"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

“ความทรงจำครั้งยังเด็ก”


๗/๐๑/๒๕๕๗

***********

“ความทรงจำครั้งยังเด็ก”

เมื่อตอนที่ยังเป็นเด็ก เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา

ความทรงจำที่ ๑ ...การฝึกทำกับข้าว ในวัยเยาว์ตอนที่จำความได้ดีที่สุดคือ ช่วงที่อยู่ชั้น ป.๕-ป.๖  ประสบการณ์ที่ยังทรงจำได้แม่นยำคือ การเป็นลูกเสือที่ต้องออกค่าย  กลางทุ่งนาหน้าหนาว  ข้างวัดบ้านปางค้อ  ความประทับใจแรกคือ  การได้ทำที่หุงต้มแบบขุดหลุมในดินเพื่อใช้เป็นที่ก่อไฟหุงข้าวและ เราเป็นพ่อครัวทำอาหารให้ครูและเพื่อนๆ ได้กิน ผัดดอกหอมใส่ไข่ยังคงจำได้ไม่ลืม ครูชมว่า “เอิน..เธอทำกับข้าวอร่อยมากนะเนี่ย”   เพื่อน ๆ บอกว่า “มึงฮยะกับข้าวลำหว่ะ...กูซอบจั๋งเลย”  ถึงแม้อาจจะเป็นยาหอมที่ให้เราต้องเป็นคนทำกับข้าว  แต่เราก็ดีใจชอบใจ  พอกลับมาบ้านมาทำกับข้าวที่บ้านให้พ่อและแม่กิน ใช้มีดฟันฟืนหรือ “โบะหลัว” เพื่อทำ “ขี้เสี้ยน” หรือเชื้อไฟ มีดเข้าฐานนิ้วชี้มือซ้ายได้แผลเป็นมาจนทุกวันนี้

พอทุกวันนี้เราอยากกินอะไรหรือชอบทานอะไร ไม่ต้องทำ  บ่นให้แม่ฟัง แม่ก็จะทำให้กินทุกครั้ง  หากเป็นเพื่อนบ่นให้ฟังเขาจะทำให้เรากินคงจะหายาก...แต่ก็แปลกดีนะที่เด็ก เยาวชนหรือวัยรุ่นทุกวันนี้ เห็นเพื่อนดีกว่าสำคัญกว่าพ่อแม่หรือคนที่เลี้ยงดูเสียอีก 

 

ความทรงจำที่ ๒...การเรียนหนังสือ ตนเองพึ่งจะได้เริ่มเรียนภาษาอังกฤษครั้งแรกเมื่ออยู่ชั้นป.๕  ท่องเอบีซี ท่องศัพท์ ถูกครูจับมือจูมติดกันแล้วก็ตีด้วยไม้บรรทัดถ้าท่องศัพท์ไม่ได้...ตอนเย็นก่อนกลับบ้านถูกครูบอกให้ท่องอาขยานและท่องสูตรคูณจนจำขึ้นใจทุกบท...ท่องไม่ได้ไม่ถูกต้องไม่ให้กลับบ้าน บางครั้งก็ถูกตี...ก็ไม่เคยโกรธครูนะ...อาจจะมีนินทาบ้างนิดหน่อย...ชีวิตในช่วงที่เรียนอยู่ ป.๕  ป.๖ นี้ เป็น “ขโยม” หรือเป็นเด็กวัดไปด้วย  ต้องท่องหนังสือสวดมนต์ และคำขอบวช เพื่อเตรียมตัวบวชเป็นสามเณรในตอนกลางคืน ใต้แสงเทียนบริเวณสนามวัดกับเพื่อน ๆ อีกหลายคน...เพราะความยากจนจึงต้องหาวิธีเรียนแบบประหยัดเงินที่สุด...การศึกษาสมัยนั้นต้องเสียเงินค่าเทอมเรียนแม้จะเป็นสามเณรเป็นพระภิกษุก็ยังต้องเสียค่าเทอมเรียนในแต่ละปี...ถึงกระนั้นก็มุมานะจนเรียนจบ ม.๓ จนพ่อแม่แทบจะไม่มีเงินส่งให้เรียน...หลายท่านอาจรู้จัก อ.สำราญ คำยิ่ง นั่นคือศิษย์สำนักวัดไพรสณฑ์ครั้งวัยเยาว์เช่นกัน

นึกสะท้อนย้อนกลับมาหาเยาวชนนักเรียนไทยในปัจจุบันที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือตั้งแต่เล็ก ๆ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ แต่เด็กในชนบทหรืออาจจะรวมทั้งในเมืองด้วยก็ไม่ค่อยสนใจ หรือใส่ใจกันสักเท่าไหร่  เท่าที่ลองทดสอบให้เขียนชื่อตนเองก็ยังเขียนหรือสะกดไม่ค่อยจะได้...อย่าว่าแต่ภาษาอังกฤษเลย  ภาษาไทยยังเขียนกันไม่ค่อยจะถูกเหมือนกัน...การสอนหนังสือแบบรวมหรืออ่านเป็นคำ ๆ อาจจะไม่ได้ผลเหมือนเราที่เรียน ก ไก่ ข ไข่ สระ อะ สระอา ก็ได้ ...นักเรียนรุ่นใหม่ควรใส่ใจและควรตระหนักว่า เรามีโอกาสกว่ารุ่นก่อน ๆ ที่ต้องเสียเงินเรียนมากนักคือ ได้เรียนฟรี เราก็ควรใช้ความฟรีให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัวมากที่สุด...และถึงแม้หลักการสอนของโรงเรียนจะเป็นอย่างไร เราก็ยังยืนยันว่า การท่องอาขยาน สูตรคูณ หรือคำศัพท์ บทสนทนาเบื้องต้นของภาษาอังกฤษก็ยังมีประโยชน์ต่อการจดจำและจำได้นานมากที่สุด...สามารถนำเอามาใช้ในชีวิตจริงมาจนถึงทุกวันนี้มากที่สุดเช่นกัน  โดยเฉพาะอาชีพค้าขายที่เราต้องคิดเลขอยู่ตลอดเวลา...ท่องขึ้นใจจึงดีกว่าทำความเข้าใจ...แต่เราต้องจำอย่างถูกต้องด้วยไม่ใช่จำมาผิด ๆ 

การท่องจำตั้งแต่เด็กเช่น บทสวดมนต์  บาลีไวยากรณ์ เวลาได้ยินพระท่านสวดหรือใครสวดเราสามารถฟังแบบตรวจสอบได้และทบทวนได้เลยว่าคำไหนถูกและคำไหนผิด เราท่องผิดคำไหน  ประโยชน์ของการท่องจำจึงจำได้นานกว่า...และใช้ได้ทันทีเมื่อต้องการจะใช้ในชีวิตจริง...

 

ความทรงจำที่ ๓ ...การได้เป็นผู้นำทำหน้าที่หน้าเสาธง หรือเป็นหัวหน้าใหญ่ในโรงเรียน  บ่งบอกให้เรามีความรับผิดชอบ มีความเป็นผู้นำ เมื่อก่อนนั้น ครูเขาจะให้เราบอกแถวในลักษณะว่า “...ทั้งหมดนิ่ง...นักเรียนทั้งหมดทำความเคารพธงชาติ...ตรง...ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย(นำ)....” นักเรียนทั้งหมดก็จะรับต่อ...ร้องเพลงชาติท่อนต่อไปอย่างพร้อมเพรียงกัน  สองคนชายหญิงก็จะเชิญธงขึ้นเสา จนจบเพลง...ประสบการณ์หนึ่งที่ผู้นำหรือหัวหน้าโรงเรียนทำผิดคือ  ได้พาเพื่อนสองสามคนปีนหน้าต่างอาคารเรียนหลังสูง...เพื่อเปิดประตูใหญ่ด้านหน้าทั้งสองบาน...เพราะเพื่อนอีกคนดันไปแกล้งล็อกกลอนแบบค่อยวางกลอนหมิ่น ๆ แล้วกระแทกประตูเข้าไปให้กลอนตกลงรูด้านใน...ผลตามมาคือครูจับได้ไล่เลียงว่าใครบ้างที่ปีนหน้าต่างอาคารเรียนหลังสูง...ในฐานะหัวหน้าใหญ่ของโรงเรียน  จึงยืดอกยอมรับความผิดแบบเต็มใจกับเพื่อนอีกสองคน...พร้อมกันนั้นลูกชายของภารโรงก็ได้ขโมยกระเป๋าสตางค์ของครูมา...เราสี่คนได้รับการทำโทษหน้าเสาธงของเช้าวันหนึ่ง...คุณครูสืบ สีขำมี  ฝ่ายปกครองและเป็นครูที่นักเรียนทั้งโรงเรียนกลัวมากที่สุดขณะนั้น...เรียกมาตีโชว์ทีละคนด้วยไม้เรียวที่ครูทำไว้อย่างเหมาะมือ...เราโดนไปห้าที  ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพาเพื่อนทำผิด ส่วนคนต่อ ๆ มาโดนคนละ ๓ ที  ส่วนลูกชายภารโรงถูกภารโรงผู้พ่อเรียกไปตีด้านนอกแถวข้างถนนอีกหลายทีด้วยไม้ไผ่ที่เป็นซี่รั้วกว้างประมาณ ๒ นิ้ว จนหักคาก้นของเพื่อนคนนั้น...ภาพยังติดตาอยู่จนปัจจุบัน...

ประสบการณ์สะท้อนให้เห็นว่า การเป็นผู้นำนั้น  หากนำเพื่อนหรือผู้ตามไปในทางที่ดีก็จะส่งผลดีต่อส่วนรวมอย่างมาก  แต่หากว่านำไปในทางไม่ดีเสื่อมเสีย  ผลที่ตามมาก็จะพากันเสียหายอย่างหนัก และได้รับความอับอายมิใช่น้อย  โดยเฉพาะการเป็นหัวหน้าใหญ่หรือผู้นำระดับสูงด้วยแล้ว...

 

ความทรงจำที่ ๔... การช่วยแบ่งเบางานของพ่อแม่  ช่วงที่อยู่ชั้น ป.๕ ป.๖ หากได้อยู่นอกโรงเรียน  วันธรรมดาเลิกเรียนแล้ว พ่อแม่จะมอบหมายหน้าที่ให้ลูกทั้งสอง ผู้หญิงทำงานเบาหน่อย กวาดบ้าน ถูบ้าน ซักเสื้อผ้า  ส่วนเราเป็นผู้ชายจะต้องไปตักน้ำที่บ่อน้ำใส่ถังหรือ “คุ” หาบด้วยไม้คานยกใส่บ่าแล้วนำไปใส่ตุ่มหรือโอ่งมังกรให้เต็มทุกวันหรือทุกครั้ง  ไม่ว่าน้ำในโอ่งจะเหลือมากหรือน้อยก็ต้องตักให้เต็มอยู่เสมอ (การหาบน้ำต้องเอวอ่อนๆ เอวแข็งน้ำจะหกเสียหมด)  วันไหนไม่ได้ทำหน้าที่ก็จะโดนแม่ดุและพ่อตี ทำโทษ เสร็จแล้วก็มาก่อไฟหุงข้าว หุงแบบใช้ไม้ยาว ๆ ขัดฝาหม้อรินน้ำเก็บไว้กินผสมน้ำตาล เหลือก็ให้หมากิน  รินเสร็จก็นำไป “ดง” หรือผิงไฟ หมุนหม้อให้ทั่ว ให้น้ำที่เหลือค้างภายในหม้อข้าวค่อย ๆ เหือดแห้งไป แต่ต้องระวังไฟจะไหม้ข้าวภายในด้วย...การหุงข้าวแบบโบราณต้องระวังเป็นกรณีพิเศษเผลอไม่ได้...เสร็จจากการหุงข้าวแล้ว ถึงจะสามารถออกไปวิ่งเล่นยิงปืนหรือไปไหนกับเพื่อน ๆ ได้...ส่วนวันเสาร์อาทิตย์  จะไปช่วยตาเลี้ยงควาย เมื่อก่อนนี้ตามีควายหลายตัว...การเลี้ยงควายก็ต้องจำลักษณะควายของเราให้แม่นยำ เวลาที่พวกมันไปรวมกับควายของเจ้าอื่น ๆ ต้องรู้นิสัยควาย  และเข้าใจสภาพดินฟ้าอากาศไปพร้อม ๆ กันด้วย...พอวันหยุดปิดเทอมก็จะไปช่วยพ่อกับแม่ดำนา และเกี่ยวข้าว แล้วแต่ว่าช่วงปิดเทอมนั้นอยู่ในช่วงไหน ...หากว่างจากงานของพ่อแม่ก็จะไปช่วยญาติ ๆ ดายหญ้าข้าวโพดบ้าง ดายหญ้าถั่วบ้าง แล้วแต่ว่าช่วงเวลานั้น ๆ มีงานอะไรให้ทำบ้าง  ที่สำคัญเราสามารถช่วยพ่อแม่ได้แบ่งเบางานหนัก และช่วยหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายและค่าเรียนหนังสือของพี่สาว...พี่สาวอยู่ ม.๑ เราอยู่ ป.๖  ต้องช่วย ๆ กัน

มีคำกล่าวว่า “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน”  ถึงจะเป็นเด็ก โดยเฉพาะเด็กในปัจจุบัน สมัยนี้เท่าที่เราสังเกตก็น้อยคนนักที่จะสู้งานหรือทำงานช่วยเหลือพ่อแม่ ความจริงพ่อแม่ก็หวังพึ่งพาเราให้ได้ช่วยเหลือ เรียกใช้คราวจำเป็นบ้าง  แต่ก็มีเด็กน้อยนักที่จะเข้าใจถึงหัวอกของผู้เป็นพ่อแม่หรือผู้ใหญ๋  ไม่อยู่ให้รับใช้และหรืออยู่ก็ไม่เต็มใจที่จะช่วยพ่อแม่ทำงาน  อยู่ให้ใช้  นาน ๆ เข้าก็ทำอะไรไม่ค่อยเป็น  เด็ก ๆ ควรอดทนทำงานฝึกตนเองให้สู้งานทำงานเป็นเสียตั้งแต่วันนี้  โตขึ้นเวลาพบกับปัญหาหรืออุปสรรคขวากหนามชีวิตที่หนักหนาสากรรจ์  ก็สามารถเอาชนะและผ่านพ้นมันไปได้...หากจะเปรียบก็เหมือนกันกับนักกีฬาฟุตบอล หากเราอดทนต่อการวิ่ง การฝึกฝน การซ้อมมาก ๆ พอไปแข่งจริง ๆ ก็ไม่เหนื่อยมาก ไม่กลัวคู่แข่ง  ไม่เจ็บปวดเมื่อยเหนื่อยหอบง่าย   แต่หากไม่ฝึกไม่เข้มแข็งไม่อดทนตั้งแต่เริ่มแรก  จู่ ๆ ก็ไปวิ่งไปลงแข่งกับเพื่อน ก็มีแต่จะหอบแฮก ๆ  สิบนาทีก็ต้องออกจากสนามแล้ว  การทำงานก็เช่นกัน  เราผ่านงานมามากมีประสบการณ์มาก  พอโตเป็นผู้ใหญ่งานทั้งหลายที่พบจึงเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยสำหรับเรา...ฝึกหัดเป็นผู้ทำงานช่วยเหลืองานพ่อแม่ ตั้งแต่ยังเล็ก “อย่าเกรงกลัวงานหนัก”  เพื่อที่วันข้างหน้า  งานจะช่วยให้เราเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์แบบ

 

“วันเด็ก” ในปีนี้เราจึงหวังว่า เด็กไทยทั้งหลายคงไม่อาศัยข้ออ้างหรือช่องว่างของความเจริญมากล่าวว่า  ยุคนี้ไม่จำเป็นต้อง ทำกับข้าวหุงข้าวกินเองแล้ว ไม่จำเป็นต้องท่องตำราหรือเรียนหนังสือแล้ว  ไม่จำเป็นต้องสร้างความเป็นตัวของตัวเองรวมทั้งภาวะผู้นำแล้ว หรือ ไม่จำเป็นต้องทำงานทำการอะไร พ่อแม่ทำกันหมดแล้ว  อยากให้น้อง ๆ หนู ๆ หรือเด็ก ๆ ลองหัดทำ ลองช่วยเหลืองานของคุณครู  งานของคุณพ่อคุณแม่  รวมถึงงานของเพื่อน ๆ  ควรช่วยเหลือเท่าที่จะช่วยได้ อย่าหลงแต่เล่นเกม คอมฯ โทรศัพท์ให้มากเลย...อย่ารอว่า โตอีกหน่อยก่อนค่อยทำ ค่อยช่วย ค่อยเลี้ยงดู หรือค่อยตอบแทนท่าน  หากคิดแบบนี้ อาจจะไม่มีโอกาสตอบแทนบุญคุณท่านก็ได้...

ด้วยความห่วงใยจึงได้เล่าให้ฟัง

  

ขอบคุณผู้อ่าน

ขอบคุณโกทูโนว์

หมายเลขบันทึก: 558477เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2014 17:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2014 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ชอบทุกเรื่องค่ะ สมัยนี้คงหาเด็กดีอย่างคุณ "พี่หนาน" ไม่ได้แล้ว

เห็นภาพค่ะ

พูดถึงหุงข้าวแบบโบราณที่บ้านต้องหุงเป็นก่อนเข้า ป 1 แม่บังคับ ใหม่ ๆบางวันก็ได้ทั้งแฉะและไหม้ในหม้อเดียวกัน ชอบน้ำข้าวมากโดยเฉพาะหน้าหนาว

ขอบคุณ "ความทรงจำครั้งยังเด็ก" ที่น่าจดจำมาก ๆ คะ

ขอขอบคุณสมาชิกทุกท่านที่ให้กำลังใจ ขอขอบคุณ คุณช่อบุบผา ... อ.GD ...อ.นีโอ-เบเกอรี่ ที่ให้คำชมแสดงความคิดเห็นด้วยนะครับ

อ.นุ
นีโอ..เบเกอรี่
บุษยมาศ
ส.รตนภักดิ์
GD
ช่อบุปผา
อร วรรณดา

-สวัสดีครับพี่หนาน..

-ตามมาอ่่านความทรงจำในวัยเด็กครับ

-เป็นความทรงจำที่ดีมาก ๆ ครับ

-ขอบคุณครับ

ขอบคุณคุณเพชรน้ำหนึ่งอีกท่านที่เป็นกำลังใจให้กันตลอดมามากครับ...เด็กๆ น่ารักกันทุกคนนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท