ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

หนังสือใหม่ "พระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่"


 

อนุโมทนากถา

โดย

พระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร.

อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

     มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ที่มุ่งจัดการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร และคฤหัสถ์ เปิดสอนทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยมีพันธกิจผลิตบัณฑิต วิจัย และพัฒนา ส่งเสริมพระพุทธศาสนา และบริการวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

     พระราชปณิธานของสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง พระไตรปิฎกจึงหมายถึงพระพุทธศาสนา และวิชาชั้นสูง หมายถึง วิทยาการ หรือศาสตร์สมัยใหม่ จากตัวแปรนี้ จึงทำให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้จัดการศึกษาโดยเน้นการบูรณาการพระพุทธศาสนากับวิทยาการ หรือศาสตร์สมัยใหม่ภายใต้ปรัชญาที่ว่า “จัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจและสังคม” จากปรัชญาดังกล่าว จึงนำไปสู่การพัฒนาการเรียนการสอนในรายวิชา “พระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่” ในระดับปริญญาเอก และ วิชา “พระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่” ในระดับปริญญาโทขึ้น เพื่อให้วิชาดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการเปิดตาใน และตานอกของผู้เรียนให้สามารถเข้าใจโลกตามความเป็นจริง และใช้ชีวิตอยู่เหนือโลกธรรมทั้งมวล

     ตำราเล่มนี้ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ได้ร่วมตอบคำถาม และนำเสนอมุมมองโดยการบูรณาการพระพุทธศาสนา กับวิทยาการหรือศาสตร์สมัยใหม่ ในมิติที่หลากหลาย และลุ่มลึก ทั้งในมิติของวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ โดยการนำโลก ๓ ในพระพุทธศาสนา คือ โอกาสโลก สัตวโลก และสังขารโลก มาอธิบายเปรียบเทียบ และเชื่อมโยงได้อย่างประสานสอดคล้อง ตำราเล่มนี้จึงเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการศึกษา วิเคราะห์ เปรียบเทียบ อธิบาย ตีความ สังเคราะห์ และบูรณาการหลักการระหว่างพระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่ที่สอดรับยุคสมัย และความเป็นไปของสถานการณ์โลกในยุคปัจจุบัน

     ขออนุโมทนาต่อกุศลเจตนาอันแรงกล้าของพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ที่ได้มีวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่ง ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ และกำลังสติปัญญาในการเขียนตำราเล่มนี้ขึ้น เพื่อให้คณาจารย์ และนิสิตได้ใช้เป็นคู่มือศึกษา และค้นคว้าในรายวิชา “พระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่” และ “พระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่” ในระดับปริญญาเอก และปริญญาโทของมหาวิทยาลัย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ตำราเล่มนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิชาการด้านพระพุทธศาสนาตามแนวทางของพุทธบูรณาการ และพุทธสหวิทยาการ สอดรับกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า “จัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจและสังคม” ต่อไป.

หมายเลขบันทึก: 566044เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2014 12:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2014 12:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นมัสการท่าน

มีวางขายในร้านหนังสือไหมครับ

ขอบพระคุณมากๆครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท