Digital came to the world after Analog (ตอนที่ 2)


ไม่ว่าเราจะออกแบบอะไรขึ้นมา จะเป็นการออกแบบแค่บางอย่าง แต่ว่างานนั้นจะสามารถมีความหลากหลาย (Variety) สร้างสรรค์ต่อไปได้เรื่อยๆ โดยคนดู
Semitransparent Design เป็นสตูดิโอออกแบบดิจิทัลมีเดียมือรางวัล ผู้เคยร่วมงานกับ Issey Miyake / ศิลปิน Ikko Tanaka และเคยจัดแสดงผลงานทั้งในญี่ปุ่นและฝรั่งเศส สตูดิโอ Semitransparent Design ถนัดงานในแนว Interactive Design (หรือในชื่อไทยเรียกสื่อประเภทนี้ว่า สื่อเชิงโต้ตอบ) ตัวอย่างงานที่สตูดิโอนี้นำเสนอในงานสัมมนา Graphic Passport in Bangkok ครั้งนี้มีหลากหลายประเภทงาน มีทั้งงานเชิงศิลปะและเชิงพาณิชย์

“Akarium Call Project” เป็นโปรเจคที่ได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย อาทิ Tokyo Interactive Ad Awards Gold, Silver, Finalist / Asia Pacific Advertising Festival Gold / Webby Awards Special Honorable Prize และเป็นโปรเจคที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงเป็นโปรเจคแรก

“Akarium Call Project” นี้ ถูกคิดขึ้นมาเพื่อประชาสัมพันธ์ถนนย่าน Omotesando ให้กลับมาเป็นย่านที่ถูกกล่าวถึงความแปลกและแตกต่างขึ้นใหม่อีกครั้ง หลังจากได้เคยสร้างกระแสฮือฮามาเมื่อ 8 ปีที่แล้ว การทำโปรเจคนี้จึงเป็นเสมือนการรื้อฟื้นความสดใหม่และแสดงความเป็นผู้นำแฟชั่นในย่านนี้ขึ้นมา

ถนน Omotesando ตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว นับว่าเป็นย่านการค้าหรูหรา เป็นผู้นำด้านเทรนด์แฟชั่นที่สำคัญย่านหนึ่งในญี่ปุ่น (อารมณ์คล้ายๆ ถนนฌองเอลิเซ่ ของฝรั่งเศส หรือถ้าเปรียบกับเมืองไทยคงประมาณสยาม / หรือพารากอน)

คำว่า "Akari" ในภาษาญี่ปุ่น หมายถึง แสงสว่าง (illumination) โปรเจคนี้จึงเป็นการใช้คุณสมบัติของงาน Interactive โดยให้เล่นกับมือถือและเสียงของคนจริงๆ เพื่อควบคุมไฟบนถนนที่ได้รับการติดตั้งระบบรับสัญญาณไว้ยาวเกือบ 2 กิโลเมตร (60 กว่าต้น) และยังเป็นโปรเจคที่เชิญชวนให้คนเดินถนนทั่วไป หรือแม้กระทั่งไม่ได้อยู่แถวนั้นก็สามารถร่วมเล่นสนุกกับการควบคุมไฟบนเสาด้วยเสียงได้ โดยผ่านระบบอินเตอร์เนต

วิธีการเล่นสนุกง่ายๆ ด้วยการติดตั้งโทรศัพท์ไว้ที่เสาไฟทุกต้น ผู้คนที่เดินผ่านไปมา สามารถที่จะยกหูโทรศัพท์และหมุนตามเบอร์ที่แจ้งไว้ให้บริเวณเสา หรือถ้าเป็นผู้คนทางบ้าน อยากเล่นสนุก ก็สามารถเข้าเว็บไซต์ และโทรตามเบอร์ที่ให้ไว้ในเว็บเช่นกัน (อารมณ์การโทรจะเสมือนการแย่งกันโทรไปขอเพลงในวิทยุแบบสมัยก่อน คือต้องแย่งกันโทร ใครโทรติดก็จะเป็นฝ่ายได้ควบคุมไฟด้วยเสียง) เมื่อมีใครสักคนโทรติด คนนั้นจะสามารถส่งเสียงพูดหรือเสียงร้อง เพื่อควบคุมไฟได้ โดยไฟจะเต้นตามจังหวะเสียงสั้น-ยาว ตามคำที่เราพูดหรือตามการส่งเสียงร้อง ซึ่งวิธีนี้ ทำให้คนทั่วไปได้รู้สึกว่ามีส่วนร่วมในการเล่นสนุกกับการควบคุมไฟให้ติดๆ ดับๆ ยาวตามเสียงที่ตนเองพูด 

รายละเอียดเพิ่มเติม http://777interactive.jp/archives/awards/2007/akarium/e/

ภาพจาก http://777interactive.jp/archives/awards/2007/akarium/e/

ถัดจากโปรเจคการควบคุมไฟด้วยเสียงแล้ว สตูดิโอนี้ยังเคยทำงานโฆษณาด้วยสื่อเชิงโต้ตอบนี้ให้กับบริษัท โซนี่ โดยเป็นโฆษณาทีวีบราเวีย ผ่านแนวคิดการควบคุมไฟตึกด้วยการดูดสีจากทีวีโซนี่ บราเวียที่ติดตั้งไว้บนตึกย่านใจกลางเมืองกินซ่า (Kinza) โปรเจคนี้ก็สามารถเล่นได้ด้วยการเข้าเว็บไซต์แล้วทำตามที่ระบบแนะนำ โดยจะให้ทำการดูดสีจากจอทีวีโซนี บราเวียที่ติดตั้งไว้บนตึก แล้วไปหยอดใส่ตึกอีกตึกหนึ่งที่มีการติดตั้งไฟและระบบไฟไว้ เมื่อเราหยดสีที่ดูดมาจากสีในจอทีวีโซนี่มาใส่ลงไปที่ตึกที่ตั้งระบบไว้ ตึกนั้นก็จะเปลี่ยนสีไปตามที่เราได้ใส่สีไปให้ใหม่ ซึ่งระบบนี้ ผู้คนจะสามารถเห็นสีตึกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามแต่ว่าใครจะหยดสีไหนลงไปบนตึก ไฟบนตึกนั้นก็จะเปลี่ยนสีไปตามที่มีคนหยดสีใส่ในรูปแบบ Real Time เป็นการใช้คุณสมบัติของระบบ Virtualization เป็นฐานคิดที่สำคัญ

ในด้านงานเชิงศิลปะ สตูดิโอ Semitransparent ได้จัดนิทรรศการ semitra exhibition โดยงานหนึ่งในนิทรรศการนี้คือ โปรเจค Movable Type เป็นการเล่นกับเครื่องเล่นแผ่นเสียง (Turntable) และใช้เทคนิคของการหมุนแผ่นบนเครื่องเล่นฯแทนการ input ตัว Code ลงไป เมื่อเราหมุนแผ่นเสียงที่วางไว้บนเครื่องเล่นฯ ตัวแผ่นเสียงจะไปเปลี่ยนสัญญาณที่ปรากฎบนจอภาพที่ติดตั้งระบบรับสัญญาณไว้ โดยในจอจะเปลี่ยนตัวอักษรไปเรื่อยๆ และเมื่อเราหมุนแผ่นในลักษณะ Scratch แผ่น ตัวอักษรที่ปรากฎก็จะมีลักษณะติดๆ ขัดๆ ไปด้วย งานนี้เป็นการเล่นระหว่างระบบ Analog (ซึ่งก็คือตัว เครื่องเล่นแผ่นเสียง) กับระบบ Digital ซึ่งมีผลทำให้ Type Setting มีความแตกต่างกัน การปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคนดูกับภาพบนจอที่ปรากฎ ในตอนเช้าจะมีตัวอักษรน้อย แต่เมื่อมีคนดูมาร่วมเล่นมากขึ้นๆ ตัวอักษรก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย และยิ่งตอนใกล้ปิดนิทรรศการ ตัวอักษรก็จะถูกทำให้เสียรูปร่างรูปทรงไปโดยสิ้นเชิง 

รายละเอียดเพิ่มเติม http://www.cbc-net.com/article/2009/12/semitra.php

ดูการเล่นได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=A2vO0fWOorQ

ภาพจาก http://www.cbc-net.com/article/2009/12/semitra.php

ภาพจาก http://theartistandhismodel.com/images/3995287036_95fb967c42_b.jpg

จากแนวคิดเชิงทดลองดังกล่าว สตูดิโอนี้ยังสร้างสรรค์งานต่อไปด้วยการคิดผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมข้างถนน (Street Culture) มารวมกับ Interactive ไว้ด้วยกันอย่างน่าสนใจ ด้วยการทำโปรเจค “Slope Skateboard หรือ Skateboard Ramps” โดยเอามาเล่นในลักษณะที่สร้างแผ่นกระดานแบบเล่น Skateboard มา ทุกครั้งที่มีการเล่น Skate บนแผ่นกระดานสโลปนี้ จะเป็นการบันทึกข้อมูลลงบนแผ่นกระดาน ทำให้เกิดเป็นจุดและรวมเป็นเส้นที่ไม่สามารถควบคุมได้ และงานที่ได้ออกมาก็ถือว่า เป็นงานศิลปะประเภทหนึ่ง ในงานนิทรรศการ Semitra Exhibition (tFont/fTime) นี้ ยังมีการแสดงผลงานที่เล่นกับการเอา Font มาแสดงเป็นแค่แสงกระพริบเป็นจุดๆ (คล้ายๆ กับเราเอาหลอดไฟมาวางให้เป็นตัวอักษร แล้วปล่อยกระแสไฟให้วิ่งไปตามแขนขาตัวอักษรทีละนิด) การกำหนดให้แสดง Font เป็นแค่แสงที่วิ่งไปเรื่อยๆ ตามรูปร่างรูปทรงของ Font นั้น เมื่อเอาแสงมามารวมกันจะทำให้สามารถอ่านเป็นคำได้ งานนี้เป็นงานที่ศิลปินทดลองเล่นระหว่างแสงกับความเคลื่อนไหว และนำแสงเหล่านั้นมาเชื่อมต่อกับมิติเวลา (Timeline) จะทำให้ได้ภาพตัวอักษรที่เสมือนเป็น Code ออกมาให้ได้อ่านกัน

ภาพถ่ายจากในงานสัมมนา Graphic Passport in Bangkok

ทั้งนี้ศิลปินของสตูดิโอได้กล่าวถึงแนวคิดในการทำงานว่า “...แนวคิดหลักที่สตูดิโอมีในการออกแบบงานคือ ต้องการสร้างผลงานที่ไม่มีจุดสิ้นสุดในผลงาน ไม่มีงานไหนที่เสร็จสมบูรณ์ เพราะไม่ว่าเราจะออกแบบอะไรขึ้นมา จะเป็นการออกแบบแค่บางอย่าง แต่ว่างานนั้นจะสามารถมีความหลากหลาย (Variety) สร้างสรรค์ต่อไปได้เรื่อยๆ โดยคนดู งานของเราจึงเรียกว่า ไม่มีจุดสิ้นสุดหรือไม่มีงานไหนที่ทำเสร็จสมบูรณ์ลงอย่างแท้จริง…งานส่วนใหญ่ของสตูดิโอเราจะเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เข้าชมงาน โดยจะเชิญชวนให้ผู้เข้าชม สามารถควบคุมอะไรบางอย่างในผลงานของพวกเราได้ โดยที่ผู้เข้าชมอาจจะอยู่ในพื้นที่หรือนอกพื้นที่การจัดแสดงงาน ถ้าอยู่นอกพื้นที่จัดแสดงก็สามารถร่วมสนุกได้ทางอินเตอร์เนต...เราแค่รู้สึกว่า อยากทำให้งานเราขยายออกไปทั่วโลก ให้คนที่อยู่ในพื้นที่อื่นสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผลงานของพวกเราได้เช่นกัน...”


นอกจากผลงานสนุกๆ ในงานนิทรรศการดังกล่าวแล้ว ทางสตูดิโอยังมีผลงานที่ได้ใช้ความรู้เรื่องเทคโนโลยีผสมกับความเป็นอะนาล็อกที่น่าสนใจอีกในงานโฆษณาสินค้า เช่น โปรเจค Tunable Rider ที่ได้ Toshiyuki Sugai มาเป็น Interactive Artist โปรเจคนี้เริ่มจากความต้องการนำเสนอจักรยาน BMX รุ่นใหม่ที่ถูกออกแบบมาให้ขี่สนุก ด้วยการทำให้จักรยานกลายเป็นเครื่องส่งสัญญาณดนตรี ทุกอิริยาบถของการขับขี่จักรยานนี้ จะถูกแปลงสัญญาณให้กลายเป็นเสียงดนตรีและส่งสัญญาณไปยังตัวรับ ไม่ว่าจะเป็นการหมุนวงล้อ การขี่ผาดโผน การเลี้ยว การเบรก รวมถึงสามารถ Mix เสียงพิเศษได้บนจักรยาน (ด้วยอุปกรณ์พิเศษที่ติดตั้งไว้) งานนี้ได้เชิญคนขี่ที่เป็นดีเจดังๆ ระดับแนวหน้าในญี่ปุ่นให้มาขี่และมิกซ์เสียงดนตรีให้น่าสนใจ จึงเป็นอีกโปรเจคที่ทั้งน่าสนุก ตื่นเต้นและท้าทาย 

รายละเอียดเพิ่มเติม http://www.youtube.com/watch?v=x8Rf2vZqiSg

เบื้องหลังการทำงาน http://www.engadget.com/2012/04/10/cogoo-turntable-rider-dj-bike-video/

ผลงานของสตูดิโอนี้ได้ถูกนำเสนอชิ้นแล้วชิ้นเล่า ท่ามกลางความอึ้ง ทึ่ง และอยากร่วมสนุกไปกับแนวคิดการมีส่วนร่วมกับผลงานของสตูดิโอ ทำให้ผู้เขียนเข้าใจว่า หัวใจการทำงานของสตูดิโอนี้นั้นอยู่ที่การหลอมรวมระหว่างคำว่า Internet + Technology + Interactive และสุนทรียศาสตร์ (Art) ก่อให้เกิดเป็นผลงานที่สามารถสร้างการมีปฏิสัมพันธ์ของคนดู ทั้งที่อยู่ในวัฒนธรรมเดียวกันและต่างวัฒนธรรมกันได้อย่างไร้รอยต่อ ที่สำคัญผลงานเหล่านี้นับเป็นจุดบรรจบกันที่พอดีระหว่างงานอะนาล็อกและดิจิตอลสมดังชื่อหัวข้องานฯ

ข้อมูลเพิ่มเติม / Link ที่สามารถไปดูวีดีโอต่อได้

http://www.semitransparentdesign.com/

http://www.semitransparentdesign.com/elttobtepwindowdisplay

http://www.youtube.com/watch?v=oL2_0npi-Hk#t=54

http://semitra.ycam.jp/en/work/ (รายละเอียด Semitra Exhibition)

http://www.semitransparentdesign.com/ikko_tanaka (Ikko Tanaka)

http://www.youtube.com/watch?v=6HUT6Oo-Pto

http://www.youtube.com/watch?v=ypukLfgy0zo (Color Tokyo)

http://www.youtube.com/watch?v=5rCG9Ti4CmQ (Turnable Rider-BMX)

http://www.semitransparentdesign.com/illuminating_graphics (Illuminating Graphics)

http://thaiopensource.org/article/%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B5-virtualization

http://www.ycam.jp/en/

หมายเลขบันทึก: 567763เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2014 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2014 21:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท