กฎหมายนโยบาย ว่าด้วย "สิทธิการทำงาน" ของผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ


ในพื้นที่ที่ประสบภัยสึนามิ มีบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิที่ทำงานอย่างผิดกฎหมายอยู่เป็นจำนวนมาก

การทำงาน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการทำงานนั้นเป็นไปเพื่อให้ได้ปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต ดังที่กฎหมายระหว่างประเทศ ได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘ , กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม  ๑๙๖๖  ข้อ ๗  และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ๑๙๖๕ ข้อ ๕ ได้รับรองสิทธิในการทำงานอย่างยุติธรรมและได้รับการคุ้มครองทั้งในเรื่องสภาพการทำงานและค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิที่แม้กำลังรอพิสูจน์สถานะ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๕๗ และ ๕๘ ได้กำหนดให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็น คนต่างด้าว โดยเหตุนี้เองการที่บุคคลดังกล่าวจะทำงานได้ จึงต้องตกอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๒๑ มาตรา ๑๒ คือ หากจะทำงานได้ต้องขออนุญาตจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในที่นี้ คือ สำนักงานจัดหางานจังหวัด และจะทำงานในลักษณะอาชีพได้เฉพาะที่รัฐมนตรีกำหนดไว้ในประกาศเท่านั้น คือ ประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง กำหนดงานที่ให้คนต่างด้าวตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๒๑ ทำได้  ซึ่งระบุไว้ ๒๗ อาชีพงาน[1]

 

                จากการศึกษาวิจัยพบว่าในพื้นที่ที่ประสบภัยสึนามิ มีบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิที่ทำงานอย่างผิดกฎหมายอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งโดยเหตุแห่งความไม่รู้ว่าหากตนเองยังไม่ได้รับสถานะบุคคลตามกฎหมายที่ถูกต้อง การจะทำงานโดยใช้กำลังกาย หรือความรู้ เพื่อให้ได้รับค่าจ้างหรือประโยชน์อื่นใดก็ตามนั้น จะต้องขออนุญาตจากทางราชการเสียก่อน ไม่เช่นนั้นอาจนำไปสู่การถูกจับกุมและดำเนินคดีได้ นอกจากนี้การทำงานอย่างผิดกฎหมายยังมีสาเหตุมาจากกฎหมายซึ่งไม่เอื้อต่อการขออนุญาตทำงานนั่นเอง

                 โดยประเด็นปัญหาในทางกฎหมายที่ปรากฏ  แบ่งออกเป็น ๓ ประการ คือ

๑. บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนไว้แล้วทั้งในอดีตและที่กำลังจะดำเนินการสำรวจในอนาคต เป็นบุคคลที่สามารถขออนุญาตทำงานตามมาตรา ๑๒ ได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นที่ยุติแล้ว คือ บุคคลที่ได้รับการสำรวจและผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราวไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อการพิสูจน์ตนหรือรอการส่งกลับ นั้นถือว่าเป็นบุคคลตามมาตรา ๑๒ จึงสามารถขออนุญาตทำงานได้

 

๒. ในปัจจุบันขณะที่การสำรวจบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนครั้งใหม่ยังไม่เริ่มขึ้น ได้ปรากฏบุคคลที่ขาดเอกสารพิสูจน์ตนเป็นจำนวนมากในพื้นที่ และหากการสำรวจครั้งใหม่นี้ ยังมีผู้ที่ตกสำรวจอีก จะต้องดำเนินการเช่นไรเพื่อเยียวยาสิทธิในการทำงานของบุคคลเช่นว่านี้ซึ่งโดยหลักแล้วไม่สามารถขออนุญาตทำงานตามกฎหมายได้

 

               ๓. เนื่องจากลักษณะงานอาชีพที่อนุญาตให้คนต่างด้าวทำทั้ง ๒๗ งานข้างต้นนั้น ไม่เอื้อต่อการประกอบอาชีพของเด็กและเยาวชนที่จบการศึกษาในระดับสูงขึ้นในปัจจุบัน มีผลให้บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ไม่สามารถทำงานตามวุฒิการศึกษาที่จบมาได้ เช่นการเป็นล่าม หรือเจ้าหน้าที่บัญชี เป็นต้น จึงควรหรือไม่ที่จะต้องพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม ประกาศกระทรวงฯ เรื่องกำหนดงานที่ให้คนต่างด้าวตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๒๑ ทำได้ โดยกำหนดลักษณะงานให้มีมากขึ้นและตรงต่อวุฒิการศึกษาที่บุคคลซึ่งมีปัญหาสถานะและสิทธิสำเร็จมา



[1] ๒๗ อาชีพงานที่อนุญาตให้คนต่างด้าวทำ ได้แก่ (๑) งานช่างซ่อมจักรยาน (๒) งานช่างประกอบและซ่อมเบาะรถ (๓) งานช่างประกอบและซ่อมตัวถังรถ (๔) งานช่างประกอบและซ่อมท่อไอเสียรถ (๕) งานช่างบัดกรีโลหะแผ่นด้วยมือ (๖) งานช่างไม้เครื่องเรือน (๗) งานช่างไม้ก่อสร้างอาคาร (๘) งานเลื่อยไม้ในโรงงานแปรรูปไม้ (๙) งานช่างปูน (๑๐) งานช่างทาสี (๑๑) งานช่างประกอบและซ่อมประตูหน้าต่าง (๑๒) งานช่างติดตั้งมุ้งลวด (๑๓) งานช่างย้อมสี (๑๔) งานช่างตัดเสื้อผ้า ยกเว้น การตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี (๑๕) งานซักรีดเสื้อผ้า (๑๖) งานทำสวนผักและผลไม้ (๑๗) งานเลี้ยงสัตว์ ยกเว้น งานเลี้ยงไหม (๑๘) งานขายปลีกสินค้าที่มิใช่เวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ กล้องถ่ายภาพนิ่ง กล้องถ่ายภาพยนตร์ อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งเครื่องอะไหล่ (๑๙) งานขายอาหารหรือเครื่องดื่ม (๒๐) งานผลิตอาหารหรือเครื่องดื่ม (๒๑) งานช่างประกอบและซ่อมรองเท้า (๒๒) งานช่างซ่อมนาฬิกา ปากกา และแว่นตา (๒๓) งานช่างลับมีด (๒๔) งานช่างทำกรอบรูป (๒๕) งานช่างเครื่องทอง เครื่องเงิน หรือเครื่องโลหะมีค่าอื่นๆ  (๒๖) งานช่างทอถักไหมพรมและทอผ้าด้วยมือ ยกเว้นงานทอผ้าไหมและงานทำผลิตภัณฑ์  และ (๒๗) งานกรรมกร

  
หมายเลขบันทึก: 56100เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2006 21:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท