พร มาจากไหน


พร
    เมื่อถึงโอกาสดีๆ มักจะมีการขอพร ให้พร นับเป็นความเบิกบานใจของทั้งผู้ให้และผู้รับ
    คำว่า "พร" หลายท่านคงเดาไว้ ว่ามาจากคำในภาษาบาลีภาษาสันสกฤต แต่เราไปดูความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก่อนดีกว่า ฉบับ พ.ศ.2542 ให้ความหมายไว้สองอย่าง คือ

  • คําแสดงความปรารถนาให้ประสบสิ่งที่เป็นสิริมงคล เช่น ให้พร ถวายพระพร
  • สิ่งที่ขอเลือกเอาตามประสงค์ เช่น ขอพร


พรมาจากไหน
    พร เข้าใจว่ามาจากคำว่า วร (อ่านว่า วะระ) ในภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต ซึ่งสะกดเหมือนกัน ใช้เหมือนกันอีกต่างหาก

  •  อักษรโรมันสะกด vara
  •  อักษรเทวนาครี वर


ขอเล่าเฉพาะทางสันสกฤต  
    คำนี้มีความหมายหลายอย่าง หากเน้นเสียงต่างกัน ก็จะมีความหมายแตกต่างกัน (โปรดสังเกตเสียงเน้น ว่าเน้นพยางค์แรก หรือพยางค์หลัง)

วร (vára) เน้นพยางค์หน้า

    หมายถึง ประเสริฐ ยิ่งใหญ่ เก่งมาก ดีกว่า ฯลฯ
    ในภาษาไทย อ่านว่า วอระ หรือ วะระ
    วร หมายถึง พิเศษ ยิ่งใหญ่ เช่น คชวรํ ช้างที่ดุร้ายยิ่ง (ในคาถาพาหุงว่า นาฬาคิรึ คชวรํ อติมตฺตภูตํ = ช้างแสนดุร้าย ชื่อว่า นาฬาคิรี เป็นช้างเมามันยิ่งนัก)
    ในภาษาไทย เรามักใช้นำหน้าคำอื่น เช่น วรเชษฐ์ วรเดช วรกมล ความหมายว่า ดี พิเศษ เช่นกัน
    คำนี้คงจะเก่าแก่พอสมควร เพราะพบได้ในคัมภีร์ฤคเวทหลายข้อความ ตัวอย่างเช่น “ยสฺเต สขิภฺย อา วรมฺ” (yás  te  sákhibhya  Á  váram = เขา ผู้ที่ดีกว่าเพื่อนๆ)

วร (vará)

    คำนี้เน้นพยางค์หลัง หมายถึง ผู้เลือก มาจาก วฺฤ แปลว่า เลือก
    ผู้เลือกในที่นี้คือ ผู้เลือกเจ้าสาว ก็คือ เจ้าบ่าวนั่นเอง (แต่บางบริบท หมายถึง เพื่อนเจ้าบ่าวก็ได้)
    (คำนี้ทำให้นึกถึงภาษาอังกฤษ. เพราะ วร หมายถึง ประเสริฐ และหมายถึง เจ้าบ่าวก็ได้, ส่วน goodman หมายถึง คนดี สามี หรือ เจ้าบ่าวก็ได้ เช่นกัน)
    ในนิยายของอินเดีย มีพิธีที่เรียกว่า สวยุมพร แปลว่า การเลือกด้วยตนเอง ซึ่งหมายถึง การเลือกเจ้าบ่าวนั่นเอง (หมายถึง หญิงที่เลือกสามีด้วยตนเองก็ได้) ดังรู้จักกันดีจากเรื่องสังข์ทอง และมโนราห์

วร (vára)

    อีกคำหนึ่ง หมายถึง ของขวัญ สิ่งที่ขอแล้วได้ (พร)
    คำนี้เราคุ้นเคยกันแล้ว ในนิทานมีเรื่องการให้พรบ่อย

    ภทฺรํ ไว วรํ วฺฤณเต ภทฺรํ ยุญฺชนฺติ ทกฺษิณมฺฯ (ฤคเวท ๑๐.๑๖๔.๒)
    (bhadráM  vaí  váraM  vRNate  bhadráM  yuñjanti  dákSiNam)
    บุคคลเลือกพรประเสริฐจริงๆ  พวกเขาจะได้รับของขวัญอันประเสริฐ   

    เตา วเรา ยาจ ภรฺตารํ ภรตสฺยาภิเษจนมฺ ฯ
    ปฺรวฺราชนํ จ รามสฺย ตฺวํ วรฺษาณิ จตุรฺทศ ฯ
    จงขอพรทั้งสองข้อจากพระสวามีของท่าน นั่นคือ
    การอภิเษกพระโอรสภรต และการเนรเทศพระรามเป็นเวลาสิบสี่ปี ฯ (ราม. ๒.๙.๒๐)

    ในที่นี้ วร (ในคำว่า วเรา) ก็คือ พร ที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง

    ชื่อใครมีคำว่า พร แสดงว่ามีสิ่งดีๆ อยู่กับตัว ทั้งดีที่สุด และมีสิ่งที่เลือกได้...

 

คำสำคัญ (Tags): #พร#วร
หมายเลขบันทึก: 562907เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2014 20:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2014 20:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

แวะมาขอวาระ จากท่านอาจารย์ ธ.วัชชัย

ขอบพระคุณสำหรับบทความดีๆมีสาระคะ อ่านทีไรก็สุขใจทุกที..อิอิ

สวัสดีครับ ท่านวอญ่า

ให้พรไม่ได้ครับ ผมต้องขอพรจากท่านผู้อาวุโสครับ ;)

คุณศรีขยันมาก ขอให้ขยันอย่างนี้ไปเรื่อยๆ นะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท