ประเมินความล้า...ป้องกันความเครียด


ขอบคุณมากครับสำหรับกรณีศึกษาที่เป็นผู้รับบริการคลินิกกิจกรรมบำบัด ม.มหิดล http://www.pt.mahidol.ac.th/ptclinic/

กรณีศึกษาทั้งสองท่านมีความสงสัยว่า "ตนเองจะมีความเครียดหรือไม่และจะจัดการตนเองอย่างไร" นัดหมายดร.ป๊อป ให้ตรวจประเมินทางกิจกรรมบำบัดและให้คำแนะนำ ณ คลินิกกิจกรรมบำบัด ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล

เริ่มจากกรณีศึกษาชายวัย 32 ปี (ถนัดมือขวาและสุขภาพดี - ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า) ทำงานสื่อและกลับบ้านดึก แต่ปีใหม่มีแรงจูงใจที่จะมีเวลาดูแลสุขภาวะ เช่น สวดมนต์ ทำสมาธิ ยกน้ำหนัก และอยู่กับครอบครัวที่บ้าน ฯลฯ

ดร.ป๊อปประเมินระบบจิตประสาทสรีรวิทยาด้วยเครื่องนับจังหวะการเคาะนิ้วชี้ (การตรวจความล้าทางร่างกาย/จิต) ในเวลา 10 วินาที ทั้งข้างขวาและซ้าย ข้างละ 3 ครั้งแล้วเฉลี่ยค่าความเคลื่อนไหวต่อ 1 วินาที ในครั้งที่ 1 และ 3 ให้ลืมตา และครั้งที่ 2 ให้หลับตา แล้วใช้เครื่องวัดความสั่นของมือในการใช้เหล็กปลายแหลมกดลงรูจากขนาดใหญ่สู่ขนาดเล็กโดยพยายามไม่ให้เหล็กกระทบกับขอบรู (การตรวจความล้าทางความคิด) สลับกันทั้งข้างขวาและซ้าย (ลืมตา) ข้างละ 3 ครั้งแล้วเฉลี่ยค่าความผิดพลาด

จากนั้นให้เข้าห้องมืดเพื่อปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมที่มีสิ่งเร้าหลากหลาย - ม่านแสงนิ่งสลับสี แสงและฟองอากาศเคลื่อนไหวในน้ำ อ่างบอลสลับสี และแท่นยืนสลับสีและเสียง เน้นกระตุ้นความตื่นตัวและความสุขขณะรับรู้สิ่งแวดล้อมที่ผ่อนคลาย (สำรวจ + เลือกสิ่งเร้าที่ชอบ + นอนพักกับสิ่งเร้าที่ชอบ รวม 20 นาที) แล้วประเมินซ้ำทั้งสองเครื่อง

ผลการประเมิน

ก่อนปรับสิ่งแวดล้อม

ความเคลื่อนไหว ข้างขวา 5.47 ครั้ง/วินาที และข้างซ้าย 4.97 ครั้ง/วินาที ความผิดพลาด ข้างขวา 4.67 ครั้ง และข้างซ้าย 5.67 ครั้ง

หลังปรับสิ่งแวดล้อม

ความเคลื่อนไหว ข้างขวา 6.00 ครั้ง/วินาที และข้างซ้าย 5.00 ครั้ง/วินาที ความผิดพลาด ข้างขวา 5.53 ครั้ง และข้างซ้าย 4.97 ครั้ง

การแปรผล กรณีศึกษาชายท่านนี้มีความล้าทางความคิด เนื่องจากมีค่าความผิดพลาดยังคงเพิ่มขึ้นในมือข้างขวา แต่ไม่มีความล้าทางร่างกายเพราะความเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น จึงไม่ถือว่ามีความเครียด 

สัมภาษณ์เพิ่มเติม พบว่า กรณีศึกษาชายท่านนี้ยอมรับว่า ตนเองเป็นคนที่คิดมากจนทำให้ไม่ค่อยมีสมาธิในการรับฟังผู้อื่น ชอบเสนอความคิดแทรกทันทีถ้าผู้อื่นพูดไม่ตรงประเด็น สิ่งเร้าที่ชอบในห้องมืดคือ นอนดูม่านแสงไฟนิ่งๆสลับสีช้าๆ 

การประเมินทางกิจกรรมบำบัดเน้นด้านความคิดความเข้าใจ ให้กรณีศึกษาหามุมสงบคิดและเขียนวิธีการในการเพิ่มสมาธิด้วยตนเองให้มากที่สุดแล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักกิจกรรมบำบัด 

ผลการประเมินพร้อมคำแนะนำ พบว่า กรณีศึกษาเขียนได้ถึง 8 วิธีการ แต่เมื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยเหตุผล ก็พบว่า ใช้ได้สำหรับกรณีศึกษาท่านถึง 4 วิธีการ ได้แก่ 1) การยกน้ำหนักก่อนการสวดมนต์ - ถ้ารู้สึกไม่มีสมาธิก็ปรับท่าทางจากนั่งมายืนหรือเดินช้าๆ ได้ 2) การเล่นเกมส์อย่างจดจ่อแต่ตระหนักรู้เวลาที่ต่อเนื่องไม่เกิน 32 นาที (เท่าอายุ) 3) ก่อนนอนให้ฝึกสมาธิด้วยการลืมตามองแสงที่นิ่ง (สลับสีช้าๆ จากโคมไฟ) และ 4) เวลารถติดก็เปิดเพลง เวลารถไม่ติดก็ปิดเพลงเพื่อเพิ่มสมาธิจดจ่อในการขับรถ ส่วนอีก 4 วิธีการที่เหลือเป็นการผ่อนคลายมากกว่าการเพิ่มสมาธิ ได้แก่ การสวดมนต์นั่งสมาธิ การไปทำบุญและนั่งสงบที่วัด การเดินช้าๆ (ตรงนี้ได้ลองทดสอบแล้วว่า เดินช้าๆ ตามใจชอบ - 30 นาที แล้วดูว่าจำของจากการสัมผัสได้ถูกต้องต่ำกว่า 70% จึงใช้ไม่ได้ผล) การพยายามฟังผู้พูดอย่างตั้งใจโดยไม่พูดแทรก (อันนี้เป็นบุคลิกภาพไปแล้วหลังสมองมีวุฒิภาวะหลัง 25 ปี จึงปรับเปลี่ยนยาก) 

จากนั้นถึงคิวกรณีศึกษาหญิงวัย 32 ปี (ถนัดมือขวาและสุขภาพดี) ทำงานธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ได้ตรวจประเมินทั้งสองเครื่องและเข้าห้องมืดฯ เช่นเดียวกับกรณีศึกษาชายข้างต้น

ผลการประเมิน

ก่อนปรับสิ่งแวดล้อม

ความเคลื่อนไหว ข้างขวา 12.07 ครั้ง/วินาที และข้างซ้าย 4.77 ครั้ง/วินาที ความผิดพลาด ข้างขวา 0 ครั้ง และข้างซ้าย 5.00 ครั้ง

หลังปรับสิ่งแวดล้อม

ความเคลื่อนไหว ข้างขวา 6.03 ครั้ง/วินาที และข้างซ้าย 4.73 ครั้ง/วินาที ความผิดพลาด ข้างขวา 0 ครั้ง และข้างซ้าย 1.67 ครั้ง

การแปรผล กรณีศึกษาหญิงท่านนี้ไม่มีความล้าทางความคิด เนื่องจากมีค่าความผิดพลาดลดลง แต่มีความล้าทางจิตเพราะความเคลื่อนไหวลดลง จึงไม่ถือว่ามีความเครียด (ถ้ามีความเครียดมักจะมีความล้ามากกว่า 1 ประเภท) 

สัมภาษณ์เพิ่มเติม พบว่า กรณีศึกษาหญิงท่านนี้ยอมรับว่า ตนเองเป็นเด็กที่อยู่รร.ประจำและมีความเป็นตัวของตัวเองสูง มักนอนแล้วรู้สึกกระตุกแล้วก็พยายามหลับลงด้วยตนเอง จนมานอนกับคุณแม่ ก็กระตุกลดลง ครอบครัวของตนเองพ่อแม่เลิกกันตั้งแต่เด็ก สิ่งเร้าที่ชอบในห้องมืดคือ อ่างบอลที่ได้สัมผัสลูกบอลและนอนสบาย ไม่มีอาการกระตุก

การประเมินทางกิจกรรมบำบัดเน้นด้านจิตสังคม ให้กรณีศึกษาหามุมสงบคิดและเลือดวาดรูป บ้าน-ต้นไม้-คน ทั้งวาดด้วยดินสอและกลับด้านหลังกระดาษวาดด้วยสีเทียน แล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักกิจกรรมบำบัด 

ผลการประเมินพร้อมคำแนะนำ พบว่า กรณีศึกษาเข้าใจและรับรู้ถึงจิตที่สะท้อนในภาพวาดที่ตรงกันไม่ว่าจะเป็นดินสอและสีเทียน คือ วาดภาพบ้านเพราะคิดถึงครอบครัวที่เคยอบอุ่นและอยากมีครอบครัวที่อบอุ่น รักอิสระแต่มีความอ่อนไหวจากต้นไม้และลายบ้านที่เป็นเส้นๆ ยุ่งๆ โค้งๆ และมีจินตนาการดีและอยากได้ความรักจากรูปสองคนจูงมือกันและยิ้มแต่ไม่ใช่ตนเอง แต่เมื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยเหตุผล ก็พบว่า อาการกระตุกเกิดจากปมในครอบครัวจนทำให้มีความล้าทางจิต การแก้ไขปมนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายและไม่ได้แก้ออกไปได้ 100 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่จะคลายความล้าทางจิตได้ คือ การทำกิจกรรมกับคุณแม่อย่างใกล้ชิดแล้วกอดบอกรักแม่ทุกครั้ง และถ้ามีโอกาสก็ทำเช่นเดียวกับคุณพ่อที่ไม่ได้อยู่ในครอบครัวปัจจุบันด้วย ซึ่งกรณีศึกษายอมรับว่า ไม่เคยทำมาก่อนแต่จะพยายามลองทำดู

 

 

หมายเลขบันทึก: 560720เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2014 10:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2014 11:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เป็นประโยชน์มาก ๆเลยนะคะ ในปัจจุบัน คนปกติมีความเครียดสูงอยู่แล้ว ยิ่งถ้ามีปัญหาด้านสุขภาพ ยิ่งเพิ่มความเครียด ดังนั้นการรู้ตัวว่าเครียด เป็นสิ่งที่จะคอยเตือนและหาวิธีลดความเคลียดให้ลดลงนะคะ ขอบคุณบันทึกดีดีนี้ค่ะ

ขอบคุณมากๆครับพี่เปิ้น อ.นุ และคุณยายธี

เยี่ยมมากค่ะ ช่วยเหลือผู้ป่วยได้ลึกซึ้งนะคะอาจารย์

รื่

ขอบคุณเรื่องราวดี ๆ จ้ะ

_สวัสดีครับ..

_เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆครับ

_การประเมินแบบนี้...คนทั่วๆไปสามารถรับการประเมินได้ไหมครับ?

_ขอบคุณครับ

ขอบคุณมากๆ ครับพี่หมอธิรัมภา คุณมะเดื่อ คุณเพชรน้ำหนึ่ง และพี่ดร.พจนา

ใช่ครับคุณเพชรน้ำหนึ่ง สำหรับกรณีศึกษานี้ก็เป็นคนทำงานทั่วๆไปสามารถรับการประเมินได้ทุกคนครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท