วิชาพัฒนานิสิต (๒) : ผลพวงของการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม


วิชาการพัฒนานิสิต มีสถานะเสมือนสะพานเชื่อมร้อยการเรียนรู้เพื่อการพัฒนานิสิตและผู้สอนที่หมายถึงผู้บริหารและบุคลากรประจำในสายการพัฒนานิสิตเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ ผลพวงของการเรียนรู้ผ่านวิชาการพัฒนานิสิต จึงไม่ได้เกิดประโยชน์เพียงแค่การพัฒนานิสิต (ผู้เรียน) ตามวัตถุประสงค์ในรายวิชาเท่านั้น หากแต่ยังสามารถพัฒนาศักยภาพและความก้าวหน้าของบุคลากรในวิชาชีพด้านกิจการนิสิตได้เป็นอย่างดี

จากกระบวนการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาพัฒนานิสิต (หมวดศึกษาทั่วไป) ซึ่งก่อเกิดจากรากฐานระบบคิดในสายกิจกรรมนิสิต (พัฒนานิสิต) ที่มุ่งเน้นให้นิสิตได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ เรียนรู้ผ่านการจัดทำโครงการ โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ซึ่งกำหนดให้นิสิตได้จับกลุ่ม "คิด-ออกแบบกิจกรรมร่วมกัน" รวมถึงลงมือจัดกิจกรรมร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตที่หลากหลายในแบบ "เรียนรู้ร่วมกัน"




จากนี้ไป ส่วนหนึ่งที่เป็นภาพสะท้อนกระบวนการจัดการเรียนการสอนดังกล่าว - เรียกได้ว่าเป็นผลพวงของการจัดกระบวนการเรียนรู้ก็ว่าได้

๑.ในด้านชุมชน (บ้าน วัด โรงเรียน) :

๑.๑ เกิดแหล่งสาธารณะประโยชน์ในชุมชน เช่น การมีห้องสุขาที่สะอาด แข็งแรงและถูกสุขลักษณะทั้งในโรงเรียนและวัด ภายในวัดและโรงเรียนได้รับการปรับปรุงภูมิทัศน์ มีสวนหย่อม มีต้นไม้ให้ร่มเงา มีป้ายคติธรรมติดตั้งไว้เพื่อการเรียนรู้ภายในบริเวณวัด ขณะที่ในหมู่บ้านได้รับพันธุ์กล้าไม้ชนิดต่างๆ ปลูกไว้เพื่อใช้สอย และมีฝายชะลอน้ำในป่าชุมชน เพื่อธำรงไว้ซึ่งสมดุลทางธรรมชาติ

๑.๒ โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้รับการปรับปรุงภูมิทัศน์และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น ทาสีสนามกีฬา ซ่อมประตูฟุตบอล ซ่อมแซมและทาสีอุปกรณ์ในสนามเด็กเล่น มีอุปกรณ์กีฬาและสื่อการเรียนการสอน เช่น บอร์ด นิทรรศการ สมุด หนังสือ

๑.๓ โรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องประชาคมอาเซียน ผ่านกิจกรรมภาพวาดระบายสีบนผนังกำแพง และบอร์ดนิทรรศการในตัวอาคารเรียน




๒.ในด้านมหาวิทยาลัย :

๒.๑ เกิดกระบวนการขับเคลื่อนกิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยในสถานศึกษาตามนโยบาย “สถานศึกษา 3 D" ผ่านการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารองค์กรนิสิต ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๗

๒.๒ เกิดรวมถึงกระบวนการรณรงค์เชิงนโยบายของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในเรื่องมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ หรือมหาวิทยาลัยสีเขียว ผ่านกิจกรรม “จักรยานเพื่อสุขภาพ" (จักรยานลดโลกร้อน)

๒.๓ เกิดกระบวนการสร้างความตระหนักแก่มวลนิสิตในการมีจิตสาธารณะด้วยการดูแลรักษาสมบัติส่วนร่วมอย่างเห็นคุณค่า ผ่านกิจกรรมการใช้บริการห้องสุขาในอาคารเรียนและตลาดน้อยอย่างมีจิตสำนึก

๒.๔ เกิดกระบวนการจัดการเรียนการสอนหนุนเสริมนโยบายมหาวิทยาลัย เช่น ปรัชญามหาวิทยาลัย (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน) เอกลักษณ์ (เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน) อัตลักษณ์ (เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) ค่านิยม (MSU FOE ALL : พึ่งได้)




๓.ในด้านนิสิต

๓.๑ นิสิตเกิดกระบวนการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชนที่หมายถึงวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนในชุมชนของมหาวิทยาลัย, หมู่บ้าน,วัด โรงเรียน ผ่านมิติต่างๆ เช่น การรวมกลุ่มทำงานสังคมร่วมกัน ภูมิปัญญาในเรื่องสมุนไพร ป่าชุมชน การทำฝายชะลอน้ำ

๓.๒ นิสิตเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด “คลังปัญญาชุมชน" หรือวาทกรรม “ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่าและความรู้" เช่น การเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน ประวัติการก่อตั้งโรงเรียน หมู่บ้าน และวัด

๓.๓ นิสิตเกิดทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน (Participatory Learning Process) ภายใต้แนวคิดหลักของการเรียนรู้คู่บริการ (Service Learning) โดยมีโครงการเพื่อการพัฒนานิสิตเป็นระบบและกลไกในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Learning by Doing) โดยมีปลายทางแห่งการเรียนรู้คือ “ปัญญาปฏิบัติ" ผ่านเครื่องมือสำคัญๆ เช่น การสำรวจชุมชน พัฒนาโจทย์ การเก็บข้อมูลชุมชน การสัมภาษณ์ การเรียบเรียงข้อมูล การถ่ายภาพ แผนผังความคิด



๓.๔ นิสิตเกิดทักษะการทำงานเป็นทีม เรียนรู้ผ่านสถานการณ์จริง เรียนรู้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การบริหารจัดการโครงการและการประเมินโครงการ ทักษะการสื่อสาร(Skills of communication) หรือสื่อความหมายในระบบการทำงานร่วมกัน ทั้งในระหว่างนิสิตกับนิสิต และนิสิตกับชุมชน หรือแม้แต่ระหว่างนิสิตกับครูผู้สอน

๓.๕ นิสิตเกิดทักษะการเรียนรู้สู่การเป็นผู้นำ และผู้ตาม ตลอดจนทักษะของการกล้าคิด กล้าทำ หรือการกล้าตัดสินใจ (Decisiveness)

๓.๖ นิสิตเกิดทักษะการสร้างแรงจูงใจให้กับตนเอง (Motivation Oneself) เกี่ยวกับการดำรงชีวิตที่สร้างสรรค์ มีทักษะการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น ทั้งที่เป็นนิสิตต่างสาขา ต่างคณะ และการใช้ชีวิตร่วมกันระหว่างนิสิตกับชุมชนบนฐานของการพึ่งพา ให้ความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแต่ละบุคคล

๓.๗ นิสิตได้เรียนรู้กระบวนการขับเคลื่อนโครงการด้วยระบบและกลไกของ PDCA หรือกรอบแนวคิดอื่นๆ เช่น การจัดการความรู้
๓.๘ นิสิตได้เรียนรู้เรื่องบทบาทและหน้าที่ของตนเองทั้งในมิติของการพัฒนาตนเองและสังคม

๓.๙ นิสิตได้เรียนรู้กระบวนการเรื่องจิตอาสา หรือจิตสาธารณะผ่านการลงมือทำ โดยใช้กิจกรรมเป็นระบบและกลไกบนฐานของชุมชน (ห้องเรียนที่ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะห้องบรรยาย หรือในชั้นเรียนของมหาวิทยาลัย)





๔.ในด้านการสอน (บูรณาการกับฝ่ายพัฒนานิสิต)

๔.๑ เกิดทีมผู้สอนจากฝ่ายพัฒนานิสิตทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและคณะ กล่าวคือ ทีมผู้สอนส่วนหนึ่งมาจากผู้บริหารด้านกิจการนิสิต หรือฝ่ายพัฒนานิสิตที่ประกอบด้วยฝ่ายพัฒนานิสิตในระดับมหาวิทยาลัย (ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต) ผู้บริหารฝ่ายพัฒนานิสิตระดับคณะ (คณบดี, รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต,ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต) หรือแม้แต่อาจารย์ที่เคยทำงานฝ่ายบริหารด้านกิจการนิสิต หรือเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาองค์กรนิสิต รวมถึงอาจารย์ที่เคยเป็น “อดีตผู้นำนิสิต" มาก่อน

๔.๒ เกิดทีมผู้ช่วยสอน (ทีมกระบวนกร) กล่าวคือเป็นการยกระดับบุคลากรประจำในสายงานการพัฒนานิสิตสู่การเป็นผู้ช่วยสอนในประเด็นสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับการนำทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ ทั้งในมิติของการจัดการเรียนการสอนเชิงปฏิบัติการ ให้คำแนะนำในเรื่องการจัดทำโครงการ ตลอดจนการเป็นที่ปรึกษาเรื่องการเรียนและการใช้ชีวิตแก่นิสิต ทำหน้าที่ติดตามการส่งงานของนิสิต ตลอดจนการติดตามหนุนเสริมการทำงานในช่วงที่นิสิตแต่ละกลุ่มได้จัดโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต ซึ่งบทบาทดังกล่าว ถือเป็นกระบวนการหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพบุคลากรประจำไปในตัว

๔.๓ เกิดกระบวนการบูรณาการการเรียนการสอนจากกิจกรรมนอกหลักสูตร (นอกชั้นเรียน) เข้าสู่กิจกรรมในหลักสูตร (ในชั้นเรียน) อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการวางรากฐานเพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้เข้าสู่กิจกรรมของ “องค์กรนิสิต" ที่ประกอบด้วยองค์การนิสิต สภานิสิต สโมสรคณะ ชมรม และกลุ่มนิสิต รวมถึงการยึดโยงการเรียนรู้เข้าสู่กิจกรรมอื่นๆ ที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัย ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย และกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยฝ่ายพัฒนานิสิตของคณะต่างๆ หรือแม้แต่กิจกรรมที่จัดขึ้นโดยองค์กรภายนอกมหาวิทยาลัย




เหนือสิ่งอื่นใดจะเห็นได้ว่า วิชาการพัฒนานิสิต มีสถานะเสมือนสะพานเชื่อมร้อยการเรียนรู้เพื่อการพัฒนานิสิตและผู้สอนที่หมายถึงผู้บริหารและบุคลากรประจำในสายการพัฒนานิสิตเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ ผลพวงของการเรียนรู้ผ่านวิชาการพัฒนานิสิต จึงไม่ได้เกิดประโยชน์เพียงแค่การพัฒนานิสิต (ผู้เรียน) ตามวัตถุประสงค์ในรายวิชาเท่านั้น หากแต่ยังสามารถพัฒนาศักยภาพและความก้าวหน้าของบุคลากรในวิชาชีพด้านกิจการนิสิตได้เป็นอย่างดี


เช่นเดียวกันก็สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้นิสิตได้ก้าวเข้าสู่การเรียนรู้ “ชีวิตนอกห้องเรียน" ผ่านกิจการนิสิต ทั้งในฐานะ "ผู้นำและผู้ตาม" โดยสามารถนำองค์ความรู้ในวิชาการพัฒนานิสิตไปประยุกต์ใช้กับการ “ทำกิจกรรม" หรือ “จัดกิจกรรม" ได้อย่างเสร็จสรรพ



หมายเลขบันทึก: 566996เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2014 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2015 08:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

"ชอบมั้กๆ"...เรียนรู้ร่วมกัน...น่าจะเกิดได้ด้วยใน..โรงเรียน...เด็ก..(ก็มี..ใจ..นิ)... มีของเหลือๆมาฝาก...อ้ะะะ

ขอบพระคุณกับสิ่งดีๆที่มอบให้กัน..ในโกทูโน..จ้ะ...

ตามมาเชียร์การทำงาน

เห็นภาพกิจกรรมที่เกิดจากการทำงานทั้งระบบ

ขอบคุณมากครับ

ทุกมิติของการมีส่วนร่วม คือคุณค่าของการเรียนรู้สู่การปฏิบัติที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายค่ะ...

...ชื่นชม งานกิจกรรมนิสิต...เป็น highlight ในรั้วมหาวิทยาลัยนะคะ...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท