ข้อสังเกต : ๗ พระราชกฤษฎีกาไม่ชอบ หรือเลือกตั้งไม่ชอบ


     ภายหลังจากที่มีศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๕๗ เรื่อง ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๔๕ (๑) ว่า การจัดการการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ตามพระราชกฤษฏีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๕๖ เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่ โดยผู้ร้องตั้งประเด็นขึ้นมาว่า (ขอสรุปโดยสังเขป)

๑. การเลือกตั้งเป็นการทั่วไปฯ มิได้กระทำขึ้นเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
๒. กกต. ดำเนินการรับสมัครรับเลือกตั้งทั่วไป โดยไม่เสมอภาค ขัดกับหลักความเสมอภาคตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
๓. กกต. ดำเนินการนับคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยขัดต่อหลักการลงคะแนนลับ ขัดรัฐธรรมนูญ
๔. กกต. ปล่อยปละละเลยให้มีการใช้อำนาจรัฐที่ก่อให้เกิดความไม่เที่ยงธรรม ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง

     ซึ่งผมขอแยกอธิบายออกเป็น ๒ ประเด็นหลัก ดังนี้
ประเด็นที่ ๑ เกี่ยวกับอำนาจของผู้ร้อง และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
ประเด็นที่ ๒ เกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

     ในประเด็นแรก เป็นที่ถกเถียงกันมาพอสมควรเกี่ยวกับอำนาจของผู้ร้อง อันได้แก่ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่ามีอำนาจเสนอเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ เมื่อเราพิจารณาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ จะเห็นว่า รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย (รวมถึงการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย) ของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น โปรดดูมาตรา ๒๔๔ (๑) (ก) และ (ข) และตรวจสอบการละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขององค์กรตามรัฐธรรมนูญและองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาล โปรดดูมาตรา ๒๔๔ (๑) (ค) และเมื่อได้มีการพิจารณาข้อร้องเรียนแล้ว หากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใด มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า และในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจหน้าที่พิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายต่อไป

     ประเด็นที่สอง ในประเด็นนี้ผมต้องยอมรับว่าตั้งข้อสังเกตได้ยากกว่า เพราะยังไม่ได้อ่านคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ แต่จากข้อสรุปที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้สรุปไว้ใน “ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ” ข่าวที่ ๘/๒๕๕๗ ฉบับลงวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๗ (โปรดดู http://www.constitutionalcourt.or.th/office/index.php?option=com_docman&task=doc_download&lang=th&gid=196&Itemid=196) ได้สรุปผลการพิจารณาเอาไว้ว่า

     “ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (๖ ต่อ ๓) สรุปได้ว่า การที่พระราชกฤษฏีกายุบสภาผู้แทนราษฏร พ.ศ.๒๕๕๖ กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเป็นการทั่วไปในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ นั้น เมื่อได้ดำเนินการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ไปแล้ว ปรากฏว่ายังไม่มีการจัดการเลือกตั้งสำหรับ ๒๘ เขตเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่เคยมีการเลือกตั้งมาก่อนเลยจึงถือได้ว่าในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ มิได้มีการจัดการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ส่วนการที่จะดำเนินการจัดการเลือกตั้งสำหรับ ๒๘ เขตเลือกตั้ง หลังวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ นั้น ก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะจะมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน เป็นผลให้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๖ เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๘ วรรคสอง”

     ด้วยความเคารพในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ผมเองอ่านสรุปผลการพิจารณาดังกล่าว ก็เกิดความสงสัยหลายประการ ประการแรกคือ ผู้ร้องได้ร้องเป็นทำนองว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดการเลือกตั้งไปโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ศาลกลับไปวินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีกาฯ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งดูจะเป็นคนละเรื่องกัน หากถามว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยถึงการกระทำของ กกต. หรือไม่ แม้โดยส่วนตัวผมจะเห็นว่าไม่มีก็ตาม แต่สำหรับศาลเอง ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยแล้วในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๙/๒๕๔๙ ว่า “หากมีปัญหาเกิดขึ้นจากการใช้อํานาจในการดําเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ของคณะกรรมการการเลือกต้ัง ก็ย่อมอยู่ภายใต้การตรวจสอบขององค์กรฝ่ายตุลาการ รวมทั้งกรณีที่มี การกล่าวอ้างว่าการใช้อํานาจตามรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่ยุติ ซึ่งมีความหมาย เพียงเป็นการยุติโดยองค์กรอื่นที่เก่ียวข้องต้องปฏิบัติตามท่ีคณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นที่ยุติโดยไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการ ทั้งนี้ เพราะคณะกรรมการ การเลือกตั้งไม่ได้เป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญมอบหมายให้ใช้อํานาจตุลาการตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้”
     ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็ควรพิจารณาว่าการกระทำของ กกต. ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่เมื่อไปวินิจฉัยว่า พระราชกฤษฏีกาขัดรัฐธรรมนูญนั้น ก็ดูจะก่อให้เกิดผลประหลาด เพราะในพระราชกฤษฎีกาได้กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปไว้ว่าเป็นวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ซึ่งถือว่าได้กำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วทั้งประเทศแล้ว ถูกต้องตรงตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้แล้ว แต่ที่มีปัญหาคือ กกต. ไม่สามารถจัดให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาต่างหาก ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่ผู้ร้องได้ตั้งเอาไว้

     สุดท้ายนี้ เกี่ยวกับประเด็นในเรื่องผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม และผูกพันองค์กรตามรัฐธรรมนูญอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ท่านผู้อ่านจะตั้งข้อสังเกตกันต่อไป ผมเองคงไม่กล่าวถึง เพราะมีนักวิชาการบางท่านก็ได้ออกมาแสดงความเห็นไว้อย่างหลากหลายแล้ว

หมายเลขบันทึก: 564500เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2014 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2014 13:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท