งของมหาวิทยาลัย นอร์ธแทมตัน ในการยกระดับความเป็นมหาวิทยาลัย SE ของตน    คือการเข้าไปถือหุ้นของ CIC (Community Interested Company)  ชื่อ Goodwill Solutions   เพื่อใช้ฐานธุรกิจ เพื่อสังคมของ Goodwill Solutions เป็นที่ฝึกจิตใจเพื่อสังคมให้แก่นักศึกษา    และเพื่อทำงานวิชาการด้าน ธุรกิจเพื่อสังคม จากประสบการณ์ของ Goodwill Solutions

ส่วน SE ของมหาวิทยาลัย อ็อกซฟอร์ด เน้นทำงานวิชาการด้านนี้  

Entrepreneurship ในระดับอาจารย์   อาจารย์ต้องแสดงความสามารถในการหารายได้ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม   หรือกล่าวใหม่ว่า ต้องแสดงหลักฐานว่า ทำไมต้องมีตนเองอยู่ในหน่วยงาน หรืออยู่ในมหาวิทยาลัย   ไม่ใช่บอกว่าตนเองสมัครเข้ามาทำงานแล้ว ต้องได้รับความมั่นคงในหน้าที่การงาน และรายได้

รายการดูงานรายการสุดท้ายเป็นหน่วยงานส่งเสริมวิญญาณนักประกอบการ (นักประกอบการทั่วไป ไม่ใช่นักประกอบการสังคม) ให้แก่นักศึกษา ชื่อ NACUE (The National Association of College and University Entrepreneurs)    ซึ่งเป็นหน่วยงานไม่ค้ากำไร ตั้งขึ้นโดยนักศึกษา เมื่อ ๔ ปีที่แล้ว    โดยทำกิจกรรม ๓ กลุ่ม  (๑)​ เชื่อมโยงเครือข่าย ด้วยวิธีการที่หลากหลาย รวมทั้งการสนับสนุนให้เกิดธุรกิจโดยนักศึกษา   (๒) จัดอีเว้นท์ และการประชุม  (๓) ทำวิจัย และสื่อสารนโยบาย

เนื่องจากทั้งรัฐบาล และหลายๆ ฝ่ายในสหราชอาณาจักร มองว่าประเทศจะพัฒนาและแข่งขันได้ในยุคนี้   ความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง   NACUE จึงพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ในเวลา ๔ ปี   โดยตอนนี้มีเจ้าหน้าที่ ๔๐ คน   อายุเฉลี่ย ๒๓ ปี   นี่คือตัวอย่างของความเป็นผู้ประกอบการตัวจริง

ความเป็นผู้ประกอบการมี ๒ แบบ   คือประกอบธุรกิจเพื่อกำไรตามแบบธุรกิจทั่วๆ ไป    กับ ประกอบการเพื่อสังคม   โดยที่ ๒ แบบนี้ไม่แยกกันเด็ดขาด    เพราะธุรกิจค้ากำไร ก็ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ ของสังคมด้วย   ต้องไม่ประกอบธุรกิจโดยหวังกำไรสูงสุด โดยไม่เอาใจใส่ว่าตัวธุรกิจนั้นก่อผลร้ายต่อสังคม อย่างไรบ้าง    ไม่สนใจลดผลร้ายลงไป   ซึ่งนี่คือหลักการการประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม    สรุปว่า ธุรกิจแบบแรก เน้นกำไรที่เป็นตัวเงินเป็นหลัก   ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นรอง

ความเป็นผู้ประกอบการแบบที่สอง เน้นผลประโยชน์ต่อสังคมเป็นหลัก    เงินกำไรเป็นรอง

ใน Ppt นำเสนอของ Prof. Muki Haklay ระบุนิยามของคำว่า ผู้ประกอบการสังคม (Social Entrepreneur) ดังนี้

-                                                       UnLtd นิยามว่า เป็นบุคคลที่มีวิสัยทัศน์  แรงบันดาลใจ  ความมุ่งมั่น  และการลงมือทำ เพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีกว่าที่เป็นอยู่

-                                                       Ashoka นิยามว่า เป็นบุคคลที่มีวิธีที่แปลกใหม่ ในการแก้ปัญหาที่สำคัญของสังคม   เป็นคนที่ทะเยอทะยาน และลงมือทำอย่างคงเส้นคงวา   เข้าไปแก้ปัญหาสำคัญของสังคม   และเสนอแนวความคิดใหม่   เพื่อการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง 

ผมเขียนบันทึกนี้แบบตีความสุดๆ   ไม่ทราบว่าเป็นการตีความเข้าป่าเข้าดง   ไปหรือไม่   ท่านผู้อ่านพึงอ่านอย่างมีวิจารณญาณ

 

วิจารณ์ พานิช

๑๔ ก.ย. ๕๖

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 551111เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2013 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2014 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท