ทำไม ??? ไม่มีสมานฉันท์ในสังคมไทย


ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของคนไทยวันนี้คือการขาดความสมานฉันท์ อันนำไปสู่การขาดความสามัคคี

ประเทศที่ขาดความสามัคคี คงยากที่จะดำรงอยู่อย่างมั่นคงได้

คำว่าสมานฉันท์นั้นหมายถึงการมีความต้องการที่จะทำบางอย่างเสมอกัน เมื่อมีความต้องการในการทำบางอย่างเสมอกัน จึงนำไปสู่การทำการร่วมกัน ประสาน สอดคล้องกัน การประสานสอดคล้องกันนี้เอง นำไปสู่การมีความสามัคคี

ซึ่งการที่คนในสังคมจะมีความต้องการทำในสิ่งที่สอดคล้อง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต้องมีองค์ประกอบต่างๆดังนี้

1ความเห็น ต้องเป็นความเห็นเสมอกัน เห็นไปในทางเดียวกัน หรือ สมานทิฏฐิ (สะ – มา – นะ – ทิด – ถิ) และเป็นทิฏฐิที่ถูกต้อง หรือ สัมมาทิฏฐิ

2วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี หรือก็คือ ศีล สอดคล้องกัน

ศีลนี้ หมายถึงความเป็นปกติทางกาย วาจา ใจ อันเกิดมาจากการฝึกตนด้วยข้อควรฝึกต่างๆ

3ปัญญา มีความรู้ใกล้เคียงกันซึ่งความรู้นี้แยกเป็นทั้งความรู้ที่เป็นตัวข้อมูล  ความรู้ที่เป็นกระบวนการประมวลและการใช้ข้อมูล และความรู้ที่เกิดขึ้นในตนอันเป็นตัวความรู้ที่ได้จากความรู้สองอย่างแรก

-ความรู้ที่เป็นตัวข้อมูล เป็นความรู้อย่างถ้วนทั่ว ตั้งแต่ต้นจบปลาย ไม่ใช่เฉพาะช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งอันสามารถนำไปสู่ความขัดแย้งเช่น คนบางคนรู้ว่าบุคคลหนึ่งริเริ่มโครงการอันเป็นประโยชน์แก่ชนหมู่มาก ก็สนับสนุน รัก และยกย่องเขา ในขณะที่อีกคนหนึ่งรู้ว่าเขาผู้สร้างโครงการอันเป็นประโยชน์นั้นเป็นคนโกงอย่างมาก ก็ต่อต้าน พยายามให้เขาได้รับผลจากการกระทำที่ผิดธรรมและปกป้องทรัพยากรส่วนรวมให้พ้นจากการแสวงหาอันไม่ชอบธรรมของเขา การรับรู้ข้อมูลที่ไม่ตลอดสายจึงทำให้ความเห็นของคนทั้งสองดังกล่าวแตกต่างกัน

ซึ่งการทำให้ทุกคนในสังคมได้ความรู้ตลอดสายนี้ ต้องเป็นการให้ข้อมูลที่ปราศจากอคติ หรือใส่ความเห็นส่วนตัวลงไป เพื่อให้ผู้รับข้อมูลได้ตัดสินใจด้วยตนเอง เพราะความรู้ใดที่ได้จากการพิเคราะห์ของตน ย่อมมั่นคง มีเหตุผลมากกว่าการเห็นตามผู้อื่น และควรเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่มีคำส่อเสียด คำหยาบ ประกอบอยู่ด้วย เพราะอาจนำไปสู่ความเกลียดชังและการตั้งกำแพงไม่รับฟังความเห็นของผู้รับข้อมูล

-พัฒนากระบวนการคิดเพื่อการพิจารณาแยกแยะความรู้ที่ได้รับ อันนำไปสู่การ “ลงความเห็น” ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเหมาะสม และการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งในแง่การประกอบอาชีพเพื่อยกระดับชีวิต การแสดงออกต่อบุคคลรอบข้าง และการมีชีวิตด้วยจิตที่ตั้งมั่น สงบสุข

มีคำตรัสว่าปัญญาเกิดเพราะการหมั่นตามประกอบ เสื่อมไปเพราะการไม่หมั่นตามประกอบ หรือก็คือเกิดเพราะการหมั่นพิจารณา เสื่อมไปเพราะการไม่ชอบใช้ความคิดเพื่อพิจารณา หากปัญญาเสื่อมไป โอกาสที่จะตัดสินใจอย่างเหมาะสมเกี่ยวกับข้อมูลความรู้ที่ได้ก็ลดน้อยลงไปด้วย จึงเห็นคล้อยตามผู้อื่นได้โดยง่าย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าโครงการใดเหมาะสมกับพสกนิกรในพื้นที่ไหน ยังทรงให้ข้อมูลและถามความสมัครใจของเขาว่าเห็นพ้องตามที่พระองค์ทรงแนะหรือไม่ ไม่ได้ทรงบังคับให้ทำตามพระประสงค์แต่อย่างใด

เพราะการมีความรู้ที่ไม่ตลอดสาย ความเห็น วิถีชีวิตที่ไม่เสมอ เหลื่อมล้ำ คนในสังคมจึงมีความเห็นต่างกันขัดแย้งกันไป

4เจตนาเป็นเจตนาที่เป็นไปตามธรรมคือเป็นกุศล และประกอบด้วยธรรมคือเมตตา เพราะเจตนาที่เป็นกุศลย่อมไม่เบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น และการมีเมตตาทั้งต่อตนและต่อผู้อื่นทำให้มีการดำรงชีวิตและจิตสำนึกในการแสวงหาหรือรักษาผลประโยชน์ส่วนตน

จิตสำนึกเกี่ยวกับประโยชน์ส่วนตนจึง (1) ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ทำให้ส่วนรวมเสียหาย (2) ประโยชน์ที่ได้เป็นผลดีในระยะสั้นอันทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ และ (3) มีผลดีในระยะยาวที่ทำให้เกิดความมั่นคงในการดำรงชีวิต

และเพราะมีเมตตาอันเป็นคุณธรรมที่อยู่ในใจ จึงนำไปสู่การปฏิบัติต่อบุคคลรอบข้างที่เป็นรูปธรรมต่อไปนั่นก็คือนำไปสู่

5สังคหวัตถุ หรือหลักการสงเคราะห์ ธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจ ประสานใจหมู่ชนไว้ในสามัคคี อันประกอบด้วย

-ทาน การให้ การเอื้อเฟื้อ การเสียสละ การช่วยเหลือกันด้วยสิ่งของอันเป็นการผูกใจไว้ได้ (สมดังคำตรัสว่า ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก)

-ปิยวาจา วาจาอันเป็นที่รัก วาจาสุภาพไพเราะ อันนำไปสู่การเกิดไมตรี รักใคร่ นับถือ และวาจาที่แสดงประโยชน์อันประกอบด้วยหลักฐานต่างๆที่สามารถจูงใจให้เกิดความยินดี การยอมรับความเห็น

-อัตถจริยา การบำเพ็ญประโยชน์ การขวนขวายช่วยเหลือ การส่งเสริมจริยธรรมเมื่อคนในสังคมมีอัตถจริยา ความเหลื่อมล้ำในสังคมก็จะค่อยๆลดลง

-สมานัตตตา ความหมายของสมานัตตตาที่เรารับรู้กันคือ การมีตนเสมอ อันหมายถึงการร่วมทุกข์ร่วมสุข การปฏิบัติตนเสมอต้นเสมอปลาย หากสมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฒฺฑโน) ได้ให้ความหมายที่ลึกซึ้งไว้ว่า คือการมีตนเสมอกันในธรรม ดังนั้น หากรู้ว่าผู้อื่นมีคุณธรรมสูงกว่าตน ก็พยายามบ่มเพาะคุณธรรมนั้นให้เสมอกับเขา อันเป็นการพัฒนาจิตและปัญญาตนให้ยิ่งๆขึ้นไป

ด้วยองค์ประกอบต่างๆเหล่านี้ โอกาสที่จะมีความสมานฉันท์ของคนในสังคมก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ

จะเห็นว่าความต้องการที่จะทำของคนในสังคมไทยในขณะนี้ไม่เสมอกัน เมื่อไม่เสมอกันตั้งแต่ความเห็นอันเป็นจุดเริ่มต้นแล้ว โอกาสที่จะเกิดความสามัคคีก็แทบไม่มีตามไปด้วย

ดังจะเห็นได้จากความต้องการใช้สิทธิในการเลือกตั้งของวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรต้องการใช้สิทธิในขณะที่ประมาณอีกครึ่งไม่ต้องการ

สิ่งเหล่านี้คงต้องเริ่มเพาะที่ตัวเราก่อน หากสังคมให้ความสำคัญต่อการบ่มเพาะและพยายามให้มีองค์ประกอบของการสมานฉันท์ครบทั้ง 5 ข้อแล้ว โอกาสที่ความสมานฉันท์จะเกิดคงยังพอมีหวัง

........................

อิงธรรมจากซีดีธรรมบรรยายที่บรรยายไว้ใน พ.ศ. 2549

(รับฟรีได้ที่วัดญาณเวศกวัน ถ.พุทธมณฑลสาย 4)

หมายเลขบันทึก: 560888เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2014 09:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2014 09:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ด้วยมีมิจฉาทิฏฐิจึงขาดสามัคคี ประกอบไปด้วยอกุศล ๓ จึงไม่เห็นแก่บรรพบุรุษไทย

หลายๆฝ่ายจะมีโอกาส ได้อ่าน ได้รับรู้ ธรรมะดีๆอย่างนี้บ้างไหมหนอ

รัก โลภ โกธร หลง เป็นสาเหตุ..ใหญ่..เจ้าค่ะ..อุทกภัยใหญ่ยิ่งที่ถาโถม..อยู่ในจิต..ของ..ผู้..ต้องการ..ยึด..อำนาจและมุ่งแต่ผลประโยชน์ส่วนตนให้อยู่ใน..แวดวง..ของสังคมแห่งตน..โดยไม่คิดคำนึงถึงสังคมอื่นที่มีส่วนร่วม...อยู่ด้วย...กับคำว่า..ชอบธรรม..น่ะเจ้าค่ะ...ยายธี

มีธรรมะชะโลมใจมิให้ฟุ้งซ่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท