ส่งลูกไปเรียนพิเศษที่บ้านนอก : ทาสีประตูโขง (วัด)


ระยะหลังเห็นได้ชัดว่าน้องดินและเพื่อนพ้องร่วมรุ่นหันเหเข้าไป “เล่นในวัด” ถี่ขึ้น ส่วนหนึ่งคงเป็นผลพวงของการได้ “บวชเณร” มาเป็นระยะๆ จึงพลอยให้เป็นเส้นทางสายบุญให้น้องดินได้หวนกลับเข้าวัดอยู่เนืองๆ

การกลับบ้านของลูกๆ ในแต่ละครั้ง  มักมีกิจกรรมให้พวกเขาลงมือทำอยู่อย่างต่อเนื่อง  กิจกรรมที่ว่านั้นมีทั้งกิจกรรมในครัวเรือน และกิจกรรมในระดับชุมชน

ถึงแม้น้องดิน-น้องแดน จะเข้าโรงเรียนที่มหาสารคาม  และก่อนนั้นกว่าจะกลับบ้านแต่ละครั้งก็นานๆ ที เรียกได้ว่าปิดเทอมโน่นแหละถึงได้กลับไปใช้ชีวิตในแบบเต็มสูบ  ดังที่ผมเรียกว่า “เรียนพิเศษที่บ้านนอก” นั่นเอง

กระนั้นก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงแม้จะไม่ค่อยได้กลับบ้านบ่อยนัก แต่สายสัมพันธ์ระหว่างลูกๆ กับเพื่อนๆ และพี่ๆ ในหมู่บ้านกลับแน่นแฟ้นกลมเกลียว  จนดูเหมือนว่ากลุ่มคนเหล่านั้นต่างล้วนตั้งตารอการกลับไปของน้องดินและน้องแดนอยู่เป็นประจำ 

 

 

 

แน่นอนครับ, ในสมัยที่ “แม่” ยังมีชีวิตอยู่  เด็กๆ จะแวะมาถามไถ่เสมอว่า “เจ้าสองหนุ่ม" ของผม จะกลับบ้านบ้างมั๊ย 

ครับ,  สำหรับพวกเขาแล้ว  คงไม่ใช่แค่การได้เจอกัน  มีขนมนมเนยให้ได้กิน มีเรื่องเล่าอวดอ้างจากต่างพื้นที่  หากแต่หมายถึงการมีกิจกรรมสร้างสรรค์ได้ทำร่วมกันต่างหาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมที่ยึดโยงกับวิถีชุมชน ...



 

ระยะหลังเห็นได้ชัดว่าน้องดินและเพื่อนพ้องร่วมรุ่นหันเหเข้าไป “เล่นในวัด” ถี่ขึ้น  ส่วนหนึ่งคงเป็นผลพวงของการได้ “บวชเณร” มาเป็นระยะๆ จึงพลอยให้เป็นเส้นทางสายบุญให้น้องดินได้หวนกลับเข้าวัดอยู่เนืองๆ  มิหนำซ้ำยังใช้พื้นที่ในวัดเป็นที่นัดหมายกับเพื่อนๆ ในการวิ่งเล่น พูดคุย และอื่นๆ จิปาถะ  จนระยะหลังกิจกรรมในวัดล้วนออกมาในรูปของการบำเพ็ญประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น และมากขึ้นเรื่อยๆ

เช่นเดียวกับสองสัปดาห์ล่าสุด  ทันทีที่น้องดินกลับถึงบ้าน  สิ่งแรกที่ถาม “พ่อปู่” และ “แม่นา” (พี่สาวคนเดียวของผม) ก็คือ “เพิ่นสิทาสีวัดบ่”...

ครับ, น้องดินรู้ดีว่าชุมชนกำลัง “ทาสีประตูโขง” (วัด)  หากแต่เป็นการงานของพระในวัด ไม่ใช่การรับเหมาก่อสร้างใดๆ  รวมถึงการลงแรงของชาวบ้าน  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคณะกรรมการวัดนั่นแหละ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ชัดเจนว่าแต่ละคนล้วนรุ่นใหญ่ (ลายคราม) กันทั้งสิ้น  จึงไม่สะดวกที่จะปีนป่ายขึ้นไปทาสีซุ้มประตูวัดได้เป็นแน่  ด้วยเหตุฉะนี้จึงเป็นภารกิจของเด็กๆ ในหมู่บ้าน....และเป็นผลพวง หรืออานิสงส์การเรียนรู้ของน้องดินและเพื่อนๆ อย่างเสร็จสรรพ  เพราะคงไม่สามารถรั้งรอ  หรือส่งมอบภารกิจนี้ไปยังวัยรุ่นหนุ่มสาวได้อย่างเป็นมรรคเป็นผล



 

กรณีดังกล่าวนี้  ผมไม่อิดออดที่จะฉุดรั้งและทัดทานใดๆ  ไม่พูดแม้กระทั่งว่าต้องดูแลตัวเองอย่างไร  หรือต้องระมัดระวังอะไร  เพียงแต่ย้ำว่า “ดูแลน้องให้ดีๆ ...ตั้งใจ และอย่าเกเร...”

ด้วยเหตุนี้น้องดิน จึงหายเงียบเข้าวัดตั้งแต่เช้า  ครั้นบ่ายคล้อยก็ไปเตะบอลที่โรงเรียนประจำหมู่บ้าน จากนั้นจึงกลับเข้าบ้าน  ส่วนน้องแดน (เจ้านักเลงลูกทุ่ง) ไม่นิยมไปไหนไกล ติดนิสัยอ้อนออดและอยู่ข้างกายของ “แม่ย่า”  ดังนั้นจึงออกไปในแนวหลบหายไปเที่ยวเล่นอยู่ตามบ้านพี่ๆ น้องๆ .. จับโน่นนี่พอเป็นพิธี จากนั้นจึงค่อยติดตามไปวัดเพื่อเกาะติดสถานการณ์  และรอเวลาเข้าทีมเตะบอลนั่นแหละ...

 

 

 

ครับ, นี่คือเรื่องราวการเรียนพิเศษที่บ้านนอกของลูกๆ ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์....

เป็นการเรียนพิเศษด้วยหลักคิดของการ “ใช้ชีวิต” ใน “บ้านเกิด”  และเรียนรู้ผ่านการ “ลงมือทำ” (เฮ็ดจริง) ...เน้นความสุข สนุกสนาน และได้งาน ได้เหงื่อ...

แต่สำหรับผมแล้ว ยังเร็วเกินกว่าที่จะถามพวกเขาว่า “ทำแล้วได้อะไร...” 
หากแต่ที่ถามซ้ำๆ อยู่เป็นประจำ คือ “วันนี้ทำอะไร...เหนื่อยมั๊ย...อาทิตย์หน้ามีอะไรต้องกลับมาทำอีกหรือเปล่า....”

ส่วน “ทำแล้วได้อะไร..”  ผมเชื่อว่าอย่างน้อยซักวันพวกเขาจะตอบได้อย่างฉะฉาน ถึงผมไม่ถาม พวกเขาย่อมรู้คำตอบเหล่านั้นด้วยตนเองอยู่ดี 

ผมเชื่อเช่นนั้น ครับ

หมายเลขบันทึก: 562566เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2014 21:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2014 21:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมและให้กำลังใจจ้ะ

...ชื่นชม และประทับใจมากๆค่ะ

เป็นแบบอย่างที่ดีในการบ่มเพาะเยาวชนเช่นนี้ค่ะ

สวัสดีครับ คุณมะเดื่อ

หอมกลิ่นลมร้อนปนมาเรื่อยๆ คิดถึงนาฏกรรมชีวิตหน้าแล้งที่กำลังมาถึงเป็นที่สุดครับ ขณะหนึ่งพลอยได้นึกถึงภาพวัยเด็กที่เคยยิงนกตกปลาในหน้านี้ --

สวัสดีครับ ดร. พจนา แย้มนัยนา

ผมได้แต่หมายใจว่า กิจกรรมเหล่านี้แหละจะกลายเป็นทุนชีวิตที่ดีของลูกๆ ในการใช้ชีวิตในสังคม และหนักแน่นกับเรื่องรากเหง้าของตัวเอง...

ผมอธิษฐานลึกๆ เช่นนั้น ครับ

สวัสดีครับ พี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ

การบ่มเพาะเด็กและเยาวชนผ่านกิจกรรมที่บันเทิงเริงปัญญา น่าจะเป็นทางออกที่ดีและมีพลังในการบ่มเพาะและเสริมสร้างทักษะชีวิต หรือทักษะการเรียนรู้ของเด็กๆ ...นั่นคือสิ่งที่ผมเชื่อและยึดมั่นเสมอมาครับ

ขอบพระคุณครับ


..ชื่นชมนะคะเป็นเด็กที่มีความคิด คิดดีดีนะคะ ....

อยากกดชอบให้สักร้อยหนครับท่าน :-)...เมื่อเช้านี้ผมนึกถึง พรบ.คณะสงฆ์ "วัดเป็นนิติบุคคล" ทำให้คนและวัดห่างกัน เพราะวัดไม่ใช่ของเราอีกต่อไป ดังนั้น จะทำอย่างไร ให้คนรุ้สึกว่าวัดยังเป็นของหมู่บ้านและทุกคนที่จะช่วยกันทำนุบำรุงส่งต่อไปถึงลูกหลานต่อไป

ครับ อาจารย์ Dr. Ple

สำหรับลูกๆ แล้ว โลกและชีวิตเขายังกว้างใหญ่และยาวไกลมากเลยครับ ได้แต่หวังว่า กิจกรรมสร้างสรรค์เหล่านี้ จะกลายเป็นพลังชีวิต -หมุดหมาย หรือแม้แต่ ตาชั่งความดีที่ถ่วงดุลจิตใจของเราอยู่ตลอดเวลา ครับ

ครับ อ.nmintra

พรบ.วัด เป็นนิติบุคคล ก็ชวนคิด 
แต่ผมก็ยังเชื่อว่า วัดกับผู้คนจะยังห่างเหินและห่างหายกันไปมากหรอกนะครับ ยกเว้นวัดในตัวเมืองใหญ่ๆ  หากแต่วัดในหมู่บ้าน ความสัมพันธ์จะยังคงอยู่ พึ่งพิง และเกี่ยวรัดกันอย่างแยกไม่ออก ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท