การละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายอื่นๆ : กรณีศึกษา นายอาป่า


        การตระหนักว่าทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐาน เหมือนตนเอง ที่ไม่ควรถูกละเมิด และควรต้องเคารพสิทธิของผู้อื่นจะช่วยทำให้สังคมมีความสงบสุข เพราะปัญหาในสังคมเกิดจากการที่ แต่ละคนไม่สามารถใช้สิทธิของตนที่จำเป็นในการดำรงชีพได้อย่างเต็มที่ซึ่งเป็นการถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานทั้งสิ้น ได้แก่ สิทธิในกระบวนการยุติธรรมอันเป็นสิทธิในชีวิตและร่างกายอย่างหนึ่ง

สิทธิในชีวิตและถูกรับรองในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน[1] ซึ่งคุ้มครองบุคคลทุกคนที่เป็นมนุษย์ให้ได้รับสิทธิจากความเป็นมนุษย์ ตาม ข้อ 3 สิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล

สิทธิและหน้าที่ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ[2] ที่เป็นกฎหมายภายในของไทยก็คุ้มครองบุคคลทุกคนในประเทศไทย ตามการตีความใน มาตรา 4 "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง" ดังนั้นเมื่อผู้ใดเป็นมนุษย์ย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายได้แก่ มาตรา 31 บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย

         จากตัวอย่างกรณีศึกษา นายอาป่า เกิดที่จังหวัดเชียงราย จากบิดามารดาอาข่าไร้รัฐและสัญชาติที่อพยพมาจากประเทศเมียนมาร์ ปัจจุบันมีอายุ 18 ปี โดยมีสิทธิในความเป็นบุคลตามกฎหมายเอกชน และในปีพ.ศ.2542 เขาและครอบครัวได้รับการบันทึกลงในทะเบียนประวัติชุมชนบนพื้นที่สูงตามแผนแม่บท ฉบับที่ 2 และมีสิทธิอาศัยชั่วคราวตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง ในทร.13 ฐานะคนมีสิทธิอาศัยชั่วคราว และมีเลขประจำตัวประชาชนไทย 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 6 จึงไม่มีปัญหาสถานะบุคคลในความเป็นคนไร้รัฐ และด้วยเกิดในประเทศไทยเขาจึงมีสิทธร้องขอสัญชาติไทยตามหลักดินแดน ตามม.7 ทวิ วรรค 2 พระราชบัญญัติสัญชาติ แต่ยังไม่อาจยื่นร้องขอสิทธิในสัญชาติไทย จึงยังคงมีสถานะคนไร้สัญชาติ

ต่อมานายอาป่าประสบอุบัติเหตุรถยนต์ชนกันในถนนขาหักสองข้างเดินไม่สะดวกไม่แน่ว่าจะใช้ขาได้เหมือนเดิมหรือไม่ และถูกฟ้องต่อศาลในความผิดขับรถโดยประมาทต่อศาลยุติธรรมไม่มีเงินและความรู้จะต่อสู้ในศาล ซึ่งการต่สู้ในกระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นสิทธิหนึ่งที่นายอาป่าควรได้รับจากรัฐไทยเพราะสิทธินั้นได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรกีดีนายอาป่าได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิศ.คนึง ฦาไย

นายอาป่าเป็นผู้ทรงสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคล แม้ไม่มีปัญหาสถานะบุคคลเพราะไม่ใช่คนไร้รัฐ เนื่องจากมีรัฐไทยบันทึกตัวบุคคลไว้ในทะเบียนราษฎร แต่มีปัญหาเป็นบุคคลไร้สัญชาติเพราะยังไม่มีรัฐใดรับรองสัญชาติ จึงไม่มีปัญหาในการถูกละเมิดสิทธิในการรักษาพยาบาล

         ปัญหาการละเมิดสิทธิจากกรณีศึกษาเกิดจากการที่นายอาป่าขาดความรู้และเงินจึงไม่สามารถจ้างทนายความ จึงมีปัญหาการถูกละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเพราะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ ในกระบวนการยุติธรรม ประกอบกับการเป็นคนไร้สัญชาติจึงทำให้ถูกละเมิดสิทธิได้ง่ายขึ้น ทั้งที่สิทธิในกระบวนการยุติธรรมเป็นสิทธิมนุษยชนที่ถูกรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11(1) สิทธิในหลักประกันสำหรับการต่อสู้คดี คือ ควรมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือจากรัฐไทยในการมีทนายในการต่อสู้คดี

อีกทั้งการที่ไทยเป็นภาคีในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และได้นำประเด็นในอนุสัญญาดังกล่าวมารับรองไว้ในกฎหมายภายใน คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ ม.40(7) ในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิ การได้รับความช่วยเหลือในทางคดีจากทนายความ

เนื่องจากนายอาป่ามีอายุกว่า 18 ปีแล้วจึงไม่ใช่เด็กตาม นิยามของ เด็ก ซึ่งต้องมีอายุต่ำกว่า 18 ปี จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก(Convention on the Rights of the Child) และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กพ.ศ ๒๕๔๖

         อีกประการหนึ่งจากกรณีดังกล่าวการที่นายอาป่าประสบอุบัติเหตุจนอาจไม่สามารถเดินได้อย่างปกติจึงเป็นคนพิการตามความหมายของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการพ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ได้นำเนื้อหาในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ[3] มาบัญญัติเป็นกฎหมายภายในประเทศ ซึ่งอนุสัญญาดังกล่าวก็รับรองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของคนพิการในข้อ 13 1. รัฐภาคีประกันการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างมีประสิทธิผลสำหรับคนพิการให้ความชวยเหลือในเรื่องกระบวนวิธิพีจารณาและความช่วยเหลือที่เหมาะสม ซึ่งการช่วยเหลือที่เหมาะสมก็คือ การจัดหาทนายความให้แก่คนพิการคือนายอาป่า

พระราชบัญญัติ ให้ความหมายไว้ว่า “คนพิการ”[4] หมายความว่า บุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว นายอาป่าซึ่งไม่อาจเดินได้มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหวจึงเป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎหมาย และควรได้รับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของคนพิการ ตามข้อ20 (5) คือสิทธิในการได้รับการช่วยเหลือทางกฎหมายและการจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่างคดี

         จะเห็นได้ว่าแม้ในปัจจุบันแม้นายอาป่าได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิต่างๆ แต่ก็เป็นมูลนิธิขององค์กรเอกชน ทั้งที่ความช่วยเหลือดังกล่าวควรเป็นหน้าที่ของรัฐไทยที่ต้องช่วยเหลือนายอาป่า เพราะนายอาป่าเป็นผู้ทรงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการซึ่งไทยได้เป็นภาคีในอนุสัญญาและได้รับรองในกฎหมายภายใน คือ รัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการพ.ศ. ๒๕๕๐

         ดังนั้นจึงถือได้ว่าปัจจุบันนายอาป่าถูกละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมโดยรัฐไทยทั้งที่ควรได้รับความช่วยเหลือในเรื่องทนายความเพื่อมาต่อสู้ในคดี และไม่สามารถอ้างความไร้สัญชาติเพื่อละเมิดสิทธิของนายอาป่า เพราะรัฐธรรมนูญได้คุ้มครองสิทธิแก่บุคคลทุกคน ตามความในมาตรา 4

เขียน: 11 พ.ค. 2014 


[1] ปฏิญญาสากลว่าดวยสิทธิมนุษยชน . (ออนไลน์). แหล่งที่มา :http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/ud... 30 เมษายน 2557

[2] สิทธิและหน้าที่ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ . (ออนไลน์). แหล่งที่มา :http://www.dsi.go.th/Files/Images/สิทธิและหน้าที่ข... 30 เมษายน 2557

[3] สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ Convention on the Rights of Persons with Disabilities (CRPD) . (ออนไลน์). แหล่งที่มา :http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/cr... 30 เมษายน 2557

[4] ศูนย์ทนายความทั่วไทย พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการพ.ศ. ๒๕๕๐ . (ออนไลน์). แหล่งที่มา :http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=... 30 เมษายน 2557

หมายเลขบันทึก: 567764เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2014 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท