กฎหมายนโยบาย ว่าด้วย "สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว" ของผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ


พบว่ามีกรณีของบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่ขัดต่อหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย คือ เป็นบุคคลที่ได้รับการสำรวจและมีบัตรประจำตัวของทางราชการ แต่ก็ยังถูกปฏิเสธสิทธิในการจดทะเบียนสมรส

                   แม้ว่าสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว อันได้แก่การจดทะเบียนสมรส  การรับรองบุตรตามกฎหมาย และการรับบุตรบุญธรรม จะเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครอง ทั้งในกฎหมายระหว่างประเทศอันได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘ ข้อ ๑๖ (๑) , กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.๑๙๖๖ ข้อ ๒๓ ,  กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ค.ศ.๑๙๖๖ ข้อ ๑๐   และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ค.ศ.๑๙๖๕ ข้อ ๕  ง) (๔)    ตลอดจนถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๓๔ และมาตรา ๘๐ , พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.๒๔๗๘ หรือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ว่าด้วยครอบครัว ซึ่งล้วนกำหนดให้รัฐมีหน้าที่คุ้มครองความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว โดยไม่มีบทบัญญัติห้ามการจดทะเบียนให้แก่บุคคลที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์ตน

 

                แต่จากการศึกษาพบว่า ยังมีอุปสรรคของกฎระเบียบภายในประเทศบางประการที่เป็นข้อจำกัดในการเข้าสู่สิทธิการก่อตั้งครอบครัว ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงการจดทะเบียนสมรสเป็นหลัก เนื่องจากการไม่อาจจดทะเบียนสมรส นำไปสู่ ความไม่มั่นคงในทางกฎหมายของการก่อตั้งครอบครัว เช่น สามี ภรรยาและบุตรไม่เกิดสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางกฎหมาย , บุตรไม่ปรากฏบิดาตามกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการได้สัญชาติไทยของบุตร เป็นต้น

 

โดยเฉพาะปัญหาอุปสรรคในการก่อตั้งครอบครัวที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลที่ยังไม่มีเอกสารพิสูจน์ตน ซึ่งไม่สามารถร้องขอจดทะเบียนสมรสได้  เนื่องจากมีหนังสือคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ มท.๐๓๑๐./.๑๑๗๐ ลงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ..๒๕๔๓ เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบเงื่อนไขและการจดทะเบียนสมรสของบุคคลต่างด้าว และ หนังสือ ที่ มท.๐๓๑๐./๙๘๑๕ ลงวันที่ ๒๘ กันยายน พ..๒๕๔๔ เรื่อง การจดทะเบียนสมรสของกลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูงและบุคคลต่างด้าว ระบุสาระสำคัญที่เป็นแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไว้ ดังนี้

๑.       ตรวจสอบคำร้องและบัตรประจำตัวผู้ร้อง

๒.     สอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวผู้ร้อง

๓.     พิจารณาคุณสมบัติมิให้ขัดแย้งต่อเงื่อนไขที่ระบุใน บรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

หากถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ก็ให้ดำเนินการจดทะเบียนสมรส

 

                แม้คำสั่งดังกล่าวจะช่วยยืนยันแนวทางปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่ในการต้องจดทะเบียนสมรสของบุคคลผู้ที่มีทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวไม่ว่าจะเป็นประเภทใด แต่ขณะเดียวกันได้ก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคแก่ผู้ไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนที่จะขอจดทะเบียนสมรส เพราะได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบบัตรประจำตัวผู้ร้อง ซึ่งมีหลายพื้นที่ ที่เจ้าหน้าที่ตีความอย่างเคร่งครัดและเรียกตรวจบัตรประจำตัวที่ทางราชการออกให้ หากไม่มีก็ไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนสมรสให้ได้

 

                นอกจากนี้ จากการสำรวจสถานการณ์ปัญหาการเข้าถึงสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของผู้มีปัญหาสถานะบุคคลในพื้นที่สึนามิครั้งนี้ ยังพบว่ามีกรณีของบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่ขัดต่อหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย คือ เป็นบุคคลที่ได้รับการสำรวจและมีบัตรประจำตัวของทางราชการ แต่ก็ยังถูกปฏิเสธสิทธิในการจดทะเบียนสมรส     

ดูรายละเอียดใน  http://gotoknow.org/blog/sarinya/47884

หมายเลขบันทึก: 56103เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2006 21:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท