เก็บตกวิทยากร (4) : ถอดบทเรียนชีวิต (ก่อนถอดบทเรียนการงาน)


การ ”ถอดบทเรียนชีวิต” คือกระบวนการเดินกลับไปสู่จิตวิญญาณของตนเอง รู้อดีต รู้ปัจจุบัน รู้อนาคต....

การถอดบทเรียนชีวิต คือการเดินทางกลับเข้าสู่จิตวิญญาณของเราเอง
        ครับ, ผมมีความเชื่อในทำนองนั้น  ก็ด้วยความเชื่อในทำนองนั้นแหละ  ผมถึงมั่นคงต่อกระบวนการของการจัดกิจกรรม “รู้จักฉันรู้จักเธอ”  โดยให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการได้ "วาดภาพ" เรื่องราวใดๆ ก็ตามที่ยังคงติดตรึงอยู่ในความทรงจำของตัวเอง >  วาดเสร็จก็บอกเล่าสู่สมาชิกในกลุ่ม เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ชีวิต และเพื่อสร้างความคุ้นเคยก่อนการเข้าสู่การถอดบทเรียนในประเด็นอันเป็นหัวใจหลักของเวทีนั้นๆ

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน –  ผมได้รับมอบหมายให้เปิดเวทีในแบบฉบับที่ผมคุ้นชิน 

        ครับ,  ผมไม่ลังเลที่จะใช้กิจกรรมรู้จักฉันรู้จักเธอเข้ามาเกื้อหนุน ปักหมุดจาก “ความสุข” แต่ก็มิได้จำกัดแต่ความสุขเท่านั้น  หากผู้เข้าร่วมกระบวนการพึงใจที่จะ “วาดภาพ” เรื่องราวอันเป็น “ความทุกข์”  ผมก็ไม่ว่า  เพราะให้ยึดเอาความสบายใจของแต่ละคนเป็นที่ตั้ง

        สิ่งเหล่านี้ ไม่มีอะไรมากหรอกนะครับ  เพียงแต่กำลังสื่อสารให้รู้ว่า  ในกระบวนการทุกอย่างมีการ “ยืดหยุ่น” อยู่ตลอดเวลา  การยืดหยุ่นจะช่วยให้คนที่รับโจทย์ไปทำรู้สึกผ่อนคลาย, มีทางเลือกที่มากกว่าหนึ่ง, โล่งใจและรู้สึกได้ว่ามี “พื้นที่” ในการที่จะ “คิดและทำ” ได้มากกว่าที่โจทย์กำหนดกะเกณฑ์

 

 


แน่นอนครับ,  ผมเป็นวิทยากรประเภทไม่แจ้งกระบวนการครบขั้นตอน – แทนที่จะอธิบายว่า “วาดภาพเสร็จแล้วให้เขียนเรื่องเล่าของภาพ > เขียนเสร็จแล้วให้แบ่งกลุ่ม > แบ่งกลุ่มเพื่อบอกเล่าสู่กันฟัง”  ฯลฯ 


ครับ, ผมไม่ได้บอกเล่า หรือชี้แจงเช่นนั้นหรอกนะครับ  แต่เจตนาให้ทำทีละอย่าง  เพื่อให้แต่ละคนมีสติกับสิ่งนั้นๆ อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะได้ความ “สดใส” จากเรื่องนั้นๆ มากกว่าให้รู้ว่าถ้าทำแล้ว จะต้องตระเตรียมไปสู่กระบวนการอื่นต่อไป  ถ้าบอกขั้นตอนรวดเดียว  บางทีใครๆ อาจ “ปั้นแต่งเรื่อง” เกินจริง หรือหลีกหลบข้อเท็จจริงไปอย่างน่าเสียดาย ทำให้เรื่องราวที่ปรากฏว่าเป็น “เรื่องสมมุติ” เป็น “ประสบการณ์หลอก” (ประสบการณ์เทียม)  ซึ่งที่สุดแล้วก็ทำให้กระบวนการไม่ “ลุ่มลึก” และไม่สามารถ “ปลดปล่อย” จากสภาวะภายในของตัวเองออกมาได้


 

 

 

 

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน  ผมไม่ได้แจ้งขั้นตอนกระบวนการอย่างเสร็จสรรพ  ปล่อยให้แต่ละคนวาดภาพไปเรื่อยๆ เปิดเพลงคลอเบาๆ เฝ้าสังเกตพฤติการณ์แต่ละคนไปอย่างสุภาพๆ  มีจังหวะก็หยิกแซวบางพอประมาณ  พอส่วนใหญ่วาดเสร็จฝากโจทย์ให้แต่ละคนเขียนคำอธิบาย  หรือเขียนเล่าเรื่องเกี่ยวกับภาพวาดที่วาดขึ้น  โดยเน้นการเขียนไปเรื่อยๆ  เขียนแบบไม่ต้องพะวงความผิดถูกในรูปแบบ   หากแต่การเขียนนั้น  ผมฝากแง่คิดว่าให้แต่ละคนได้ถอยกลับไปทบทวนถึงต้นน้ำ (คิดก่อนวาด) และปลายน้ำ (ภาพวาด) เพื่อให้สอดคล้องกัน เป็นการฝึกทบทวนภาพวาดอีกครั้งว่าสอดรับกับเรื่องราวที่คิดตั้งแต่ต้นน้ำมากน้อยแค่ไหน หากภาพยังสื่อสารไม่ครบ  จะได้เขียนเติมแต่งให้สมบูรณ์มากขึ้นกว่าเดิม

 

ผมเชื่อมั่นและศรัทธาต่อกระบวนการเช่นนี้อยู่หลายเรื่อง  โดยเฉพาะเชื่อมั่นว่าการ ”ถอดบทเรียนชีวิต” คือกระบวนการเดินกลับไปสู่จิตวิญญาณของตนเอง  รู้อดีต รู้ปัจจุบัน รู้อนาคต....

 

 

 

แน่นอนครับ,  การถอดบทเรียนชีวิต ย่อมทำให้เราเข้าใจตัวเอง เข้าใจจังหวะชีวิต เข้าใจกลยุทธของการฝ่าข้าม หรือขับเคลื่อนชีวิตในเรื่องนั้นๆ  

 

และที่สำคัญ  การถอดบทเรียน “ชีวิต”  จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้เราเข้าใจวิธีการถอดบทเรียน “การงาน” อย่างเสร็จสรรพ  อย่างน้อยก็รู้ถึงหลักคิดง่ายๆ ว่า “เห็นอะไร รู้สึกอย่างไร ได้อะไรจากสิ่งที่เห็นและรู้สึก...”  หรือแม้แต่การค้นหาถึงเหตุปัจจัยว่าเรื่องราวชีวิตที่ว่านั้น สำคัญอย่างไรกับเรา  มันเกิดขึ้นมาอย่างไร  กระทบกับเราอย่างไร เราเปลี่ยนแปลงอย่างไรจากเรื่องนั้นๆ และการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่เกิดขึ้นนั้น  เราขับเคลื่อนด้วยอะไร-อย่างไร ฯลฯ


และนั่นยังไม่รวมว่าการถอดบทเรียนชีวิตผ่านกระบวนการที่ว่านี้ได้ฝึกทักษะของการใช้เครื่องมือในแบบ KM เพื่อการถอดบทเรียน  หรือการวิจัย  อาทิ การวาดภาพ (ถ่ายภาพ) การเล่าความสำเร็จผ่านภาพ,ตัวหนังสือ,คำพูด หรือมุขปาฐะ  พอมาถึงจังหวะของการบอกเล่าเรื่องราวในภาพสู่กันฟัง ก็กลายเป็นการฝึกทักษะของการสื่อสาร (พูด,เล่าเรื่อง) ฝึกการฟัง การจับประเด็น ฯลฯ

 

หรือแม้แต่การฝึกที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่ปรากฏในภาพหรือคำพูด ซึ่งถือเป็นทักษะ หรือหัวใจอันสำคัญของการถอดบทเรียนนั่นคือการเฝ้าเรียนรู้จาก “เสียงที่ไม่ได้ยิน”  อันหมายถึงสิ่งที่เขาไม่ได้พูด หรือไม่ได้เล่า และไม่ได้วาด หากแต่ซ่อนและฉายเด่นอยู่ใน “แววตา-ดวงหน้า”  ...

 

ลองดูครับ  หากมีเวทีและมีเวลามากพอ  ในยามจัดกระบวนการ ลองให้แต่ละคนถอดบทเรียนชีวิตกันหน่อยครับ อย่าด่วนวิ่งไปสู่ลู่ของการถอดบทเรียนการงานมากจนเกินไป  บางทีการถอดบทเรียนชีวิตนี่แหละ คือเครื่องมือของการถอดบทเรียนการงานที่ว่านั้น

 

 

 

 

 

ลองดูครับ,...ถอดบทเรียนชีวิต จะทำให้เราเห็นคุณค่าของชีวิต คุณค่าของประสบการณ์ที่เกิดจากการใช้ชีวิตอย่างไม่ต้องสงสัย  เมื่อเราเคารพประสบการณ์ชีวิตตนเอง  เราก็ย่อมเคารพต่อประสบการณ์ชีวิตของคนอื่นไปโดยปริยาย

 

ส่วนทำแล้วจะได้ผลแค่ไหน ค่อยถอดบทเรียนกันอีกรอบว่า “สำเร็จ” หรือ “ไม่สำเร็จ” (555555)

 

 

 

หมายเหตุ
โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการถอดบทเรียนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ เพื่อพัฒนาจังหวัดต้นแบบป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จังหวัดอุตรดิตถ์  ระหว่างวันที่  8-9 มีนาคม 2557 ณ  ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ 

หมายเลขบันทึก: 563460เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2014 14:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2014 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ชอบกิจกรรมแบบนี้

วันก่อนเอาไปจัดให้พยาบาล

ได้เรียนรู้มากเลย

ขอบคุณบันทึกดีๆครับ

ขอขอบคุณบันทึกดีดี..จากอาจารย์ครับ... ผมอ่านเเล้วได้เรียนรู้เยอะเลยครับ...


.... เป็นการ ...แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่ดีมากๆๆ นะคะ


สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

เวทีล่าสุด  ผมก็ได้ใช้เหมือนกันครับ  เดิมไม่มีในแผน  แต่พอดีผู้เข้าร่วมกระบวนการ  อยากให้ทำให้ดู เผื่อจะนำไปประยุกต์ใช้- ผมเลยได้ลงมือจัดกระบวนการนี้ แต่ก็ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ครับ ไม่ตายตัว...ทำจริงๆ โดยส่วนตัวผมอยากได้เวลา  1.30 ชม. เลยทีเดียวครับ

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจนะครับ คุณ ธีระวุฒิ ศรีมังคละ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท