BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ


วันนี้ (๑๔ ธ.ค.) ยุ่งทั้งวัน เพราะเตรียมงามที่จะทำบุญครบร้อยวันคุณลุงวินัย ในวันพรุ่งนี้... ประเด็นที่ยุ่งก็คือ การโทรนิมนต์พระที่จะมาร่วมพิธีและโทรเชิญญาติโยมใกล้ชิดมาร่วมทานข้าวในวัน พรุ่งนี้... และการเชื่อมสาเกหนึ่งหม้อใหญ่พิเศษซึ่งใช้สาเกยี่สิบกว่าลูก...

พอสองทุ่มก็เชียร์ปืนใหญ่อาเซน่อล ปรากฏว่าพ่ายแพ้เจ้าบ้านเรือใบแมนซิตี้ 6-3 ก็ไม่เป็นไร แพ้ชนะเป็นเรื่องธรรมดา... เสร็จแล้วก็ติดตามข่าวการเมืองและดูหนัง เพื่อรอเวลาจำวัด แต่พอใกล้เที่ยงคืน ปรากฏว่า ฝนตก รู้สึกเซ็งสุดๆ แต่ก็จำเป็นต้องทดลองนอนดูเมื่อเวลาเที่ยงคืนพอดี... รู้สึกพลิ้มๆ กึ่งๆ กับหลับ ไปครู่หนึ่ง ก็รู้สึกตัวอีกครั้ง ประสาทก็เริ่มตื่น ดูนาฬิกา เพิ่งจะตีหนึ่งเอง แสดงว่าพลิ้มๆ คล้ายๆ จะหลับนั้น ไม่เกินหนึ่งชั่วโมง ก็ลุกขึ้นไปห้องน้ำ กลับมาก็นอนต่อ....

สมภารมีปกติกำหนดลมหายใจเข้าออกมาตั้งแต่แรกบวช เมื่อจำวัด ก็จะว่านะโม ๓ จบ ต่อด้วยแผ่เมตตา แล้วตามด้วยบาลีประพันธ์ที่ผูกขึ้นเองว่า "สัมมาสัมพุทเธหิ ทิฎฐะธัมมัง วิปัสสามิ - ขอข้าพเจ้าจงเห็นแจ้งธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงเห็นแล้วนั้น เทอญ"... ต่อจากนั้น ก็กำหนดลมหายใจเข้าออก ไม่นานก็จะค่อยๆ หยั่งลงสู่ความหลับ แต่จะเป็นความหลับระดับใดนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง...

สำหรับคืนนี้... หลังจากลุกขึ้นเข้าห้องน้ำกลับมานอนต่อแล้ว ก็กำหนดลมหายใจเหมือนเดิม... ธรรมดาของใจ ก็คือธรรมชาติที่คิดได้ ใจคนเราจะเสวยอารมณ์คือคิดอยู่เสมอ... การกำหนดลมหายใจ ตอนหัดใหม่ๆ ก็ใช้พุทโธบ้าง ยุบหนอพองหนอบ้าง ภายหลังก็ไม่ต้องใช้อะไร ดูใจอย่างเดียวว่าความคิดอะไรที่ผุดขึ้นมา แล้วก็จะปล่อยให้มันสลายไป ไม่ให้ก่อตัวเพิ่มขึ้นมา จนค่อยๆ หยั่งสู่ความหลับ... นี้ คือ ปกติ แต่ถ้าไม่ปกติ ก็จะต้องเฝ้าดูอยู่นาน อาจต้องมีบทธรรมอื่นเสริมเข้ามาในการดูใจ และข่มใจ...

สำหรับคืนนี้ (อีกครั้ง)... ก็นึกถึงบทอะดีตัง ฯ หรือ ภัทเทกะรัตตะสูตร ที่พระสงฆ์มักจะใช้สวดเป็นบทสุดท้ายในเวลามาติกาบังสุกุล ซึ่งแปลว่า "ไม่ควรตามคิดถึงอดีต ไม่ควรกังวลอนาคต เพราะอดีตก็ผ่านมาแล้ว อนาคตก็ยังมาไม่ถึง แต่ควรจะใคร่ควรถึงปัจจุบันซึ่งเห็นชัดเจนอยู่ในขณะนั้น ขณะนั้น... เป็นต้น

คำว่า "เห็นชัดเจนอยู่ในขณะนั้นๆ" นี้เอง พระบาลีว่า "ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ" สมภารจึงใช้บทนี้เป็นเครื่องกำกับในการกำหนดลมหายใจ โดยบริกรรมหรือภาวนาไปด้วย... ถามว่า "เห็นชัดเจนอยู่ในขณะนั้นๆ" คืออะไร ?

ตอบว่า "ความคิดที่ผุดขึ้นในใจ เราก็เห็นด้วยใจ ความคิดนี้เกิดขึ้นดับไป ความคิดใหม่ก็จะเกิดขึ้นแล้วดับไปตามมา ทำนองกระแสคลื่นที่ก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ โดยไร้จุดหมาย"... นี้ประการหนึ่ง ซึ่งใช้ใจเท่านั้นเป็นตัวรับรู้

อีกประการหนึ่งก็คือ เสียงลมในท้องในใส้ที่ลั่นโครกครากบ้าง ลมหายใจที่สั้นบ้างยาวบ้าง เสียงจากภายนอกที่หูเรารับฟังได้ เช่น เสียงแว่วมาของรถยนต์ หรือเสียงลูกนกเค้าแมวในวัดร้องเรียกหาแม่บ้าง อาการคันที่จุดโน้นจุดนี้ตามผิวหนังที่เรารับรู้ได้บ้าง เป็นต้น... เหล่านี้ เรารับรู้ด้วยกายเป็นเบื้องต้น

ก็นอนกำหนดลมหายใจพลางพิจารณาสิ่งที่รับรู้ได้ในขณะนั้นๆ โดยปริกรรมว่า "ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสะติ" ไปเรื่อยๆ... และแล้วเสียงหมาวัดเห่า ก็กระทบหู กำหนดได้ว่า เห่ามาจากนอกวัด และเป็นคุณแอน ซึ่งมักไปนอนอยู่ที่บ้านโยมหน้าวัด เธอก็เห่าเป็นระยะๆ ติดต่อกัน... จนกระทั้งได้ยินเสียงเห่าอีกตัวหนึ่ง เห่ามาครั้งเดียว ตัวนี้ น่าจะเป็นเจ้าหลง กำหนดได้ว่า เห่าอยู่ข้างโรงธรรม ซึ่งห่างจากที่สมภารจำวัดอยู่ไม่เกินสิบเมตร...

ประสาทตื่นเสียแล้ว จึงต้องพัก "ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสะติ" ไว้ก่อน... เหลือบดูนาฬิกา เกือบตีสองแล้ว ลุกขึ้นมา ดูทางช่องหน้าต่างก็ไม่เห็นอะไร จึงออกไปหน้าประตูโรงธรรม ร้องเรียกคุณแอน ก็เรียกอยู่หลายคำ เธอก็ลอดช่องกำแพงเข้ามาใกล้ถึงประตูเหล็กของโรงธรรม สมภารก็เอาเท้าเขี่ยเธอ พลางให้โอวาทว่า "อย่าเห่า ดึกแล้วหนวกหู" ส่วนเจ้าหลงก็มายืนเสนอหน้าอยู่หน้าโรงธรรมเช่นเดียวกัน...

ตามปกติ สมภารไม่มีอุปนิสัยนอนเล่น ถ้านอนก็กำหนดลมหายใจเพื่อจะหลับ ถ้าเมื่อไม่หลับก็จะนอนพิจารณาธรรม และถ้าพิจารณาไปครู่หนึ่ง ยังไม่หลับ สมาธิไม่บังเกิด และรู้สึกเบื่อ ก็จะลุกขึ้นทำโน้นทำนี้ ค่อยนอนอีก... คืนนี้ ก็เช่นเดียวกัน หลังจากให้โอวาทคุณแอนแล้ว สมภารจึงเปิดไฟ เปิดเครื่อง แล้วก็มานั่งบ่นเล่นๆ...

สาเหตุสำคัญก็คือ สมภารแพ้อากาส พอฝนตก อากาสชื้น เลือดลมติดขัด ก็มักจะนอนไม่หลับ....

เอวัง ก็มีโดยประการฉะนี้

หมายเลขบันทึก: 556419เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2013 03:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2013 03:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สาธุครับ ได้แง่คิดหลายประเด็นเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท