“ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)” ครั้งที่ ๕ (๓) : เมื่อครูเปลี่ยน เด็กก็เปลี่ยน


จากวันนั้นฉันเริ่มตั้งคำถามกับตนเองสิ่งที่เราทุ่มเทกับวิธีการที่ผ่านมานั้นได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า แล้วก็คิดต่อไปว่าแล้วจะต้องทำอย่างไรต่อไปเพื่อให้เด็กได้พัฒนาจริงๆ ฉันจึงตั้งสติใหม่ แล้วก็เริ่มอ่านงานเด็กและเริ่มดู met before เด็กว่ามีมาแค่ไหน ตัวเองเด็กมีความเข้าใจอะไรอยู่ ติดขัดตรงไหนกันแน่ แก้ไขช่วยเหลือให้ตรงจุด และให้เด็กปรับแก้ไขตามตามศักยภาพที่มีมากกว่าตามมาตรฐานที่เราตั้งไว้

 

คุณครูอัม – อัมภิณี  เลิศปีติวาณิชย์  ครูคู่วิชาที่เป็นครูพี่เลี้ยงคนสำคัญที่มีส่วนอย่างมากในการเติบโตของครูเก๋ และครูน้องๆ อีกหลายคน  มาในภาคเรียนนี้ตัวของครูอัมเองก็ได้พบกับจุดเปลี่ยนด้วยเช่นกัน...

 

                                        

 

หลังจากที่ฉันได้อ่านงานของเพื่อนครูที่เขียน KM ซึ่งสกัดจากประสบการณ์และถอดบทเรียนที่ได้จากการทำงานในภาคเรียนจิตตะ-วิมังสา  ฉันรู้สึกประทับใจงานเขียนหลายคน แต่ขอเลือกมาเล่าเพียง ๒ คนที่โดนใจ คือ ครูชนก และครูจอย  ที่มีมุมมองและวิธีการใกล้เคียงกัน  แต่ต่างกันเพียงแค่บริบทที่เราได้ทำนั่นเอง ซึ่งสะท้อนตัวตนว่าเราเป็นคนอย่างไรจากการอ่านงานเขียนของเพื่อนครูด้วยกัน

                                                                  

ฉันมีวิธีการตรวจงานคล้ายกับครูจอย – อนุสรา  ครูหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ช่วงชั้นที่ ๑  ซึ่งมีหลักการทำงานในใจ  คือ ตรวจสอบคำสะกด  ตรวจงานตามเงื่อนไขที่โจทย์กำหนด  คือ โครงสร้างของงานที่ทำมีองค์ประกอบครบไหม  การสื่อความที่ชัดเจนในการเขียนงานเชิงวิชาการที่ปรากฏในการเขียนการบ้านเชิงโครงงาน   ซึ่งทั้งหมดต้องใช้เวลามากในการตรวจงาน  รวมทั้งพยายามจะตรวจงานให้เร็วและทันเวลา (เวลาที่ใช้ส่วนใหญ่ในแต่ละวันจึงใช้ไปกับการอ่านงานเขียนของเด็ก)  เพื่อให้เด็กมีเวลาในการปรับปรุงแก้ไขงานของตนเอง  เพราะทุกครั้งจะต้องเขียนคำแนะนำในการแก้ไขหลังจากที่ส่งงานเด็กกลับคืนไปรวมทั้งเด็ก ๆ ก็จะรอคอยการเขียนคำแนะนำของครู  แต่ในใจครูก็รู้สึกว่านักเรียนรุ่นนี้ทำไมทำให้ครูเหนื่อยจัง เมื่อเทียบกับรุ่นที่ผ่านมา  และพยายามจะทำให้เด็กมีคุณภาพเท่ากับปีที่ผ่านมาเป็นอย่างน้อย  ครูมีความคาดหวังที่และมาตรฐานที่สูง (เป็นลักษณะของครูชั้น ๖ ซึ่งก็คล้ายกับที่อ่านงานเขียนของครูชนก) จึงพยายามเคี่ยวเข็ญและให้แก้ไขปรับปรุงมากมายในการทำงาน   ปรากฏว่าเด็กแก้ไขมาไม่ครบและไม่โดนใจซักที  ครูให้กลับไปแก้ไขใหม่ ทำซ้ำ ๒-๓ รอบ  ทั้งครูและเด็กเครียดและเหนื่อยกับงานที่ต้องทำร่วมกัน  เหตุการณ์เป็นเช่นนี้อยู่เรื่อยไป 

 

จนวันหนึ่งได้ประชุมร่วมกันในวง KM  เกี่ยวกับการทำการบ้านเชิงโครงงาน และในวงก็มีการเล่าประสบการณ์การตรวจงานและคุณภาพของเด็กให้วงประชุมฟัง  ซึ่งครูในทีมก็สะท้อนผลออกมาคล้ายกับลักษณะเช่นเดียวกับฉันเหมือนกัน 

 

หลังจากที่ครูปาดได้ฟังทุกคนพูดจบแล้วก็ถามกลับมาว่า “ ที่คุณทำเช่นนี้  เป็นการซ่อมงานเด็ก  แต่ไม่ได้แก้ไขหรือพัฒนาตัวเด็ก  จริงหรือไม่”  ตอนแรกที่ได้ฟังก็อึ้งไปเช่นกัน  แล้วก็คิดทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านมา จึงได้คำตอบว่า“ใช่"

 

จากวันนั้นฉันเริ่มตั้งคำถามกับตนเองสิ่งที่เราทุ่มเทกับวิธีการที่ผ่านมานั้นได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า    แล้วก็คิดต่อไปว่าแล้วจะต้องทำอย่างไรต่อไปเพื่อให้เด็กได้พัฒนาจริงๆ  ฉันจึงตั้งสติใหม่  แล้วก็เริ่มอ่านงานเด็กและเริ่มดู met before เด็กว่ามีมาแค่ไหน ตัวเองเด็กมีความเข้าใจอะไรอยู่  ติดขัดตรงไหนกันแน่ แก้ไขช่วยเหลือให้ตรงจุด และให้เด็กปรับแก้ไขตามตามศักยภาพที่มีมากกว่าตามมาตรฐานที่เราตั้งไว้  สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงาน ผลปรากฏว่างานเขียนของเด็กพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วตามแบบฉบับของเด็กๆ แต่ละคน  ซึ่งเด็กๆ เองก็แปลกใจว่าทำไมงานเขียนของพวกเขาจึงผ่านง่ายขึ้น 

 

เมื่อเด็กๆ ถามครูว่า "งานไม่ต้องแก้ไขแล้วหรือ” พอครูตอบว่า “คุณภาพที่เด็กทำมาพัฒนาจนเป็นที่ครูพอใจในเงื่อนไขของเวลาที่มี ตามรูปแบบที่ถนัดของแต่ละคน  และงานเขียนของพวกเราดีขึ้นจริงๆ” ปรากฏว่าทุกคนดีใจมาก  ซึ่งขณะนั้นฉันรู้สึกได้ว่าเด็กๆ ภูมิใจที่เขาทำได้สำเร็จแล้ว เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ที่พวกเขาดูจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับการทำงานเขียน(ให้ได้ตามมาตรฐานที่ครูตั้งไว้)  และมักท้อถอยกับงานที่ครูส่งให้กลับไปแก้ไข ด้วยเหตุผลว่า “ยังไม่ผ่าน (ตามมาตรฐานของครู)”

 

เมื่อครูนัทได้ไปสำรวจทัศนคติของเด็กในการทำงานชื่นใจฯ ครั้งที่ผ่านมาของหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยก็ปรากฏว่าห้อง ๖/๑  มีทัศนคติที่ดีในการทำงานชื่นใจ ฯ  และคุณภาพของการทำงานก็ดีขึ้นเมื่อเทียบกับภาคฉันทะของเขา และเด็กก็มุ่งมานะการทำงานด้วยตนเองมากขึ้น  ไม่ต้องเคี่ยวเข็ญมากเหมือนเดิม  จึงทำให้ฉันกลับมาคิดว่า  แล้วเพราะอะไรจึงทำให้เด็กเปลี่ยนไปในการทำงานเขียนเชิงวิชาการ  ซึ่งเป็นการทำงานที่ยาก ท้าทาย และต้องอาศัยความพยายามในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในการทำโจทย์โครงงาน “ชื่นใจ... ได้เรียนรู้” ให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

                                               

                                          data:text/mce-internal,

 

 

 

สิ่งหนึ่งก็คือตัวครูเอง ที่ยอมรับงานของเขาในสิ่งที่ควรจะเป็น มากกว่ามาตรฐานที่ครูกำหนดไว้  เด็กจึงมีโอกาสใช้ศักยภาพที่ตัวเองมี  มีพื้นที่ในการทำงานของตนเอง และการที่ครูหมั่นคอยให้กำลังใจเด็กๆ  และที่สำคัญมากก็คือการทำให้เด็กเห็นคุณค่ากับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ทั้งในระหว่างการทำการบ้านเชิงโครงงาน หรืองานชื่นใจ ฯ  สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นตัวครูควรจะทำหน้าที่เป็นผู้คนคอยผลักดันให้เด็กรู้สึกถึงความสำเร็จ  ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถทำได้ทั้งหมดก็ตาม  เพราะยังมีอีกหลายแนวทางที่เรายังไม่ค้นพบกับการทำงานในบทบาทหน้าที่ของครู ที่จะทำให้เด็กๆ ได้รู้สึกถึงความสำเร็จในการเรียนรู้และทำงานของพวกเขาได้ด้วยตนเอง  ฉันก็รู้สึกประสบความสำเร็จกับก้าวเล็กๆ ที่ทำ และมีรอยยิ้มทุกครั้งเมื่อนึกถึง

 

ต้องขอบคุณครูปาดและเด็กๆ ทุกคน ที่ทำให้เรารู้จักตัวเองและรู้ว่าเราควรทำอย่างไรกับบทบาทของครูมากขึ้นค่ะ

 

 

หมายเลขบันทึก: 565798เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2014 18:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2014 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท