ขับเคลื่อน PLC ณ โรงเรียนบ้านเขวาทุ่ง อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม (๓) : วิธีสร้างการเรียนรู้ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ (หลักสูตร ๓PBL)


 
หลังจากละลายพฤติกรรมแล้ว ผมชวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อนำเข้าสู่ "วิสัยทัศน์ร่วม" หรือ "เป้าหมายร่วม" ของครูทุกคน เพื่อให้รู้ว่า เรากำลังมุ่งสู่การเป็น "ครูเพื่อศิษย์" และกำลังสร้าง "ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์" ผมสรุปว่า ครูเพื่อศิษย์นั้นมุ่ง "สอนชีวิต" สอนลูกศิษย์แบบ "สอนคน" ไม่ใช่ "สอนวิชา" เป้าหมายสำคัญในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเน้นมากกว่าสาระ "ความรู้" แต่ครูต้องเป็น "ครูฝึกกก" ให้เด็กได้ "ทักษะ" ที่เพียงพอต่อการอยู่ในสังคมใหม่ได้อย่างดีและมีความสุข 
 
วิธีการทำให้นักเรียนมี "ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑" ตามเป้าหมายข้างต้น บุคลากรทุกคน ต้องช่วยกันให้นักเรียนได้ "ฝึกคิด" "ฝึกทำ" และ "ฝึกเรียนรู้ด้วยตนเอง" ... เราเรียกหลักสูตรการจัดการเรียนรู้แบบนี้ว่า "หลักสูตร ๓PBL" 
 
หลักสูตร ๓PBL
 
หลักสูตรพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ แบบ ๓PBL ดังรูปที่ ๑ แบ่งขั้นของการพัฒนานักเรียนด้วยการออกแบบการเรียนรู้เป็น ๓ แบบ เพื่อเน้นจุดมุ่งหมาย ๓ ประการตั้งแต่ "คิดเป็น" "ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น" จนผู้เรียนสามารถ "เรียนรู้เองเป็น"  โดยต้องพิจารณาให้ถึงระดับ "นักเรียนรายบุคคล" โดยที่ครูจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเอง
 
หลักสูตร ๓PBL เป็นเครื่องมือช่วยครูในการพัฒนาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ โดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๓PBL นำเสนอรูปแบบในการเรียนรู้ ๓ วิธี ได้แก่ 
 
st PBL คือ Pattern- based Learning ได้แก่ การเรียนรู้ในรูปแบบ โดยอาจใช้แบบฟอร์ม ใบงาน หรือคำถามจากครู มีเป้าประสงค์เพื่อทำให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารญาณ การประเมินค่า และเสริมสร้างความมั่นใจในตนเองของผู้เรียนให้กล้าคิดกล้าพูด
 
nd PBL คือ Project- based Learning ได้แก่ การเรียนรู้จากการทำโครงการ หรือกิจกรรมต่างๆ มีเป้าประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการทำงานตามวงจรคุณภาพ (PDCA) การแก้ปัญหา และทักษะการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ
 
rd PBL คือ Problem- based Learning ได้แก่ การเรียนรู้บนฐานปัญหาหรือโครงงาน มีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนเกิดทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ โดยมุ่งเน้นการสร้างแรงบันดาลในการเรียนรู้ การเรียนรู้จากการปฏิบัติ และการเรียนรู้เป็นทีม ที่ผู้เรียนได้ คิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเอง และนำเสนอผลงานด้วยตนเอง
 
 
รูปที่   แสดงกระบวนทัศน์ของหลักสูตรพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ แบบ ๓PBL
 
สามารถอธิบายพอสังเขป ดังนี้
 
ขั้นที่ ๑ ฝึกคิด
พัฒนาการคิดเบื้องต้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กล้าคิดกล้าพูด ขั้นนี้เน้นที่สุดคือ เจตคติและแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ วิธีการคือ ยกตัวอย่าง หรือสื่อที่น่าจะทำให้เกิดข้อถกเถียงหรือแสดงความคิดเห็นได้ง่าย หลากหลาย ไม่มีคำตอบที่ตายตัว ไม่มีผิดไม่มีถูก นำเสนอต่อนักเรียน แล้วครูใช้คำถามกระตุ้นเพื่อให้เกิดการโต้เถียงอย่างเป็นเหตุเป็นผลกัน กรณีนี้ครูอาจใช้แบบฟอร์มหรือใบงานช่วย
 
รูปที่ แสดงตัวอย่างวิธีการหรือขั้นตอนในการฝึกคิด
 
-         หลักการสำคัญคือหลักของ "เหตุและผล" เมื่อเราอยากให้นักเรียนเก่งเรื่องคิด “คิดเป็น” เราต้องทำให้นักเรียนได้ "ฝึกคิด"  วิธีการทำให้นักเรียนได้ฝึกคิด ครูต้องเปลี่ยนมา "ตั้งคำถาม" แทนวิธีการ "บอก ป้อน สั่ง"
-         เครื่องมือสำคัญที่ต้องทำให้มาก คือ การอภิปราย โต้เถียงด้วยเหตุและผล  หรือที่นิยมเรียกว่า "ถอดบทเรียน" หรือ "ถอดประสบการณ์" 
-         บทบาทที่สำคัญของครู ไม่เพียงแต่ "ตั้งคำถาม" แต่ต้อง "สะท้อน" (Reflect) ผลลัพธ์ กลับไปยังผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง
-         ครูเป็นผู้คิดสร้างใบงาน หรือ ใบคำถาม หรือแบบฟอร์ม หรือ รูปแบบ (Pattern) ต่างๆ ให้นักเรียนได้ฝึกคิด เช่น กิจกรรม "กระดาษ ๔ พับ" ใช้สื่อที่นักเรียนสนใจ แล้วค่อยให้ถอดบทเรียน 
-         ผลที่เกิดกับนักเรียนเมื่อเขาคิดเป็น ครูจะเห็นความกล้าคิด กล้าพูด เพราะว่าเขามั่นใจในตนเอง ที่เขามั่นใจในตนเองเพราะพวกเขาภูมิใจในตนเอง ที่ภูมิใจในตนเองเพราะพวกเขารู้ว่าตนเองรู้และถนัดเก่งเรื่องอะไร และที่เป็นเช่นนั้นได้ ก็เพราะว่าพวกคิดได้คิดเป็นนั่นเอง
-         บทบาทที่สำคัญของครูในขั้นตอนนี้ คือเป็น ผู้กระตุ้นพาให้คิด "ครูฝึกคิด" คือทำหน้าที่เป็นครูฝึกหรือโค้ช (Coach)  เป็นคนออกแบบ และตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นการคิดของนักเรียน
-         นักเรียนจะได้ฝึกคิดตาม "หลักคิด ปศพพ." สามารถตีความสื่อต่างๆ ตามหลัก ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ๔ มิติได้
 
ตัวอย่างวิธีการและขั้นตอนให้นักเรียนได้ “ฝึกคิด” 
 
o   คิดวิเคราะห์ก่อนให้รู้ชัดว่า สิ่งนั้นคืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง กำลังจะทำอะไร
o   เปรียบเทียบ เทียบเคียง ให้เข้าใจบทบาทและความสำเคัญ ตลอดทั้งความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของสิ่งนั้นๆ 
o   จัดหมวดหมู่ สังเคราะห์หลักการ ใช้หลักวิชาการที่สอดคล้อง เพื่อพิจารณาอย่างเป็นเหตุเป็นผล
o   ยึดเหตุผลบนพื้นฐานของความเป็นจริง และความเป็นธรรม 
o   พิจารณาว่าสิ่งที่จะทำนั้นถูกหรือไม่ถูก ดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควร เหมาะสมหรือไม่ 
o   ก่อนจะตัดสินใจให้ พอประมาณกับตนเอง 
 
ขั้นที่ ๒ ฝึกทำ 
 
พัฒนาทักษะการเรียนรู้และการทำงานจากการปฏิบัติจริง ขั้นนี้เน้นที่สุดคือ กระบวนการเรียนรู้จากการลงมือทำกิจกรรมต่างๆ ที่ครูหรือโรงเรียนกำหนด วิธีการคือ ครูทำหน้าที่เป็นครูฝึก โดยออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ ใช้กระบวนการจัดการความรู้ เช่น BAR, AAR ฯลฯ และฝึกทักษะการทำงานตามวงจรคุณภาพ PDCA และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการศึกษา จัดให้มีการถอดบทเรียน หรือถอดประสบการณ์ จากการทำกิจกรรมทุกกิจกรรมในโรงเรียน เช่น กิจกรรมชุมนุม กิจกรรมลูกเสือ- เนตรนารี ฯลฯ กรณีนี้ครูสามารถใช้แบบฟอร์มหรือชุมคำถามช่วยในการถอดบทเรียนได้เช่นกัน สิ่งสำคัญคือ ครูจะต้องมีการสรุปและให้ feedback กับนักเรียนในทุกกิจกรรม
 
รูปที่ แสดงตัวอย่างวิธีการหรือขั้นตอนในการฝึกทำ
 
  • หลักสำคัญคือ การเรียนรู้จากการปฏิบัติ นักเรียนได้ลงมือทำจริง โดยเน้นให้นักเรียนได้ "ฝึกคิดแก้ปัญหา"  ที่ครูเป็นคนกำหนด หรือร่วมกันกำหนดขึ้นมา 
  • ครูจะเป็นผู้ออกแบบโครงการ (Project) หรือเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการออกแบบโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียน เช่น กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา กิจกรรมส่งเสริมการเรียนต่างๆ คำถามสำคัญสำหรับครูผู้ออกแบบคือ
o   ต้องการให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะใด จากโครงการ/กิจกรรม/ฐานการเรียนรู้ นั้น 
o   นักเรียนจะได้เรียนรู้อย่างไรในโครงการ/กิจกรรม/ฐานการเรียนรู้นั้น นักเรียนจะเกิดทักษะนั้นในขั้นตอนใด
o   จะรู้ได้อย่างไรว่า ทักษะที่ต้องการนั้นเกิดหรือไม่ ทำอย่างไร นักเรียนจะได้สะท้อนตรวจสอบประเมินตนเองเกี่ยวกับทักษะนั้นๆ
o   นักเรียนจะได้ฝึกบูรณาการความรู้และทักษะกับชีวิตและการเรียนการสอนในห้องเรียนอย่างไร
วิธีการสำคัญคือ การฝึกการทำงานแบบ PDCA (Plan Do Check Act) ตามวงจรคุณภาพของ Deming
  • ผลที่จะเกิดกับนักเรียนเมื่อได้ "ฝึกทำ ฝึกแก้ปัญหา" คือทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการลงมือทำและการแก้ปัญหา ทักษะชีวิตด้านการทำงานอย่างมีระบบแบบแผน (PDCA)  ทักษะความร่วมมือหรือทำงานเป็นทีม ทักษะการสื่อสารและไอซีที 
  • เครื่องมือสำคัญในขั้นนี้คือ การ "ถอดบทเรียน"หรือ (AAR :  After Action Review) การทำ BAR (Before Action Review) การจัดการความรู้ KM การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยการเล่าเรื่องประสบการณ์ของความสำเร็จ (Success Story Telling) หรือ SST ฯลฯ
  • บทบาทสำคัญของครูจะต้องเน้นทั้งเป็น ครูฝึก (Coach) เป็นทั้งพี่เลี้ยง (Mentor) และเป็นทั้งหมอใจให้คำปรึกษา (Counseling)  แตกต่างกันไปตามแต่เหตุปัจจัย สถานการณ์ และประสบการของผู้เรียนแต่ละคน อ่านหลักการ CMC ได้ที่นี่ 
  • นักเรียนจะได้ฝึกนำ ปศพพ. ไปใช้ในชีวิตในกิจกรรม คือ สามารถถอดบทเรียนผลการปฏิบัติ ตามหลักปฎิบัติแบบ ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ๔ มิติได้
o   ก่อนจะทำคิดพิจารณาว่า ความรู้ที่ต้องใช้มีอะไรบ้าง 
o   เรามีความรู้ประสบการณ์เพียงพอ มั่นใจหรือไม่ 
o   หากไม่ จะสืบค้นหาความรู้หลักวิชานั้นมาอย่างไร คือ Review ทบทวนอย่างไร
o   มีใครทำสำเร็จ เป็นแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) เรื่องนั้นหรือไม่ เขาทำอย่างไร ปัจจัยของความสำเร็จของเราคืออะไร 
o   เหตุผลที่เรามี ดีและถูกต้องหรือไม่ 
o   วิธีการที่เราจะทำถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ คิดก่อน วางแผนก่อน
o   พอประมาณกับศักยภาพของเรา กับเวลาที่เรามี กับความดีหรือกำลังทรัพย์ของเราหรือไม่ 
o   ตรงไหนที่น่าจะเป็นปัญหา จัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น 
o   จะวัดผล ประเมินผลอย่างไร ถึงจะรู้ว่าบรรลุได้ตามที่คาดหวัง 
o   ผลที่เกิดขึ้นจะดีต่อเราอย่างไร จะดีต่อผู้อื่นหรือไม่ จะดีต่อใคร จะมีผลอย่างไรใน ๔ มิติ 
 
ขั้นที่ ๓ ฝึกเรียนรู้ด้วยตนเอง
 
พัฒนาทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ โดยการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียน โดยครูทำหน้าที่เป็นเพียงผู้อำนวย ช่วยเหลือแนะนำเท่าที่จำเป็น คอยตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างรอบด้าน รู้ลึกขึ้น ละเอียดขึ้น ขั้นตอนนี้เน้นการจัดการเรียนรู้บนฐานปัญหาจริง เพื่อฝึกทักษะชีวิต ทักษะการแก้ปัญหา สามารถเชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้กับการดำเนินชีวิตได้ สิ่งสำคัญคือ ผู้เรียนจะต้องคิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเอง และนำเสนอผลงานด้วยตนเอง
 
 
รูปที่ ๔ แสดงหลักคิด ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
 
  • หลักสำคัญคือ นักเรียนเป็นผู้คิดทำทั้งหมดทุกขั้นตอน ตั้งแต่ ตั้งปัญหาเอง ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ตั้งสมมติฐาน ออกแบบการตรวจสอบสมมติฐานนั้น ทำการทดลองพิสูจน์เรียนรู้ และเป็นผู้นำเสนอหรือเผยแพร่ 
  • ครูมีบทบาทเน้นเป็น "ผู้อำนวย" (Facilitator) อำนวยให้เกิดการเรียนรู้ เป็นพี่เลี้ยง (Mentor) ดูอยู่ห่างๆ เพื่อกำกับทิศทาง และให้คำปรึกษาเมื่อจำเป็น 
  • กระบวนการเรียนรู้ที่ดี และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในขั้นนี้ คือ การเรียนรู้บนฐานปัญหา (Problem- based Learning) หรือ PBL อ่านแนวทางการเรียนการสอนแบบ PBL ที่ดีได้ที่นี่  
  • การเรียนรู้ด้วยตนเอง จะช่วยเสริม "แรงบันดาลใจ" ในการเรียนรู้ให้กับตนได้เอง 
  • นักเรียนจะได้ฝึกฝนตนเอง โดยการคิดและทำ บนหลัก ปศพพ.  สู่การเป็น "คนพอเพียง" ที่ ดี เก่ง และมีความสุขในการดำเนินชีวิต 
  • การฝึกให้นักเรียน "พึ่งตนเอง" ด้วยการฝึกให้ "เรียนรู้ด้วยตนเอง" ถือเป็น ภูมิคุ้มกันที่ดี ในศตวรรษใหม่นี้นั่นเอง 
หมายเลขบันทึก: 563967เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2014 03:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มีนาคม 2014 03:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าสนใจมากเลยครับ กระบวนการน่าติดตาม

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท