ข้อสังเกต : ๕ ร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน ๒ ล้านล้านขัดรัฐธรรมนูญใครรับผิดชอบ


     ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน ๒ ล้านล้าน มีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ได้มีนักวิชาการตลอดจนนักการเมืองบางส่วนออกมาเรียกร้องให้รักษาการนายกรัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ด้วยการลาออก

     ผมคงไม่กล่าวถึงในส่วนมติของศาลรัฐธรรมนูญเนื่องจากยังไม่ได้เห็นคำวินิจฉัยส่วนตนและคำวินิจฉัยกลาง จึงไม่เหมาะสมที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่อยากจะตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการรับผิดชอบในกรณีดังกล่าวว่าใครควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อกระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่ก่อนที่จะตั้งข้อสังเกตนั้น ผมขออธิบายถึงหลักการสำคัญบางประการก่อน ดังนี้

     ประการแรก ขอให้ทำความเข้าใจกันก่อนว่าใน “ระบบรัฐสภา” ของไทยนั้น นายกรัฐมนตรีมาจากความไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎร กล่าวคือ สภาผู้แทนราษฎรจะเป็นคนเลือกนายกรัฐมนตรีขึ้นมาทำหน้าที่ฝ่ายบริหารประเทศ คำว่า “บริหาร” นี้โดยทั่วไปหมายถึงการจัดการในเชิงนโยบายมากกว่าในทางปฏิบัติ เพราะในทางปฏิบัติแล้วเป็น “เจ้าหน้าที่” ของรัฐที่ทำหน้าที่สนองตามนโยบายของรัฐบาล

     ประการที่สอง อำนาจนิติบัญญัติเป็นของ “รัฐสภา” ซึ่งประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมาย และให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย

     ประการที่สาม การใช้อำนาจในการควบคุมร่างพระราชบัญญัติไม่ให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญนั้น แม้ดูเหมือนเป็นการใช้อำนาจตุลาการ แต่จริงๆ แล้วเป็นการใช้ “อำนาจนิติบัญญัติในเชิงปฏิเสธ” (คือคอยตรวจสอบการใช้อำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภา และวินิจฉัยว่ากฎหมายใดชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ)

     จากหลักการดังกล่าวข้างต้น เมื่อมีผู้กล่าวว่า หากร่างกฎหมายฉบับใดไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นร่างกฎหมายสำคัญ (จะดูว่าสำคัญหรือไม่สำคัญดูว่าเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่จะต้องผลักดันให้เกิดกฎหมายดังกล่าวหรือไม่) รัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ข้อความลักษณะแบบนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งและสอดคล้องกับนานาประเทศที่มีวัฒนธรรมในการรับผิดชอบทางการเมืองที่ดี เพราะหลักการประการแรกได้กล่าวไว้แล้วว่ารัฐบาลมาจากความไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎร ถ้าสภาไม่ผ่านร่างกฎหมายที่รัฐบาลผลักดันให้เกิด ก็เท่ากับสภาฯ ไม่ไว้ใจรัฐบาลเสียแล้ว รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ สมควรต้องลาออก ส่วนลาออกแล้วสภาฯ เลือกกลับมาเป็นนายกอีกหรือไม่ก็ค่อยว่ากันต่อไป อีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลอยู่ได้ด้วยความไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎร ก็คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล (รายบุคคลหรือทั้งคณะ) ซึ่งหากผลการลงมติออกมาว่าไม่ไว้วางใจมากกว่าไว้วางใจเสียแล้ว รัฐบาลก็จะพ้นจากตำแหน่ง (รายบุคคลหรือทั้งคณะแล้วแต่กรณี)

     แต่ในกรณีร่างพระราชบัญญัติกู้เงินที่เป็นข่าวนี้ เป็นร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่า รัฐสภาไม่ได้ไม่ไว้วางใจรัฐบาล แต่เมื่อรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบการตรากฎหมายไม่ให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภา ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน

     สรุปแล้ว ถ้าเอาหลักการทฤษฎีมาปรับใช้ เราจะเห็นได้ว่า ผู้ที่ต้องรับผิดชอบในกรณีดังกล่าวจริงๆ ต้องเป็นรัฐสภา ที่ปล่อยให้มีกระบวนการในการตรากฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น แต่สภาผู้แทนราษฎรก็ถูกยุบไปแล้ว ทั้งนี้ถ้ามีผู้เห็นว่ารัฐบาลยังควรต้องรับผิดชอบเพราะเป็นผู้ผลักดันกฎหมาย และได้มีการยื่นเรื่องเพื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรีนั้น ก็คงจะต้องติดตามข่าวกันต่อไป ผมคงตั้งข้อสังเกตเพียงเท่านี้ในฐานะอาจารย์ที่เคยสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญเท่านั้น หากท่านผู้อ่านจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็โปรดใช้วิจารณญาณของตนตามสะดวก ไม่จำเป็นต้องเหมือนผมแต่อย่างใด

หมายเลขบันทึก: 563836เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2014 23:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มีนาคม 2014 23:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

...หนี้สินที่รัฐบาลแต่ละยุค แต่ละสมัยทำเอาไว้มีผลต่อประชาชนทุกคน...เป็นผู้รับผิดชอบนะคะ ...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท