คุณธรรมและจริยธรรม : ต่างกันอย่างไร


  “คุณธรรมจริยธรรม” เป็นคำพูดที่เราใช้กันติดปาก และใช้คู่กันเสมอ จนทำให้เข้าใจว่าเป็นคำเดียวกัน ทราบหรือไม่ว่าคำว่า “ คุณธรรม” และ “จริยธรรม” แตกต่างกันอย่างไร

ความหมายของคุณธรรม

      คุณธรรม ตรงกับภาษาอังกฤษ ว่า “ Morality หรือ Virtue” ซึ่งมีผู้ให้ความหมายไว้หลากหลายความหมาย เช่น 
      พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2543คุณธรรมหมายถึง สภาพคุณงามความดี เป็นสภาพคุณงามความดีทางความประพฤติและจิตใจ ซึ่งสามารถแยกออกเป็น 2 ความหมาย คือ 1) ความประพฤติดีงาม เพื่อประโยชน์สุขแก่ตนและสังคม ซึ่งมีพื้นฐานมาจากหลักศีลธรรมทางศาสนา ค่านิยมทางวัฒนธรรม ประเพณี หลักกฎหมาย จรรยาบรรณวิชาชีพ 2) การรู้จักไตร่ตรองว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ และอาจกล่าวได้ว่า คุณธรรม คือ จริยธรรมแต่ละข้อทีนำมาปฏิบัติจนเป็นนิสัย เช่น เป็นคนซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีความรับผิดชอบ

     ประภาศรี  สีหอำไพ (2550, 7) กล่าวว่า คุณธรรม (Moral) คือหลักธรรมจริยาที่สร้างความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในทางศีลธรรม มีคุณงามความดีภายในจิตใจอยู่ในขั้นสมบูรณ์จนเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข ความยินดี การกระทำที่ดีย่อมมีผลิตผลของความดีคือความชื่นชมยกย่อง ในขณะที่กระทำความชั่วย่อมนำความเจ็บปวดมาให้ การเป็นผู้มีคุณธรรม คือ การปฏิบัติอยู่ในกรอบที่ดีงาม ความเข้าใจในเรื่องการกระทำดีมีคุณธรรมเป็นเกณฑ์สากลที่ตรงกัน เช่น การไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียน ไม่ลักขโมย ไม่ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น สภาพการณ์ของการกระทำความดีคือ ความเหมาะสม ความควรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถสั่งสอนอบรมให้ปฏิบัติตามมาตรฐานของพฤติกรรมที่ถูกต้อง มีสติสัมปชัญญะ รับผิดชอบชั่วดีตามทำนองคลองธรรม มีจิตใจลักษณะนิสัยหรือความตั้งใจที่ดีงาม

       พุทธทาสภิกขุ (2505, 3) ได้ให้อรรถาธิบายคำว่า คุณธรรม ไว้ว่า คุณ หมายถึง ค่าที่มีอยู่ในแต่ละสิ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ เป็นไปได้ทั้งทางดีและทางร้าย คือ ไม่ว่าจะทำให้จิตใจยินดีหรือยินร้าย ก็เรียกว่า “คุณ” ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของมัน ส่วนคำว่า ธรรม มีความหมาย 4 อย่าง คือ 1) ธรรมะ คือ ธรรมชาติ 2) ธรรมะ คือ กฎของธรรมชาติที่เรามีหน้าที่ต้องเรียนรู้ 3) ธรรมะ คือ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เรามีหน้าที่ต้องปฏิบัติ 4) ธรรมะ คือ ผลจากการปฏิบัติหน้าที่นั้น เรามีหน้าที่จะต้องมี หรือใช้มันอย่างถูกต้อง

     วศิน อินทสระ (2549, 199) ได้กล่าวถึง คุณธรรม ไว้ว่าหมายถึง อุปนิสัยอันดีงามซึ่งสั่งสมอยู่ในดวงจิต อุปนิสัยนี้ได้มาจากความพยายาม และความประพฤติที่ติดต่อกันมาเป็นเวลานาน

      ทิศนา แขมมณี (2546, 4) คุณธรรม หมายถึง คุณลักษณะหรือสภาวะภายในจิตใจของมนุษย์ที่เป็นไปในทางที่ถูกต้อง ดีงาม ซึ่งเป็นภาวะนามธรรมอยู่ในจิตใจ

     ลิขิต ธีรเวคิน (2548, 17) ได้ให้ความหมาย คุณธรรม หมายถึง จิตวิญญาณของปัจเจกบุคคลศาสนาและอุดมการณ์เป็นดวงวิญญาณของปัจเจกบุคคลและสังคมด้วยปัจเจกบุคคลต้องมีวิญญาณสังคมต้องมีจิตวิญญาณคุณธรรมของปัจเจกบุคคลอยู่ที่การกล่อมเกลาเรียนรู้โดยพ่อ-แม่ สถาบันการศึกษา ศาสนา พรรคการเมืองและองค์กรของรัฐ

    วีระ บำรุงรักษ์ (2523) คุณธรรม หมายถึง ความรู้สึกนึกคิด (Mental Attitude) หรือสภาพจิตใจที่เป็นกุศลคุณธรรมเป็นพื้นฐานของการแสดงออกเน้นการกระทำ พฤติกรรมหรือกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น สภาพจิตใจที่เป็นกุศลที่เรียกว่า“คุณธรรม”นี้ เกิดขึ้นได้เพราะจิตรู้จักความจริง(Truth) ความดี (Goodness) และความงาม (Beauty)

       สรุปได้ว่า คุณธรรม เป็นคุณลักษณะของความรู้สึกนึกคิด หรือสภาวะจิตใจที่เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้องและดีงาม ที่สั่งสมอยู่ในจิตใจของมนุษย์เป็นเวลายาวนาน เป็นตัวกระตุ้นให้มีการประพฤติปฏิบัติอยู่ในกรอบที่ดีงาม คุณธรรมเป็นสิ่งที่ดีงามทางจิตใจ เป็นคุณค่าของชีวิตในการบำเพ็ญประโยชน์ ช่วยเหลือเกื้อกูลแก่เพื่อนมนุษย์ ให้เกิดความรักสามัคคี ความอบอุ่นมั่นคงในชีวิต ดังนั้นคุณธรรมเป็นบ่อเกิดของจริยธรรม

     จริยธรรม ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า “ Moral หรือ Morality หรือ Ethics หรือ Ethics rule ” มาจากคำว่า จริยะ + ธรรมะ

     พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายไว้ดังนี้  จริย แปลว่า ความประพฤติ หรือกริยาที่ควรประพฤติ ธรรม แปลว่า สภาพคุณงามดีและมีผู้ให้ความหมายของคำว่า “จริยธรรม” ไว้หลายคน เช่น

      พระพรหมคุณาภรณ์(2546, 15) ได้กล่าวถึง จริยธรรม ไว้ว่า เป็นเรื่องของการดำเนินชีวิตในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1) พฤติกรรมทางกาย วาจา และการใช้อินทรีย์ ในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม 2) จิตใจของเรา ซึ่งมีเจตจำนง ความตั้งใจ แรงจูงใจที่จะทำให้เรามีพฤติกรรมสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างไร ตามภาวะและคุณสมบัติต่าง ๆ ของจิตใจนั้นๆ 3) ปัญญา ความรู้ ซึ่งเป็นตัวชี้ทางให้ว่าเราจะสัมพันธ์อย่างไรจึงจะได้ผล และเป็นตัวจำกัดขอบเขตว่าเราจะสัมพันธ์กับอะไร จะใช้พฤติกรรมได้แค่ไหน เรามีปัญญา มีความรู้แค่ไหน เราก็ใช้พฤติกรรมได้ในขอบเขตนั้น ถ้าเราขยายปัญญาความรู้ออกไป เราก็มีพฤติกรรมที่ซับซ้อนและได้ผลดียิ่งขึ้น

     พระราชชัยกวี (ภิกขุพุทธทาส อินทปัญโญ)(2511, 8) ได้ให้ความหมาย จริยธรรม หมายถึง สิ่งที่พึงประพฤติจะต้องประพฤติ

     วิทย์  วิศทเวทย์ (2538, 12) ได้ให้ความหมาย จริยธรรม คือ ความประพฤติ ตามค่านิยมที่พึงประสงค์ โดยใช้วิชาจริยศาสตร์มาวิเคราะห์แยกแยะว่าสิ่งใดดี ควรกระทำและสิ่งใดชั่วควรละเว้น

     พระธรรมปิฎก(ป.อ. ป ยุตโต) (2538, น. 15) ได้ให้ความหมาย จริยธรรม หมายถึง มรรค คือวิธีปฎิบัติสายกลาง เพื่อนำมนุษย์ไปสู่จุดหมายของชีวิต

     ทิศนา แขมมณี (2546,4) จริยธรรม เป็นการแสดงออกทางการประพฤติปฎิบัติ ซึ่งสะท้อนคุณธรรมภายในให้เห็นเป็นรูปธรรม

     สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (2550) ได้ให้ความหมาย จริยธรรม คือ หลัก หรือหัวข้อแห่งความประพฤติปฏิบัติเพื่อเกิดปกติสุขในสังคม ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบกันหรือมีได้ก็แต่น้อย ให้เกิดความมั่งคั่ง มั่นคงทั้งส่วนตนและส่วนท่าน

     สมคิด บางโม (2554, 12) ได้ให้ความหมาย จริยธรรม หมายถึง หลักหรือข้อความประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง ดีงามตามหลักคุณธรรม ตลอดจนการมีปัญญาไตร่ตรองด้วยเหตุผลว่า อะไรดี ควรประพฤติ อะไรไม่ดี ไม่ควรประพฤติ

      สรุปได้ว่า จริยธรรม เป็น ความประพฤติ กริยา หรือสิ่งที่ควรประพฤติ ปฎิบัติ ในทางที่ถูกต้อง ดีงามและเหมาะสม ซึ่งจะสะท้อนคุณธรรมภายในให้เห็นเป็นรูปธรรม

       จากความหมายที่กล่าวมาข้างต้น สรุปได้ว่าคุณธรรมเป็นลักษณะความรู้สึกนึกคิดทางจิตใจ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในแต่ละบุคคล ส่วน จริยธรรม เป็นลักษณะการแสดงออกของร่างกาย ทางการประพฤติปฏิบัติ ซึ่งสะท้อนคุณธรรมภายในให้เห็นเป็น       รูปธรรม นั้นเอง

                                  

หมายเลขบันทึก: 567761เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2014 15:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2014 15:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับ 

หากสรุปว่า ผู้ที่มีคุณธรรมในจิตใจย่อมต้องมีจริยธรรมในความประพฤติด้วย จะถูกไหมครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท