กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


สิทธิมนุษยชนหมายถึง  ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  หรือตามกฎหมายไทย หรือตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม

                      ปัจจุบันประเทศไทยได้ร่วมรับรองใน ปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและได้เข้าเป็นภาคีตราสารระหว่างประเทศด้านมนุษยชนทั้งสิ้น 7 ฉบับ และยังได้เข้าร่วมรับรองในภาคีพิธีสารอีก 2 ฉบับ  เช่นนี้จึงได้มีการบัญญัติรับรองสิทธิมนุษยชนลงใน  รัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540  และฉบับปัจจุบันคือ พ.ศ.2550  เพื่อให้สิทธิมนุษยชนต่างๆที่ตนได้รับรองไว้จากการเข้าร่วมรับรองในปฏิญญาสากลและอนุสัญญาต่างๆได้นำมาปฏิบัติ   และมุ่งให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน  โดยยึดถือหลักการที่ว่ามนุษย์ทุกคนนั้นมีสิทธิในชีวิตและร่างกาย มีคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน [1]

                   โดยสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ในส่วนที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา   ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เป็นการใช้อำนาจรัฐเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ อันอาจมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยตรง  โทษทางกฏหมายอาญามีอยู่ 5 ประเภทซึ่งได้แก่  1.ประหารชีวิต  2.จำคุก  3.กักขัง  4.ปรับ  5.ริบทรัพย์สิน 

                   สำหรับบทลงโทษที่หนักที่สุดในการจำกัดบุคคลออกไปจากสังคมนั้น  ก็คือโทษประหารชีวิต  ซึ่งเป็นการลงโทษที่มีความรุนแรงที่สุดที่ใช้ต่อผู้กระทำความผิดและถือได้ว่าเป็นการลงโทษที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งมีมาแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการลงโทษเพื่อเป็นการแก้แค้นตามหลักตาต่อตาฟันต่อฟัน เพื่อแก้แค้นทดแทนความผิดที่ได้กระทำลงไป ลงโทษเพื่อเป็นการข่มขู่ยับยั้ง ลงโทษเพื่อการปรับปรุงแก้ไขและที่สำคัญที่สุด คือ การตัดโอกาสการกระทำผิดซ้ำอันเป็นการกำจัดผู้กระทำผิดออกไปจากสังคมอย่างเด็ดขาด สำหรับการประหารชีวิตในประเทศไทยนั้นการประหารชีวิตด้วยปืนได้มีการยกเลิกเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2546 กล่าวคือ รัฐบาลได้มีการเสนอแก้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2546 โดยแก้ไขมาตรา 19 ว่า “ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิตให้ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย” ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 19 กันยายน 2546 และได้มีการประหารชีวิตด้วยวิธีฉีดยาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2546 [2]

                      โดยโทษประหารชีวิตนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียและยังคงมีปัญหาที่ถกเถียงกันว่าควรจะให้มีการลงโทษประหารชีวิตอยู่หรือไม่เพราะบางฝ่ายนั้นเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน  ซึ่งข้อดีของโทษประหารชีวิตมีดังนี้ คือเป็นการลงโทษที่เหมาะสมและยุติธรรมสำหรับที่ทำผิดร้ายแรง และยังสามารถยับยั้งอาชญากรรมได้ผลดีที่สุด  ส่วนข้อเสียนั้น คือ  บางกรณีอาจจับคนผิดมาลงโทษ ทำให้ผู้บริสุทธิ์อาจถูกประหารด้วยความเข้าใจผิด 

              ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังมีการลงโทษประหารชีวิตแม้ว่าการลงโทษประหารชีวิตจะมีข้อดีและข้อเสียอยู่หลายประการซึ่งยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในปัจจุบันและยังไม่สามารถหาทางออกได้   แต่การลงโทษประหารชีวิตนั้นก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำเพื่อปกป้องและคุ้มครองประชาชนและยังมีอำนาจบังคับทรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย [3]

                อย่างไรก็ตามการลงโทษประหารชีวิตในทั่วโลกนั้นได้มีการลงความเห็นกันไปในทางเดียวว่าการลงโทษด้วยวิธีการประหารชีวิตนั้นเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ อีกทั้งยังขัดต่อแนวคิดอาชญาวิทยาสมัยใหม่ที่ว่าอาชญากรสามารถกลับตัวเป็นคนดีมีชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง

            ซึ่งตามความคิดเห็นของข้าพเจ้านั้น  เมื่อพิจารณาตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน   ข้อ 5   “บุคคลใด ๆ จะถูกทรมานหรือได้รับผลปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้ายผิดมนุษยธรรมหรือต่ำช้าไม่ ” [4]  ข้าพเจ้าเห็นว่าการลงโทษประหารชีวิตนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการที่จะมีชีวิตอยู่   ที่ทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทยนั้นได้รับรองไว้ในกฎหมายและอนุสัญญาต่างๆไม่ว่าจะภายในหรือระหว่างประเทศ   และยังเป็นการละเมิดต่อหลักสิทธิและเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์    โดยตัวข้าพเจ้านั้นเคารพในคุณค่าความเป็นมนุษย์ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นบุคคลทั่วไปหรือจะเป็นอาชญากรก็ตาม ก็ควรจะได้รับสิทธิในการที่จะมีชีวิต  ซึ่งไม่ได้สนับสนุนไปในทางที่ว่าคนทำผิดไม่ต้องรับผิด  ข้าพเจ้าเห็นว่าคนทำผิดก็ยังคงต้องรับผิดและรับเท่ากับความรุนแรงที่ตนได้ก่อขึ้น ไม่ควรลงโทษในลักษณะที่เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  แต่ควรเปลี่ยนวิธีการให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น   โดยอาจหาวิธีทางแก้ใหม่โดยอาจลงลงโทษจำคุกตลอดชีวิต  หรือให้เค้าบำเพ็ญประโยชน์ในส่วนของงานในภาครัฐ   ที่เห็นว่าบุคคลดังกล่าวมีความสามารถและเหมาะสมที่จะทำได้  หากเมื่อขาดแรงงานก็อาจจะนำบุคคลดังกล่าวนี้มาเสริมเพื่อช่วยให้งานดังกล่าวสำเร็จ  และเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น ดีกว่าทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของอาชญากรและทำให้เขาสิ้นชีวิตโดยการลงโทษประหารซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์   ซึ่งการจะหาวิธีการลงโทษอื่นมาแทนที่โทษประหารชีวิตนั้น      จะต้องเกิดจากการร่วมมือกันของหน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันคิดและหาทางออกให้มีวิธีที่เหมาะสมและมีความเป็นธรรมต่อผู้ที่ได้รับความเสียหายกับฝ่ายตัวผู้ก่ออาชญากรรมทั้งสองผ่าย  โดยต้องไม่ละเมิดต่อหลักสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

                    

แหล่งที่มาของข้อมูล

[1]ความมาเป็นมาของปฎิญญาสากล(ออนไลน์) http://noojennn.wordpress.com/

[2] ประวัติการลงโทษประหารชีวิต (ออนไลน์)  http://elib.coj.go.th/Ebook/data/judge_report/jrp2555_10_25.pdf

[3]การลงโทษประหารชึวิตในปัจจุบัน(ออนไลน์) http://www.bu.ac.th/knowledgecenter/epaper/jan_june2009/pdf/Duangdaew.pdf

[4]ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ออนไลน์)http://www.l3nr.org/posts/465129

หมายเลขบันทึก: 565932เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2014 20:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2014 23:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท