ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่เชื่อมต่อกับสังคมโลก


                ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่มีลักษณะเป็นปัญหาอันเชื่อมต่อกับระหว่างประเทศนั้นนับว่ามีปัญหาหลากหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาผู้ลี้ภัยจากประเทศที่นับว่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านของเรานั่นเองในที่นี้ข้าพเจ้าจะขอยกตัวอย่างผู้ลี้ภัยที่นับว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะพัฒนาเป็นวิกฤติระดับชาติอันจะนำไปสู่ความเสียหายอย่างใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศและประชากรไทยได้ จากที่ได้กล่าวมานั้น ข้าพเจ้าจะขอยกนำเรื่องผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาขึ้นมาพิจารณาในประเด็นสิทธิมนุษยชน

                ทั้งนี้ข้าพเจ้าจะขอกล่าวถึงประวัติที่มารวมถึงสาเหตุในการลี้ภัยของชาวโรฮิงยาจากประเทศเมียนม่ากล่าวคือ ชีวิตเบื้องหลังของชาวโรฮิงยานั้น พวกเขาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่นับถือศาสนาอิสลามในประเทศพม่า โดยส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาวอาหรับ เปอร์เซีย และปาทาน มีถิ่นอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ หรือที่สมัยโบราณเรียกว่ารัฐอาระกัน ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของพม่า ชาวโรฮิงยาในพม่านั้นถือเป็นชนกลุ่มน้อย ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลพม่ามากที่สุด แม้ว่าชาวโรฮิงยาเหล่านี้จะเกิดบนผืนแผ่นดินพม่า แต่พวกเขากลับถูกรัฐบาลพม่าปฏิเสธที่จะให้สัญชาติพม่า และถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายจากเหล่าทหาร พวกเขาถึงกับกล่าวว่าสิ่งที่ทหารพม่าได้กระทำกับพวกเขานั้นเสมือนกับพวกเขาไม่ใช่คน[1] ทั้งนี้แม้ว่าหลายคนจะเห็นว่าชาวโรฮิงยานั้นบุคคลผู้มีสถานภาพเป็นบุคคลผู้มีเชื้อชาติเป็นชาวบังคลาเทศแต่ชาวบังคลาเทศก็ปฏิเสธไม่รับชาวโรฮิงยาเป็นคนในเชื้อชาติของตนเช่นกัน

                โดยการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นชาวโรฮิงยาถูกกลุ่มทหารซึ่งเป็นชาวพม่าด้วยกันเองดูถูกเหยียดหยามและทำร้ายร่างกาย ไม่สามารถสมัครงานที่ไหนได้ พวกเขาไม่มีสิทธิในที่ดิน การศึกษา หรือสถานพยาบาลใดๆ ในพม่า อีกทั้งยังถูกกีดกันทางด้านการเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางข้ามเขตที่ไม่สามารถกระทำได้เลย อีกทั้งพืชพันธุ์ในหมู่บ้านก็ถูกทหารเข้ามาแย่งเก็บเกี่ยว หากใครขายของได้เงินมาก็จะถูกทหารเข้ามายึดไป ทำให้พวกเขาต้องอยู่อย่างอดอยาก ไม่มีแม้แต่ข้าวที่จะกินให้ครบ 3 มื้อในแต่ละวัน หลายครั้งที่พวกผู้ชายต้องยอมอดข้าวเพื่อให้ลูกเมียได้มีข้าวกินประทังชีวิต รวมทั้งการออกกฎให้มีการคุมกำเนิดเฉพาะกับแค่ชาวโรฮิงยา การไม่ให้สัญชาติโดยมีการหลอกเอาเอกสารสิทธิเพื่อไม่ให้ชาวโรฮิงยานั้นมีหลักฐานเพื่ออ้างความมีตัวตนของตนได้ โดยจากการพิจารณานั้นเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในหลายประการ อาทิเช่น การถูกปฏิเสธสัญชาติ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน[2]ในข้อ ที่ 15 (1) กล่าวคือทุกคนมีสิทธิในสัญชาติหนึ่ง  ทั้งยังมีการถูกเหยียดหยาม ทำร้ายร่างกาย ละเมิดสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญา ข้อ 5 กล่าวคือบุคคลใดจะถูกกระทำการทรมานหรือ การปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีไม่ได้  อีกทั้งกรณีการออกข้อห้ามในกรณีการคุมกำเนิดขัดต่อสิทธิมนุษยชนในข้อ 16 (1) กล่าวคือบรรดาชายและหญิงที่มีอายุครบ บริบูรณ์แล้ว มีสิทธิที่จะสมรสและก่อร่างสร้างครอบครัวโดยปราศจากการจำกัดใด อันเนื่องจากเชื้อชาติ สัญชาติ หรือศาสนา ต่างย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการสมรส ระหว่างการสมรส และในการขาดจากการสมรส ซึ่งจากบทบัญญัตินั้นจะอยู่ในส่วนของการละเมิดในการก่อร่างสร้างครอบครัว

                จากการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังที่กล่าวมานั้นทำให้ชาวโรฮิงยาอพยพออกจากถิ่นที่อยู่ของตนโดยอพยพเข้ามาในประเทศต่างๆทั้งนี้ประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศนึงที่มีชาวโรฮิงยาจำนวนมากที่เข้ามาโดยส่วนใหญ่ได้อพยพเข้ามาในจังหวัดระนอง ซึ่งการเรียกกลุ่มบุคคลดังกล่าวนั้นทางประเทศไทยจะใช้คำว่า ผู้หนีภัยความตาย มิใช่ผู้ลี้ภัย อันเนื่องมาจากการที่ คำว่าผู้ลี้ภัยนั้นจะใช้ก็ต่อเมื่อประเทศนั้นๆเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 การที่ประเทศไทยใช้คำที่แตกต่างนั้นก็เนื่องมาจากประเทศไทยนั้นมิได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าว โดยเมื่อพิจารณาพบว่ามีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับกรณีชาวโรฮิงยาที่ลี้ภัยข้ามชาติเข้ามาในไทย มีดังนี้กล่าวคือ

                ข้อ 2 ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพทั้งปวงตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าชนิดใด อาทิ เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น พื้นเพทางชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน การเกิด หรือสถานะอื่น นอกเหนือจากนี้ จะไม่มีการแบ่งแยกใดบนพื้นฐานของสถานะทางการเมือง ทางกฎหมาย หรือทางการระหว่างประเทศของประเทศ หรือดินแดนที่บุคคลสังกัด ไม่ว่าดินแดนนี้จะเป็นเอกราชอยู่ในความพิทักษ์ มิได้ปกครองตนเอง หรืออยู่ภายใต้การจำกัดอธิปไตยอื่นใด

                ข้อ 3 ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล

                ข้อ 6 ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับทุกแห่งหนว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย

                ข้อ 14 (1) ทุกคนมีสิทธิที่จะแสวงหา และที่จะได้ที่ลี้ภัยในประเทศอื่นจากการประหัตประหาร

                ข้อ 25 (1) ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดีของตนและของครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการดูแลรักษาทางการแพทย์ และบริการสังคมที่จำเป็น และมีสิทธิในหลักประกันยามว่างงาน เจ็บป่วย พิการ หม้าย วัยชรา หรือปราศจากการดำรงชีพอื่นในสภาวะแวดล้อมนอกเหนือการควบคุมของตน[3]

                เมื่อพิจารณาบทบัญญัติข้างต้นแล้วพบว่าชาวโรฮิงยา แม้ว่าจะไม่ได้เข้าประเทศไทยมาโดยชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการเข้าเมืองเพราะอพยพเข้ามาโดยเรือและลักลอบเข้ามาพักพิงในไทยก็ตาม แต่ชาวโรฮิงยานั้นเป็นมนุษย์ย่อมได้รับการรับรองว่าเป็นบุคคลไม่ว่าจะอยู่ที่ใดตามข้อ 6 ดังนั้นรัฐไทยในฐานะที่เป็นประเทศภาคีสมาชิกของปฏิญญาดังกล่าวจึงต้องรับรองสิทธิการมีชีวิตของชาวโรฮิงยาตามข้อ 2 และข้อ 3 โดยการที่ไม่อาจใช้กำลังทำร้ายเพื่อผลักดันชาวโรฮิงยาให้ออกไปจากอาณาเขตของรัฐไทยได้และเมื่อชาวโรฮิงยาเข้ามาอาศัยในรัฐไทยแล้ว ชาวโรฮิงยาย่อมมีสิทธิตามข้อ 25 (1) ซึ่งได้แก่ สิทธิในสุขภาพ อาหารเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นปัจจัย 4 หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิต รัฐไทยจึงมีหน้าที่ต้องรับรองและคุ้มครองสิทธิดังกล่าวแก่ชาวโรฮิงยา  นอกจากนี้การที่ชาวโรฮิงยาลี้ภัยออกจากประเทศพม่าเพื่อความอยู่รอดและหลบหนีจากการประหัตประหารของรัฐบาลพม่า ชาวโรฮิยาย่อมมีสิทธิในการลี้ภัยดังกล่าวตามข้อ 14 อีกด้วย     

                ทั้งนี้ชาวโรฮิงยาที่จัดเป็นผู้หนีภัยความตายนั้น แม้จะมีข้อกำหนดให้ประเทศที่มีผู้หนีภัยความตายเข้ามานั้นเข้าให้ความช่วยเหลือจนกว่าจะเกิดความสงบในประเทศที่ลี้ภัยมานั้นแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงยานั้นมิได้เป็นความเป็นอยู่ที่ดีนักเนื่องจากการกดขี่ชาวโรฮิงยานั้นก็ยังคงมีอยู่ให้เห็นอย่างชัดเจนในประเทศไทยเพราะโดยส่วนมากแล้วนั้นจะเห็นได้ว่าเนื่องด้วยบุคคลกลุ่มดังกล่าวเป็นบุคคลที่ถูกปฏิเสธมิให้ใช้เชื้อชาติไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติพม่าหรือแม้แต่เชื้อชาติบังคลาเทศดังนั้นจึงถือเสมือนกับว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวนั้นไม่มีสภาพบุคคลเลย โดยย่อมเป็นการขัดต่อสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาในข้อ 6 กล่าวคือทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับทุกแห่งหนว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย และด้วยการที่ไม่มีสภาพบุคคลนั้นก็ส่งผลสืบเนื่องในกรณีที่ว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นก็ทำได้ง่ายขึ้นทั้งนี้เกิดจากการมองว่าชาวโรฮิงยานั้นมิใช่บุคคลแต่เป็นวัตถุสำหรับนำไปใช้ในการใดๆก็ได้ ซึ่งจากกรณีดังกล่าวนั้นทำให้สามารถมองย้อนกลับไปในอดีตเปรียบได้กับชนชั้นของทาสซึ่งปฏิบัติได้แค่เพียงการก้มหน้าทำตามคำสั่งที่บุคคลผู้มีชนชั้นเหนือกว่าสั่งให้ทำเพื่อความอยู่รอดของตนเอง และยังมีการกระทำที่แสดงออกได้อย่างชัดเจนอันเป็นการปฏิเสธมิให้ความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮิงยาโดยเห็นได้จากการที่อัยการในจังหลัดระนองนั้นได้สั่งฟ้องโดยอ้างอิงจากพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองให้ชาวโรฮิงยานั้นจัดเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายอีกด้วยโดยศาลก็ได้ให้ความเห็นชอบและให้จัดว่าชาวโรฮิงยานั้นทำผิดกฎหมายโดยมีคำสั่งตามกฎหมายได้ทำการจับและถูกส่งกลับประเทศ ทั้งนี้การส่งกลับประเทศนี้เองนับว่าเป็นการแสดงการปฏิบัติที่ถือว่าขัดต่อหลักการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองโดยนับเป็นการไร้ซึ่งมนุษยธรรมอย่างรุนแรง เนื่องจากเมื่อมีการส่งชาวโรฮิงยากลับประเทศไปแล้ว เมื่อการกดขี่ทางด้านสิทธิมนุษยชนนั้นยังไม่จบสิ้นในประเทศเดิมของตน ความตายที่ชาวโรฮิงยาหนีมานั้นก็ยังไม่จบสิ้น หากกลับไปชีวิตของชาวโรฮิงยาก็จะยังคงกลับไปสู่จุดเดิมกล่าวคือทั้งความตายและการทำร้ายร่างกาย

                แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยของชาวโรฮิงยานั้นแม้ว่าจะเกิดจากประชากรในประเทศที่ไม่ให้ความต้อนรับแล้วก็ยังมีปัญหาอีกประการสำคัญอีกประการกล่าวคือ ปัญหาการลี้ภัยเข้ามาอย่างท่วมท้นของชาวโรฮิงยาซึ่งส่งผลกระทบกับทั้งประชากรไทยและประชากรชาวโรฮิงยาด้วยกล่าวคือความแออัดยัดเยียดของคนในประเทศอันเนื่องมาจากการจำกัดของลักษณะภูมิประเทศของประเทศไทยที่มีพื้นที่ไม่มากนักโดยอาจส่งผลเสียในการดำเนินชีวิตของผู้อยู่อาศัยเดิม ปัญหาการจัดหาปัจจัยขั้นพื้นฐานทั้ง 5 ให้พียงพอต่อประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศอาทิ แหล่งอาหารที่ไม่เพียงพอ การสาธารณสุขที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ทั่วถึง เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีการให้เงินแก่ผู้ลี้ชาวโรฮิงยาสำหรับการดำเนินชีวิต โดยย่อมส่งผลโดยตรงกับสถานะทางเศรษฐกิจภายในรัฐ

                ด้วยปัญหาดังกล่าวทางแก้ที่สามารถนำมาปฏิบัติได้นั้นมีอยู่ไม่มากนักเนื่องจากทางแก้ที่ว่าให้นำกลุ่มชาวโรฮิงยากลับประเทศนั้นเป็นทางเลือกที่ไม่สามารถกระทำได้เนื่องด้วยการขัดตามหลักมนุษยธรรมซึ่งจำต้องให้ความช่วยเหลือแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ดังนั้นทางแก้ดังกล่าวย่อมต้องกระทำเพื่อเยียวยาให้ปัญหาในประเทศนั้นผ่อนลงโดยทางแก้นั้น เห็นว่าการที่ประชากรชาวโรฮิงยามีอยู่มากและทางรัฐไทยนั้นก็มิให้ชาวโรฮิงยานั้นกระทำการใดๆภายในประเทศเลย ดังนั้นจึงเห็นว่าควรมีกีรปรับเปลี่ยนให้ชาวโรฮิงยาที่เป็นผู้หนีภัยความตายนั้นได้กระทำการบางอย่างเพื่อให้เกิดประโยชน์ขึ้นภายในประเทศเช่นในประการแรกควรมีการเปลี่ยนให้ชาวโรฮิงยานั้นเป็นบุคคลที่เข้าเมืองถูกกฎหมายเพื่อให้ชาวโรฮิงยานั้นมีสิทธิและหน้าที่บางอย่างตามที่กฎหมายกำหนด ประการต่อมาคือการให้งานแก่ชาวโรฮิงยาเพื่อเป็นการนำเงินเข้าประเทศฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจรวมทั้งให้การอบรบเพื่อให้มีการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้เป็นแรงงานมีฝีมือขึ้น ทั้งนี้ควรมีการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อทำการเปลี่ยนทัศนคติของคนไทยต่อชาวโรฮิงยาในหัวข้อการเคารพในสิทธิมนุษยชนของกันและกันเพื่อเป็นการให้โอกาสต่อชาวโรฮิงยาในด้านต่างๆเช่นการใช้ชีวิต การทำงานเป็นต้น โดยข้าพเจ้าเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นควรเริ่มจากภายในกล่าวคือทางด้านจิตใจเสียก่อนจึงจะทำการเปลี่ยนในด้านการกระทำได้เพื่อความมีประสิทธิภาพและความสืบเนื่องในการร่วมกัยพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า

[1] "บทความอนาคตโรฮิงญาฤาเป็นเพียงแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์" .  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://disacsurat.com/downloadบทความอนาคตโรฮิงญาฤาเป็นเพียงแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์.pdf. สืบค้น 8 เมษายน 2557.

 [2] คำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(Universal Declaration of Human Rights).”  2491. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf. สืบค้น 8 เมษายน 2557.

[3] "การคุ้มครองสิทธิของชาวโรฮิงญา...ผู้ลี้ภัยข้ามชาติ"(2556) . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.stateless4child.net/content /การคุ้มครองสิทธิของชาวโรฮิงญาผู้ลี้ภัยข้ามชาติ. สืบค้น 8 เมษายน 2557.

หมายเลขบันทึก: 565929เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2014 19:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท