ขับเคลื่อน PLC ที่ สพป.3 มหาสารคาม_01 : ในที่สุดผมก็ต้องบรรยาย



วันที่ 21-23 พฤษภาคม 2556 ผม "รับ" เป็น "วิทยากรบรรยาการณ์" เพื่อช่วย สพป.เขต 3 มหาสารคาม ขับเคลื่อน PLC ในเขตพื้นที่ (ขออภัยที่ต้องตั้งคำใหม่นะครับ ผมเรียกแบบนี้เพื่อเตือนไม่ให้ตนเองตกร่อง "บอก สอน ป้อน บรรยาย" ซึ่งผมได้เตื่อนตนเองไว้ที่นี่) คำว่า วิทยากรบรรยาการณ์ มาจากคำว่า วิทยากร+บรรยาย+เหตุการณ์ ต่างจากการ บรรยายตรงที่เน้นการ "เล่าเรื่อง" มากกว่าการ "บอกสอนป้อนบรรยาย"

ผมไปบรยาการณ์วันละประมาณ 2 ชั่วโมง ที่ สพป. 3 โกสุมพิสัย 3 วันติดกัน แต่ละวันลงรายละเอียดแตกต่างกัน กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของการบรรยาย เป็นวิธีใหม่ในการนำเสนอ ในช่วงหนึ่งผมบอกกับเวทีนี้ว่า "..... ทุกครั้งที่ผมจะไปทำกระบวนการที่ไหน ผมจะต้องคิดสิ่งใหม่ๆ ไปด้วย เพราะนั่นคือสิ่งที่จะทำให้ผมได้เรียนรู้ไปด้วย...." 

ผมขออนุญาตเขียนบันทึกนี้รวบยอดทั้ง 3 วันไว้ที่เดียว การเขียนกึ่งทำเอกสารเผยแพร่นี้ น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าเขียนบันทึกเหตุการณ์อย่างเดียว  ท่านสามารถดาวน์โหลดสไลด์ที่ใช้บรรยายได้ที่นี่ครับ PLC สพป เขต 3 มหาสารคาม.pdf


ต่อไปนี้คือสรุปที่ผมบรรยายทั้ง 3 วันครับ 

สไลด์ที่ 1

ผมเริ่มด้วยสไลด์นี้ครับ เพื่อบอกเป้าหมายของโครงการ LLEN (Local Learning Enrichment Network) หรือ เครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการพัฒนาการเรียนรู้ คือการ สร้างชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ (Professional Learning Community) หรือ PLC  โดยใช้บทบาทของผู้รับผิดชอบศูนย์พัฒนาวิชาการเพื่อการเรียนรู้ หรือ CADL (Center of Academic Development Center) ซึ่งสังกัดสำนักศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ครูเพื่อศิษย์ คือ ครูที่ทำเพื่อศิษย์  ครูที่ทำเพื่อให้ศิษย์มีทักษะต่อไปนี้ที่สำคัญ 4 ประการด้วยกัน (ผมอ้างถึง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่เสนอ 4 ที่ทักษะที่สำคัญที่สุด) คือ ทักษะการสร้างแรงบันดาลใจ ทักษะการเรียนรู้ ทักษะการทำงานเป็นทีม และ วินัยในตนเอง  ...

สไลด์ที่ 2

ผมสรุปหัวเรื่องที่จะนำเสนอไว้ 5 เรื่องดังสไลด์ด้านล่างครับ หลังจากกำหนดเป้าหมายร่วมกันแล้ว สิ่งที่เราจะเข้าใจและไปในแนวทางด้วยกันได้เร็ว ทุกคนควรเข้าใจธรรมชาติของการเรียนรู้ของมนุษย์ และกำหนดข้อตกลงที่เราต้องยอมรับซึ่งเป็นผลสรุปจากงานวิจัยที่เขาทำกันมานาน จากนั้นจะพูดถึงเรื่องการจัดการเรียนรู้สู่นักเรียน นักเรียนเรียนด้วย PBL และครูทำงานเป็นทีมแบบ PLC

 

สไลด์ที่ 3

ผมได้รูปมาจากเว็บไซต์ของโรงเรียนสภาราชินี 2 (ขอขอบคุณและขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ)  เพื่อให้เขียนสะดวกขึ้น ผมขออนุญาตเปลี่ยนโหมดการบันทึกเป็นบุรุษที่หนึ่ง...โดยจินตนาการถึงสิ่งที่ผมพูดไปใน 3 วันนั้น ก็แล้วกันนะครับ

..... ผมเคยไปประชุมที่กรุงเทพฯ ที่จัดโดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ มีหมอสามท่านที่กระโดดเข้ามาร่วมกันพัฒนาการศึกษาอย่างจริงจัง คือ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ และ หมอสมศักด์ ชุณหรัศมิ์  หมอวิจารณ์ทุกท่านคงทราบดี หมอสมศักดิ์ทำโครงการ R2R  ส่วนหมอประเสริฐท่านเป็นจิตแพทย์ชื่อดัง ผมได้เรียนรู้จากท่านว่า เราสามารถปลูกฝังหรือกระตุ้นแรงบันดาลใจให้นักเรียนได้โดยการทำให้เขามั่นใจในตนเอง นักเรียนที่จะมั่นใจในตนเอง เขาจะต้องรู้สึกว่า ฉันทำได้ ฉันสร้างสรรค์ได้ และฉันมีความสำคัญ (โดยแต่ละขั้นตอนเป็นเรียกเป็นภาษาหมอว่า ขั้น Autonomy, Initiative, และ Industry ตามลำดับ ผู้สนใจเชิญค้นเถิด).

... หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า การดุด่าว่ากล่าว แต่ละครั้ง ทำให้นักเรียนรู้สึกว่า "ฉันทำไม่ได้" การถามคำถามยากๆ ที่เน้นเนื้อหาแต่ละครั้งที่นักเรียนตอบไม่ได้ ...."ฉันทำไม่ได้" .....หลักสูตรและวิธีการประเมินผลที่เน้น "ได้-ตก" ทุกๆ ครั้งก็จะมีนักเรียนที่รู้สึกว่า ...."ฉันทำไม่ได้" .....นักเรียนที่เจอแบบนี้บ่อยๆ จากหน้าห้องก็จะค่อยๆ ถอยออกห่างครู และเรียนอย่างทรมาร และอันตธานหายไปจากห้องในที่สุด.....

... อีกประเด็นที่สำคัญที่พบได้กันทั่วไปในโรงเรียนตอนนี้ คือ นักเรียนจะไม่ค่อยได้รู้สึกว่า "ฉันคิดได้เอง ฉันสร้างสรรค์ได้เอง" เท่าใดนัก เพราะกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งในห้องและนอกห้อง หรือแม้แต่วิชาโครงการก็เป็นโครงงานแบบ "ลองทำตาม" หรือ "ทำตามครู" (ผมเขียนเรื่องนี้ไว้ที่นี่ครับ) ทำให้นักเรียนไม่ได้คิดตั้งคำถาม หาปัญหา หรือฝึกออกแบบการแก้ปัญหาด้วยตนเอง ทำให้พวกเขาไม่ได้รู้สึกว่า "ฉันคิดได้เอง" มากนัก จึงทำให้ความมั่นใจในตนเองที่จะคิดอะไรใหม่ๆ นั้นน้อยมาก ....อันนี้ทุกคนใครๆ ก็ย่อมยอมรับ...

... ส่วนสำคัญอีกประการคือ เราต้องพยายามทำให้นักเรียนทุกคนรู้สึกว่า "ฉันสำคัญ" รู้สึกว่าเขาเป็นส่วนสำคัญในทีม ชีวิตการเป็นนักเรียนเป็นชีวิตที่มีคุณค่าและความหมาย ซึ่งสามารถออกแบบให้เกิดได้ด้วยการพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม ซึ่งปัจจุบันคนไทยยังขาดเรื่องนี้แบบวิกฤตทีเดียว สังเกตจากทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย "งานกลุ่มทำเดี่ยว งานเดี่ยวทำกลุ่ม" งานกลุ่มทำเดี่ยวก็คือการลอกการบ้าน ส่วนงานเดี่ยวทำกลุ่มคือการ "กินแรง" เพื่อนอย่างไม่รู้สึกผิดอะไรเลย.....  ทักษะการทำงานเป็นทีมที่ดีจะทำให้นักเรียนทุกคนได้เรียนรู้ ได้รู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ และทำให้เกิดความภูมิใจในตนเอง และนำมาสู่ความมั่นใจในตนเอง

ความมั่นใจในตนเองของนักเรียน สามารถสังเกตได้ง่ายจาก การที่พวกเขา "กล้าคิด กล้าพูด กล้าตัดสินใจ" และโดยเฉพาะการ "กล้านำเสนอ ความคิด และผลงานของตนเอง" ซึ่งถือเป็นทักษะสำคัญในยุคไร้พรมแดนและแข่งขันนี้ ...

...และที่สำคัญที่สุด..... ผลงานวิจัยชี้ชัดว่า คนที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้ คือคนที่มีความมั่นใจในตนเองเท่านั้น....(ผมเขียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงตนเองไว้ทีนี่ครับ)

สรุปสไลด์นี้ ผมแค่เพียงปรับจูนเป้าหมายของเราให้ตรงกันว่า เป้าหมายของเราคือนักเรียน ไม่ใช่อะไรหรือเพื่อใครทั้งนั้น

(ขอเขียนต่อในบันทึกหน้านะครับ)




หมายเลขบันทึก: 537150เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2013 12:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2013 16:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ยินดีจริงที่ได้มาอ่านบันทึกนี้และดีใจมากๆครับแทนเด็กด้วยสำหรับ "คณุเพื่อศิษย์ครับ "  ขอบคุณครับ..


ขอบคุณครับ คุณลูกหมูเต้นระบำ ได้กำลังใจมากทีเดียวครับ

การบรรยายยังจำเป็นอยู่ ตราบใดที่ทุกคนมีพื้นฐานมาไม่เหมือนกัน

ขอบคุณค่ะ เข้าใจมากยิ่งขึ้นมีโอกาสขอเข้าร่วมเรียนรู้ด้วยค่ะ มีโอาสได้สร้างพื้นที่ครูเพื่อศิษย์ร้อยเอ็ดด้วยนะคะ


การที่นักเรียนได้นำเสนอทุกกลุ่ม ครูเพิ่มเติมส่วนที่ขาดจะทำให้ปรับพื้นฐานได้อีกวิธีหนึ่งค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท