อาจารย์แพทย์ที่เป็นแบบอย่างที่ดี


   ถ้าอยากพัฒนาตัวเองต้องฝึกที่จะรับฟังเสียงผู้อื่น และลดความยึดมั่นในตัวเองลง

   ทุกๆเช้าที่โรงพยาบาลเราจะมีการประชุมรายงานเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ระดมสมองเพื่อช่วยกันแก้ไขเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และพัฒนางานให้ดีขึ้น

   เช้านี้ก็มีเหตุการณ์ร้องเรียนของผู้ใช้บริการท่านหนึ่ง เกี่ยวกับการที่แพทย์ผู้รักษาแสดงกริยาเหมือนไม่ใส่ใจในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะนี้เราก็พบอยู่บ้างเป็นครั้งคราว และก็มักจะเกิดขึ้นกับแพทย์เดิมๆเพียงไม่กี่คน ซึ่งก็ได้มีการดำเนินการไปตามระบบงานคุณภาพที่ได้วางไว้

   แต่ครั้งนี้ผมกลับฉุกคิดขึ้นมาได้ถึง การอบรมสั่งสอนตั้งแต่ตอนเป็นนักเรียนแพทย์ รวมทั้งการมองหาต้นแบบที่ดี (Role model) ให้กับนักเรียนแพทย์ ซึ่งไม่ทราบว่าปัจจุบันนี้โรงเรียนแพทย์ของไทยเราเป็นเช่นไร

   บังเอิญผมได้รับฟังเรื่องเล่าจากนักเรียนแพทย์ลูกสาว ซึ่งตอนนี้กำลังฝึกงานด้านกุมารเวช ที่โรงพยาบาล Royal Children Hospital ที่เมือง Melbourne ประเทศ Australia ซึ่งเป็นตัวอย่างได้ดีเกี่ยวกับอาจารย์ที่ดีที่เป็นต้นแบบให้กับนักเรียนได้ จึงขอนำมาเล่าให้เพื่อนๆฟังครับ

   เมื่อสองวันก่อนณห้องตรวจโอพีดีเด็ก นักเรียนแพทย์ลูกสาวได้มีโอกาสเข้าไปเรียนกับอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่ง เป็นผู้ชาย อายุดูแล้วไม่น่าจะต่ำกว่า 55 ปี ลูกสาวบอกว่าอาจารย์เขาน่ารักมาก พอขออนุญาตเข้าไปเรียนรู้ในห้องตรวจด้วย เขาบอกว่ายินดีเลย และกล่าวต่อว่า เขาเองก็อยากจะเรียนรู้จากนักเรียนแพทย์ลูกสาวด้วยเหมือนกัน ลูกสาวก็เลยถามเขาว่า อาจารย์จะเรียนอะไรจากหนูเหรอค่ะ เขาตอบว่า ให้นักเรียนแพทย์ลูกสาวช่วยจดทุกๆอย่างที่เขาทำไม่ดีให้หน่อย หรืออะไรก็ได้ที่เขาควรปรับปรุงเวลาอยู่กับคนไข้ จดไว้เยอะๆเลย ไม่ต้องเกรงใจ

   นักเรียนแพทย์ลูกสาวก็เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของอาจารย์อย่างละเอียด แต่ก็จดอะไรไม่ค่อยได้เลย เพราะอาจารย์ท่านนี้ดีมาก คุยกับพ่อแม่ คุยกับเด็ก วาดรูป อธิบายทุกอย่าง

   เขาบอกกับนักเรียนแพทย์ลูกสาวว่า ทุกๆครั้งที่มีเด็กนักเรียนแพทย์เข้ามานั่งในห้องเขา เขาจะให้นักเรียนแพทย์ช่วยชี้ว่า เขาทำอะไรผิด แล้วเขาก็จะพยายามปรับปรุง

   นักเรียนแพทย์ลูกสาวให้ความเห็นว่า เขาเป็นหมอที่รับฟัง และอีโก้ไม่สูงเลย ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่คนๆหนึ่งควรจะมีถ้าอยากพัฒนาตัวเอง

   เพื่อนๆครับ เราจะไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่า พฤติกรรมที่เราทำเป็นประจำจนเป็นนิสัย(สันดาน)นั้น มันดีหรือเลวอย่างไร ต่อเมื่อเรายอมรับฟังการประเมินจากคนรอบข้าง ในทุกระดับ จนกระทั่งทุกคนกล้าที่จะบอกความจริงกับเรา และเมื่ออัตตาตัวตนเราลดน้อยลง เราก็จะสามารถทราบและยอมรับถึงข้อเสียของเรา เป็นโอกาสให้เราได้พัฒนาตัวเองขึ้นไปได้ เหมือนกับอาจารย์แพทย์ผู้น่ารักท่านนี้ไงครับ

หมายเลขบันทึก: 563327เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2014 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มีนาคม 2014 12:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท