ขับเคลื่อน PLC ณ โรงเรียนบ้านเขวาทุ่ง อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม (๑)


วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๗ ผมได้รับโอกาสอันมีคุณค่า จาก ศน. กวิสรา ชื่นอุรา ศึกษานิเทศก์จากสำนักงานเขตการศึกษาประถมศึกษา เขต ๒ จ. มหาสารคาม เชิญผมเป็น "วิทยากรบรรยาการณ์" เพื่อเสริมการขับเคลื่อนงานในโครงการเสริมศักยภาพนักเรียนรายบุคคลในโรงเรียนนำร่องเพื่อศตวรรษที่ ๒๑ หรือชื่อเล่นคือ "โรงเรียนอัจฉริยะจรรยา" ซึ่งผมเองเคยร่วมประชุมกับคณะกรรมการดำเนินโครงการนี้ ก่อนจะจังหวะไม่ดีที่จะได้ลุยต่อเนื่อง โรงเรียนบ้านเขวาทุ่งเป็นหนึ่งใน ๑๒ โรงเรียนจาก ๖ จังหวัดทั่วประเทศที่ถูกคัดเลือกเข้าร่วมโครงการนี้



การสร้างชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ (PLC) ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกว่า ๓๐ คน จาก สพป.มค. เขต ๒ สามท่าน ได้แก่ ศน.อุไรวรรณ ลครรำ ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ศน.บัญชา สุวรรณโท และ ศน.กวิสรา สุวรรณโท (คนเดียวกับที่นามสกุล ชื่นอุราครับ)  บุคลากรจากโรงเรียนบ้านเขวาทุ่ง นำโดย ผอ.เพ็ญศรี ศรีสุนารถ พร้อมคณะครูรวม ๒๑ ท่าน และจากโรงเรียนบ้านมะชมโนนสง่า รวม ๘ คน นำโดย ผอ.สุธินันท์ ยศพล


แนวคิดของ "โรงเรียนอัจฉริยะจรรยา" คือ ตรวจสอบความถนัดและลักษณะการเรียนของเด็กด้วยการสแกนลายนิ้วมือ นำข้อมูลมาพัฒนาศักยภาพนักเรียนรายบุคคล แล้วสะแกนลายนิ้วมืออีกครั้งเพื่อเปรียบเทียบ วิเคราะห์ สรุปผล

ผมทำ BAR กับ ศน.กวิสรา และ ผอ.เพ็ญศรี ทราบว่า ท่านทั้งสองอยากให้ครูรู้จัก PLC และควรจะมีแนวทางการดำเนินการหรือแนวปฏิบัติที่ชัดเจน สอดคล้องกับการทำ BAR กับครูทุกคนด้วยการให้เขียนลงในกระดาษโพสท์อิท ส่วนใหญ่บอกว่าอยากได้ "แนวคิด แนวทาง กระบวนการ วิธีการทำ PLC"  "อยากได้วิธีการสอนการคิดที่หลากหลาย"....  ผอ.เพ็ญศรี เล่าว่า โรงเรียนอัจฉริยะจรรยา ผ่านการสแกนลายนิ้วมือรอบแรกแล้ว โรงเรียนกำลังสนใจพัฒนาเรื่อง PLC และ PBL ท่านและตัวแทนครูอีก ๒ คน ได้ไปฝึกอบรมที่เชียงใหม่เรื่อง การจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ แล้ว แต่ยังไม่ได้รับโอนงบประมาณในส่วนที่จะมอบให้โรงเรียนมาพัฒนานักเรียน

หลังกิจกรรมละลายพฤติกรรม ผมใช้วิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยทำหน้าที่เป็น คุณอำนวย (Facilitator) ก่อนในช่วงแรก เพื่อเก็บข้อมูลความรู้เดิม ก่อนจะใช้การบรรยายแบบ "วิทยากรบรรยาการณ์" เล่าประสบการณ์การขับเคลื่อน PLC ของตนเอง และปิดท้ายด้วยการ เสนอแนวทางการดำเนินงาน ๘ ประการให้ท่าน ผอ. และครูนำไปพิจารณาปฏิบัติ

ผมใช้การละลายพฤติกรรมง่ายๆ ด้วยการให้แนะนำชื่อและบอกอาหารที่ชอบ โดยต้องแนะนำทุกคนที่ผ่านมาซึ่งต้องจำ ก่อนจะแนะนำตนเอง  ผม AAR ว่า "ละลาย" ได้พอสมควร...


บันทึกต่อไป จะมาให้รายละเอียดครับ

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 563964เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2014 02:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มีนาคม 2014 02:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท