ข้าราชการครู เป็นข้าราชการประเภทเดียวในประเทศไทย ที่ต้องขอย้าย ส่วนข้าราชการประเภทอื่นย้ายตามคำสั่ง


"อภิชาติ"มึนแก้ปัญหาเกลี่ยครู ครูขาดครูเกินสั่งย้ายไม่ได้ ชี้ครูเป็นข้าราชการประเภทเดียวของเมืองไทยที่สั่งย้ายไม่ได้ถ้าไม่ขอย้าย เตรียมเสนอก.ค.ศ.แก้ไขหลักเกณฑ์ย้ายครู

วันนี้(28ม.ค.) นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยว่า ภายในปี 2560 จะมีครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)เกษียณอายุราชการถึง200,000 คน ดังนั้น สพฐ.จะทำการวิเคราะห์ว่าจะมีผลกระทบต่อการบริหารกำลังคน และจะเกิดปัญหาขาดแคลนครูหรือไม่ โดยจะมีการทำสำมะโนนักเรียนและวิเคราะห์เป็นรายโรงว่าเมื่อถึงปี 2560 จะมีจำนวนนักเรียนเท่าไหร่ เพิ่มขึ้นหรือลดลง เพื่อจะได้จัดอัตราครูได้อย่างเหมาะสม ขณะที่ปัจจุบันมักจะพูดกันว่าครูขาด แต่ไม่ได้มีการวิเคราะห์สภาพปัญหา และจำนวนนักเรียนที่แท้จริงเลย เช่น บางโรงเรียนเคยมีนักเรียนเป็นร้อยคน ปัจจุบันเหลือแค่ไม่กี่สิบคน สาเหตุเพราะเด็กย้ายตามผู้ปกครองไปอยู่ในพื้นที่อื่น ส่งผลให้บางโรงมีเด็กเพิ่มขึ้นมาก บางโรงก็มีเด็กลดลง แต่จำนวนครูยังเท่าเดิม เนื่องจากหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)กำหนดว่าครูต้องขอย้ายถ้าไม่ขอหน่วยงานต้นสังกัดก็ไม่สามารถสั่งย้ายได้ 


"ถือว่าข้าราชการครู เป็นข้าราชการประเภทเดียวในประเทศไทย ที่ต้องขอย้าย ส่วนข้าราชการประเภทอื่นย้ายตามคำสั่งจึงทำให้ สพฐ.เกลี่ยอัตรายากมากซึ่งเรื่องนี้ทางสำนักงบประมาณสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง ก็อยากให้สพฐ.สามารถสั่งย้ายครูได้เหมือนข้าราชการประเภทอื่น แต่ก็เป็นเรื่องยากมาก อย่างไรก็ตาม สพฐ.ก็กำลังจะเสนอต่อก.ค.ศ.เพื่อแก้ไขหลักเกณฑ์การย้ายครู เพื่อให้เกิดความสะดวกในการบริหารงาน" นายอภิชาติ กล่าวและว่า ต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหาขาดแคลนครูเป็นเรื่องยาก เพราะนอกจากผู้บังคับบัญชาสั่งย้ายไม่ได้แล้ว ส่วนหนึ่งตัวครูก็ไม่ยอมไปไหนเพราะเด็กน้อยงานก็น้อย หากย้ายไปโรงเรียนใหญ่เงินเดือนและวิทยฐานะก็เท่าเดิม จึงไม่ขอย้าย ซึ่งมีครูคิดแบบนี้อยู่อีกมาก ก็ต้องเป็นเรื่องของจิตสำนึกของแต่ละบุคคล 


เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการขอช่วยราชการของครูนั้น ตนมีนโยบายชัดเจนว่าถ้าต้นทางบอกว่าเดือดร้อนเพราะขาดครูอยู่จะไม่อนุญาตให้ไปครูออกไปช่วยราชการ เพราะจะยิ่งทำให้โรงเรียนที่ขาดครูอยู่มีปัญหามากขึ้น เว้นแต่มีเหตุผลที่จำเป็นจริงๆ เช่น ต้องกลับไปดูแลพ่อแม่ที่ป่วยแต่ก็จะบอกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปลายทางว่าให้หาอัตรารับย้ายโดยเร็วที่สุด ไม่ใช่ให้อยู่แล้วอยู่เลยและขณะนี้ สพฐ.ได้เรียกบัญชีครูช่วยราชการมาแล้ว ใครก็ตามที่ช่วยราชการเกินกว่า1ปี จะสั่งให้กลับไปเขตพื้นที่ต้นสังกัดให้หมด.

อ้างอิงจาก http://www.kroobannok.com/64375

คำสำคัญ (Tags): #ปัญหาเกลี่ยครู
หมายเลขบันทึก: 560713เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2014 05:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2014 05:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

...การเกลี่ยครูเห็นมีมานานแล้วนะคะ... ในกรณีที่เด็กน้อย ครูมาก เกินกรอบอัตรากำลังของโรงเรียน ยังไงก็ต้องเกลี่ยครูโดยให้ครูเป็นผู้ขอย้ายตามความสมัครใจก่อน ถ้ายังเกินกรอบ ทางโรงเรียนจึงจะเป็นผู้ทำเรื่องเสนอย้ายตามความเหมาะสม...โดยจะดูโรงเรียนใกล้เคียงเป็นหลักก่อน เพื่อสะดวกในการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ของครู...

...ส่วนในกรณีที่ครูขอย้ายออกจากโรงเรียน ปัจจุบันก็ต้องเป็นการย้ายสับเปลี่ยนนะคะ

...ปัญหาใหญ่ที่ทำให้ครูขาดแคลนจึงน่าจะมาจากการบริหารจัดการงานบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการรับสมัครสอบ บรรจุ และแต่งตั้ง ครูมากกว่า ...ครูจำนวนมากมายที่จบมาไม่มีงานทำ และยังมีกรณีที่ผู้ที่จบครู 5 ปี เดิมเมื่อจบสามารถเข้าบรรจุเป็นครูผู้สอนได้ ...แต่ปัจจุบันไม่สามารถบรรจุได้ ทำให้มีผู้ที่จบครู 5 ปี ตกค้างเป็นจำนวนหมื่นคน

ขอเป็นกำลังใจให้ครูทุกท่านค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท