สิทธิมนุษยชน กับ ความปลอดภัย


เทอม 2/2556 มีโอกาสได้เรียนวิชา สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมและสันติภาพ

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาความขัดแย้งและสันติศึกษา

ดิฉันได้เขียนบทความนี้ขึ้นมา ซึ่งเพื่อนร่วมชั้นลงความเห็นกันว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวที่บางครั้งเรามองข้ามไป

บทความด้านล่างนี้ หากมีความผิดพลาดทางด้านข้อมูลประการใด ขอคำแนะนำด้วยนะคะ

กล้าขวัญ

 

 (ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ท)

 

สิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลกับมาตรการรักษาความปลอดภัยห้างสรรพสินค้า

ในเขตพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

 

ที่มาและความสำคัญ

            เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ส่งผลกระทบทางความมั่นคงด้านการเมือง การศึกษา เศรษฐกิจ ตลอดจนเสถียรภาพและความปลอดภัยของประชนชนที่อาศัยอยู่ในสามจังหวัดเอง และประชาชนในเขตพื้นที่ใกล้เคียง แม้ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนักในเขตจังหวัดสงขลา แต่ด้วยความที่อำเภอหาดใหญ่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคใต้ตอนล่าง ที่แห่งนี้จึงตกเป็นเป้าหมายสร้างความวุ่นวายของผู้ก่อความไม่สงบหลายต่อหลายครั้งนับตั้งแต่เหตุการณ์ระเบิดครั้งแรกที่ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2547 จากนั้นเป็นต้นมาหาดใหญ่ต้องประสบกับเหตุวางระเบิดในที่ชุมชนอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะเหตุการณ์สะเทือนขวัญเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 ที่โรงแรมและห้างสรรพสินค้าลีการ์เด้นพลาซ่า เมื่อมือระเบิดซุกซ่อนวัตถุระเบิดไว้ในรถยนต์และนำไปจอดบริเวณที่จอดรถชั้นใต้ดินของโรงแรม เมื่อวัตถุระเบิดเกิดระเบิดขึ้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 416 ราย โดยนายสุรชัย จิตภักดีบดินทร์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลาระบุว่าประมาณการความสูญเสียทางเศรษฐกิจหลังเกิดเหตุระเบิดสูงถึง 800 ล้านบาท (ธวัช, 2555) นอกจากนี้สิ่งที่ตามมาคือทั้งชาวหาดใหญ่ และนักท่องเที่ยวเกิดความหวาดกลัว และความวิตกกังวลสำหรับมาตรการด้านความปลอดภัย เพื่อเป็นหลักประกันในการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข

            ผลกระทบจากความรุนแรงดังกล่าวไม่เพียงสร้างความเสียหายให้แก่ระบบเศรษฐกิจ แต่ยังสร้างความเสียหายให้แก่สิ่งปลูกสร้าง อาคารร้านค้า มีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจอีกด้วยด้วยเหตุนี้ห้างสรรพสินค้าชั้นนำในอำเภอหาดใหญ่จึงเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยบริเวณพื้นที่จอดรถในบริเวณตัวอาคารห้างสรรพสินค้า และไม่ว่าจะเป็นอาคารจอดรถที่แยกออกจากตัวห้างฯ หรือพื้นที่จอดรถชั้นใต้ดินใต้ตัวห้างฯ โดยให้พนักงานรักษาความปลอดภัยทำการตรวจค้นรถยนต์และรถจักรยานยนต์ทุกคัน พร้อมทั้งติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อบันทึกภาพรถยนต์และรถจักรยานยนต์พร้อมผู้ขับขี่ และถ่ายภาพบัตรแสดงตัวตนอาทิ บัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่ หรือบัตรข้าราชการ ของผู้ที่เข้าใช้บริการพื้นที่จอดรถของห้างสรรพสินค้านั้นๆ นอกจากนี้ยังไม่อนุญาตให้รถยนต์ที่ใช้ระบบก๊าซ NGV และ LPG เข้าจอดในบริเวณพื้นที่จอดรถ

            หากมองโดยภาพรวมแล้วการกระทำดังกล่าวของทางห้างสรรพสินค้าเป็นหนึ่งในมาตรการรักษาความปลอดภัย และระวังภัยไม่ให้เกิดความสูญเสีย เพื่อป้องกันการซุกซ่อนวัตถุระเบิดไว้ในยานพาหนะแต่ในทางกลับกันหากเราพิจารณาในมุมของสิทธิส่วนบุคคลอันเป็นส่วนย่อยของสิทธิมนุษยชนแล้ว อาจพบว่าการกระทำดังกล่าวละเมิดสิทธิบางประการของประชาชนผู้ต้องการเข้าใช้บริการห้างสรรพสินค้า ดังนั้นบทความชิ้นนี้จึงมุ่งวิเคราะห์เรื่องสิทธิส่วนบุคคลกับระบบรักษาความปลอดภัยในเขตพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาโดยใช้ทฤษฎี หลักเกณฑ์ ข้อพิจารณาต่างๆ ด้านกฎหมาย และบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อหาความกระจ่างชัดว่าประชาชนถูกละเมิดสิทธิจากการกระทำอันมีจุดมุ่งหมายเพื่อการรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่หรือไม่ โดยการนำเสนอความชอบธรรมของทั้งสองฝ่าย และนำเสนอทรรศนะของผู้เขียนที่มีต่อกรณีดังกล่าว

            ส่วนแรกของบทความเป็นการอธิบายถึงแนวทางการรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าในเขตอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในส่วนที่สองเป็นการวิเคราะห์ความชอบธรรมด้านสิทธิมนุษยชนโดยใช้หลักสากล ได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อนุสัญญาแห่งยุโรปว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ประกอบกับขอบเขตและคำนิยามของสิทธิความเป็นส่วนตัว (right to privacy) ในระดับสากลและที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญของไทย และหลักการเรื่องความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล เป็นเครื่องมือในการเปรียบเทียบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จากนั้นในส่วนที่สามเป็นการอธิบายถึงความชอบธรรมในมาตรการรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าตามแนวทางที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญไทย หลักการเรื่องอิสรภาพและสิทธิในทรัพย์สินส่วนตัวของจอห์น สจ๊วต มิลล์ ประกอบกับทฤษฎีความยินยอมโดยสมัครใจของจอห์น ล็อก และหลักอรรถประโยชน์ของเจเรมี เบ็นแธ็ม และท้ายสุดเป็นทรรศนะของผู้อภิปรายที่มีต่อมาตรการรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้า

 

มาตรการรักษาความปลอดภัย

            พื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้ผ่านเหตุการณ์ความไม่สงบอันเนื่องมาจากการวางระเบิดหลายครั้ง ส่งผลให้สถานที่สำคัญ เช่น มหาวิทยาลัย สถานที่ราชการ อาคารพาณิชย์ และห้างสรรพสินค้า ต่างก็มีมาตรการป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่มีสามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งในแต่ละสถานที่มีวิธีการตลอดจนความเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัยแตกต่างกัน ในส่วนของมหาวิทยาลัย สถานที่ราชการ และอาคารพาณิชย์นั้น การตรวจค้นยานพาหนะก่อนเข้าภายในสถานที่นั้นไม่เข้มงวดมากนัก เพราะสถานที่ดังกล่าวดูเหมือนจะยังไม่ใช่เป้าหมายหลักของผู้ก่อความไม่สงบ ในทางกลับกัน ห้างสรรพสินค้าอันเป็นศูนย์รวมของร้านค้า ธนาคาร ผู้ให้บริการต่างๆ และผู้ที่มาจับจ่ายซื้อของ อีกทั้งยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอำเภอหาดใหญ่ซึ่งถ้าหากเกิดเหตุระเบิดขึ้นย่อมเกิดความสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ อีกทั้งเป็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้นห้างสรรพสินค้าเหล่านี้จึงมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดเป็นพิเศษกว่าสถานที่อื่นๆ

            กระบวนการรักษาความปลอดภัยยานพาหนะก่อนที่จะเข้าใช้บริการลานจอดรถใต้ดินของห้างสรรพสินค้ากลางใจเมืองหาดใหญ่มีดังต่อไปนี้ ในกรณีรถจักรยานยนต์ ผู้ขับขี่ต้องดับเครื่องยนต์ แสดงใบขับขี่หรือเอกสารที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้แก่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพื่อทำการบันทึกภาพ ผู้ขับขี่และรถจักรยานยนต์จะถูกบันทึกภาพโดยต้องเปิดหน้ากากหมวกนิรภัยและถอดแว่นกันแดดเพื่อให้เห็นใบหน้าที่ชัดเจน เจ้าหน้าที่ทำการเปิดช่องเก็บของใต้เบาะรถจักรยายนต์และตรวจค้นทุกส่วนอย่างละเอียด สำหรับรถยนต์ เมื่อเข้าถึงจุดตรวจผู้ขับขี่ต้องดับไฟหน้ารถ ขับขึ้นไปยังแท่นตรวจที่มีกล้องที่ฉายให้เห็นตัวถังใต้ท้องรถทั้งหมด ลดกระจกลงทุกบานและแสดงใบขับขี่หรือเอกสารที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้แก่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพื่อทำการบันทึกภาพ ผู้ขับขี่ต้องลงจากรถและเปิดทางให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยใช้ไฟฉายส่องดูใต้เบาะที่นั่งทั้งด้านหน้าและหลัง เปิดช่องเก็บของด้านข้างคนขับเพื่อตรวจค้น หากมีกล่องหรือวัตถุขนาดใหญ่วางอยู่ภายในรถก็ต้องเปิดออกเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน ในส่วนช่องเก็บของด้านหลัง (กระโปรงหลัง) เจ้าหน้าที่จะตรวจค้นอย่างละเอียดโดยการเปิดดูใต้พรมว่ามีสิ่งใดซุกซ่อนอยู่หรือไม่ และถ้าหากพบว่ารถคันดังกล่าวติดตั้งถังก๊าซ NGV หรือ LPG ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าจอดในบริเวณลานจอดรถของทางห้างฯ ทั้งนี้ภาพใบหน้าของผู้ขับขี่และเลขทะเบียนรถก็จะถูกบันทึกไว้เช่นเดียวกับกรณีของรถจักรยานยนต์

 

สิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชน

            มาตรการตรวจค้นเพื่อการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวนำมาซึ่งข้อกังขาที่ว่า การกระทำของพนักงานนั้นละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนอันเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากสิทธิความเป็นส่วนตัวถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานประการหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับเรื่องสิทธิตามธรรมชาติ (Natural rights) ที่ว่าเหนืออำนาจสูงสุดของมนุษย์คือธรรมชาติ และมนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับสิทธิในชีวิต สิทธิในทรัพย์สิน เสรีภาพในร่างกายและความเสมอภาคกัน (กุลพล พลวัล, 2538) ซึ่งสิทธิและเสรีภาพเหล่านี้เป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด ผู้ใช้อำนาจปกครองไม่มีอำนาจที่จะลบล้างและไม่อาจก้าวล่วงได้ ดังนั้นโดยหลักการคือ บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในความเป็นอยู่ส่วนตัว และสามารถกระทำการใดๆ ตราบเท่าที่ไม่กระทบสิทธิของบุคคลอื่นและไม่ผิดกฎหมาย (เรวดี ขวัญทองยิ้ม, 2554)

            เพื่ออธิบายว่าการกระทำดังกล่าวข้างต้นเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน ผู้ศึกษาขออภิปรายเปรียบเทียบโดยใช้หลักพิจารณาต่างๆ ดังนี้

          1. หลักสากลที่รับรองและคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวของบุคคลธรรมดา

            หลักสากลที่ระบุถึงการคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวของบุคคลธรรมดาที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี (เรวดี ขวัญทองยิ้ม, 2554) ได้แก่

            (1) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948 (Universal Declaration of Human Rights of 1948) มีเนื้อหาว่า สิทธิในความเป็นส่วนตัวของบุคคลได้รับการรับรองและคุ้มครอบในฐานะเป็นสิทธิมนุษยชนประการหนึ่ง ระบุไว้ในข้อ 12 ความว่า “บุคคลใดจะถูกแทรกแซงตามอำเภอใจในความเป็นส่วนตัว ครอบครัว ที่อยู่อาศัย หรือการสื่อสาร หรือถูกลบหลู่เกียรติยศและชื่อเสียงมิได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายต่อการแทรกแซงสิทธิหรือการลบหลู่ดังกล่าว” (กุลพล พลวัล, 2538) ซึ่งหากพิจารณาว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยที่ประกอบด้วยการตรวจค้นอย่างละเอียด โดยการให้ผู้ขับขี่ลงจากยานพาหนะ และดำเนินการตรวจค้นทำส่วนภายในรถราวกับผู้ขับขี่เป็นผู้ต้องสงสัยในการกระทำความผิด อีกทั้งยังมีการขอตรวจสอบและบันทึกภาพบัตรสำคัญที่ราชการเป็นผู้ออกให้ บันทึกภาพบุคคลและยานพาหนะของผู้มาใช้บริการห้างสรรพสินค้านั้นเป็นการแทรกแซงความเป็นส่วนตัวตามอำเภอใจโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย อีกทั้งยังอาจพิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่งว่าผู้ที่มาใช้บริการห้างสรรพสินค้าถูกลบหลู่เกียรติยศเพราะถูกปฏิบัติประหนึ่งว่าเขาผู้นั้นเป็นผู้ต้องสงสัย

            (2) อนุสัญญาแห่งยุโรปว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (European Convention for the Protection of Human Rights and Fundamental Freedoms) ซึ่งรับรองและคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวของบุคคลแสดงอยู่ในข้อ 8 ของอนุสัญญา ความว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับการเคารพในชีวิตส่วนตัวและครอบครัว ที่อยู่อาศัยและการสื่อสาร”(Council of Europe, 2003)เมื่อพิจารณาแล้วพบว่าการตรวจมาตรการรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าในอำเภอหาดใหญ่นั้นไม่เคารพในชีวิตส่วนตัวของผู้มาใช้บริการ เพราะในสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลนั้น ปัจเจกบุคคลมีสิทธิที่จะไปในสถานที่ที่ตนพึงพอใจโดยไม่ต้องบอกกล่าวผู้ใดเนื่องจากสิทธิที่มีอยู่ตามธรรมชาติดังนั้นการบันทึกภาพบัตรที่เป็นเครื่องยืนยันตัวบุคคล ภาพของผู้ใช้บริการและทะเบียนรถนั้นจึงถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนประการหนึ่ง

            แม้ว่าในอนุสัญญาฯ จะมีการระบุว่า “การแทรกแซงการใช้สิทธิส่วนตัวของบุคคลโดยองค์กรของรัฐจะกระทำได้ก็เฉพาะแต่เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้กระทำได้ และการแทรกแซงดังกล่าวเป็นมาตรการที่จำเป็นในสังคมประชาธิปไตยต่อความปลอดภัยแห่งชาติ ความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ การรักษาความสงบเรียบร้อยและการป้องกันการกระทำความผิดทางอาญา การคุ้มครองสุขภาพหรือจิตใจ หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น”(Council of Europe, 2003)ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวที่มุ่งรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อความความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศป้องกันการกระทำความผิดทางอาญา คุ้มครองสุขภาพหรือจิตใจ และการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น แต่การตรวจค้นและบันทึกข้อมูลตลอดจนภาพขอผู้ที่มาใช้บริการห้างสรรพสินค้านั้นถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยซึ่งได้รับการแต่งตั้ง ว่าจ้างโดยห้างสรรพสินค้าซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจเจกชนและเป็นองค์กรภาคเอกชน ไม่ถือว่าอยู่ในขอบข่ายการกระทำโดยองค์กรของรัฐ แม้ว่าฝ่ายเอกชนจะมีเจตนาในการรักษาความปลอดภัยแต่ก็เข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามคำชี้แจงในอนุสัญญาฯ

            2. ขอบเขตและคำนิยามของ “สิทธิความเป็นส่วนตัว” (right to privacy)

            สิทธิความเป็นส่วนตัวหรือ สิทธิส่วนบุคคล (right to privacy) ที่ประชุม ICJ (International Commission of Jurists) ได้ให้ความหมายไว้ในการประชุมเมื่อพี่ 1967 ที่กรุงสต็อกโฮม ประเทศสวีเดน ว่าเป็น “สิทธิที่จะอยู่โดยลำพังโดยมีการรบกวนการแทรกแซงในระดับที่น้อยที่สุด”(วีรพงษ์ บึงไกร, 2543) ซึ่งการคุ้มครองที่มีความสอดคล้องกับประเด็นมาตรการรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าในอำเภอหาดใหญ่ มีดังนี้

            สิทธิของปัจเจกชนที่จะดำเนินชีวิตโดยได้รับการคุ้มครองจากการแทรกแซงในความเป็นส่วนตัว กล่าวได้ว่าการไปใช้บริการห้างสรรพสินค้าเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นส่วนตัว ดังนั้นการบันทึกภาพบัตรที่มีข้อมูลส่วนตัว ใบหน้าของและยานพาหนะของผู้เข้าใช้บริการห้างฯ จึงถือเป็นการแทรกแซงในความเป็นส่วนตัวประการหนึ่งซึ่งอาจครอบคลุมไปถึงสิทธิของปัจเจกชนที่จะดำเนินชีวิตโดยได้รับการคุ้มครองจากการสืบค้นความลับ การสอดรู้สอดเห็น การติดตามเฝ้าดู และการรบกวนอีกประการหนึ่ง

            ประการต่อมาคือเรื่องสิทธิของปัจเจกชนที่จะดำเนินชีวิตโดยได้รับการคุ้มครองจากการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นความลับเนื่องด้วยเป็นข้อมูลส่วนบุคคล อันได้แก่ เลขประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด และที่อยู่ ของผู้เข้าใช้บริการห้างฯแต่พนักงานรักษาความปลอดภัยได้บันทึกภาพบัตรดังกล่าวไว้ โดยที่ผู้เข้าใช้บริการห้างฯ ไม่ได้รับการชี้แจงถึงเงื่อนไขการเก็บรักษาข้อมูลตลอดจนการยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวจะถูกรักษาเป็นความลับ

            นอกจากนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มีผลบังคับใช้บทบัญญัติคุ้มครองสิทธิความเป็นอยู่ส่วนตัวไว้ในมาตรา 35 ความว่า “สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ตลอดจนความเป็นอยู่ส่วนตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง.. ..บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน ทั้งนี้ ตามกฎหมายบัญญัติ

 

          3. ความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลส่วนตัว (Information Privacy)

            ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าการเข้าใช้บริการพื้นที่จอดรถของห้างสรรพสินค้านำมาซึ่งความเสี่ยงต่อการถูละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวในมิติของข้อมูลส่วนตัว และเมื่อพิจารณาจากหลักการสากลที่เป็นกรอบในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Guidelines on the protection of Privacy and Transborder Data Flows of Personal Data) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) พบว่า ความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลส่วนตัว (Information Privacy) ย่อมได้รับความคุ้มครองโดยการวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเก็บรวบรวมและการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคล (เรวดี ขวัญทองยิ้ม, 2554) ซึ่งผู้ศึกษาตั้งข้อสังเกตเปรียบเทียบกับมาตรการรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าในอำเภอหาดใหญ่ ดังนี้

            ประการแรก การเก็บข้อมูลต้องชอบด้วยกฎหมาย และมีวิธีการที่เป็นธรรมเหมาะสม โดยเจ้าของข้อมูลต้องรู้เห็นและได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลแต่ผู้เข้าใช้บริการห้างฯ ไม่มีเครื่องรับรองว่าการเก็บข้อมูลด้วยการบันทึกภาพบัตรที่มีข้อมูลส่วนบุคคลนั้นชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวกระทำโดยพนักงานบริษัทเอกช ตลอดจนไม่มีประกาศหรือข้อความใดๆ ชี้แจงผู้เข้าใช้บริการว่าทางห้างสรรพสินค้าได้รับอำนาจจากรัฐในการตรวจค้นและบันทึกภาพ

            ประการที่สอง การบันทึกข้อมูลนั้นต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าข้อมูลเหล่านั้นจะนำไปใช้ทำอะไร และมีการกำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บและแจ้งให้เจ้าของข้อมูลรับทราบ ซึ่งทางห้างสรรพสินค้าไม่ได้มีการชี้แจงเรื่องวัตถุประสงค์และระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูลให้ผู้เข้าใช้บริการห้างฯ รับทราบ ไม่ว่าจะเป็นด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร

            ประการที่สาม เมื่อทางห้างสรรพสินค้าไม่มีการชี้แจงข้างต้นให้ผู้ใช้บริการรับทราบเพื่อประกอบการตัดสินใจแล้ว จึงไม่มีเครื่องยืนยันใดๆ ว่าข้อมูลส่วนบุคคลนั้นจะไม่มีการเปิดเผย ทำให้มีหรือปรากฏในลักษณะอื่นใด ซึ่งไม่ได้กำหนดไว้ชัดแจ้งในวัตถุประสงค์ ตลอดจนจะต้องมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลที่เหมาะสม เพื่อป้องกันความเสี่ยภัยใดๆ ที่อาจจะทำให้นั้นสูญหาย เข้าถึง ทำลาย ดัดแปลงแก้ไข หรือเปิดเผยโดยมิชอบอันสอดคล้องกับหลักการสากลที่เป็นกรอบในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ OECD

            จากหลักพิจารณาที่ผู้อภิปรายได้นำเสนอนั้น สามารถอนุมานได้ว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าในเขตอำเภอหาดใหญ่ เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวอันเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตามผู้อภิปรายได้วิเคราะห์เรื่องเหตุและผลของการกระทำของฝ่ายห้างสรรพสินค้าเพื่อประกอบการพิจารณาประเด็นการละเมิดสิทธิของผู้เข้าใช้บริการห้างฯ ดังที่จะกล่าวต่อไป

ความชอบธรรมในมาตรการรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้า

            แม้ว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยโดยการตรวจค้นยานพาหนะและบันทึกภาพต่างๆ ไว้เป็นหลักฐานนั้นเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการ แต่เมื่อผู้อภิปรายได้ศึกษาแนวคิดต่างๆ ของนักปรัชญาทางการเมืองจึงพบความชอบธรรมบางประการในมาตรการรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าที่กระทำอยู่ในปัจจุบัน

            รัฐธรรมนูญไทยฉบับปี พ.ศ. 2550 ระบุไว้ว่าประชาชนชาวไทยมีสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานซึ่งผู้ใดไม่สามารถละเมิดได้ ในทางกลับกัน จอห์น สจ๊วตมิลล์ (1859) ได้กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง On Liberty ว่า อิสรภาพของปัจเจกบุคคลนั้นย่อมเชื่อมโยงอยู่กับการบังคับของสังคม ในกรณีการตรวจค้นและบันทึกภาพเพื่อการรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าก็เช่นกัน แม้จะถูกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้มาใช้บริการพื้นที่จอดรถของห้างฯ แต่หากพิจารณาโดยยึดหลักของมิลล์ที่ว่า “อิสรภาพในการกระทำของปัจเจกบุคคลต้องถูกจำกัดเพื่อความปลอดภัยของคนทั้งหมด” ดังนั้นการที่ผู้ที่ใช้บริการห้างสรรพสินค้าจะต้องถูกละเมิดสิทธิโดยเงื่อนไขของสังคมเพื่อป้องกันเหตุการณ์ระเบิดที่จะเกิดขึ้นหากมาตรการรักษาความปลอดภัยไม่รัดกุมเพียงพอ และอาจส่งผลถึงสวัสดิภาพของคนอื่นๆ ที่มาใช้บริการห้างสรรพสินค้าแห่งนั้น และแม้ว่าปัจเจกชนจะมีอธิปัตย์ในการครอบครองร่างกายและจิตใจของตนเอง แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือความสัมพันธ์กับปัจจัยภายนอก (ภัทรพร สิริกาญจน, 2530) ในที่นี้คือกฎในการตรวจค้นเพื่อรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นสังคมรูปแบบหนึ่งนั่นเอง

            การรักษาความปลอดภัยที่มีความเข้มงวดเช่นนี้เป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ระเบิดในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ที่เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ทางห้างสรรพสินค้าจึงออกมาตรการเพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไม่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่มีการเพิ่มความเข้มงวดด้านการรักษาความปลอดภัย ตัวอย่างที่สามารถยกมาเปรียบเทียบได้ชัดเจนที่สุดคือ เหตุการณ์ 9/11 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายทางอากาศที่โจรจี้เครื่องบังคับให้บินพุ่งชนอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ใจกลางนครนิวยอร์ก (Michael Chabon, 2013) เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดความสูญเสียทั้งทางด้านชีวิตและทรัพย์สินที่ไม่อาจประเมินค่าได้ ทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงได้จัดตั้ง Transportation Security Administration (TSA) ขึ้นในทันทีด้วยเหตุผล “เพื่อความปลอดภัยของชาวอเมริกัน” ซึ่งเน้นรักษาความปลอดภัยอย่างสูงสุดไปที่ท่าอากาศยานและผู้ที่จะเดินทางโดยเครื่องบินเนื่องจากเป็นต้นทางของการก่อการร้ายนั่นเอง

            “Airport Security” หรือความปลอดภัยของสนามบินที่ TSA ได้ออกข้อบังคับ 9 ข้อสำหรับผู้โดยสารไม่ว่าจะเป็นเที่ยวบินภายในประเทศหรือต่างประเทศที่เข้มงวดขึ้นกว่าเดิม ได้แก่ ชื่อของผู้โดยสารที่จะเดินทางในหนังสือเดินทางและบัตรโดยสารต้องตรงกัน ผู้โดยสารต้องถอดรองเท้าเมื่อเข้าจุดตรวจสอบความปลอดภัย กระเป๋าทุกใบจะต้องผ่านการสแกน ไม่อนุญาตให้นำของเหลวผ่านเข้าจุดตรวจสอบความปลอดภัย จำต้องนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์พกพาออกจากกระเป๋าเพื่อเข้าเครื่องสแกน ผู้โดยสารต้องถอดเสื้อสูท/เสื้อคลุมชั้นนอก ผู้โดยสารต้องผ่านเครื่อง full-body scan มีการเพิ่มมาตรการการตรวจค้นตามร่างกายโดยเจ้าหน้าที่อย่างละเอียด และผู้ที่ไม่ได้ถือบัตรโดยสารเพื่อเดินทางไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสู่ห้องพักผู้โดยสารขาออก (The Department of Homeland Security, 2002)ในทำนองเดียวกันทางห้างสรรพสินค้าเลือกที่จะออกมาตรการตรวจค้นผู้ที่จะนำรถเข้าจอดในพื้นที่ของห้างฯอย่างเข้มงวด เพราะสาเหตุของการระเบิดในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ครั้งล่าสุดเกิดจากการซุกซ่อนระเบิดไว้ในรถยนต์

            แน่นอนว่าการตรวจค้นอย่างละเอียดของสหรัฐอเมริกาเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้โดยสาร เช่นเดียวกับการละเมิดสิทธิของผู้ใช้บริการห้างสรรพสินค้าในอำเภอหาดใหญ่ แต่ผู้อภิปรายเชื่อว่าเป็นเรื่องที่สามารถยอมรับได้ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

            ประการแรกห้างสรรพสินค้าไม่ใช่สถานที่สาธารณะแต่เป็นสถานที่ส่วนบุคคลที่เปิดบริการให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ ตามหลักการของ จอห์น สจ๊วต มิลล์ (1859) แล้วเจ้าของห้างสรรพสินค้ามีสิทธิในทรัพย์สินส่วนตัวของตน (The right to private property) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานประการหนึ่ง ซึ่งในทางทฤษฎีบุคคลใดๆ ย่อมมีสิทธิที่จะกระทำ หรือออกมาตรการอะไรก็ได้ในสิ่งที่เขาเป็นเจ้าของ แม้ว่ามาตรการนั้นจะทำให้เกิดความสูญเสียต่อทรัพย์สินของตน หรือทำให้คนรอบข้างเกิดความไม่พึงพอใจ ก็เป็นสิทธิของผู้เป็นเจ้าของไม่ใช่สิทธิของผู้อื่นตลอดจนสังคมที่จะมาตัดสินการกระทำดีชั่วตราบใดที่การกระทำนั้นอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย (Tibor Machan, 2012)

            ในกรณีของมาตรการรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าในอำเภอหาดใหญ่ เมื่อมีเหตุการณ์วางระเบิดเกิดขึ้น เจ้าของห้างสรรพสินค้าจึงออกมาตรการตรวจค้นยานพาหนะเพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำอันนำมาซึ่งความเสียหายต่ออาคารห้างฯซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล อีกทั้งยังเป็นการรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชนที่เข้ามาใช้ประโยชน์ภายในอาคารดังกล่าวอีกด้วย

            ประการต่อมา ผู้เข้าใช้บริการพื้นที่จอดรถของทางห้างสรรพสินค้าไม่สามารถอ้างถึงการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวจากมาตรการตรวจค้นและบันทึกภาพเพื่อรักษาความปลอดภัยได้เพราะผู้ใช้บริการเป็นผู้ตัดสินใจด้วยเจตจำนงเสรีของตนเองโดยมีข้อมูล (full information) อยู่เดิมว่าหากจะเข้าไปในสถานที่ดังกล่าวต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เจ้าของทรัพย์สิน(ห้างสรรพสินค้า) เป็นผู้กำหนดไว้ ซึ่งจอห์น ล็อกเรียกว่า “ความยินยอมโดยสมัครใจ” (สเตร้าส์และคร์อปซีย์, 1987) อันนำมาซึ่งข้อแลกเปลี่ยนคือการได้เข้าไปจอดยานพาหนะในสถานที่ๆ ปลอดภัยและสะดวกสบายที่ทางห้างฯจัดเตรียมไว้ให้

            ประการที่สาม ความสุขส่วนบุคคลย่อมเป็นผลมาจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นระเบียบเรียบร้อย เช่นกันความสุขของปัจเจกชนชาวอำเภอหาดใหญ่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการปลอดจากเหตุการณ์ระเบิดซึ่งถือเป็นอรรถประโยชน์สูงสุดในด้านความปลอดภัย ดังที่ เจเรมี เบ็นแธม ผู้ให้กำเนิดคติอรรถประโยชน์นิยมกล่าวว่า “คำว่า สิทธิ ไม่อาจแยกออกจากคำว่า อรรถประโยชน์ ได้” (สเตร้าส์และคร์อปซีย์, 1987) เป็นความจริงที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิความเป็นส่วนตัวอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานซึ่งใครจะมาละเมิดไม่ได้ แต่การประเมินสิทธิในแง่ของอรรถประโยชน์หมายถึงการประเมินสิทธิจากแง่มุมของผลประโยชน์ต่างๆ ของเรา โดยต้องระลึกว่าผลประโยชน์ของเรานั้นมุ่งให้เกิดผลดีแก่ผู้อื่น ซึ่งก็คือการคำนึงถึงความสุขอันสูงสุดของคนจำนวนมากที่สุด (สเตร้าส์และคร์อปซีย์, 1987) ดังนั้นการที่ผู้ใช้บริการพื้นที่จอดรถของห้างสรรพสินค้ายอมให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจค้นอย่างละเอียดและบันทึกภาพไว้นั้น ก็ถือได้ว่าเขาผู้นั้นยอมเสียสละสิทธิความเป็นส่วนตัวเพื่อเป็นหลักประกันว่าทุกคนจะปลอดภัยจากการซุกซ่อนระเบิดไว้ในยานพาหนะเพื่อจุดประสงค์ในการก่อความไม่สงบ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดอรรถประโยชน์นิยมอันคำนึงถึงประโยชน์สุขสูงสุดของผู้ที่มาใช้บริการห้างฯคนอื่นๆ

            ประการสุดท้าย ในบางกรณีสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลสามารถถูกแทรกแซงได้โดยอาศัยเหตุผลเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของส่วนรวม หรือเพื่อผลประโยชน์สาธารณะซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น..” (เรวดี ขวัญทองยิ้ม, 2554) โดยมีจุดมุ่งมายสำคัญ 3 ข้อ คือ เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้อื่น เพื่อการดำรงอยู่และเพื่อความสามารถในการทำภาระหน้าที่ของรัฐ และ เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งมาตรการรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้านั้นมีความสอดรับกับจุดมุ่งหมายทั้งสามข้อ กล่าวคือ ผู้มาใช้บริการพื้นที่จอดรถของห้างฯ มีความเท่าเทียมกันในด้านสิทธิ แต่อย่างไรก็ตาม สิทธิ เสรีภาพ ของบุคคลหนึ่งย่อมผูกพันอยู่กับการคุ้มครองสวัสดิภาพของคนอื่นๆ ซึ่งในที่นี้คือความปลอดภัยจากการระเบิด ยิ่งไปกว่านั้นหากมีเหตุระเบิดเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากความบกพร่องในการรักษาความปลอดภัย ย่อมส่งผลกระทบไปถึงความมั่นคงภายในรัฐ และกระทบถึงประโยชน์สาธารณะอย่างชัดเจน

 

 

 

ทรรศนะของผู้อภิปราย

            สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ภาคส่วนต่างๆมุ่งหามาตรการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสมและมีความรัดกุม ห้างสรรพสินค้าถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ซึ่งตกเป็นเป้าของผู้ก่อความไม่สงบเนื่องจากเป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับภาคเศรษฐกิจของอำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลา ทางเลือกหนึ่งในการป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นซ้ำนั้นก็คือมาตรการรักษาความปลอดภัยในส่วนพื้นที่จอดรถของห้างฯ โดยวิธีการตรวจค้นยานพาหนะของผู้ที่ต้องการเข้าใช้บริการอย่างละเอียด ทำการบันทึกข้อมูลสำคัญ และถ่ายภาพของผู้ขับขี่ยานพาหนะ

            หากพิจารณาตามหลักสิทธิความเป็นส่วนตัวอันเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแล้ว การกระทำดังกล่าวของทางห้างสรรพสินค้าเข้าข่ายพฤติกรรการแทรกแซงความเป็นอยู่ส่วนบุคคล และข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ข้าพเจ้ามีทรรศนะว่า ปัจเจกชนมีสิทธิที่จะเรียกร้องความเป็นส่วนตัวตามหลักการสากลต่างๆ ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี แต่ต้องพิจารณาเรียกร้องสิทธิบนหลักของความเหมาะสมตลอดจนคำนึงถึงประโยชน์สุขส่วนรวมด้วย แม้ว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยของห้างฯ จะไม่เป็นไปตามหลักสิทธิความเป็นส่วนตัว แต่หากพิจารณาถึงความจำเป็นและเหตุผลของการออกมาตรการดังก็จะพบว่าเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของคนหมู่มากตลอดจนสวัสดิภาพของตัวผู้เรียกร้องสิทธิความเป็นส่วนตัวเองด้วย

            เจตนาในการตรวจค้นโดยละเอียดของทางห้างสรรพสินค้า คือการรักษาความปลอดภัยและการลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ระเบิดดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ได้มีเจตนาที่จะกระทำการแทรกแซงสิทธิเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งห้างสรรพสินค้ายังเป็นสถานที่ส่วนบุคคลซึ่งผู้เป็นเจ้าของมีสิทธิที่จะกำหนดมาตรการใดๆ สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าไปใช้ประโยชน์ภายในสถานที่นั้นได้บนพื้นฐานของ “สิทธิในทรัพย์สินส่วนตัวของตน” (The right to private property) ซึ่งเมื่อเจ้าของสถานที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นมาสำหรับผู้ที่ต้องการนำยานพาหนะเข้ามาจอดภายในบริเวณห้าง ผู้ที่มีความจำนงจะทำเช่นนั้นต้องยินยอมที่จะปฏิบัติตามระเบียบที่ถูกกำหนดและได้ติดป้ายประกาศไว้อย่างชัดเจน ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีสิทธิเข้าไปใช้พื้นที่ในสถานที่ส่วนบุคคลดังกล่าว

            แม้ว่าการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวโดยตรวจค้นยานพาหนะอย่างละเอียดและบันทึกภาพข้อมูลสำคัญของผู้ใช้บริการจะเป็นเรื่องที่ยอมรับได้หากยึดประโยชน์สุขส่วนรวมเป็นตัวพิจารณา อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดการละเมิดสิทธิในระดับต่ำที่สุด ข้าพเจ้าเชื่อว่าทางห้างสรรพสินค้ายังคงมีทางเลือกอื่นที่จะนำมาใช้แทนการตรวจค้นราวกับผู้ใช้บริการเป็นผู้ต้องสงสัย และการบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งควรเป็นความลับ ยกตัวอย่างเช่น การติดตั้งเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดด้วยการแสกนคันรถ หากพบวัตถุต้องสงสัยจึงทำการตรวจค้นด้วยเจ้าหน้าที่ แม้ว่าทางห้างฯจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ก็ถือเป็นการลงทุนที่แลกมาซึ่งความพึงพอใจของผู้เข้าใช้บริการที่ไม่ถูกละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว เป็นต้น

            สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งตามทรรศนะของข้าพเจ้าคือ ทางห้างสรรพสินค้าต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐให้ออกหนังสือหรือมอบอำนาจในการใช้มาตรการรักษาความปลอดภัย เพื่อให้การบันทึกข้อมูลสำคัญของผู้มาใช้บริการไม่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะในปัจจุบันการขอถ่ายภาพบัตรสำคัญทางราชการ ภาพผู้ขับขี่และทะเบียนยานพาหนะนั้น ล้วนแล้วแต่กระทำโดย พนักงานบริษัทเอกชนไม่ใช่ผู้ที่ได้รับอำนาจจากรัฐ โดยที่ผู้ใช้บริการห้างฯ ไม่มีสิ่งใดเป็นเครื่องยืนยันความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ ซึ่งตามหลักสิทธิมนุษยชนแล้วผู้เก็บบันทึกข้อมูลเหล่านี้ต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าจำนำไปใช้ทำอะไร และมีการกำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บและแจ้งให้เจ้าของข้อมูลรับทราบ ซึ่งทางห้างสรรพสินค้าควรประกาศคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้ที่ต้องการเข้ามาใช้บริการ

            ดังตัวอย่างมาตรการรักษาความปลอดภัยสนามบินของประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อมีความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้นรัฐบาลสหรัฐได้ตั้ง Transportation Security Administration ขึ้นมาเพื่อรักษาความปลอดภัยโดยใช้มาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งประเทศ เนื่องจากภาระหน้าที่หลักของรัฐนอกจากการเคารพ และหนุนเสริมประชาชน ยังครอบคลุมไปถึงการปกป้องประชาชนภายในรัฐด้วย ดังนั้นหน้าที่การรักษาความปลอดภัยในเขตอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จึงไม่ใช่หน้าที่ของเอกชนที่ทำการปกป้องทรัพย์สินส่วนตัวเพียงอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐบาลระดับจังหวัดที่ต้องรับผิดชอบความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่โดยใช้มาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ทั้งนี้การที่ภาครัฐเข้ามามีส่วนช่วยในการจัดการด้านความปลอดภัยนั้นถือเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าถูกร้องเรียนในประเด็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลอันเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอีกด้วย

            แม้ว่าผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้แก่ประชาชนผู้เข้ามาใช้บริการแต่ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็จำต้องตระหนักถึงความสำคัญของการไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้ที่มาใช้บริการด้วย

 

 สรุป

            หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าจึงออกมาตรการรักษาความปลอดภัยของผู้มาใช้บริการพื้นที่จอดรถโดยการตรวจค้นและบันทึกภาพ หากพิจารณาในมุมสิทธิมนุษยชนแล้ว การกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวอันเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างชัดเจน และผู้ที่โดนละเมิดสิทธิดังกล่าวมีสิทธิที่จะร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ หากแต่วัตถุประสงค์หลักของผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าคือเพื่อรักษาความปลอดภัยและรับรองสวัสดิภาพของผู้มาใช้บริการห้างฯ ตลอดจนผู้ประกอบการที่เช่าพื้นที่ห้างฯ เพื่อทำการค้า ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแทรกแซงความเป็นส่วนตัวของผู้มาใช้บริการแต่อย่างใด

            มาตรการรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จึงได้รับความชอบธรรม ด้วยเหตุผลของประโยชน์ส่วนรวม และไม่ใช่เพียงแค่ในอำเภอหาดใหญ่เท่านั้นที่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยด้วยการตรวจค้นและบันทึกภาพอย่างละเอียด เพราะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาก็ประกาศใช้มาตรการดังกล่าวหลังจากเหตุการณ์การก่อการร้ายทางอากาศเพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการเครื่องบินพาณิชย์ซึ่งมีความเข้มงวดและ   เข้าข่ายละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนเช่นกัน อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ.2550 ได้ให้ความชอบธรรมแก่การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงของประเทศ และคุ้มครองสิทธิของผู้อื่น (เรวดี ขวัญทองยิ้ม, 2554) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดอรรถประโยชน์ ที่มุ่งเน้นการกระทำอันนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดของคนจำนวนมากที่สุดอีกด้วย

            ห้างสรรพสินค้าควรออกมาตรการรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแต่ละเมิดความเป็นสวนตัวของผู้เข้าใช้บริการในระดับที่น้อยที่สุด ตลอดจนชี้แจงเหตุผลและกระบวนการรักษาความปลอดภัยอย่างละเอียดและชัดเจน ทั้งนี้เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ที่จะเข้าใช้บริการว่าจะยินยอมในการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ อย่างไรก็ตามถ้าหากสังคมเต็มไปด้วยผู้ที่เรียกร้องสิทธิโดยที่ไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม หรือผู้คนไม่ละเลยไม่สนใจเรื่องสิทธิเสรีภาพที่ตนควรได้รับ สังคมก็ไม่อาจดำเนินไปอย่างสงบสุขได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญของสังคมประชาธิปไตยคือความเหมาะสมและความพอดี ซึ่งในที่นี้คือการที่ประชาชนปกป้องสิทธิของตนเองตามความเหมาะสม ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องในสิทธิเสรีภาพด้านต่างๆ เพียงแต่พอดี มิเช่นนั้นแล้วสิทธิมนุษยชนที่ควรจะนำมาซึ่งความเสมอภาคอาจนำไปสู่ความโกลาหนวุ่นวายเสียเอง

 

 

บรรณานุกรม

กุลพล พลวัน. (2538). พัฒนาการแห่งสิทธิมนุษยชน. กรุงเทพฯ: บริษัทสำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด.

ภัทรพร สิริกาญจน. (2530). ความเรียงว่าด้วยเสรีภาพ. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวิจัย

                แห่งชาติ.

เรวดี ขวัญทองยิ้ม. (2554). ปัญหาและมาตรการทางกฎหมายในการรับรองและคุ้มครองสิทธิความ

            เป็นอยู่ส่วนตัว (Right to privacy). กรุงเทพฯ: สำนักคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ.

ลีโอ สเตร้าส์ และโจเซ็ฟ   คร์อปซีย์. (1987). ประวัติปรัชญาการเมือง เล่ม 2 แปลโดย สมบัติ จันทรวงศ์.             กรุงเทพฯ:               สำนักพิมพ์คบไฟ.

ลีโอ สเตร้าส์ และโจเซ็ฟ   คร์อปซีย์. (1987). ประวัติปรัชญาการเมือง เล่ม 3 แปลโดย สมบัติ จันทรวงศ์.             กรุงเทพฯ:               สำนักพิมพ์คบไฟ.

วีรพงษ์ บึงไกร. (2543). การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.         2540.

               

ฐานข้อมูลอิเลคทรอนิกส์

ธวัช. (2555). สรุปสถานการณ์ระเบิดห้างลีการ์เด้นส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา, วันสืบค้น 10 ธันวาคม 56. สมาคม  หนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย. http://www.pastnews.org/?p=4689

Council of Europe. (2003). European Convention for the Protection of Human Rights and             Fundamental Freedoms, วันสืบค้น 21 มกราคม 2557. http://conventions.coe.int/

The Department of Homeland Security. (2002). Mission, วันสืบค้น 22 มกราคม 2557. Homeland   Security.                 http://www.dhs.gov/mission.

Michael Chabon. (2013). The Crying of September 11, วันสืบค้น 22 มกราคม 2557. The New York Review                of Books.http://www.nybooks.com/articles/archives/2013/nov/07/thomas-pynchon-crying-     september-11/

Liz Young. (2013). National security measures in question post-9/11, วันสืบค้น 22 มกราคม 2557.              The Lantern. http://thelantern.com/2013/09/national-security-measures-question-post-            911/

Tibor Machan. (2012). The Right to Private Property, วันสืบค้น 23 มกราคม 2557. Internet                Encyclopedia of Philosophy. http://www.iep.utm.edu/property/#H11

หมายเลขบันทึก: 562561เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2014 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2014 20:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคล...เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ประชาชนทั่วไปจะต้องรู้และเข้าใจเพื่อรักษาสิทธิอันชอบธรรมของตนเองนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท