วางแผนการจัดการประชุม NCD Forum 2557 (1)


หากเป็นไปได้อย่างที่คิดการประชุมครั้งนี้ก็จะเป็นเวทีให้นักวิชาการและนักปฏิบัติได้พบกัน และเรียนรู้จากกันและกัน ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติมาเป็นผู้เรียนจากนักวิชาการฝ่ายเดียว

เมื่อปีที่แล้วเครือข่ายเบาหวานวางแผนจะจัดการประชุมมหกรรม KM เบาหวานระหว่างวันที่ 25-27 ธันวาคม 2556 แต่ก็จำเป็นต้องเลื่อนการประชุมออกไปด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง (อ่านที่นี่) คุณน้องนุช บ่อคำ แห่ง สปสช. รู้ข่าวจึงชวนให้มาจัดงานร่วมกับ NCD Forum ที่ สปสช. โดยคุณหมอช้าง พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร รับผิดชอบอยู่ และทีมแกนนำของเครือข่ายเบาหวาน เช่น หมอฝน พญ.สกาวเดือน นำแสงกุล และคนอื่นๆ ก็ช่วยทำงานอยู่ด้วย และเหตุผลที่สำคัญคือกลุ่มเป้าหมายที่มาเข้าประชุมเป็นเจ้าหน้าที่กลุ่มเดียวกัน การจัดงานร่วมกันในคราวเดียวจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาของผู้เข้าประชุมได้

สปสช. และ คุณหมอช้างได้เชิญผู้เกี่ยวข้องประชุมเพื่อวางแผนการจัดงานปีนี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 เราหลบม็อบแถวศูนย์ราชการ หลักสี่ ไปประชุมกันที่ห้องประชุมเล็ก ชั้น 2 สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข มี พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน เป็นประธาน ผู้เข้าประชุมได้แก่

  • นพ.สมเกียรติ โพธิสัตย์ จากกรมการแพทย์ ผู้ที่ชาวเครือข่ายเราคุ้นเคยดีอยู่แล้ว
  • นพ.ทักษพล ธรรมรังสี หรือคุณหมอเมฆ ผู้จัดการแผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ
  • คุณจุฬารักษ์ สิงหกลางผล จากกรมการแพทย์
  • คุณน้องนุช บ่อคำ จาก สปสช.
  • คุณพฤกษา บุกบุญ และคุณปิยะฉัตร ตระกูลวงษ์ ทีมงานของคุณหมอช้าง
  • คุณบุญรักษ์ ชาญประสบผล ทีมงานของคุณหมอเมฆ ซึ่งทำหน้าที่จดบันทึกการประชุมและประสานงานต่างๆ ด้วย

สาระของการประชุมครั้งแรก เป็นการพูดคุยกันว่าแต่ละฝ่ายเคยจัดการประชุมมาแล้วอย่างไรบ้าง รูปแบบและสาระของการประชุมที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ผู้เข้าประชุมเป็นใคร จำนวนมากน้อยเท่าใด

ต่อจากนั้นจึงช่วยกันกำหนดชื่อการประชุมครั้งนี้ว่า “การประชุมวิชาการเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ ประจำปี 2557” หัวข้อหลักจะเน้นเรื่องการปรับพฤติกรรม ลดความเสี่ยง วัตถุประสงค์ควรเป็นอย่างไร วัน เวลา และสถานที่ กลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าประชุมจะมีทั้งกลุ่มบุคลากรทั้งที่ทำงานภายในและภายนอกโรงพยาบาล กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มผู้บริหารจัดการระบบที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคม

รูปแบบการประชุม จะมีทั้งการบรรยายพิเศษโดยวิทยากรระดับชาติและนานาชาติ ในลักษณะ Plenary Lecture และ Plenary Discussion การบรรยายกลุ่มย่อยตามประเด็นหลัก (Concurrent Session) การประกวดผลงานและนิทรรศการ (ซึ่งเป็นงานที่กรมการแพทย์จะจัดอยู่แล้ว) การจัด Pre-workshop การจัด back to back workshop on advocacy/health communication เป็นต้น ทั้งนี้เรามีหลักการว่าจะเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เข้าประชุมเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของทุกฝ่าย มีผลผลิตจากการประชุมที่ชัดเจน มีโครงสร้างการดำเนินการตาม Global Action Plan และเน้นไปที่แนวคิด 4x4x4 Model ของการจัดการปัญหาโรคไม่ติดต่อ

การประชุมครั้งนี้ทำให้ดิฉันได้รู้ว่ามีแผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ ได้รู้จักหมอเมฆหรือ นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ซึ่งเป็นหมอหนุ่มที่มีความกระตือรือร้นและทำงานรวดเร็ว เพียงไม่นานก็ร่างตารางกิจกรรมการประชุมออกมาได้ หากเป็นไปได้อย่างที่คิดการประชุมครั้งนี้ก็จะเป็นเวทีให้นักวิชาการและนักปฏิบัติได้พบกัน และเรียนรู้จากกันและกัน ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติมาเป็นผู้เรียนจากนักวิชาการฝ่ายเดียว

สำหรับดิฉันยังมีโจทย์อยู่ในใจอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อตอนที่เลื่อนการจัดประชุมมหกรรมการจัดการความรู้ฯ ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ ผู้ใหญ่คนสำคัญของเครือข่ายเบาหวาน ท่านเห็นด้วยว่าควรจัดงานร่วมกันและให้ความเห็นไว้ว่า “จัดร่วมกันเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกันเลย แต่คง entity ของ KM DM ไว้”

เราจะมีการประชุมวางแผนร่วมกันต่อไปอีก ค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ จูน เข้าหากัน การประชุมครั้งนี้ก็คงจะตอบโจทย์ของทุกฝ่ายได้

วัลลา ตันตโยทัย

บันทึกเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557

หมายเลขบันทึก: 561192เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2014 16:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2014 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท