“ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)” ครั้งที่ ๕ (๒) : ครูเรียนรู้จากความล้มเหลว


การพัฒนาตัวเองที่ชัดเจนของฉันเกิดขึ้นได้เพราะ การสอนการสะท้อนหลังสอนกับครูพี่เลี้ยงถึงประเด็นที่สำเร็จ และประเด็นที่ต้องแก้ไข เพื่อปรับใช้สำหรับห้องถัดไป

 

คุณครูเก๋ ศิริพร  อ่ำทอง  คุณครูหน่วยวิชาธรรมชาติศึกษาและประยุกต์วิทยา ช่วงชั้นที่ ๒ เป็นคุณครูที่ไม่รู้สึกสนุกกับการทำงานในช่วงแรกๆ เท่าไรนัก แต่ในที่สุดก็ผ่านไปได้ด้วยดี ครูเก๋เขียนเล่าถึงความรู้สึกของตัวเองว่าเมื่อได้รับโจทย์ให้เขียนบันทึกการเรียนรู้ว่า

 

                                               

 

ตอนที่ได้รับโจทย์ให้เขียน KM ของตนเองตามหัวข้อที่เคยพูดคุยกันไว้เมื่อตอนงาน KM เทอมก่อน ความคิดต่างๆ มันช่างผุดขึ้นมามากมาย ณ ตอนนั้น ...ทำไมฉันต้องเขียน  เคยตกลงที่จะทำเรื่องนี้ด้วยเหรอ ...  คงจะเหมือนเด็กๆ ชั้น ๖ ล่ะสินะ ที่เรียนในชั้นเรียนมา ๕ สัปดาห์  แล้วก็ต้องออกภาคสนาม เก็บความรู้จากภาคสนาม และปิดท้ายด้วยโครงงานชื่นใจ ซึ่งเป็นการรวบรวมพละกำลังและความรู้ทั้งหมดที่ได้เรียนมาในเทอมนั้นๆ เพื่อใช้ในการต่อยอดความคิดและการทำงานชื่นใจ

 

ครูก็ต้องรวบรวมความรู้ทั้งหมด วิธีการสอน เทคนิคต่างๆ ตลอดทั้งเทอมหรือในปีการศึกษานั้น แล้วกลั่นกรองออกมาเป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ของตนเอง มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ ที่จะสามารถจดจำเรื่องราวต่างๆ ได้ทั้งหมด  ถ้าไม่เคยจดบันทึกการทำงานของตัวเองมาก่อนเลย  ความรู้สึกตอนที่เริ่มต้นทำเหมือนฉันมีความรู้ แต่ฉันไม่รู้จะเอาความรู้นั้นออกมาถ่ายทอดให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างไร แต่ในเมื่อมันคือการเรียนรู้ของเรา เราก็ใส่ใจและเต็มใจที่จะโดดลงไปทำอย่างจริงจัง

 

 

 ความล้มเหลวในการวางแผน คือ การวางแผนที่ล้มเหลว

 

 

หลายคนคงสงสัยว่าทำไมถึงสร้างหัวข้อว่าความล้มเหลว จากการทำงานในบทบาทของครูธรรมชาติศึกษาฯ เป็นเวลา ๑ ปีเต็ม ได้มีโอกาสรับประสบการณ์และการเรียนรู้ที่แปลกใหม่ให้กับตนเองมากขึ้น บทบาทหน้าที่ความเป็นครู เริ่มต้นจากการไม่ได้วางแผนล่วงหน้าใดๆ มาก่อน คิดเพียงแค่ว่าระหว่างรอทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ต้องทำอะไรสักอย่างที่ไม่ให้ตนเองอยู่ว่าง และไม่เป็นภาระของคนทางบ้าน ความคิดที่ต้องเริ่มต้นรับผิดชอบชีวิตตนเองสักทีก็ผุดขึ้นมาในหัวว่า เราเรียนมาก็เยอะแยะมากมาย จะมีวิธีการใดที่ใช้ความรู้ที่เรียนมาให้เกิดประโยชน์มากกว่าแค่การเป็นนักวิจัยในห้องปฏิบัติการสี่เหลี่ยมๆ ถ้าไม่ใช่การเป็นครู” 

 

 ฉันเริ่มต้นบทบาทครูด้วยการสังเกตการสอนของครูรุ่นพี่ และเริ่มลงมือสอนด้วยตนเองอย่างจริงจังเมื่อภาคฉันทะ ต้นปีการศึกษา ๒๕๕๖ กับเด็กๆ ชั้น ๕/๓ และ ๕/๔ แต่การเริ่มต้นเป็นครูครั้งแรกไม่ใช่เรื่องที่สวยงามเลย ฉันพบข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการทำงานหลายอย่าง ทั้งจากความไม่มีประสบการณ์ ทั้งด้วยการสอนในรูปแบบของ Open Approach ที่ฉันไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อนเลย นอกจากความรู้ก้อนกลมๆ ที่ติดตัวมาจากการเรียนในมหาวิทยาลัยแค่นั้น

 

 

จากการย้อนทวนตนเองผ่านข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และการได้รับโอกาสในการปรับเปลี่ยนตนเองใหม่ ทำให้ฉันได้เรียนรู้ที่จะปรับกระบวนการทำงานของตนเองให้ชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับคำแนะนำที่ดีจากครูพี่เลี้ยงคือ ครูอัม ทั้งในการวางตัวและการวางแผนการทำงานต่างๆ ที่เป็นระบบชัดเจนมากขึ้น พี่อัมชวนฉันวางแผนพูดคุยเรื่องการทำแผนการสอนล่วงหน้าก่อนที่จะสอน  การเตรียมสื่อวิดีโออุปกรณ์การทดลอง  นอกจากนี้ครูอัมยังมาสังเกตการณ์การสอนฉัน  ฉันได้ไปสังเกตการณ์การสอนของของครูอัม  รวมถึงการพูดคุยสะท้อนหลังสอนในแต่ละครั้ง ทำให้พบประเด็นต่างๆที่เราควรปรับและพัฒนาการสอนในห้องถัดไป ให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด

 

 

การพูดคุยถึงแผนการเรียนรู้ สื่อการสอน วิธีการสอนและรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กๆ แต่ละห้องที่ชัดเจนนั้น ทำให้เมื่อเข้าสอนในชั้นเรียนเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เห็นถึงลำดับขั้นตอนของการเริ่มต้นห้องเรียน กระบวนการตั้งคำถาม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสรุปประเด็นสำคัญในชั้นเรียนนั้นๆ  การมีส่วนร่วมของเด็กในห้อง ในทุกขั้นตอนของการทำกิจกรรมและการทดลองต่างๆ และสังเกตการเรียนรู้ของเด็กๆ แต่ละคนในหลายมุมมอง จากลักษณะการเรียนรู้ที่แตกกันได้ชัดเจนมากขึ้น

 

การทำแผนและการเตรียมสื่อการสอนเป็นเรื่องที่ยากสำหรับครูใหม่ๆ ที่ยังขาดประสบการณ์  ในเวลาที่ต้องเตรียมแผนการสอนในเรื่องต่างๆ ก็มีการหลงลืมและพบข้อบกพร่องอยู่เสมอๆ  เช่น การทดลองแรกของเทอมจิตตะ เรื่อง การเคลื่อนที่ของจรวดในแนวดิ่ง โดยใช้ลูกโป่งแทนจรวด เส้นเอ็นแทนลานสำหรับให้จรวดพุ่งขึ้น หลอดกาแฟเป็นฐานสำหรับติดจรวด โดยก่อนเริ่มต้นชั้นเรียน ต้องผูกเส้นเอ็นกับเชือกในห้องให้ห้อยลงมาเป็นแนวดิ่ง สื่อเหล่านี้ต้องเตรียมล่วงหน้าก่อนที่เด็กๆ จะเข้ามาในชั้นเรียน  หากเตรียมขณะที่เด็กๆ อยู่จะเกิดความยุ่งยากในการเตรียมเป็นอย่างมาก จึงต้องมีการการวางแผนในการเตรียมอุปกรณ์ที่ดี  มีบางห้องที่ไปเตรียมลานจรวดเอาไว้ล่วงหน้า  แต่เด็กๆ บางคนไม่ทราบว่า เส้นเอ็นที่ผูกไว้คืออะไร ก็เลยต่อเก้าอี้ขึ้นไปดึงลงมาเล่นจนเส้นเอ็นขาด แล้วก็กลัวครูรู้ว่าดึงลงมาเล่นเลยโยนกลับขึ้นไป จนเอ็นพันกันยุ่งเหยิง เมื่อถึงเวลาที่ต้องทำการทดลองจริงๆ ก็ต้องเสียเวลามาแก้เส้นเอ็นกันใหม่อีก

 

จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ก็ได้ข้อคิดเพิ่มขึ้นอีกว่า แม้จะวางแผนดีเตรียมการล่วงหน้าแล้ว ก็ต้องมาแก้ปัญหาอีกภายหลังที่เกิดจากความอยากรู้อยากเห็นของเด็กๆ นั่นเอง และในการทำกิจกรรมการทดลองนี้ในคราวหน้า ก็ต้องวางแผนใหม่ที่จะต้องหาวิธีในการจัดเก็บเส้นเอ็นให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้เด็กดึงลงมาเล่นและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กด้วย

 

การพัฒนาตัวเองที่ชัดเจนของฉันเกิดขึ้นได้เพราะ การสอนการสะท้อนหลังสอนกับครูพี่เลี้ยงถึงประเด็นที่สำเร็จ และประเด็นที่ต้องแก้ไข เพื่อปรับใช้สำหรับห้องถัดไป นอกจากการทวนเรื่องการสอนของตนเองจากแผนการสอนที่ได้เตรียมล่วงหน้าแล้ว ต้องทบทวนการสอนผ่านการสร้างแผนกระดาน ย้อนหลังกลับไปที่การสอนในห้องเรียนครั้งนั้น ที่ฉันสร้างการเรียนรู้จากการทดลองเพื่อที่จะพาให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องกฎของนิวตัน และเกิดความเข้าใจด้วยตัวเองว่าจรวดเคลื่อนที่ได้อย่างไร

 

เมื่อได้ทบทวนตนเองหลังจากการสอนด้วยการทำแผนกระดาน  เพื่อเป็นการสอบทานความถูกต้องอีกอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากการทำแผนรายคาบแล้วก็ทำให้ได้รู้ว่าครูต้องเริ่มต้นดำเนินการเรียนรู้ของเด็กผ่านอะไรบ้าง โดยใช้ร่องรอยการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่มาจากการตั้งคำถาม การทดลอง และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนั้น เรียบเรียงความรู้ลงบนกระดาน และให้เด็กแต่ละคนจดบันทึกความรู้นั้นลงสมุดบันทึกความรู้

 

ในปีการศึกษา ๒๕๕๖ ที่ผ่านทำให้ฉันได้รับบทเรียนเรื่องความผิดพลาดของตนเองจากการวางแผนที่ผิดพลาดในการทำงาน มองเห็นมุมมองการทำงานของตนเองในบทบาทความเป็นครู ว่าควรปรับเปลี่ยนตนเองให้ไปในทิศทางใด  เพื่อให้เป็นแนวทางในดำเนินชีวิตความเป็นครูต่อในทิศทางที่ถูกต้อง และขอขอบคุณครูทุกคนๆ ที่คอยชี้แนะแนวทางต่างๆ และคอยมอบประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีๆ รวมไปถึงเด็กๆในชั้น ๖/๒ ที่คอยมอบกำลังใจและเป็นแรงบันดาลใจที่ดี ทำให้รู้ว่าครูคืออะไร 

 

ตอนนี้ฉันได้รู้แล้วว่า ครูไม่ใช่คนที่ยืนถือตำราเล่มใหญ่คอยบอกคอยสอนให้เรียนรู้อยู่หน้าห้อง แต่ครูคือคนที่ยืนเคียงข้าง และร่วมกันสร้างความรู้ไปพร้อมๆ กันกับเด็กๆ ด้วย ครูเกิดมาจากความรู้สึกรักและผูกพันกับเด็กๆ จากใจจริง

 

                                        data:text/mce-indata:text/mce-internal,ternal,    data:text/mce-internal,

 

หมายเลขบันทึก: 565796เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2014 18:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2014 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท