ดับฝัน (การศึกษา) ที่จันทบูร


เมื่อจบชั้นป.6 จากโรงเรียนสฤษดิเดชก็วิ่งขึ้นเนินมาสอบเข้าระดับม.1 โรงเรียนมัธยมชายประจำจังหวัด เขาเปิดรับเด็กใหม่เกือบสิบห้อง ใครสอบได้คะแนนดีก็ถูกจัดให้อยู่ห้องต้นๆ ไล่กันไปเรื่อยๆ เด็กชั้นม.1 สมัยนั้นยังได้ทันเรียนที่อาคารเล้าไก่ชั้นเดียวอยู่หนึ่งปีก่อนย้ายขึ้นตึกปูนเมื่อขึ้นม.2 เด็กห้องหนึ่งกับห้องสองถือเป็นหัวกะทิของโรงเรียน จนจบชั้นม.3 ก็ถูกคัดตามเกณฑ์เพื่อให้มีสิทธิเรียนต่อชั้นม.4 ใครไม่ถึงเกณฑ์อยากเรียนต่อก็ต้องไปสอบแข่งกับเด็กที่มาจากโรงเรียนอื่นๆ ทั่วจังหวัด รวมถึงนักเรียนหญิงวัยรุ่นต้นๆ ที่พึ่งจบม.3 จากโรงเรียนหญิงประจำจังหวัดเดินข้ามฟากถนนเข้ามาท้าทายความเป็นชายถึงถิ่น และน้อยมากที่จะเห็นเด็กชายวัยว้าวุ่นกล้าหาญเดินข้ามไปเรียนยังอีกฝั่ง

เพื่อนหลายคนในห้องพ่อแม่ได้ย้ายเข้าไปเรียนต่อม.ปลายในมหานครกรุงเทพ หลายคนออกไปเรียนสายอาชีพ อีกหลายคนยังเรียนต่อที่เดิม และมีคนนึงมันเจ๋งวิ่งข้ามไปต่อที่โรงเรียนหญิงประจำจังหวัด ระดับมัธยมปลายแบ่งเป็นสายวิทย์กับสายศิลป์อย่างชัดเจน หกห้องแรกจัดเป็นสายวิทย์ อีกสามห้องที่เหลือเป็นสายศิลป์ ห้องนึงมีเด็กเรียนราวสี่สิบคน สัดส่วนวัยรุ่นชายและวัยรุ่นหญิงพอๆ กัน เด็กชายที่มาจากชั้นม.3 เดิมถูกจัดให้ขึ้นชั้นแบบคละเคล้ากันไปตามห้องต่างๆ เด็กห้องหนึ่งถือว่าไม่ทิ้งห่างเด็กห้องหกมากนักถ้าเทียบในแง่การทำคะแนนสอบ

ค่าเรียนในแต่ละเทอมจำตัวเลขไม่ได้ว่าเท่าไร รู้แต่ว่าน้อยมากคงหลักร้อย ที่จำได้แม่นคือมีเด็กจำนวนมากที่มีแค่ค่ารถสองแถวไปกลับกับค่าข้าวกลางวันนิดหน่อย ที่ต้องปั่นจักรยานกับห่อข้าวไปเรียน ที่ต้องเดินด้วยส้นตีนหรือโบกรถไปกลับวันละเป็นสิบกิโล ที่เป็นเด็กวัดแก่นเกเร ที่บ้านอยู่ในชุมชนบ้านเช่าแถวซอยเทคนิคหรือซอยอื่นๆ ที่เป็นลูกชาวสวนชาวไร่ในซอกหลืบป่าเขาที่ห่างไกลตัวเมืองเช่นมะขามทับไทรยันสอยดาว หรือลูกชาวเลจากย่านแหลมสิงห์หนองชิ่มถึงเกาะเปริด ก็ยังเรียนจนจบม.6 แบบไม่อายใครและไม่มีใครมาดูถูกดูแคลนตลอดวัยว้าวุ่นทั้งหกปีนั่น

ยี่สิบห้าปีผ่านไปตามที่นักทฤษฎีเขาว่าประเทศบ้านเราได้พัฒนาจากประชาธิปไตยครึ่งใบมาเป็นเต็มใบจนจะล้นใบอยู่ ณ พ.ศ.ปัจจุบัน รุ่นลูกรุ่นหลานก็กำลังตัวเกร็งวิ่งหาที่สอบที่เรียนต่อระดับประถมมัธยมกันให้วุ่น หลายสิ่งไม่เหมือนเดิมโลกทางการศึกษาเปิดกว้างออกสู่ความทันสมัยภายนอกเช่นเออีซีและสากลนานาชาติ ตามด้วยการเรียนแบบแข่งขันกันเป็นหนึ่งที่เคี่ยวและเข้มข้นทั้งในวิทยาการและภาษาสากล

กลายเป็นค่านิยมของพ่อแม่ผู้ปกครองต่างพากันดาหน้าพยายามส่งลูกให้ถึงฝั่งฝัน ที่อยู่ต่างอำเภอไกลก็ดันสุดตัว อย่างน้อยๆ ลูกต้องมาเรียนในโรงเรียนระดับประถมและมัธยมในตัวจังหวัดให้ได้ ที่อยู่ในจังหวัดที่รู้ข้อมูลวงในดีก็ดันสุดตัวให้ลูกอยู่ในห้องพิเศษสุดเคี่ยวของโรงเรียนประจำจังหวัด หรือดันต่อไปยังม.ปลายในโรงเรียนชื่อดังระดับประเทศเพื่อมหาลัยปลายทางที่ดีที่สุดเปิดรออยู่

โรงเรียนวัดประจำหมู่บ้านจนถึงโรงเรียนประจำอำเภอเด็กก็ค่อยๆ หดหาย บางโรงเรียนเช่นวัดโป่งแรดและวัดดอนตาลที่อยู่ห่างจากตลาดจันท์ไม่กี่กิโลเมตร มีเด็กเหลือให้เรียนทั้งโรงไม่ถึงร้อย อาคารเรียนเดิมมีตั้งสองสามอาคารมาตรฐานรองรับเด็กเรียนสบายๆ ห้องละสามสิบคนได้ถึงสองสามร้อยคนเหมือนช่วงสมัยก่อนประชาธิปไตยเต็มใบ เมื่อเด็กน้อยลงในหลายกรณีครูเองก็ทำหน้าที่ไม่เต็มกำลัง นานเข้าก็ท้อไปทั้งครูทั้งนักเรียนสอนกับเรียนกันไปวันๆ แนวโน้มจะโดนยุบวันไหนยังไม่รู้ ที่เห็นพอยังรักษาความเป็นโรงประถมใหญ่พอตัวอยู่นอกเมืองไปสี่ห้ากิโลและขยายโอกาสก็วัดพลับพลา มีเด็กเรียนหลายร้อยจากชุมชนเกิดใหม่ที่ย้ายถิ่นฐานมาจากทางภาคอีสาน ส่วนเด็กพื้นบ้านเดิมวิ่งเข้าไปเรียนในตลาดกันหมด คำถามที่อยากถามดังๆ คือในยุคประชาธิปไตยที่เขาอ้างกันนักหนาว่าเบ่งบานเช่นนี้ ทำไมคุณค่าของโรงเรียนเล็กๆ ที่สะดวกสบายใกล้ชุมชนอยู่ในวัดน่าอยู่น่าเรียนแบบนี้จึงหายไปหมดทั้งครูและนักเรียน

สภาพเด็กทั้งจังหวัดจึงอัดกันเข้ามาอยู่ในตัวจังหวัดมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆ ปี แค่สามสี่โรงประถมและมัธยมที่อยู่บนเนินหน้าค่ายตากสินตอนนี้ก็เป็นหมื่นคนแล้ว รถพ่อแม่รถรับส่งเด็กนักเรียนในตอนเช้าและเย็นติดพอๆ กับถนนสุขุมวิทในกรุงเทพ รถตู้โตโยต้ารุ่นใหม่คอมมิวเตอร์จอดเรียงรายกันเป็นแถวรอบโรงเรียนหลังจากส่งเด็กตอนเช้าเสร็จเรียบร้อย ค่ารับส่งเดือนนึงต่อหัวคงไม่ต่ำกว่าพันห้า ไม่นับรถแก๊งเด็กแว้นออกใหม่คันละห้าหกหมื่นที่จอดเต็มทั้งในโรงเรียนมัธยมและทะลักออกมาจอดที่ข้างรั้วโรงเรียนเรียงแถวยาว จักรยานที่เคยจอดเต็มก็หายไป หลายๆ รายบ้านอยู่ไกลต่างอำเภอถึงกับย้ายมาเช่าอยู่หอพักที่ปรับปรุงจากตึกแถวเดิมกันมากมายโดยรอบรั้วโรงเรียน สนนราคาค่าห้องเดือนละสองสามพันบาท นี่ขนาดเรียนกันแค่ระดับมัธยม

อาคารเรียนสามสี่ชั้นนั่นก็ขึ้นเบียดเสียดจนเกือบเต็มพื้นที่ สนามหญ้าให้เด็กวิ่งเล่นและทำกิจกรรมเหลือไม่ถึงครึ่งของสนามฟุตบอล นี่มันกรุงเทพที่คนอยู่กันเป็นสิบล้านหรือเมืองจันท์ที่มีประชากรแค่ห้าแสนคน จำนวนเด็กเรียนต่อห้องทั่วไปในระดับชั้นมัธยมขึ้นไปสี่สิบห้าถึงห้าสิบคน มีการเปิดโปรแกรมการเรียนพิเศษใหม่ๆ ขึ้นมากมายชื่อจำไม่หวาดไม่ไหว ขึ้นต้นเป็นภาษาอังกฤษทั้งนั้นนัยเพื่อหลีกเลี่ยงสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ

โดยเฉพาะโรงเรียนระดับมัธยมชายประจำจังหวัดที่นำโด่งสุดกู่ เปิดรับครูต่างชาติเข้าไปสอนกันเป็นว่าเล่น ส่วนครูไทยที่สอนด้วยภาษาไทยมาตลอดชีวิตในวิชาเฉพาะต่างๆ และปวดหัวกับการสอนเด็กวัยกำลังรุ่นมากพออยู่แล้ว ก็ดันถูกบังคับให้สอนเป็นภาษาสากลเข้าไปด้วย คิดเข้าไปได้ยังงงไม่หาย สุดท้ายทั้งเด็กทั้งครูไปกันคนละทิศละทาง ดอกผลไปเบ่งบานที่โรงเรียนกวดวิชาทั้งหลายแค่เปิดสอนวิชาเฉพาะที่งงๆ ด้วยภาษาไทยง่ายๆ ให้เด็กเข้าใจก็รับไปชั่วโมงละสองสามร้อยต่อหัวยันหลายหมื่นต่อคอร์สเข้าไปนั่น หลายที่ก็ครูๆ นั่นแหล่ะเปิดสอนตั้งชื่อเป็นสถาบันสวยหรู กวดทั้งสอบเข้าโน่นนี่จนถึงวิชาในชั้นเรียนปัญหาข้อสอบรั่วไหลก็ตามมา สิ้นเทอมสิ้นปีปิดบัญชีปิดสถาบันพาบรรดาครูผู้สอนบินลัดฟ้าทัวร์เมืองนอกกันทุกปี เงินผู้ปกครองเนื้อๆ เต็มๆ ทั้งนั้น จากสถานการศึกษาก็แปรเปลี่ยนผันเป็นธุรกิจการศึกษาอย่างชัดเจน

ที่หนักไปกว่านั้นเมื่อเปิดเป็นโปรแกรมพิเศษสากล ค่าเล่าเรียนต่อเทอมก็ต้องว่าตามค่าความพิเศษ นี่ถือว่าราคายังต่ำกว่าสากลเช่นในเมืองกรุงอยู่มาก ไม่แพงเลยแค่สองหมื่นขึ้นต่อหัวต่อเทอมเท่านั้น ทดลองทำปีสองปีแรกผู้ปกครองมีตังค์ติดใจเลยขยายฐานโดยการเพิ่มห้องโปรแกรมพิเศษ แต่พื้นที่ขยายตึกโรงเรียนไม่มีแล้ว งั้นลดห้องธรรมดาลงเรื่อยๆ ตอนนี้สัดส่วนห้องพิเศษจึงขึ้นมาเกือบห้าสิบเปอร์เซนต์แล้วมั้ง แถมเด็กห้องธรรมดายังถูกละเลยความใส่ใจจากโรงเรียนเข้าไปอีก อันเนื่องจากจ่ายน้อยปัญหาเยอะหรืองัยไม่รู้ได้

คำถามคำโตจึงอยากตะโกนกรอกหูผู้บริหารมันเหลือเกินว่า ปรัชญาของโรงเรียนที่ตั้งไว้แต่เริ่มแรกหายไปไหน สัญลักษณ์ชื่อก็ของรัชกาลที่ห้ารูปปั้นของท่านก็ตั้งตระหง่านอยู่ทนโท่ รัชกาลที่หกสร้างให้เป็นอนุสรณ์ เป็นที่เล่าเรียนของลูกหลานประชาชนทั่วไปไม่ว่ารวยหรือว่าจน สูงเสียดฟ้าหรือว่าต่ำติดดิน ถ้าเด็กคนไหนมีความสามารถเข้ามาได้ก็ต้องได้เล่าเรียนจนจบครบกระบวนความอย่างเต็มที่ โดยไม่มีเรื่องทุนนิยมเงินตรามาบดบังโอกาสในการศึกษาอย่างเด็ดขาด อยากจะสร้างเด็กให้แข่งกับคนอื่นได้ไม่ใช่สิ่งผิดแต่ให้มันพอดีๆ ไม่ได้หรือ จะให้เก่งแกร่งปั้นได้ในร้อยทั้งร้อยก็คงไม่ใช่วิสัยคนธรรมดาทั่วๆ ไปในสังคม เรียนเพื่อให้มันรู้เท่าทันก็น่าจะถือว่าสัมฤทธิ์ผลแล้ว ที่สำคัญอย่าไปเบียดเบียนตัดโอกาสของเด็กคนที่เขาอยากเล่าเรียนแต่ไม่มีตังค์

นี่ก็แว่วๆ ว่าโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดอีกโรงที่รัชกาลที่หกท่านก็สร้างเป็นอนุสรณ์ เป็นที่เล่าเรียนของลูกหลานประชาชนโดยทั่วไปเช่นกัน และมีรูปปั้นของท่านตั้งเด่นสง่าอยู่หน้าตึกใหม่ ก็กำลังเดินตามรอยโรงเรียนฝั่งตรงข้ามอยู่ไม่ห่าง แล้วที่สุดลูกหลานคนทั่วไปจะมีโอกาสมีที่ยืนที่เรียนอย่างภาคภูมิได้ที่ไหนบ้างท่ามกลางกระแสทุนนิยมเสรี ที่หลงว่าเป็นของสากลที่ไหลหลากท่วมท้นไปทั้งสังคมเช่นนี้ ช่วยกันหาคำตอบหน่อยได้มั้ย  

จันทบุรี 16 มีนาคม พ.ศ. 2557 

หมายเลขบันทึก: 563963เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2014 02:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2014 15:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท