๖ นวัตกรรมสู่การเป็นประเทศแห่งการศึกษา ๒. เปลี่ยนวิธีคิด (๒)


 

          บันทึกชุดนี้มี ๑๐ ตอน   ที่ตีความจากการอ่านหนังสือ Education Nation : Six Leading Edges of Innovation in Our Schools   เขียนโดย Milton Chen   

          ใน Edge 1. The Thinking Edge : Getting Smarter About Learning   เสนอการเปลี่ยนวิธีคิดที่สำคัญ ๖ ประเด็น   ได้ย่อยและตีความมาเล่าในตอนที่ ๑ ไปแล้ว ๓ ประเด็น    ในตอนที่ ๒ นี้ จะเล่าอีก ๓ ประเด็น ได้แก่  (๔) ความเชื่อเรื่องความฉลาด  (๕) ให้อาหารสมอง และเฝ้าดูความงอกงาม  (๖) รณรงค์การเรียนจากการฝึกปฏิบัติ

   

ความเชื่อเรื่องความฉลาด ว่าพัฒนาได้   

                ในภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า Growth Model of Intelligence    มีผลการวิจัย บอกว่า นักเรียนที่เชื่อว่า ความฉลาดเกิดจากความพยายาม มานะ อดทน มีผลการเรียนดีกว่านักเรียนที่เชื่อว่าความฉลาด เป็นสิ่งที่ติดตัวมา แก้ไขอะไรไม่ได้    และมีผลการวิจัยในนักเรียนกลุ่มหลัง (ระดับ ม. ต้น) ที่มีพื้นฐานทางครอบครัวและสังคมต่ำ รวมทั้งผลการเรียนก็ต่ำด้วย    แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง กับกลุ่มควบคุม (control)    นักเรียนทั้งหมดเรียนวิชา สรีรวิทยาของสมองกับทักษะการเรียนรู้    ช่วงละ ๒๕ นาที รวม ๘ ช่วง    ข้อแตกต่างระหว่างเด็ก ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มทดลองได้รับคำบอกซ้ำๆ ว่า    สมองและความฉลาดเป็นสิ่งที่ปรับตัวได้    คล้ายกล้ามเนื้อ ที่เมื่อออกกำลังสม่ำเสมอ กล้ามเนื้อเจริญขึ้นเห็นชัดเจนด้วยตาว่ากล้ามใหญ่ขึ้น    สมองก็เป็นคล้ายกัน 

          นักเรียนทั้งหมดเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ที่สอนโดยครูคนเดียวกัน    และครูไม่ทราบว่า นักเรียนคนไหน อยู่กลุ่มใด    

          ตามปกติ ผลการเรียนวิชาคณิตศาสตร์จะตกต่ำลงในช่วง ม. ต้น เมื่อนักเรียนเรียนสูงขึ้น     แต่ผล การเรียนคณิตศาสตร์ในนักเรียนกลุ่มทดลองกลับดีขึ้น    ในขณะที่นักเรียนกลุ่มควบคุม มีผลการเรียนคณิตศาสตร์ ตกต่ำลงเหมือนนักเรียนทั่วๆ ไป

          ผู้วิจัยเสนอคำว่า neurological learning   อธิบายว่า ระหว่างเรียน หากนักเรียนคิดอยู่ในใจว่า ตนกำลังช่วยให้สมองเชื่อมเครือข่ายใยประสาทมากขึ้น     จะทำให้เกิดการกระตุ้นแรงจูงใจใฝ่เรียน

 

 

นักเรียนให้อาหารสมอง (ของตนเอง)  และเฝ้าดูความงอกงาม

          ต่อเนื่องจากผลการวิจัยที่เล่าในตอนที่แล้ว ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือ ชื่อ Mindset : The New Psychology of Success   แนะนำวิธีฝึกให้นักเรียนกระตุ้นแรงจูงใจใฝ่เรียนรู้ของตนเอง 

          Milton Chen ถาม Carol Dwek ผู้เขียนหนังสือ ขอคำแนะนำต่อครูและพ่อแม่ในเรื่องนี้ และได้รับคำแนะนำว่า

  •         สอนนักเรียนให้คิดถึงสมองคล้ายเป็นกล้ามเนื้อ ที่มีแรงมากขึ้นเมื่อใช้งาน    แนะให้นักเรียนจินตนาการว่า ทุกครั้งที่ตนเรียน สมองเกิดการเชื่อมต่อใยประสาท
  •         เมื่อสอนเรื่องทักษะในการเรียนรู้    บอกนักเรียนว่า วิธีการตามที่กล่าวข้างบน จะช่วยให้สมองเรียนได้ดีขึ้น
  •         หลีกเลี่ยงคำว่า ฉลาด โง่ เรียนเร็ว เรียนช้า ฯลฯ    ที่สื่อว่าความฉลาดเป็นคุณสมบัติที่คงที่
  •         ชมนักเรียนที่ความพยายาม, วิธีการเรียน, และความก้าวหน้า    อย่าชมความฉลาด    เพราะการชมความฉลาดจะทำให้นักเรียนกลัวความท้าทาย/สิ่งยาก    และเมื่อเผชิญสิ่งยาก จะคิดว่าตนโง่ และไม่สู้สิ่งยากนั้น
  •         มอบงานท้าทายแก่นักเรียน    บอกนักเรียนว่างานท้าทายหรือสิ่งยากช่วยให้เรียนสนุก   ไม่ว่าความสำเร็จหรือความผิดพลาด เป็นบ่อเกิดของการเรียนรู้ทั้งสิ้น

 

          Milton Chem ถาม Carol Dwek ต่อ ว่า ข้อค้นพบจากผลงานวิจัยนี้ มีความหมายต่อนโยบาย การศึกษา เพื่อสนับสนุนวิธีการสอนแนวดังกล่าว อย่างไร    ได้รับคำตอบว่า ผู้บริหารต้องมองว่า ตัวครูเองเป็นผู้มีศักยภาพ ที่จะพัฒนา เพื่อเติบโตในด้านความเป็นครู     ผู้บริหารต้องช่วยสนับสนุนให้ครูได้ใช้ความพยายาม เพื่อพัฒนา ตนเอง    โดยจัดให้มีพี่เลี้ยง (mentor) ในโรงเรียน ช่วยแนะนำส่วนที่ครูยังด้อย    ภายใต้ความเชื่อว่า ครูแต่ละคน มีทั้งส่วนดี และส่วนด้อย    และสามารถปรับปรุงแก้ไขส่วนด้อยได้    ครูควรได้รับการตอบแทนผลงาน สร้างความรักเรียน และเพิ่มผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของนักเรียนกลุ่มที่เรียนอ่อน    ไม่ใช่เอาใจใส่แต่เด็กเรียนเก่ง    โรงเรียน/ผู้บริหาร ต้องจัดเวลาให้ครูได้ช่วยเหลือเด็กเรียนอ่อนเป็นพิเศษ เช่นมีเวลาให้สอนเสริมนอกเวลาปกติ   

 

          นอกจากนั้น ต้องปรับปรุงหลักสูตรและวิธีจัดการเรียน    โดยลดจำนวนวิชา และหัวข้อเรียนลง    เพื่อให้มีเวลาฝึกวิธีการเรียนรู้  และฝึกนักเรียนให้ประเมินความก้าวหน้า หรือความงอกงาม ในการเรียนรู้ ของตนเองเป็น  

 

          และเมื่อถาม Carol Dwek เรื่องบทบาทของเทคโนโลยี ต่อการเรียนของเด็ก     ได้รับคำตอบว่า    ได้พัฒนาวิธีฝึกเปลี่ยนวิธีคิด ต่อการเรียนรู้ เป็น คอมพิวเตอร์โปรแกรม ชื่อBrainology   ที่มี ๖ โมดูล ของการเรียนรู้    ผลการทดลองใช้ในนักเรียนในมหานคร นิวยอร์ก ได้ผลดี

 

 

รณรงค์การเรียนจากการฝึกปฏิบัติ ไม่ใช่ท่องจำจากตำรา  

          เนื่องจากหนังสือเล่มนี้เขียนแบบสื่อกับคนอเมริกัน    ผู้เขียนจึงยกตัวอย่างที่คนอเมริกันเข้าใจง่าย    คือตัวอย่างการเรียนวิชาเล่นกีฬาบาสเก็ตบอลล์ โดยการอ่านและท่องตำรา    ให้เด็กรู้ว่าการส่งลูก มีกี่แบบ ชื่ออะไรบ้าง    วิธียิงลูกเข้าห่วง มีกี่แบบ ฯลฯ    แต่นักเรียนเล่นบาสเก็ตบอลล์ไม่เป็น   

          ทำให้ย้อนกลับมาที่ จอห์น ดิวอี้ ที่เรียกร้องการเรียนจากการปฏิบัติตั้งแต่เมื่อปลายศตวรรษที่ ๑๙   บัดนี้เข้าต้นศตวรรษที่ ๒๑   หลักฐานผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้จากการปฏิบัติ เหนือการเรียนรู้จากการท่องจำ ความรู้ทฤษฎี เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้ว    ไม่น่าเชื่อว่า มนุษย์ใช้เวลากว่าร้อยปี ในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ว่าด้วยการเรียนรู้    จากเน้นทฤษฎี สู่เน้นปฏิบัติ    หรือที่จริงแล้ว ต้องใช้ทั้งสองแนวให้เสริมพลัง (synergy) กัน

 

          เรียนโดย นักเรียนตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ ปรากฏการณ์ต่างๆ รอบตัว    แล้วดำเนินการหาคำตอบ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๖ ธ.ค. ๕๖

 

หมายเลขบันทึก: 563320เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2014 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มีนาคม 2014 10:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะกับการลดจำนวนวิชาและหัวข้อเรียนลงเพื่อให้ผู้เรียนได้ Learning by Doing ค่ะ แต่หากผู้สอนยังต้องการมีความเข้มข้นของเนื้อหาก็คงต้องใช้การทำเป็น Clip vdos เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ได้ด้วยตนเองนอกห้องเรียนค่ะ แล้วมีการ quiz เพื่อประเมินความเข้าใจในเนื้อหาของผู้เรียนค่ะโดยสามารถทำ quiz นั้นด้วยตนเองก่อน แล้วทำอีกครั้งแบบกลุ่มค่ะ

ครูรัฐบาลที่อายุ 50 ขึ้น หรือไม่เกี่ยวกับอายุ ที่พื้นฐานมีอัตตาตัวตนสูง ส่วนมากยังชอบสอนคนเก่ง ชอบตอกย้ำความโง่ของเด็ก ปฏิเสธเด็กเรียนอ่อน ชอบสอนเด็กฉลาด ส่วนมากนะคะ.....จากประสบการณ์ตรง ถ้าคิดแบบนี้ได้ เราจะมีเด็กไทยเรียนดีขึ้นอีกเยอะ

เห็นด้วยกับคุณสามปอค่ะและอ.อ.จันทวรรณค่ะ ดิฉันได้ให้แนวคิดเหล่านี้มาโดยตลอด นักศึกษาที่เรียนด้วยใหม่ๆๆไม่เข้าใจมักงง ว่าเราสอนอะไรไม่รู้ไม่เห็นมีเหมือนอาจารย์ท่านอื่นเลย พอเวลาเลยไปประมาณครึ่งเทอมจึงเริ่มเข้าใจ แต่ครูเหนื่อยมากกๆเพราะต้องวิเคราะห์ตามกระตุ้นเด็กเป็นรายๆ โดยเฉพาะพวกไม่เข้ากลุ่ม ต้องใช้กระบวนการกลุ่มมาขับเคลื่อน และให้มีการประเมินผลโดยเพื่อนๆ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท