ข้อสังเกต : ๓ เก็บข่าวเอามาคิด


ช่วงนี้เห็นข่าวน่าสนใจอยู่ ๒ ข่าว คือ ข่าวเครื่องบินหาย กับข่าวลูกฆ่าคนในครอบครัวตัวเอง

ก็ลองมาคิดในมุมกฏหมายมรดกดู นะครับ สมมุติว่ามีเหตุการณ์ ๒ เหตุการณ์

เหตุการณ์ที่ ๑ พ่อ แม่ ลูกคนโต ลูกคนเล็ก เดินทางโดยเครื่องบิน ปรากฏว่าเครื่องบินหาย ในท้ายที่สุดมาพบว่าเครื่องบินได้ตกลงกลางทะเล มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด หาก ครอบครัวนี้ไม่มีทายาทคนอื่นเหลืออยู่แล้ว มรดกของทั้ง ๔ คนนี้จะตกแก่ใคร

 

ในขณะที่เหตุการณ์ที่ ๒ ตัวละครเหมือนกัน แต่เป็นการที่ลูกคนโต ยิง พ่อ แม่ และลูกคนเล็กตายตามลำดับ หากครอบครัวนี้ไม่มีทายาทคนอื่นเหลืออยู่แล้ว มรดกของ พ่อ แม่ และลูกคนเล็ก จะตกแก่ใคร

 

สำหรับผู้เรียนกฎหมายคงตอบได้ไม่ยากว่าทั้งสองเหตุการณ์มีผลสุดท้ายเหมือนกัน คือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๓ บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งสิทธิของเจ้าหนี้กองมรดก เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายโดยไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมหรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรม มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่แผ่นดิน”

ดังนั้นหากทั้งสองเหตุการณ์ เมื่อกองมรดกได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กองมรดกแล้ว และไม่มีใครอื่นที่จะได้รับกองมรดกที่เหลือไป กองมรดกทั้งหมดก็จะตกทอดแก่แผ่นดิน (แต่แผ่นดินก็มิใช่ทายาท และถ้าต้องมีการชำระหนี้กองมรดก ก็ต้องมีการตั้งผู้จัดการมรดกด้วยเพื่อชำระหนี้กองมรดก ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๙๕/๒๕๓๑) ท่านผู้อ่านที่สนใจอาจค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกาได้จาก http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/index2.jsp#

อย่างไรก็ดีมีข้อน่าสังเกตว่า แม้ผลสุดท้ายจะคล้ายกันแต่ลักษณะตกทอดของกองมรดกก็มีความแตกต่างกันในรายละเอียด กล่าวคือ

ถ้าเป็นเหตุการณ์แรก เนื่องจากบุคคลทั้ง ๔ หายไปในเหตุการณ์เดียวกัน และเป็นการยากมากที่จะสันนิษฐานว่าใครตายก่อนตายหลัง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มารตรา ๑๗ ได้บัญญัติว่า “ในกรณีบุคคลหลายคนตายในเหตุภยันตรายร่วมกัน ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะกำหนดได้ว่าคนไหนตายก่อนหลังให้ถือว่าตายพร้อมกัน”

ดังนั้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น เมื่อเป็นไปไม่ได้ที่จะพิสูจน์ว่าใครตายก่อนหลัง กฏหมายก็ให้ถือว่าตายพร้อมกัน เมื่อตายพร้อมกันแล้ว จึงไม่อาจมีใครสามารถรับมรดกของกันและกันได้ และเมื่อไม่มีทายาทอื่นก็ต้องกลับไปใช้หลักการข้างต้นในกรณีของกองมรดกที่ไม่มีผู้รับ กล่าวคือ กองมรดกของทั้ง ๔ คน ก็ตกทอดแก่แผ่นดิน

 

แต่ในเหตุการณ์ที่ ๒ นั้น เราจะเห็นได้ว่าการตกทอดของกองมรดกแตกต่างกัน ดังนี้

เมื่อลูกชายคนโต ยิง พ่อ ถึงแก่ความตาย กองมรดกของพ่อตกแก่ แม่ และลูกคนเล็ก ส่วนลูกคนโตจะถูกกำจัดมิให้รับมรดกโดยผลของกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๐๖ (๑) กล่าวโดยสรุปคือเป็นผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนาฆ่าเจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตน

ดังนั้นในวินาทีที่พ่อถูกยิงตาย เวลาเดียวกันนั้นกองมรดกทั้งหมดของพ่อ ตกทอดแก่แม่และลูกคนเล็กโดยผลของกฎหมายแล้ว แม้ยังมิได้มีการจัดการแบ่งมรดก

 

ถัดมาเมื่อลูกคนโตยิงแม่ กองมรดกทั้งหมดของแม่ ซึ่งรวมที่ได้มามรดกมาจากพ่อข้างต้น จะตกทอดแก่ลูกคนเล็กทันที แต่ลูกคนโตก็ยังถูกกำจัดมิให้รับมรดกด้วยเหตุผลเดิมข้างต้น

และสุดท้ายเมื่อลูกคนโตยิง ลูกคนเล็ก ลูกคนโตก็ยังคงถูกกำจัดมิให้รับมรดกอีกครั้งเช่นเดิม กองมรดกของลูกคนเล็กนี้ ก็จะกลายเป็นกองมรดกที่ไม่มีผู้รับ แล้วจึงตกทอดแก่แผ่นดินในท้ายที่สุด

คำสำคัญ (Tags): #ข่าว#กฎหมาย#มรดก
หมายเลขบันทึก: 563698เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2014 22:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2014 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

...เป็นบันทึกที่มีประโยชน์มากนะคะ...

ข่าวลูกคนโตฆ่าพ่อแม่และน้องชาย อ่านแล้วช็อคจริงๆ ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท