โรงเรียนการจัดการความสุข...ครั้งที่ 2


ต่อเนื่องมาจากกระบวนการทางกิจกรรมบำบัดในรูปแบบ โรงเรียนการจัดการความสุข...ครั้งที่ 1  ณ คลินิกกิจกรรมบำบัด ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล 

กรณีศึกษา ซ. (มีอาการวิตกกังวลย้ำคิดย้ำทำและมีบุคลิกภาพสมบูรณ์แบบในปัจจุบัน + ซึมเศร้าในอดีต) มาด้วยสีหน้าตั้งใจและอยากเรียนรู้ ผมจึงให้ประเมินตนเองด้วย "การเล่าเรื่อง" ว่า ครั้งที่แล้ว ได้ทำกิจกรรมอะไรบ้าง" พบว่า นักกิจกรรมบำบัดต้องกระตุ้น 1 ครั้ง เพื่อให้น้อง ซ. เล่าเรื่องได้ครบถ้วนและเป็นธรรมชาติ (ใช้เวลา 15 นาที)

กิจกรรมต่อมา คือ "กิจกรรมการแยกแยะความฝันกับความจริง (อยากประกอบอาชีพหลังจบการศึกษา 1 ปี)" โดยพับครึ่งกระดาษ A4 และใช้ปากกาสีแดงแทนความฝัน ปากกาสีน้ำเงินแทนความจริง" ซึ่งน้อง ซ. ดูคิดนานและสับสนว่า "ความฝันนี้คงทำไม่ได้แล้ว มันจบแล้ว อยากมีเพื่อน ฝันอยากตาย" ดร.ป๊อป จึงปรับทัศนคติน้อง ซ. ว่า "ความฝันเกิดขึ้นได้จริงเสมอ...ไม่จำเป็นต้องทำเพื่อหวังเป็นอาชีพ...เมื่อเกิดมาชีวิตหนึ่งในชาตินี้ น้องและพี่ต้องสร้างความดีและมีความสุขตลอดชีวิตจนกว่าจะไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว...น้อง ซ. เข้าใจไหมครับ"

จากนั้นน้อง ซ. ใช้เวลากว่า 20 นาทีและต้องกระตุ้นจากนักกิจกรรมบำบัด 2-3 ครั้ง และจากคุณแม่ 1 ครั้ง ในการเีขียนความฝัน ได้แก่ 1. นักร้อง (ก่อนหน้านี้ทราบจากคุณแม่ตอบการบ้าน - น้อง ซ. น่าจะชอบทำงานอะไรกันแน่? ครั้งที่ 1 คือ น้องน่าจะอยากประกอบอาชีพนักร้อง เคยขึ้นไปร้องเพลงหลายเวที แข่งกับเพื่อนสนิทจนเพื่อนสนิทเป็นนักร้องดังแล้ว ตอนหลังหยุดร้องเพลงเพราะคิดว่า ตนเองอ้วน - แม้ว่าลึกๆ จะรู้ว่า คิดคำนวณน้ำหนักแล้วปกติ) 2. ไกด์  3. วิศวะคอมพิวเตอร์ และ 4. นักปั่นหุ้น

และเขียนความจริง ได้แก่ 1. อาจารย์สอนภาษาอังกฤษ (เข้าใจแล้วว่าจะจบการศึกษาการสื่อสารภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำงานโรงแรมอย่างเดียว) 2. ไกด์  3. วิศวะคอมพิวเตอร์  4. งานพนักงานต้อนรับโรงแรม (ซึ่งไม่ชอบมากนัก ทั้งๆ ที่ชอบสื่อสารกับคน)

กิจกรรมสุดท้าย คือ "กิจกรรมสร้างความสุขให้กระดาษว่างเปล่า" ซึ่งน้อง ซ. ใช้เวลา 25 นาทีและต้องกระตุ้นจากนักกิจกรรมบำบัด 1 ครั้งและจากคุณแม่ 1 ครั้ง ช่วงแรกน้อง ซ. เล่าว่า ต้องวาดรูปและเคยได้วาดรูปสวยงามมากๆ ช่วงหลังน้อง ซ. เลือกเขียนใบสมัครงานเป็นภาษาอังกฤษ (เท่าที่จดจำได้จากชั้นเรียน) มีผิด 2 จุด และต้องกระตุ้นข้างต้นเพื่อให้เพิ่มเติมการติดต่อกลับผู้สมัคร สุดท้ายน้อง ซ. ให้คะแนน 8/10 เฉลี่ยกับคะแนน 9/10 จากนักกิจกรรมบำบัด รวมมีความมั่นใจในศักยภาพของตนเองคือ 8.5/10 ดร.ป๊อป ประเมินระดับความคิดความเข้าใจในครั้งที่ 2 คือ มีการเปลี่ยนแปลงจาก 4 สู่ 5  

การบ้านฝากคุณแม่และน้อง ซ. ทำในระหว่างอาทิตย์ ก่อนพบกันครั้งที่ 3: เนื่องจากน้อง ซ. อยากมีเพื่อน ให้ชวนเพื่อนสนิทมาทำกิจกรรมใดๆ ที่บ้านหรือที่อื่นๆ โดยไม่เกี่ยวข้องกับวิชาการ หรือถ้าไม่ได้ ก็ไปเที่ยวกับน้อง ป. ในอาทิตย์นี้

นัดหมายในครั้งที่ 3 ด้วยกิจกรรมการฝึกสอนภาษาอังกฤษกับกิจกรรมฟังร้องเพลง โดยส่งต่อให้อ.แอน ด้วยความขอบคุณมากครับ

กรณีศึกษา ป. (มีอาการแสดงจิตเภทแบบพูดน้อยและอารมณ์สีหน้านิ่ง - ยิ้มหัวเราะได้ช้าในปัจจุบัน + ซึมเศร้าในอดีต) มาด้วยสีหน้าบึ้งตึง หงุดหงิด ไม่อยากลงจากรถที่มาหน้าคลินิกฯแล้ว ดร.ป๊อป จึงยืนทักทายและเชิญชวนลงมาจากรถเพื่อมาโรงเรียนและทำกิจกรรมงานที่น้อง ป. ชอบคือ งานศิลปะ (ตรงนี้คุณพ่อน้อง ป.แนะนำว่า ถ้าบอกว่า มาทำกิจกรรมบำบัด มาคลินิก ก็จะทำให้น้อง ป.ไม่อยากมาเพราะรู้สึกว่าตนเองป่วย และก็ยังเน้นว่า ดร.ป๊อป ไปสอบถามความคิดส่วนตัวน้อง ป. เยอะเกินไปทำให้เค้าไม่ชอบ) ดร.ป๊อปจึงอธิบายว่า ต้องขออภัยที่สอบถามเยอะไป เพราะจะได้เข้าใจความรู้สึกของน้อง ป. จากนั้นดร.ป๊อป จึงแนะนำให้น้องป.ผ่อนคลายด้วยการหลับตาแล้วหายใจเข้าทางจมูกออกทางปากสัก 5 รอบ เพื่อให้รู้สึกสดชื่นขึ้น น้องป.ลืมตาพร้อมนำภาพถ่ายผลงาน "โมบายนกกระเรียง" จากครั้งที่แล้ว ซึ่งทำตามการบ้านของดร.ป๊อป ที่ให้ถ่ายรูปมาให้ดูว่า แขวนไว้ที่ไหน ปรากฎว่า น้องป.นำไปที่ชั้นหนังสือที่บ้าน ผมจึงชมน้องว่า "เก่งและเยี่ยมมากๆ ครับ"

จากนั้นแนะนำทำกิจกรรมงานศิลปะที่ง่ายและไม่ต้องใช้ความคิด แต่ก็ต้องฝึกให้เลือกแบบกึ่งมีรูปแบบ (Semi-structured Activity) เช่น เลือกภาพที่จะทากาวติดลูกปัด เลือกสีลูกปัด 2 สี เลือกสีกากเพชรที่จะระบายตามใจชอบ แล้วปล่อยให้ทำเองอยู่เงียบๆ แล้วให้อ.แอน เข้าพูดคุยแทนดร.ป๊อป จะได้ไม่เบื่อและต่อต้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นมนุษย์มากเกินไป 

ผ่านไป 20 นาที ดร.ป๊อป แอบเข้าไปดูก็พบว่า น้องป.จดจ่อการทำงานได้ดี มีพูดว่า "สบายใจแล้ว [ยิ้ม หัวเราะ] ดีขึ้นแล้ว" ดร.ป๊อปจึงให้แรงเสริมทางบวกและสัมผัสไหล่เบาๆ ว่า "เก่งและดีมากๆครับ" ตามด้วย "รูปภาพอะไร ตรงที่ไม่มีสีคืออะไรเอ๋ย" น้อง ป.ตอบว่า "สีขาว" ดร.ป๊อปจึงกระตุ้น 1 ครั้งเพื่อเพิ่มความรับผิดชอบของงานแบบมีรูปแบบ (Structured Activity) บ้างและไม่มีรูปแบบบ้าง (Unstructured Activity) ที่ไม่มีการบังคับใจให้ทำงานอิสระ คือ "น้องป.นับซิมีกี่สี...สวยไหม...ถ้าให้สีเป็นตัวแทนของคนในบ้านน้องมีกี่คน จะระบายกี่สีดีครับ" น้องป.เข้าใจและหัวเราะชอบใจตอบว่า "ก็มี 6 สี สวย และที่บ้านมี 4 คน ก็จะระบาย 4 สีหรือมากกว่านั้นก็ได้" สุดท้ายผลงานได้ระบายครบ 6 สีและมีพื้นที่สีขาว (ไม่ได้ระบาย) ลดลง เมื่อถามว่า "จะนำภาพสวยๆนี้ไปไว้ที่ไหน" น้องป.ตอบว่า "จะไว้ที่ไหนก็ได้ในบ้าน...ใส่กรอบสวยดี" ใช้เวลา 30 นาที จากนั้นอ.แอน แนะนำให้เขียนความรู้สึกที่ได้รับในวันนี้ลงสมุดที่ดร.ป๊อป ให้เป็นรางวัล น้องป.ได้เขียนเล่าความรู้สึกว่า "กิจกรรมวันนี้ทำภาพงานศิลปะ ไม่เคยทำมาก่อน และมีประโยชน์ ทำให้ได้ความสนุก และอยากทำอีก" ดร.ป๊อป ประเมินระดับความคิดความเข้าใจในครั้งที่ 2 คือ มีการเปลี่ยนแปลงจาก 4 สู่ 5  

การบ้านฝากคุณพ่อคุณแม่และน้อง ป. ทำในระหว่างอาทิตย์ ก่อนพบกันครั้งที่ 3: เนื่องจากน้อง ป. อยากท่องเที่ยวอิสระ ให้ชวนคิดตัวเลือกของการท่องเที่ยวที่หลากหลาย และพาไปกันทั้งครอบครัวในอาทิตย์นี้ 

นัดหมายในครั้งที่ 3 ด้วยกิจกรรมการใช้แรงกายบ้างเพื่อเพิ่มความตื่นตัวและฝึกทำงานศิลปะแบบเดิมหรือแบบอื่น (ให้ตัวเลือก) แต่มีเงื่อนไขให้รับผิดชอบภายในเวลาที่กำหนดคือ 20 นาที โดยส่งต่อให้อ.แอน ด้วยความขอบคุณมากครับและกระบวนการส่งต่อที่ว่านี้อ.แอนและดร.ป๊อปได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ "แนวคิดในการจัดการจิตสังคมด้วยตนเอง" ด้วย 

 

หมายเลขบันทึก: 560895เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2014 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2014 08:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

.... เป็นกำลังใจให้ในการทำหน้าที่ ที่ดีนะคะ .... เป็นงานที่หนักและใช่ความอดทนสูงมากนะคะ ..



เป็นกิจกรรมสร้างความสุขที่น่าสนใจมากๆ ขอบคุณค่ะ

-สวัสดีครับ

-ตามมาอ่านและให้กำลังใจครับ

-ไม่มีอะไรจะมอบให้นอกจาก..เมนูอาหารพื้นบ้านครับ ฮ่า ๆ

-ขอบคุณครับ.

ขอบคุณมากๆครับพี่ดร.เปิ้น พี่ใหญ่ คุณเพชรน้ำหนึ่ง คุณ Yingmon และคุณบุษยมาศ

เพิ่งได้มีโอกาสเรียนรู้กิจกรรมบำบัดเป็นครั้งแรก น่าสนใจมากนะคะ ดูแล้วจะต้องอาศัยความชำนาญการมากๆ ในการทำกิจกรรม และการแปลความหมายพฤติกรรมของ "Client"

มีศัพท์เทคนิค คำว่า "Self-efficacy" ที่คุ้นเคยค่ะ เพราะเป็นสิ่งที่ใช้ในงานวิจัย และพัฒนาให้กับนักศึกษา

ยินดีและขอบคุณมากครับคุณไอดิน-กลิ่นไม้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท