KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 188. องค์ประกอบที่ ๖ ของปัญญาเชิงสังคม - ทักษะในการนำเสนอตนเอง ให้ผู้อื่นรับรู้และเข้าใจในระดับที่ลึก


           นี่คือทักษะของนักแสดงอาชีพ  และนักการเมือง      ผมนึกถึงนักการเมืองที่มีพรสวรรค์ด้านนี้ในระดับหาตัวจับยาก ได้แก่ประธานาธิบดี เรแกน และประธานาธิบดี บุช ผู้ลูก    พรสวรรค์นี้เองที่ช่วยให้ท่านทั้งสองได้เป็นประธานาธิบดี     ทั้งๆ ที่คนรู้กันโดยทั่วไปว่าปัญญาด้านอื่นของท่านไม่ค่อยสูงนัก

         เป็นทักษะที่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ได้สัมผัส     ได้ฟังการปราศรัย     และสามารถสร้างจิตวิทยามวลชนขึ้นได้อย่างทันทีทันใด   

         นั่นเป็นมุมมองแบบอเมริกัน     จากหนังสือ Social Intelligence   ที่ใช้คำเสนอองค์ประกอบนี้ว่า Self - Presentation  

         ซึ่งทำให้ผมนึกถึงสมัยเรียนแพทย์     มีเพื่อนผู้ชายบางคนนินทาเพื่อนผู้หญิงบางคนว่า ทำตัว "เอาหน้า" กับอาจารย์     หวังได้คะแนนภาคปฏิบัติ     เราพูดกันในภาษาอังกฤษแบบไทยๆ ว่า present face     แต่ผมว่านี่ไม่ใช่ปัญญาเชิงสังคมข้อที่ ๖ นี้     อย่าเข้าใจผิด  

        ผมมองว่า ทักษะในการจูงใจฝูงชนอย่างที่นักการเมืองมีนั้น    ยังเป็นทักษะในการนำเสนอตนเองในระดับต่ำ     ยังมีระดับสูงกว่านั้น  คือทักษะในระดับที่ทำให้คนอื่นรู้จักและเข้าใจตัวเราในระดับที่ลึก เข้าไปใจนระดับจิตวิญญาณ คุณค่า และความเชื่อ    ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจ หรือรู้จักกันในระดับที่ลึก      ผมมองว่า นอกจากทักษะในการนำเสนอตนเองให้ผู้อื่นรู้จัก     เราต้องมีทักษะในการทำความรู้จักผู้อื่นในระดับที่ลึกด้วย      นั่นคือทักษะในการทำความรู้จักซึ่งกันและกันในระดับที่ลึก

         การนำเสนอตนเองนั้น  ถ้าดำเนินการในระดับ สมองส่วนอัตโนมัติ     อาจดูแปร่ง ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม หรือไม่สอดคล้องกับกาลเทศะ     จึงต้องการสมองส่วนความคิด หรือ cerebral cortex     ทำให้เป็นกิจกรรมที่ผ่านการใคร่ครวญไตร่ตรอง  ยับยั้งชั่งใจ     และทำให้ความสัมพันธ์ไม่เป็นเพียงการสร้างความประทับใจแบบฉาบฉวยระยะสั้น     แต่เป็นความสัมพันธ์ที่ยิ่งยาวนานก็ยิ่งเห็นคุณค่า คุณธรรม ความน่านับถือมากขึ้นเรื่อยๆ  

        ผมเชื่อใน "ของจริง" ไม่ใช่ "ผักชีโรยหน้า"

วิจารณ์ พานิช
๑๔ ตค. ๔๙ 

หมายเลขบันทึก: 55681เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2006 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 09:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาจารย์ครับ

ตอนนี้ผมกำลังจะร่วมกับทีมงานเปิดสถาบันพัฒนากระบวนการเรียนรู้ครับ...มีหลักสูตรที่ผมดัดแปลงมาจากกระบวนการปรัชญาพิจารณ์....ผมให้ชื่อว่าหลักสูตร Wit:Dialog

 

ตอนนี้ร่างหลักสูตรแล้ว...เชื่อว่าน่าจะเทียบเคียงบางส่วนใน KM ของอาจารย์ได้นะครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท