โรงพยาบาลสงขลานครินทร์มีอายุ 31 ขวบ


สงขลานครินทร์ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อกระจายความเจริญทางการศึกษาลงสู่ภาคใต้ ขณะเดียวกัน ความเจริญและความมั่นคงทางสุขภาพก็เกิดขึ้นด้วยเมื่อคณะแพทยศาสตร์ได้ถูกจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 จนถึงเวลานี้ (พ.ศ. 2557) คณะแพทยศาสตร์ สงขลานครินทร์ ก็มีอายุย่างเข้าปีที่ 42 ถ้าเปรียบเหมือนคนก็คงเป็นวัยกลางคน แต่นี่คือคณะแพทยศาสตร์ เป็นสถาบันการศึกษา การเปรียบช่วงวัยด้วยอายุคงไม่สามารถเปรียบได้ แต่หากจะเปรียบว่า เป็นวัยที่มีความเข้มแข็ง แข็งแรงสมบูรณ์ ยืนหยัดด้วยตัวเองได้อย่างสมภาคภูมิเมื่อเทียบกับวันในอดีตคงจะถูกต้องเป็นที่สุด

ในช่วง 10 ปีแรก

ช่วง 10 ปีแรกหลังการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เป็นช่วงเวลาแห่งการล้มลุกคลุกคลาน เนื่องจากเมื่อครั้งแรกที่ก่อตั้งคณะมานั้น คณะแพทย์มีความขาดแคลนทุกด้าน โดยเฉพาะการขาดแคลนอาจารย์และไม่มีโรงพยาบาลเป็นของตนเองตั้งแต่ตอนต้น กระทั่งได้เริ่มมีการก่อสร้างโรงพยาบาล โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2519 แต่กระนั้นการก่อสร้างก็ประสบปัญหาล่าช้าออกไปมาก มีการยกเลิกสัญญา มีการจัดจ้างบริษัทก่อสร้างแห่งใหม่เข้ามาดำเนินการก่อสร้าง และมีการฟ้องร้องเป็นคดีต่อเนื่องมายาวนานนับ 10 ปี

โรงพยาบาลแห่งคณะแพทยศาสตร์ ได้รับพระราชทานชื่อว่า "โรงพยาบาลสงขลานครินทร์" ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "SONGKLANAGARIND HOSPITAL" เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2522 และได้เริ่มเปิดให้บริการส่วน 100 เตียงแรกได้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 ท่ามกลางความไม่พร้อมด้วยประการทั้งปวง แต่อุปสรรคต่างๆนานาก็สามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดีด้วยการบริหารจัดการของบูรพ คณาจารย์ในสมัยนั้น ทั้งคณบดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล กรรมการคณะและทีมที่ปรึกษาจากที่ต่างๆ ทั้งจากในและต่างประเทศ รวมถึงโรงพยาบาลที่เป็นพี่เลี้ยงในยามนั้นคือ โรงพยาบาลหาดใหญ่และโรงพยาบาลสงขลา

หนังสือ "๒๕ ปี แพทยศาสตร์ สงขลานครินทร์" ได้กล่าวถึงคุณูประการของท่านต่างๆ ที่ได้มีส่วนอย่างมาก ที่ทำให้โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ถูกก่อสร้างได้จนแล้วเสร็จ รวมถึงการเปิดให้บริการผู้ป่วยได้อย่างสมความตั้งใจไว้ดังนี้

ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกษม ลิ่มวงศ์

ศาสตราจารย์ นายแพทย์คัมภีร์ มัลลิกะมาศ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อติเรก ณ ถลาง

ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ผาสุข กุลละวณิชย์

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธาดา ยิบอินซอย

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์จงดี สุขถมยา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทวี ธนตระกูล

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อุดม ชมชาญ และอาจารย์รุ่นบุกเบิกอีกหลายท่าน

 

โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในจังหวัดภาคใต้เป็นอย่างมาก จำนวนผู้รับบริการเพิ่มขึ้นทุกเดือน ท่านอาจารย์อุดม ชมชาญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในขณะนั้น ได้เล่าประสบการณ์การทำงานของท่านไว้ในหนังสือ "๒๐ ปี แพทยศาสตร์ สงขลานครินทร์" ว่า ภายใน 4 เดือนตั้งแต่เปิดให้บริการ โรงพยาบาลมีคนไข้นอกเพิ่มจากวันละ 100 คน เป็น 250 คน และจนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2529 จำนวนเตียงสามารถเพิ่มจำนวนขึ้นจนเป็น 556 เตียง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดอาคารโรงพยาบาลสงขลานครินทร์อย่าง เป็นทางการ ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2529

 

2 ทศวรรษต่อจากนั้น

เป็นช่วงของการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะในช่วงเวลานั้นคณาจารย์ได้กลับมาจากการศึกษาต่อมากขึ้น บุคลากรฝ่ายต่างๆเพิ่มจำนวนมากขึ้น การบริการทางการแพทย์ในสาขาต่างๆเพิ่มขึ้นมากมาย ระบบสนับสนุนทางการแพทย์ก็มีความพร้อมเพรียงและทันสมัย

ผู้เขียนเข้ามาเป็นสมาชิกของคณะแพทยศาสตร์ สงขลานครินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2533 เป็นศิษย์แพทย์รุ่นที่ 18 ในขณะนั้นโรงพยาบาลมี 7 กลุ่มตึก คือ 1.อาคารสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา 2.อาคารกุมารเวชศาสตร์ 3.อาคารจิตเวช ศัลยศาสตร์และอายุรศาสตร์ (อาคาร 12 ชั้น) 4.อาคารกระดูกและข้อ (ออร์โธปิดิกส์) 5. อาคารรังสีวิทยา 6. อาคารพยาธิวิทยา 7. อาคาร หู คอ จมูกและตา ซึ่งเชื่อมอยู่ตรงส่วนกลางของตัวโรงพยาบาล ลักษณะการจัดวางของตัวอาคาร โถงทางเดินมีความกว้างขวาง โอ่โถง มีการระบายอากาศได้อย่างดีเยี่ยม เส้นทางต่างๆถูกวางแผนไว้เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยของผู้ป่วย เป็นต้นว่า หอผู้ป่วย ICU อยู่ตรงข้ามห้องผ่าตัด อาคารสูติกรรมอยู่คู่ตึกเด็ก ห้องคลอดอยู่ใกล้กับหอผู้ป่วย NICU และห้องผ่าตัด เวลาตามหมอเด็กมารับเด็กที่มีปัญหาก็ติดต่อและมาดูได้อย่างรวดเร็ว ห้องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงของภาควิชาสูตินรีเวชอยู่ใกล้ห้องคลอด เวลาเกิดเหตุการณ์วิกฤติในห้องคลอด อาจารย์แพทย์ก็สามารถวิ่งมาดูคนไข้ได้อย่างรวดเร็ว ตึกอายุรกรรมและศัลยกรรมอยู่ในแท่งตึกเดียวกัน เพราะส่วนหนึ่งต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด มาเรียนรู้ทีหลังว่านี่ก็เป็นหนึ่งในหลักการ LEAN คือ การลดระยะทาง ลดการสูญเสียเวลา

เมื่อโรงพยาบาลเปิดให้บริการมาระยะหนึ่ง พบว่าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น เริ่มมีความแออัดโดยเฉพาะบริเวณห้องฉุกเฉินซึ่งขณะนั้นอยู่บริเวณชั้น basement ใต้ห้องตรวจผู้ป่วยนอก (ปัจจุบันเป็นห้องเฝือก ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ ห้องเฝือกจะย้ายไปอยู่ที่อาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินแห่งใหม่) บันทึกของศาสตราจารย์ นายแพทย์ธนพล ไหมแพง ในหนังสือ "๒๕ ปี แพทยศาสตร์ สงขลานครินทร์" เกี่ยวกับอาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระบรมราชชนก กล่าวถึงห้องฉุกเฉินแห่งเก่านั้นว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2533 ห้องฉุกเฉินมีความคับแคบ ในพื้นที่ 73 ตารางเมตรนั้น ไม่มีความเพียงพอต่อบริการและการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ จึงมีการวางแผนสร้างอาคารใหม่สำหรับผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินบริเวณด้านที่ชิดกับกลุ่มห้องตรวจผู้ป่วยนอก เพื่อความสะดวกในการเชื่อมต่อกับกลุ่มอาคารหลักของโรงพยาบาลและแผนในการใช้พื้นที่ชั้น 3 เป็นห้องผ่าตัดร่วมกัน ในเบื้องต้นนั้นพื้นที่ส่วนต่างๆของตัวอาคารจะถูกจัดเรียงดังนี้

ชั้น basement เป็นห้องฉุกเฉิน

ชั้น 1 เป็นหอผู้ป่วยอุบัติเหตุ

ชั้น 2 เป็นหอผู้ป่วยศัลยกรรมประสาท

ชั้น 3 เป็นห้องผ่าตัด

ชั้น 4 เป็นหอผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ ปลูกถ่ายไต และห้องหน่วยไตเทียม และส่วนเชื่อมต่อกับฝ่ายการพยาบาล

ชั้น 5 เป็นหอผู้ป่วยศัลยกรรมเด็ก

ชั้น 6 เป็นหอผู้ป่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู

สังเกตได้ว่า แนวคิดในการวางระบบหอผู้ป่วยให้ตรงกับลักษณะงานและพื้นที่ของตัวอาคารที่ถูกวางแผนเช่นนี้ เป็นแนวคิดที่ทันสมัยมาก เพราะอาคารที่จะถูกสร้าง เป็นอาคารที่ดูแลผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ ดังนั้นหอผู้ป่วยด้านบนก็เป็นหอผู้ป่วยอุบัติเหตุ ศัลยกรรมประสาท รวมถึงหน่วยที่ต้องฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยในอนาคตด้วย นอกจากนั้นยังเห็นการวางหอผู้ป่วยที่จะได้รับการปลูกถ่ายไตไว้ชิดห้องผ่าตัดและหน่วยไตเทียม ซึ่งงานสนับสนุนกันและกัน น่าเสียดายที่เมื่อได้ใช้ตึกแล้ว ไม่สามารถจัดการตำแหน่งของหอผู้ป่วยได้อย่างที่วางแผนไว้ทั้งหมดตั้งแต่แรก

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ "อาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระบรมราชชนก" เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2535 เวลา 13.00 น. การก่อสร้างแล้วเสร็จทันเวลาและเปิดให้บริการได้เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 และนี่ก็เป็นกลุ่มตึกที่ 6 ที่เริ่มมีการก่อสร้างและเกิดขึ้นในสมัยที่ผู้เขียนยังเป็นนักศึกษาแพทย์อยู่

ผ่านมาอีกไม่กี่ปี โรงพยาบาลก็มีตึกแท่งที่ 8 เกิดขึ้น "อาคารเฉลิมพระบารมี"

สืบเนื่องจากในปี พ.ศ. 2539 เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสปีกาญจนาภิเษก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ประชาชนชาวไทยได้พร้อมใจถวายความจงรักภักดี หารายได้เพื่อจัดสร้างอาคารต่างๆแก่โรงพยาบาลชั้นนำของประเทศจำนวน 9 แห่ง และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ก็ได้รวมอยู่ในนี้ด้วย โดยผ่านการสนับสนุนสลากบำรุงการกุศล ซึ่งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กระทรวงการคลัง เป็นผู้ดำเนินการ ในเบื้องต้นโรงพยาบาลได้รับการจัดสรรงบประมาณ 150 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 216 ล้านบาทในเวลาต่อมา โดย ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 และการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2545

แรกเริ่มเดิมที อาคารหลังใหม่นี้จะใช้ชื่อว่า "อาคารเฉลิมพระเกียรติ" เพราะสร้างในวโรกาสเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ครั้นเมื่อทางศิริราชพยาบาลได้ใช้ชื่อนี้ก่อน ทางโรงพยาบาลที่เหลืออีกจำนวน 8 แห่ง จึงต้องเปลี่ยนมาใช้ชื่ออื่นและใช้ชื่อเดียวกันว่า "เฉลิมพระบารมี" และที่สงขลานครินทร์ เราเรียกชื่อตึกนี้อย่างย่อว่า "ตึก ฉบ."

ตึก ฉบ. มีลักษณะอาคารเป็นตึกแฝด อาคารส่วนหน้ามีจำนวน 13 ชั้น ซึ่งชั้นบนสุดได้วางแผนก่อสร้างเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ ชั้นล่างลงมาเป็นศูนย์การแพทย์ชั้นเลิศต่างๆ อาคารส่วนหลังเป็นพื้นที่จอดรถและห้องพิเศษอีกจำนวน 6 ชั้น ตัวอาคารมีส่วนเชื่อมต่อกับกลุ่มอาคารหลักที่ชั้น basement ชั้น 1 และชั้น 3 และมีส่วนเชื่อมกับกลุ่มอาคาร 12 ชั้นทางด้านหลังอีก 6 ชั้น ในวันที่อาคารหลังนี้เปิดให้บริการ ผู้เขียนเรียนจบบอร์ดเรียบร้อยแล้ว จำได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในทันทีที่เปิดใช้ตึก ฉบ. เพราะพื้นที่โรงอาหารซึ่งเดิมอยู่ที่ลานกว้างชั้นหนึ่ง ตรงข้ามกับสำนักงานมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ถูกเปลี่ยนเป็นห้องตรวจผู้ป่วยนอกของภาควิชากุมารฯ โรงอาหารถูกย้ายไปอยู่ชั้น basement ของตึก ฉบ. ห้องตรวจผู้ป่วยนอกของแผนกสูตินรีเวช ถูกย้ายไปอยู่ที่ชั้น 1 ของตึก ฉบ. ทั้งหมอทั้งผู้ป่วยต้องปรับตัวปรับใจกันอยู่พักหนึ่งเชียว

ยุคปัจจุบัน

ยุคปัจจุบัน ผู้เขียนกำลังหมายถึงช่วงเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา เป็นยุคที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้มีความเจริญก้าวหน้ามาก มีการบริการสาขาต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ทั้งการบริการทั่วไปและบริการในเชิงลึกตามความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวันเวลา เป็นที่ยอมรับของประชาชนในภาคใต้ มีศักยภาพระดับสูง รับการส่งต่อผู้ป่วยโรคยากจากโรงพยาบาลในเครือข่าย อีกทั้งยังเป็นที่พึ่งพิงยามเกิดภัยพิบัติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2543 และ 2553เหตุการณ์สึนามิในแถบทะเลอันดามันในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2547

ขีดความสามารถระดับสูงของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ ปริมาณผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี นอกจากนั้น ระดับความยากของโรคที่ผู้ป่วยถูกส่งต่อมารับการรักษานั้นก็มากขึ้นด้วย

โรงพยาบาลเริ่มมีศูนย์ความเป็นเลิศให้บริการได้แก่

ศูนย์โรคหัวใจนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งได้รับพระราชทานทุนจำนวน 180 ล้านบาทจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อให้ศูนย์หัวใจฯได้พัฒนาศักยภาพในการรักษาโรคหัวใจที่มีความซับซ้อนทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

สถาบันโรคทางเดินอาหารและตับ นันทนา-เกรียงไกร โชติวัฒนะพันธ์ (NKC) ซึ่งคณะแพทย์ฯได้รับเงินบริจาค จากคุณนันทนาและคุณเกรียงไกร โชติวัฒนะพันธ์ เป็นจำนวนเงิน 100 ล้านบาท เพื่อให้โรงพยาบาลดำเนินการจัดตั้งสถาบันที่มีศักยภาพสูงในการรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารและโรคตับ เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน สถาบันแห่งนี้ได้รับการยอมรับทั้งจากในและต่างประเทศว่ามีคุณภาพและศักยภาพระดับสูง

ศูนย์อุบัติเหตุ

ศูนย์โรคมะเร็ง

ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศทางการแพทย์ มีชื่อเสียงระดับประเทศ ซึ่งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการจัดการการรักษาพยาบาลมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ระบบ Hospital Information System (HIS) นี้ ได้รับการพัฒนาขึ้นมาด้วยบุคลากรของคณะแพทย์เอง จึงเป็นระบบที่ตรงกับความต้องการในการใช้งาน ง่าย สะดวก และมีความปลอดภัยจากการคุกคามจากระบบคอมพิวเตอร์จากภายนอก

และศูนย์ชีวันตาภิบาล ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับต้นแบบของประเทศในการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย

ศักยภาพของโรงพยาบาลที่เพิ่มมากขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมีผลสืบเนื่องมาจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางรวมถึงแพทย์ต่อยอดในสาขาต่างๆเพิ่มมากขึ้น มีการนำองค์ความรู้จากการฝึกอบรมมาใช้ในการดูแลผู้ป่วย รวมถึงการสร้างองค์ความรู้จากงานวิจัยมาใช้ต่อยอดบริการ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้โรงพยาบาลมีชื่อเสียงด้านบริการรักษา พยาบาลจนเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้และโรงพยาบาลต่างๆ

ข้อมูลจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 พบว่า บริการในเชิงลึกของแต่ละภาควิชามีเพิ่มขึ้นมาก ดังแสดงต่อไปนี้

ศัลยกรรม มีงานบริการเฉพาะทางดังนี้ ศูนย์ถันยเวชช์ หน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอก หน่วย ศัลยศาสตร์หลอดเลือด หน่วยประสาทศัลยศาสตร์ หน่วยศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะ หน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่ง หน่วยกุมารศัลยศาสตร์ ศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก หน่วยศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ

อายุรกรรม มีหน่วยย่อยเชิงลึกเพิ่มขึ้นดังนี้ หน่วยโรคไต ซึ่งมีหน่วยไตเทียมสามารถรองรับการทำ hemodialysis ได้จำนวนมากต่อวัน หน่วยต่อมไร้ท่อ หน่วยมะเร็งวิทยา หน่วยโรคผิวหนัง หน่วยทางเดินหายใจและปอด หน่วยระบบทางเดินอาหารและสถาบัน NKC หน่วยโรคข้อและอิมมูโนโลยี ศูนย์โรคหัวใจ หน่วยโลหิตวิทยา หน่วยประสาทวิทยา หน่วยโรคติดเชื้อ หน่วยเวชศาสตร์วิกฤติ หน่วยเภสัชวิทยาคลินิก หน่วยโภชนวิทยาคลินิก

กุมารเวชศาสตร์ ได้ให้บริการสาขาต่างๆ ดังนี้ สาขาทารกแรกเกิด สาขากุมารประสาทวิทยา สาขาโรคไต สาขาต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม สาขาโรคระบบทางเดินอาหารและโภชนวิทยา สาขาโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน สาขาโรคระบบทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤติ สาขาโรคติดเชื้อ สาขาโลหิตวิทยาและมะเร็ง สาขาโรคหัวใจและหลอดเลือด สาขาวิชาพัฒนาการเด็ก และสาขากุมารเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอก

สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา มีหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารก หน่วยมะเร็งนรีเวช หน่วยเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ที่ให้บริการในคลินิกดูแลผู้มีบุตรยาก คลินิกสตรีวัยทอง คลินิกวางแผนครอบครัว รวมถึงคลินิกนรีเวชทางเดินปัสสาวะสตรี

ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด ให้บริการเชิงลึกในสาขา Sports Medicine, Arthroplasty, Pediatric Orthopedics, Spine Surgery, Hand and Microsurgery, Trauma และมีศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพภาคใต้ ซึ่งดูแลฟื้นฟูผู้พิการอย่างครบวงจร

โสต ศอ นาสิก ให้การดูแลกลุ่มโรคในเชิงลึกดังนี้ คลินิกโรคหู คลินิกโรคไซนัสและภูมิแพ้ คลินิกมะเร็งหูคอจมูก คลินิกโรคกล่องเสียงและโบท็อกซ์ คลินิกโสตประสาทและการทรงตัว คลินิกโรคนอนกรน คลินิกฝึกพูด โรคปัญหาการกลืน

จักษุวิทยา ให้การดูแลเฉพาะทางดังนี้ คลินิกจอประสาทตา คลินิกโรคต้อหิน คลินิกตาเข คลินิกศัลยกรรมตกแต่งทางจักษุ คลินิกประสาทวิทยาจักษุและโบท็อกซ์ คลินิกโรคตาเด็ก คลินิกเฉพาะทางกระจกตาและคอนแท็กเล็นส์ คลินิกโรคติดเชื้อ CMV คลินิกสายตาเลือนราง คลินิก uveitis

รังสีวิทยา มี 4 หน่วยใหญ่ คือ รังสีวินิจฉัย รังสีร่วมรักษา รังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์

วิสัญญีวิทยา ซึ่งนอกจากให้บริการระงับความรู้สึกในห้องผ่าตัด ยังมีบริการระงับความรู้สึกภายนอกด้วย เช่น แผนกรังสีวิทยา ศูนย์โรคหัวใจ เป็นต้น มีบริการดูแลผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจในหอผู้ป่วย บริการคลินิกฝังเข็ม และคลินิกระงับอาการปวด

พยาธิวิทยา ให้บริการตรวจทางพยาธิวิทยาขั้นสูง บริการการตรวจทางมนุษยพันธุศาสตร์ บริการคลังเลือด และบริการนิติเวชวิทยา

ข้อมูลจากหน่วยเวชสถิติของโรงพยาบาลระบุว่า จำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการ ณ แผนกผู้ป่วยนอก เพิ่มขึ้นจาก 626,164 ราย ในปี พ.ศ. 2546 เป็น 917,256 ราย ในปีพ.ศ. 2556 เฉลี่ยวันละประมาณ 3,500 รายต่อวัน แผนกผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นจาก 28,214 รายในปี พ.ศ. 2546 เป็น 39,132 ราย ในปี พ.ศ. 2556 (ในขณะที่จำนวนเตียงที่ของโรงพยาบาลมีจำนวน 818 เตียง) ผู้ป่วยที่มารับริการที่แผนกฉุกเฉิน เพิ่มขึ้นจาก 47,030 รายในปี พ.ศ. 2546 เป็น 51,393 ราย ในปีพ.ศ. 2556 ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับบริการในหอผู้ป่วย ICU จำนวน 1,587 คนในปี พ.ศ. 2546 เพิ่มเป็น 2,455 รายในปี พ.ศ. 2556

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเรื่องของงานบริการที่เป็นเลิศ

โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ยังมีความเป็นเลิศอีกด้านหนึ่ง นั่นคือ ผู้นำด้านการพัฒนาคุณภาพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 คณะแพทย์และโรงพยาบาลได้เริ่มมีกิจกรรมพัฒนาบุคลากรและพัฒนาระบบงานเข้ามาใช้ จากนั้นก็มีการพัฒนาต่อเนื่องสืบมาโดยมีกลไกพัฒนาคุณภาพที่หลากหลาย อาทิ QC, QA, 5ส, 7ส และโครงการพัฒนางาน จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2539 โรงพยาบาลได้เข้าร่วมกับสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาลนำร่อง นำแนวคิดและหลักการของ Hospital Accreditation หรือ HA มาพัฒนาระบบของโรงพยาบาล จากนั้นมาก็เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงการจัดการด้านคุณภาพไปอย่างก้าวกระโดด มีการมุ่งเน้นการทำงานเป็นทีม มุ้งเน้นประโยชน์และความปลอดภัยของผู้ป่วย การเคารพและตอบสนองสิทธิของผู้ป่วย การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม การประเมินความพึงพอใจของผู้รับบริการ และมีระบบบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นรูปธรรม การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้รับการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลหรือมาตรฐาน HA ในปี พ.ศ. 2544 และเป็นโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของประเทศที่ได้รับการรับรองนี้ และได้รับการ re-accreditation ผ่านอีกเป็นจำนวน 3 ครั้งต่อเนื่องกันมา

โรงพยาบาลยังได้รับรางวัล TQC จากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2546 รางวัล LEAN Hospital และการรับรอง มอก. 18001 ในปี พ.ศ. 2551 และรางวัล KAIZEN award ในปี พ.ศ. 2552 ทั้งหมดนี้ทำให้โรงพยาบาลสงขลานครินทร์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางระดับประเทศและภูมิภาค มีการมาศึกษาดูงานจากโรงพยาบาลต่างๆอีกมากมายจนถึงปัจจุบัน

ทิศทางในอนาคต

ทิศทางของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ในอนาคตถูกกำหนดด้วยปัจจัยที่สำคัญคือ นโยบายของรัฐบาล 2 เรื่อง คือ นโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าและนโยบายรวมประเทศเข้าประชาคมอาเซี่ยน และผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้

นโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าส่งผลดีต่อประชาชน ส่งผลให้การเข้าถึงบริการสามารถทำได้โดยง่ายและทั่วถึง ความยากจนไม่เป็นอุปสรรคต่อการรักษาพยาบาลอีกต่อไป แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นในระบบของโรงพยาบาลคือการจัดการจัดสรรทรัพยากรและการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ส่งผลให้กระแสเงินสดหมุนเวียนและรายได้รวมของโรงพยาบาลลดลง หลายๆโรงพยาบาลเกิดปัญหาความไม่สมดุลย์ของค่าใช้จ่าย ไม่สามารถลงทุนในสิ่งที่จำเป็นได้ สิ่งนี้กระทบต่อความเป็นโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์อย่างมากด้วยเช่นกัน เพราะเทคโนโลยีระดับสูงที่จะช่วยในการรักษาพยาบาลและการเรียนการสอนนั้นมักจะมีราคาสูง อีกทั้งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ นโยบายการเบิกจ่ายเงินจากกองทุนต่างๆมีความเปลี่ยนแปลงบ่อย ยิ่งส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลต่างๆในสังกัดของรัฐบาลเป็นอย่างมาก แต่เรื่องโชคดีของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ก็คือ เรามีระบบ IT ที่ดีและมีเสถียรภาพสูง สามารถช่วยจัดการด้านข้อมูลการรักษาพยาบาลได้อย่างดี ทำให้ง่ายต่อการจัดเก็บ รวบรวม และส่งข้อมูลต่างๆไปยังกองทุนสุขภาพที่เป็นผู้จ่ายเงินได้ค่อนข้างดี เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงขึ้น เราจึงปรับตัวได้ค่อนข้างเร็วกว่าที่อื่นๆ

นอกจากผลกระทบด้านรายได้ สิ่งที่เกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ คือความคาดหวังของประชาชนต่อการรักษาพยาบาลสูง มีการฟ้องร้อง ร้องเรียนมากขึ้น สิ่งที่พบมากขึ้นในช่วงหลังนี้ก็คือ ความสามารถในการจัดการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลขนาดเล็กประสบปัญหา เพราะแพทย์เริ่มรู้สึกไม่มั่นใจต่อสวัสดิภาพของตนจากการทำงาน มีการผ่องถ่ายความเสี่ยงไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทำให้กระทบต่อการบริการของโรงพยาบาลขนาดใหญ่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่น การผ่าตัดไส้ติ่ง ที่ต้องการการระงับความรู้สึก สมัยก่อนสามารถผ่าตัดได้ในโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง แต่ปัจจุบันผู้ป่วยเหล่านี้จะถูกส่งต่อเข้าโรงพยาบาลขนาดใหญ่แทบทุกราย ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ด้วยเช่นเดียวกัน ปริมาณผู้ป่วยจึงมากขึ้นทุกปี คิวการเข้ารับบริการที่สำคัญนานขึ้น โดยเฉพาะการผ่าตัด

ผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ ซึ่งเริ่มรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ 2547 เป็นต้นมา ส่งผลต่อการบริการของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์อย่างมาก ทั้งการจัดการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ความรุนแรง ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในเขตภาคใต้ตอนล่าง และการจัดการด้านความปลอดภัยขององค์กรต่อการถูกก่อการร้าย

โรงพยาบาลมีนโยบายที่จะรับดูแลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงจากสถานการณ์ทุกรายที่ได้รับการส่งต่อ รวมไปถึงผู้ป่วยทั่วไปที่อยู่ในเขตสามจังหวัดชายแดนใต้ เพราะเรารู้ดีว่าทั้งแพทย์ พยาบาลในพื้นที่มีความเหน็ดเหนื่อยและความเสี่ยงจากการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันมากกว่าหลายเท่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้ให้การดูแลผู้ป่วยจากเขตสามจังหวัดชายแดนใต้เพิ่มขึ้นจาก 106,669 รายในปี พ.ศ. 2552 เป็น 126,056 รายในปี พ.ศ. 2556 ทั้งนี้ได้รวมผู้ป่วยที่รับการส่งต่อปีละประมาณ 6,000 รายต่อปี และมีค่าดัชนีความหนักของโรค (CMI) อยู่ในช่วง 4-6 ซึ่งจัดว่ามีความหนักสูงมาก (CMI เฉลี่ยของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์อยู่ในช่วง 2-3) จากข้อมูลตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของสถานการณ์ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และผลกระทบด้านสุขภาพในระดับภาค เพราะความยากจนและการขาดแคลนอัตรากำลังแพทย์และพยาบาล

ผลกระทบจากสถานการณ์ยังลุกลามเข้ามาในเขตพื้นที่ อ.หาดใหญ่เป็นครั้งคราว เช่น เหตุการณ์วางระเบิดสนามบินนานาชาติหาดใหญ่และห้างร้านในเขตพื้นที่เศรษฐกิจในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2548 ระเบิดในพื้นที่เมืองหาดใหญ่ 2 จุด เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2551 และ เหตุการณ์คาร์บอมในห้างลี การ์เด้น พลาซ่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

ภาระงานที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว คณะแพทยศาสตร์และโรงพยาบาลจึงมีนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น โดยการสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินแห่งใหม่ขึ้นบริเวณส่วนหน้า ด้านที่ติดกับถนนกาญจนวนิช (กำลังอยู่ในระหว่างการขอพระราชทานชื่อ) ซึ่งหากเปิดทำการได้เต็มที่จะเพิ่มจำนวนเตียงได้อีก 250 เตียง (รวมเป็น 1,068 เตียง) สามารถให้บริการผู้ป่วยนอกเพิ่มเป็น 4,500 รายต่อวัน จะมีห้องผ่าตัดเพิ่มอีก 6 ห้อง (รวมเป็น 29 ห้อง) และมี ICU เพิ่มเป็น 89 เตียง (ปัจจุบัน มีจำนวนเตียง ICU ในโรงพยาบาลทั้งระบบ 79 เตียง) และรองรับระบบการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศได้ เนื่องจากบนชั้นดาดฟ้าของอาคารมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ที่สามารถรองรับน้ำหนักเครื่องได้ 5 ตัน ความสามารถเต็มประสิทธิภาพดังกล่าวถูกวางแผนให้เกิดขึ้นภายใน 5 ปีต่อจากนี้ เนื่องจากคณะฯต้องจัดอัตรากำลังและขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากภาครัฐอีกส่วนหนึ่ง

นอกจากนี้โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้ปรับตัวเพื่อรองรับปัญหาจากความรุนแรงดังกล่าว โดยมีปรับปรุงและซ้อมแผนอุบัติเหตุหมู่เป็นระยะ มีแผนรับมือการวางระเบิดโรงพยาบาล และได้ใช้ระบบรักษาความปลอดภัยโดยติดตั้ง CCTV ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 และในปี พ.ศ. 2557 ได้เริ่มมีการปรับปรุงและวางระบบใหม่ที่ทันสมัยเพิ่มเติม มีกำหนดแล้วเสร็จช่วงปลายปี พ.ศ. 2557 นี้

 

นโยบายรวมประเทศเข้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน (AEC) ซึ่งเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของประชาคมอาเซี่ยน (อีกสองเสาหลักคือ ด้านความมั่นคงและการเมือง และด้านสังคมและวัฒนธรรม) โรงพยาบาลสงขลานครินทร์จึงต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่อีกครั้ง

ปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์อยู่ที่การมีจุดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ นั่นคือ การอยู่ในเขตด้ามขวานและชิดเขตทะเลทั้ง 2 ฟากฝั่ง มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย แหล่งท่องเที่ยวและอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ปัจจัยด้านนี้จะทำให้มีนักท่องเที่ยวในพื้นที่มากมายทั้งนักท่องเที่ยวใน ประเทศและนักท่องเที่ยงต่างชาติโดยเฉพาะจากประเทศมาเลย์เซียและสิงคโปร์ สนามบินนานาชาติหาดใหญ่มีเที่ยวบินบินตรงมาจากทั้ง 2 ประเทศทุกวัน การคมนาคมทางถนนก็สะดวก มีการขับรถท่องเที่ยวผ่านเขตแดนในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการลงทุนทางทะเล โดยเฉพาะการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ บุคลากรที่เกี่ยวข้องจะมีความมั่นคงทางสุขภาพเพราะมีสงขลานครินทร์ อีกทั้งในอนาคตอันใกล้ เราจะมีอาจารย์แพทย์ที่เรียนจบปริญญาเอกทางด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล ซึ่งจะเป็นความมั่นคงทางวิชาการและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมการขุดเจาะก๊าซและน้ำมันในทะเลอีกด้วย

ในพื้นที่ตั้งของสงขลานครินทร์มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม และส่วนมากใช้ภาษามลายูเป็นภาษาสื่อสารในพื้นที่ นี่ก็เป็นหนึ่งในการเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพราะประชากรส่วนใหญ่ของประชาคมอาเซี่ยนซึ่งมีประชากรทั้งหมดประมาณ 600 ล้านคน และเกือบ 280 ล้านคน สื่อสารด้วยภาษานี้ การพัฒนาในอนาคตของโรงพยาบาลจึงอาจจะต้องรวมถึงการบริการโดยมีล่ามภาษามลายู การรับบุคลากรที่ใช้ภาษานี้ได้ ตลอดจนการฝึกอบรมแพทย์และพยาบาลเพื่อกลับไปรับใช้พี่น้องประชาชนในเขตภาคใต้ตอนล่างด้วย

ท้ายที่สุดก็คือการพัฒนาด้านศักยภาพของการรักษาพยาบาล ซึ่งในขณะนี้คณะแพทย์ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลให้รองรับนโยบาย medical hub ของรัฐบาล โดยพัฒนาใน 2ด้าน คือ service และ academic hub โดยจะเริ่มพัฒนาและเปิดศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์สาขาต่างๆ (excellence centers) รวมถึงการฝึกอบรมแพทย์เพื่อออกไปทำงานในเชิงลึกให้ได้ในปริมาณที่เพียงพอต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาค

 

ปี พ.ศ. 2556 โรงพยาบาลสงขลานครินทร์มีอายุครบ 31 ปี ตัวอาคารหลักที่ก่อสร้างมาแต่ครั้งอดีตเริ่มมีความเก่าและทรุดโทรมลงตามลำดับ เนื่องจากระยะเวลาและการใช้ประโยชน์ในตัวอาคารอย่างหนัก ที่ผ่านมาจึงมีการปรับปรุงซ่อมแซมเป็นระยะ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปรับปรุงส่วนใหญ่ก็คือ การไม่สามารถจัดการด้านระบบสาธารณูปโภคได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากเทคโนโลยีของระบบไฟฟ้า ท่อต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป ระบบบางส่วนไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้อีก ดังนั้น เมื่อผ่านการซ่อมแซมจุดหนึ่ง ก็จะส่งผลกระทบไปยังจุดอื่นๆอีกด้วยไม่มากก็น้อย โรงพยาบาลจึงเปลี่ยนแนวคิดในการซ่อมแซมใหม่โดยในอนาคตคงมีความจำเป็นต้องซ่อมแซมเป็นแท่งตึก จัดการระบบสาธารณูปโภคใหม่ด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่ดีและทันสมัย สามารถรองรับการใช้งานไปได้อีกอย่างน้อย 30 ปี ซึ่งแนวความคิดนี้ได้ผ่านการเห็นชอบจากกรรมการคณะแพทยศาสตร์ไปเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556

ตลอดระยะเวลา 4 ทศวรรษของคณะแพทยศาสตร์ และ 3 ทศวรรษของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เราสามารถพิสูจน์ได้ว่า เราเป็นสถาบันทางการแพทย์ที่เป็นที่พึ่งทางสุขภาพของประชาชนในภูมิภาค มีชื่อเสียงด้านการบริการระดับตติยภูมิชั้นเลิศ การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลเป็นที่ยอมรับระดับประเทศและเป็นสถานที่ดูงานของโรงพยาบาลต่างๆ

ทั้งหมดนี้คงลืมไม่ได้ที่จะกล่าวถึงผู้นำองค์กรในแต่ละช่วงสมัย คือ

อาจารย์ทวี ธนะตระกูล

รศ.นพ.อุดม ชมชาญ

ผศ.นพ.อุทัย เก้าเอี้ยน

รศ.พญ.พันธ์ทิพย์ สงวนเชื้อ

รศ.พญ.อมรา พานิช

ผศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ

รศ.นพ.สุเมธ พีรวุฒิ

รศ.นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์

ผศ.นพ.ชิต เพชรพิเชฐเชียร

สงขลานครินทร์มีความจำเป็นต้องพัฒนาและก้าวเดินต่อไป ท่ามกลางโอกาสและวิกฤติปัญหาต่างๆรอบด้าน

ปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนพัฒนาโรงพยาบาลก็คือคุณภาพของบุคลากรทุกระดับที่ร่วมแรงร่วมใจพัฒนาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์มาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน และต่อเนื่องไปในอนาคต

หมายเลขบันทึก: 563310เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2014 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มีนาคม 2014 08:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เพราะเราเป้นส่วนหนึ่ง...ของ ร.พ.สมัยแรกเริ่ม..ตอนนี้กลายเป็นคนเก่า + แก่ไปซะแล้ว

จะเป็นบันทึกที่น่าจดจำและน่าชื่นชมอย่างยิ่งเพราะเขียนโดยความภูมิใจของนักศึกษาแพทย์ มอ. เอง ที่ปัจจุบันเป็นคุณหมอคนเก่งของโรงพยาบาล มอ. และเป็นที่รักของคนไข้และบุคลากรมากมาย ชื่นชมหมอแป๊ะจริงๆ นะ :)

เป็นประวัติโรงพยาบาลได้เลยครับคุณหมอ

ขอชื่นชม

ครับคุณครูขจิต

บทความนี้ เริ่มต้นเขียนส่งเพื่อทำหนังสือ ๔๐ ปีคณะแพทย์

แต่ถูกตัดต่อ ตัดอารมณ์ไปมาก ผมจึงเอาตัวจริงมาลงในนี้ ส่วนที่ตัดตามความเหมาะสม ไปลงหนังสือครับ

อาจารย์จัน

ใครจะมารักฉันนักหนา ยิ่งตอนนี้ ถูกด่าเป็นรายวันเลยเชียว

ครับครูหยิน

หากเป็นคนแรกเริ่ม ตอนนี้ก็เป็นคนเริ่มแก่แล้วครับ

ลงกระดานข่าวคณะแพทย์ให้คนทำงานปัจจุบันและนศพ.ได้รับรู้ด้วยก็ดีนะคะ อ.หมอแปร๊ะ

เดียร์ อันตี้ โอ๋

ยังไม่คิดว่าเอาไงใน web board เพราะว่ารอให้ลงพิมพ์ในหนังสือก่อนครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท