เครือข่ายการพัฒนาครู


          หนังสือ พลังเครือข่ายในพื้นที่เขียนโดย ดร. เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ และอรุณศรี จิตต์แจ้ง บอกว่า เครือข่ายการเรียนรู้เป็นสิ่งที่มีพลัง หากดำเนินการอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการจัดการเครือข่าย ดังกรณีโครงการ LLEN ประสบความสำเร็จสูงยิ่งในการยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียน สู่การเรียนรู้ แห่งศตวรรษที่ ๒๑ จากความสามารถในการจัดการโดย ดร. เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ สนับสนุนโดย สกว.

          จาก LLEN สู่โครงการ TC ก็จัดการเครือข่ายโดย ดร. เจือจันทร์ เจ้าเก่า คราวนี้เราเน้นที่ครูเป็นตัวหลัก และเน้นเทคนิค coaching ที่ผมเน้นว่า ต้อง โค้ชด้วยการตั้งคำถาม (เชิงกัลยาณมิตร) มากกว่าด้วยการ “สอน” หรือแนะนำ ด้วยท่าทีที่เสมอกัน มากกว่าท่าทีของผู้รู้บอกผู้ไม่รู้ และต้องเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างครูกันเอง ที่เรียกว่า peer coaching

          โดยมีเป้าหมายที่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการเรียนรู้ จากเน้นถ่ายทอดความรู้ สู่เน้นให้นักเรียน ลงมือทำหรือปฏิบัติ เพื่องอกงามความรู้ขึ้นภายในตน มีเป้าหมายให้นักเรียนได้งอกงามพัฒนาครบด้าน ของทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ไม่ใช่หวังให้เรียนวิชาเพียงอย่างเดียว

          ที่จันทบุรี ออกแบบการทำโครงการ TC โดยให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเข้ามาทำหน้าที่ โค้ช ด้วย และให้ทีมของโรงเรียนหนึ่งไปโค้ช อีกโรงเรียนหนึ่ง สลับบทบาทกัน

          โค้ช แบบพบหน้ากัน ทำได้ไม่บ่อย ก็ถ่ายวีดิทัศน์ ส่งไปให้ช่วยโค้ช

          ทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาครู พัฒนาให้เป็น โค้ช การเรียนรู้ของนักเรียนอีกต่อหนึ่ง

          ซึ่งหมายความว่า ต่อไปนี้ เรารณรงค์และส่งเสริมให้ครูลดบทบาท “ครูสอน” หันไปเน้นบทบาท “ครูฝึก” เน้นให้นักเรียนเรียนโดยลงมือปฏิบัติและคิดไตร่ตรอง

          บ่ายวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๗ ผมไปร่วมการประชุมประจำปี โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ที่ มศก. นครปฐม ได้ฟังครูสะท้อนให้ฟังว่า หลังเข้าโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา (ซึ่งก็เน้นส่งเสริมให้ครูเปลี่ยนมาเป็น ครูฝึกเช่นเดียวกัน) ครูเปลี่ยนไปอย่างไร สรุปได้ว่า ครูพัฒนาขึ้นอย่างมากมาย ในเวลาปีเดียว พัฒนาความเป็นครู ทั้งด้านจิตวิญญาณของความเป็นครู และด้านทักษะของการเป็น “ครูฝึก”

          จึงสรุปได้ว่า การรวมตัวกันเป็นชุมชนเรียนรู้ เครือข่ายเรียนรู้ ของครู เรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง โดยมีการจัดการเครือข่าย เป็นกระบวนการพัฒนาครูที่แท้จริง ดีกว่ากระบวนการพัฒนาครูในโครงการ SP2 ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ และดีกว่ากระบวนการพัฒนาครูโดยการสั่งให้ไปรับการฝึกอบรม ของกระทรวงศึกษาธิการ

          การพัฒนาครูในรูปแบบโครงการ TC และโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา จะช่วยยกระดับคุณภาพครู ยกระดับคุณภาพผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และช่วยลดความสูญเปล่าของงบประมาณพัฒนาครู

วิจารณ์ พานิช

๒๘ มี.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 566994เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2014 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2014 11:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท