ขับเคลื่อน PLC ณ โรงเรียนบ้านเขวาทุ่ง อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม (๒) : PLC คืออะไร


 
ในรายงานฉบับสมบูรณ์ของโครงการ PLC ที่ผมทำกับ สพป.มค. เขต ๓ ผมได้เรียบเรียงความรู้เกี่ยวกับ PLC ไว้ส่วนหนึ่ง น่าจะมีประโยชน์กับครูบ้านเขวาทุ่งและมะชมโนนสง่า จึงคัดลอกมาลงไว้ที่นี่ครับ 
 
 
ตามหนังสือ “Learing by Doing: A Handbook for Professional Learning Communities at Work. (Four, Four, Eaker, & Many, 2010) บอกว่า ศาสตราจารย์ริชาร์ด ดู โฟร์ คือ “บิดาของ PLC” (PLC: Professional Learning Community) โดยเริ่มทำวิจัยและพัฒนาส่งเสริม PLC มาตั้งแต่ ปี ๒๕๕๑  ก่อนที่ ศาสตราจารย์นพ.วิจารณ์ พานิช “บิดาของ KM” ในประเทศไทย (ผู้วิจัย) (KM: Knowledge Management) เริ่มวิจัยและพัฒนาส่งเสริมการสร้าง CoP (Community of Practice)  ๕ ปี ในการตีความหนังสือเล่มนี้ (วิจารณ์, วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ ในศตวรรษที่ ๒๑, ๒๕๕๕) ท่านบอกว่า PLC ก็คือรูปแบบหนึ่งของ CoP นั่นเอง
 
นักการศึกษาไทยมักเริ่มตั้งคำถามถึงนิยามว่า “PLC คืออะไร” ก่อนคำถามตีความว่า “ทำไมต้องมี PLC” เหมือนๆ กับที่ตั้งคำถามว่า “KM คืออะไร” ซึ่งจะได้คำตอบหลากหลายกว้างลึกแตกต่างกันไปไม่ตายตัวขึ้นอยู่กับมุมมอง อย่างไรก็ตาม หลักการหนึ่งของการบริหารการเปลี่ยนแปลงคือ การมีถ้อยคำหนึ่งที่เข้าใจความหมายร่วมกันชัดเจน ดังนั้น ในเบื้องต้นการทำให้บุคลากรทางการศึกษารู้และเข้าใจคำว่า “PLC” ตรงกัน ก็ยังถือเป็นด่านแรกที่ต้องผ่านไปให้ได้ วิธีสื่อสารให้เข้าใจเรื่องนี้ที่ดีที่สุดน่าจะเริ่มจากการทำความเข้าใจเหตุที่ต้องมี PLC ประโยชน์ที่จะเกิดจาก PLC  และลักษณะของ PLC ก่อนจะกำหนดนิยามเพื่อตอบคำถามว่า “PLC คืออะไร”ต่อไป 
 
จากประสบการณ์กว่า ๑๐ ปีในการทำงานกับเขตพื้นที่การศึกษา (ในสหรัฐอเมริกา) พบว่า เขตฯ ที่ทำ PLC อย่างถูกต้อง ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนแตกต่างมากจากเขตฯ ที่ยังใช้การดำเนินการแบบ top- down บางโรงเรียนมีผลการเรียนดีมากและครูเกิดความกระตือรือร้น ทำงานร่วมกันอย่างเป็นทีม นักเรียนที่ล้าหลังได้รับช่วยเหลือจากทีมครู โดยที่ครูไม่ต้องทำงานนอกเวลางานปกติ ในขณะที่โรงเรียนที่ทำไม่ถูกต้องแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมเลย  และมีผลงานวิจัยมากมายชี้ว่า การดำเนินการและการพัฒนากระบวนการประเมินความก้าวหน้าในการเรียนที่ทำเป็นทีม โดยใช้แบบประเมินเดียวกันที่ร่วมกันพัฒนาขึ้น ดีกว่าวิธีการที่ครูต่างคนต่างทำ และต้องไม่ปล่อยให้ครูคนใดคนหนึ่งแยกตัวโดดเดี่ยวออกไปทำคนเดียว เพราะจะเป็นโทษต่อนักเรียนทำให้ผลการเรียนจะไม่ดี ความสำเร็จต่างๆ ทำให้ PLC แพร่ขยายไปทั่วสหรัฐอเมริการวมทั้งประเทศอื่นๆ ที่ต้องการพัฒนาและปฏิรูปการศึกษา เช่น สิงค์โปร์ เป็นต้น การนำ PLC มาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทและวัฒนธรรมของคนไทยในการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนในศตวรรษที่ ๒๑ น่าจะเป็นปัจจัยทำให้เกียรติภูมิและความสุขของครูไทยกลับมาอีกครั้ง 
 
หนังสือเล่มนี้บอกว่า เป้าหมายของ PLC คือการเปลี่ยนแปลงใน ๕ หมวด ดังต่อไปนี้

๑)       การเปลี่ยนแปลงปณิธานความมุ่งมั่นพื้นฐาน

จากเน้นการสอน
เป็นเน้นการเรียนรู้
จากเน้นสิ่งที่สอน
เป็นเน้นสิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้
จากการได้สอนครอบคลุมเนื้อหา
เป็นการแสดงให้เห็นว่านักเรียนมีความรู้และทักษะเหล่านั้น
จากการมอบคู่มือหลักสูตรแก่ครูแต่ละคน
เป็นจัดให้ทีม PLC ได้สร้างความรู้ร่วมกันเกี่ยวกับหลักสูตรที่จำเป็น

๒)       การเปลี่ยนแปลงการสอบ

จากการสอบเพื่อได้- ตกนานๆ ครั้ง
เป็นการสอบเพื่อให้นักเรียนปรับปรุงตนเอง และครูปรับปรุงวิธีจัดการเรียนรู้
จากการสอบเพื่อดูว่ามีนักเรียนคนไหนบ้างที่สอบตกตามเวลาที่กำหนด
เป็นการสอบเพื่อค้นหานักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม ให้กลับมาเรียนกับเพื่อนได้ทำ
จากการสอบเพื่อให้รางวัลหรือลงโทษนักเรียน
เป็นการสอบเพื่อสื่อสารและสร้างแรงจูงใจต่อการเรียนของนักเรียน
จากการสอบความรู้และทักษะหลายๆ อย่างนานๆ ครั้ง
เป็นการสอบความรู้และทักษะครั้งละน้อยๆ แต่สอบบ่อยๆ
จากการออกข้อสอบและจัดการสอบโดยครูแต่ละคน
เป็นการออกข้อสอบและจ้ดการข้อสอบโดยทีม PLC
จากสภาพที่ครูแต่ละคนเป็นคนกำหนดเกณฑ์ประเมิน
เป็น PLC ร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสร้างความสม่ำเสมอของการประเมินโดยครูในทีม
จากการเน้นการประเมินแบบใดแบบหนึ่ง
เป็นการประเมินโดยใช้การประเมินหลายแบบอย่างสมดุล
จากเน้นที่คะแนนเฉลี่ย
เป็นการเน้นตรวจสอบความก้าวหน้าของนักเรียนแต่ละคนในความรู้และทักษะแต่ละด้าน

๓)       การเปลี่ยนแปลงปฏิกิริยาหรือการดำเนินการเมื่อนักเรียนเรียนล้าหลัง

จากการตัดสินใจโดยครูคนเดียว
เป็นการดำเนินการอย่างเป็นระบบร่วมกันในทีม PLC เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้รับการดูแลช่วยเหลือ
จากการกำหนดเวลาและการเรียนรู้ตายตัวสำหรับนักเรียน
เป็นการจัดเวลาและบทเรียนอย่างยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงได้
จากการสอนซ่อม
เป็นการเรียนเพื่อให้เข้าใจ
จากการช่วยเหลือตามความสมัครใจนอกเวลาเรียน
เป็นการเรียนบังคับในเวลาเรียน
จากมีเพียงโอกาสเดียวที่จะได้เรียนรู้
เป็นมีหลายโอกาสที่จะแสดงว่าได้เรียนรู้

๔)       เปลี่ยนแปลงการทำงานของครู

จากโดดเดี่ยว
เป็นการทำงานเป็นทีม พุ่งเป้าร่วมกันที่การเรียนรู้ของศิษย์และครู
จากครูแต่ละคนคิดคนเดียวว่านักเรียนควรได้เรียนรู้อย่างไรบ้าง
เป็นทีม PLC ร่วมกันคิดว่า “ความรู้ที่จำเป็น” สำหรับนักเรียนมีอะไรบ้าง
จากครูแต่ละคนกำหนดลำดับความสำคัญของมาตรฐานการเรียนรู้
เป็นทีม PLC ร่วมกันกำหนดลำดับความสำคัญของมาตรฐานการเรียนรู้
จากครูแต่ละคนกำหนดความเร็วในการเรียน
เป็นทีม PLC ร่วมกันกำหนดและใช้อัตราความเร็วของการเรียนรู้
จากครูแต่ละคนพยายามค้นหาวิธีการเพิ่มผลสัมฤทธิ์ในการเรียน
เป็นทีม PLC ช่วยเหลือกัน
จากครูดำเนินกิจกรรมการสอนแบบเป็นกิจกรรมส่วนตัว ไม่เปิดเผย
เป็นครูแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการสอนและวิธีทำหน้าที่ครูอย่างเปิดเผยต่อกัน
จากการตัดสินใจตามความพึงพอใจส่วนตัว
เป็นการรวมตัวตัดสินใจตามความรู้จากประสบการณ์และ best practice ที่นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
จากการร่วมมือกันแบบเปะปะ ทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับผลสัมฤทธิ์ในการเรียน
เป็นการเน้นความร่วมมือในประเด็นที่มีลำดับความสำคัญสูงต่อผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของศิษย์
จากการคิดว่า “นี่ศิษย์ฉัน” นั่น “ศิษย์คุณ”
เป็น “ศิษย์ของเรา”

๕)       เปลี่ยนวัฒนธรรมของโรงเรียน

จากต่างคนต่างเป็นอิสระต่อกัน
เป็นการช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกัน
จากไวยากรณ์แห่งการบ่นว่า
เป็นไวยากรณ์แห่งความตั้งใจมุ่งมั่น
จากการวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว
เป็นการวางแผนให้เกิดผลสำเร็จระยะสั้นจำนวนมาก
จากการชื่นชมยกย่องเป็น “ครูดีเด่น” ปีละครั้ง
เป็นการยกย่องผลสำเร็จเล็กๆ ที่จำเพาะ และมีผู้ได้รับการยกย่องจำนวนมากและบ่อยๆ
 
PLC จะเปลี่ยนแปลงโรงเรียนและวงการศึกษาโดยสิ้นเชิง เปลี่ยนแปลงจากภายในระดับรากฐาน จิตสำนึก ถึงระดับโครงสร้าง  ถึงรากถึงโคน (transformation) ครูแต่ละคนจะทำหน้าที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ด้วยตนเอง เป็นผู้กระทำไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ เป็น “ประธาน” ไม่ใช่เป็น “กรรม” ครูจะรวมตัวกันเป็นชุมชน (Community) ที่ทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของอย่างเท่าเทียมกัน และสิ่งที่ทรงคุณค่าที่สุดที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกันคือ ความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพของการเรียนรู้ของนักเรียนเพื่อให้มีทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑ ผู้คนจะไม่หวงความรู้ จะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันอย่างเข้มข้นและเป็นทางการ โรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาจะกลายเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
 
PLC คือ กระบวนการต่อเนื่องที่ครูและนักการศึกษาทำงานร่วมกัน ในวงจรของการร่วมกันตั้งคำถาม และการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ เพื่อบรรลุผลการเรียนรู้ที่ดีขึ้นของนักเรียน โดยมีความเชื่อว่า หัวใจของการพัฒนาการเรียนรู้ให้ดีขึ้น อยู่ที่การเรียนรู้ที่ฝังอยู่ในการทำงานของครูและนักการศึกษา...

ศาสตราจารย์นพ.วิจารณ์ สรุปว่า PLC เป็นเครื่องมือของการเปลี่ยนชีวิตครู เปลี่ยนจาก “ผู้สอน” เป็น “นักเรียน” เปลี่ยนจาก “โดดเดี่ยว” เป็น “มีเพื่อน มีกลุ่ม” รวมตัวเป็นชุมชน ทำงานแบบปรึกษาหารือและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยมีเป้าหมายที่เด็ดเดี่ยวชัดเจน คือ ทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑ ของศิษย์ทุกคน 

๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕

ปัญหาที่แท้จริงของคนไทยในเรื่องการศึกษา คือ "ครูไม่อ่าน"...หมายถึง... บันทึกนี้จะไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย

หมายเลขบันทึก: 563965เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2014 02:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มีนาคม 2014 02:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท