Thai DPP : วางแผนการทำงานต่อไป


ทีมทำงานจะต้องทำไปพร้อมๆ กับอาสาสมัคร เป็น role model และหวังว่าต่อไปอาสาสมัครก็จะเป็น role model ให้กับคนอื่นๆ ด้วย การจะจัดกิจกรรมแต่ละครั้งทีมทำงานจะต้องมีการฝึกซ้อมล่วงหน้า

วันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2557

เมื่อคืนคนที่ไม่ได้ออกไปไหนก็มาคุยวางแผนการทำงานกันที่ห้องพักของดิฉันและมด ภญ.ปราณี ลัคนา จันทโชติ มดทำหน้าที่เป็นตากล้องไปด้วย แม้รูปจะไม่ชัดมากแต่ก็พอมองออกว่าใครเป็นใคร

ประชุมกลุ่มย่อย ยามค่ำคืน

เช้าวันที่ 27 ดิฉันเตรียมการประชุมโดยให้โจ เกษตรศักดิ์ ล่วนเส้ง เขียนร่างแผนการทำงานที่คิดกันมาตั้งแต่เมื่อคืนขึ้น Flipchart เตรียมไว้ พอทีมงานมาครบเราก็เริ่มประชุมจากเรื่องกิจกรรมในการติดตามอาสาสมัครทุก 2 เดือนว่าควรจะประกอบด้วยกิจกรรม ดังนี้

  • การคืนข้อมูลและผลการตรวจต่างๆ ให้อาสาสมัครได้วิเคราะห์ตนเองว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
  • ให้อาสาสมัครได้เรียนรู้จากเพื่อนทั้งเรื่องที่ทำสำเร็จและไม่สำเร็จ
  • มีการทำกิจกรรมที่ทำให้อาสาสมัครติดกลุ่ม ซึ่งควรเป็นกิจกรรมที่ทำให้เขารู้จักตนเอง ฝึกทักษะการแก้ปัญหา และทักษะการตัดสินใจ ควรเป็นกิจกรรมใหม่ๆ ทุกครั้ง แต่อย่าให้ยากเกินไป ให้อาสาสมัครได้หัวเราะได้เล่นกันก่อน

ทีมครบุรีที่ทำกิจกรรมนำหน้าเพื่อนไปก่อนเล่าให้ที่ประชุมถึงการใช้กิจกรรม “หัวใจดี มีเอวกิ่ว พริ้วดันดี พี่เด้งดึ้ง รู้ซึ้งสมรรถภาพ” ที่หมอฝนได้ไอเดียมาจากน้องอ๊อฟ วัชชิระ หล้าคำแก้ว เมื่อคราวไปเยี่ยมทีมธาตุพนม นาฏได้เอากิจกรรมนี้มาทำที่ท่าศาลาและเล่าได้เห็นภาพชัดมาก ว่าอาจารย์ ดร. อรทัย นนทเภท ดูแลฐาน “หัวใจดี” ที่ใช้ Step test ต้องใช้วิธีการหลายอย่างกว่าจะทำให้อาสาสมัครก้าวขึ้น-ลง step ได้ตรงจังหวะ ตั้งแต่ให้ฟังเสียงจังหวะ พบว่าไม่ค่อยได้ยิน ตบมือให้จังหวะ ก็ยังไม่ดี ในที่สุดอาจารย์อรทัยต้องทำไปพร้อมกันแล้วให้จังหวะ ขึ้น-ลงๆๆ จนเหงื่อท่วมตัว อาสาสมัครบางคนขาสั่นเชียว ต้องไปฝึกกับขั้นบันไดมาก่อน เสียดายที่ไม่ได้บันทึก VDO เอาไว้

กิจกรรมนี้ทำให้อาสาสมัครรู้ตัวว่าสมรรถภาพของตนเรื่องใดที่ยังไม่ดีและจะต้องกลับไปทำให้ดีขึ้น ทีมทำงานจะต้องทำไปพร้อมๆ กับอาสาสมัคร เป็น role model และหวังว่าต่อไปอาสาสมัครก็จะเป็น role model ให้กับคนอื่นๆ ด้วย การจะจัดกิจกรรมแต่ละครั้งทีมทำงานจะต้องมีการฝึกซ้อมล่วงหน้า

นาฏ กำลังนำเสนอการทำงาน

พวกเราคุยกันว่าในการสรุปข้อมูลคืนให้อาสาสมัคร ควรมีแบบฟอร์ม ซึ่งทีมท่าศาลาได้เอาข้อมูลไปลงในแบบประเมินความเสี่ยง CVD มี BMI, BW...ให้รู้เป้า และจะต้องมีกระบวนการให้อาสาสมัครได้ตั้งเป้าหมายทุกครั้งว่าในช่วง 2 เดือนนี้ตั้งใจจะทำอะไร สิ่งที่เคยตั้งใจไว้ว่าจะทำเป็นอย่างไร อะไรเป็นอุปสรรค

นอกจากนี้ยังจะต้องพูดคุยกันในกลุ่ม นาฏเล่าให้ฟังว่าการให้ชาวบ้านกลับไปเขียนบันทึกของตนเอง ใช้ได้เฉพาะช่วงแรกๆ เท่านั้น อ่านที่ชาวบ้านเขียนมาพบว่าเขียนเพื่อเอาใจเรา บางคนเขียนหนังสือไม่เป็น ลูกหลานเขียนไว้ให้ล่วงหน้า การประเมินพฤติกรรมจึงใช้วิธีการให้ดาวหรือลูกระเบิด แล้วให้ดูว่าใครได้อะไรมากกว่ากัน (แบบบันทึกกับการคุยเองเป็นคนละเรื่องเลย)

ทีมนครนายกมีกิจกรรมการประกวด มีพี่เลี้ยงช่วยวางแผนว่าจะเอาอะไรมาประกวด เป็นการกระตุ้นทั้งพี่เลี้ยงและกลุ่มอาสาสมัคร และยังมีการทดสอบสมมรถนะที่สามารถพิมพ์รายงานออกมาได้ ทีมแพร่เล่าว่าใช้การต่อภาพจิ๊กซอว์ ทีมสมุทรสาครเสนอกิจกรรม “สุขภาพดีเหมาเข่ง”"ฝ่าขีดอันตรายเหมาเข่ง" (คำว่าเหมาเข่งกำลังฮิต) ให้พากลุ่มไปด้วยกัน รวมทั้ง "ห้ามหานิยม" ให้เรียนรู้เรื่องอาหารจานเดียว

คุณเอนกเสนอว่าหลักๆ ใช้ 3 อ. ชาวบ้านจะได้ไม่ต้องจำเยอะ การทำกลุ่มเขาได้หัวเราะ ก็ได้ อ. อารมณ์ การประเมินสมรรถนะควรทำทุกครั้งเพราะเห็นผลทันที (กิจกรรมบังคับ) ให้อาสาสมัครได้เปรียบเทียบตัวเอง เรื่องอาหารต้องรอวัดที่น้ำหนัก ควรเอาข้อมูลรายคนมารวมเป็นของกลุ่มด้วยการทำกิจกรรมทุก 2 เดือนไม่ควรใช้เวลาเยอะ เพราะอาสาสมัครมักไม่มาพร้อมกัน 

การพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการทำกิจกรรมเป็นไปอย่างมีชีวิตชีวา ใครทำอะไรไปแล้ว มีโปรแกรมอะไรเพื่อนก็ขอให้ส่งรายละเอียดให้ด้วย แต่ละทีมต่างก็คิดค้นกิจกรรมต่างๆ ที่จะเข้าได้กับบริบทของตนเอง เราได้เห็นความพยายามและความมุ่งมั่นของทุกคน แม้เหนื่อยยากแต่ก็ไม่มีใครท้อ ไม่มีสักคนที่คิดทำเพื่อจะเอาไปเขียนเป็นผลงาน ต่างมุ่งหวังจะให้สิ่งดีๆ กับกลุ่มเสี่ยง บางคนเปรยว่าหัวหน้าบ่นแล้วว่าเมื่อไหร่จะเลิกทำสักที

การชุมนุมของ "ลุงกำนัน" มีผลต่อพฤติกรรมของกลุ่มเสี่ยง นาฏเล่าว่าช่วงการติดตามเดือนที่ 6 อาสาสมัครหลายคนมีน้ำหนักขึ้น เพราะมัวแต่เฝ้าดูบลูสกายทีวี ปัจจัยด้านสังคมและการเมืองมีผลต่อสุขภาพของคนเราจริงๆ

วัลลา ตันตโยทัย

บันทึกเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 567766เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2014 17:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2014 19:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาชื่นชมการทำงานครับ

รอพี่มดมาเขียนบันทึกอยู่ครับ

555

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท